พิเชษฐเล็งรื้อระบบเอเย่นต์คาร์โก้ อุดช่องโหว่หวังเพิ่มรายได้อีก3,000ล้าน/ปี


ผู้จัดการรายวัน(27 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"พิเชษฐ" เตรียมรื้อเอเย่นต์คาร์โก้การบินไทย เผยระบบมีช่องโหว่ทำให้บริษัทเสียหายปีละเกือบ 3,000 ล้านบาท แฉมีการร้องเรียนเอเย่นต์คิดส่วนต่างเก็บลูกค้าอัตราสูงแต่ลงบัญชีให้การบินไทยในอัตราต่ำสุด ลงนามการบินร่วมกับสายการบินวลาดิวอสต็อก ฟุ้งบุกตลาด ใหญ่ดึงผู้โดยสารจากรัสเซียเพิ่ม

นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาทวิภาคีการบริการ เชื่อมต่อ หรือ Bilateral Interline Agreement ระหว่างบริษัท การบิน ไทย จำกัด (มหาชน) กับสายการบินวลาดิวอสต็อก (Vladivostok Air) ว่า การบินไทยต้องเร่งหารายได้ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะด้านการตลาด ซึ่งได้มีการปรับปรุงเรื่องตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร หรือ เอเย่นต์ จากนี้จะให้ความสำคัญเรื่อง การขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้ ซึ่งที่ผ่าน มาได้มีการปรับปรุงด้านบุคลากรเพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้นไปก่อนแล้ว

และขณะนี้ ได้มีเอกชนร้องเรียนถึงการให้บริการคาร์โก้ของการ บินไทยว่ามีการอาศัยช่องโหว่ของระบบให้กลุ่มเอเย่นต์คาร์โก้หาผลประโยชน์เข้าตัวเอง เนื่องจากการให้บริการด้านคาร์โก้ การบินไทยจะ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การขนส่งแบบปกติ อัตรา 30 บาทต่อกก. ขนส่งแบบด่วน จะคิดในอัตรา 60 บาทต่อ กก. ในทางปฏิบัติเอเย่นต์จะเรียกใน แบบด่วนพิเศษจากลูกค้า แต่เก็บจริงในราคาประมาณ 45 บาทต่อกก. ในขณะที่ไปลงบัญชีจริงที่อัตรา ปกติเกิดส่วนต่างประมาณ 15 บาท ต่อกก.

นายพิเชษฐกล่าวว่า จุดนี้แทน ที่การบินไทยจะมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกลับมีรายได้ส่วนใหญ่จากเป็นการขนส่งแบบปกติ ปัญหาเพราะระบบเอื้อให้เกิดช่องโหว่ซึ่งตรวจสอบยาก เป็นการรั่วไหล ที่เกิดจากระบบโครงสร้าง ดังนั้นจะต้องจัดการปรับปรุงรื้อระบบและเอเย่นต์คารโก้กันใหม่เช่นกัน ซึ่งอาจจะต้องยกเลิกตัวแทนทั้งหลายที่ตั้งจากภายนอกจำนวนหลายร้อยราย มาจัดระบบใหม่ ซึ่งคาดว่าเมื่อปรับปรุงระบบแล้วจะทำให้การบินไทยมีรายได้ด้านคาร์โก้เพิ่มอีก 10% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่การบินไทยมีรายได้จากคาร์โก้ปีละประมาณ 30,000 ล้าน บาท

"ผมรู้ปัญหาคาร์โก้และเฝ้าดูอยู่ระยะหนึ่ง เห็นปัญหาหลักคือเอเย่นต์ ซึ่งตั้งโดยกรมศุลกากร การบินไทยไม่ได้ตั้ง แต่ก็ยอมรับว่า เรื่องนี คนการบินไทยก็ต้องเกี่ยว ข้องด้วย ซึ่งต้องลงมาดูแม้ว่าอาจ จะถูกมองว่าล้วงลูก แต่เป็นสิ่งที่ทำ ให้บริษัทเสียหาย" นายพิเชษฐกล่าว

สำหรับการลงนามการบินร่วม กับสายการบินวลาดิวอสต็อกนั้น นายพิเชษฐกล่าวว่า เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการบุกตลาดใหม่ ทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่นสหพันธรัฐรัสเซียและกลุ่มประเทศซีไอเอส และในอนาคตจะบุกไปยังประเทศแถบยุโรป ตะวันออกต่อไป โดยการบินไทย มีเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โซล และส่งต่อผู้โดยสารให้กับสายการบิน วลาดิวอสต็อกจากโซล-วลาดิ- วอสต็อก ซึ่งเป็นผลดีทั้งสองสายการบิน

นายทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์การบินไทยกล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้แต่ละสายการบินสามารถขายเที่ยวบินของอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยใช้บัตรโดยสารของตนเองแก่ผู้โดยสาร ในเส้นทางที่บิน คือ กรุงเทพฯ-โซล/ ปูซาน-วลาดิวอสต็อก ส่วนสัญญาส่วนแบ่งรายได้ (Special Prorate Agreement หรือ SPA) การบินไทยให้ราคาพิเศษในเส้นทางโซล-กรุงเทพฯ และปูซาน-กรุงเทพฯ ส่วนวลาดิวอสต็อกให้ราคาพิเศษเส้นทาง โซล-วลาดิวอสต็อกและ ปูซาน-วลาดิวอสต็อก โดยราคาค่าโดยสารเฉลี่ย วลาดิวอสต็อก-กรุงเทพฯจะอยู่ที่ประมาณ 600-700 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถูกกว่าปัจจุบันที่ค่าโดยสารรวมประมาณ 800-900 เหรียญสหรัฐ

โดยปีแรกคาดว่าจะมีผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000-6,000 คนจากปัจจุบันผู้โดยสารรัสเซียเข้าไทย มีประมาณ 8,000-10,000 คนต่อปี การบินไทยจะมีรายได้เพิ่มเฉพาะเส้นทางบินนี้ ประมาณ 2 ล้านเหรียญ สหรัฐฯหรือประมาณ 80-90 ล้าน บาท โดยภายใน 2 สัปดาห์จะสามารถ ขายตั๋วโดยสารตามโครงการได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.