|
SME-สแตนชาร์ตส่อฮั้วFRCD กก.เชือดผู้บริหารทั้ง2ธนาคาร
ผู้จัดการรายวัน(3 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
“สมชัย สัจจพงษ์” ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงธุรกรรม FRCD 490 ล้านเหรียญ เผยผลประชุมเบื้องต้นผู้บริหารส่อโดนเชือดทั้งจากเอสเอ็มอีแบงก์และสแตนชาร์ตหลังพบแนวโน้มฮั้ว กังขาผู้ช่วยเอ็มดี “จิรพร สุเมธีประสิทธิ์” เสนอเรื่องให้บอร์ดอนุมัติแต่ปกปิดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหากเกิดวิกฤตในสหรัฐฯ
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีที่ ธพว.เกิดความเสียหายอย่างมากจากการออกบัตรเงินฝากแบบดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) จำนวน 490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การออก FRCD ดังกล่าว ธพว.ได้ดำเนินการ 2 ครั้งคือ ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนและกรกฎาคม 2548 จำนวน 190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีธนาคารบาร์คเลย์เป็นผู้ดำเนินการ และในครั้งที่สองจำนวน 300 ล้านเหรียญโดยมีธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) SCBT เป็นผู้ดำเนินการ ในจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นนั้นพบว่าการออก FRCD ครั้งที่ 2 นั้นมีสถาบันการเงินเข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 5 แห่ง และSCBT เป็นผู้ชนะการประมูลโดนได้คะแนนเต็ม 500 คะแนน ในขณะที่สถาบันการเงินแห่งอื่นได้คะแนนในสัดส่วนที่แตกต่างกันมากและมี ประเด็นที่คณะกรรมการสอบสวนตั้งข้อสงสัยคือการปรับราคาจากที่เสนอในเอกสารประกวดราคาของ SCBT เสนอราคาต่างจากธนาคารบาร์คเลย์ที่เป็นคู่แข่งเพียง 0.01% เท่านั้นจึงชนะการประมูลในครั้งนี้ไป ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในการเปิดประมูลเพราะหากมีการต่อรองราคาจะต้องต่อรองกับผู้ประมูลทุกรายแต่กรณีนี้มีลักษณะของการนำข้อมูลของผู้ร่วมประมูลไปให้อีกฝ่ายรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการเสนอราคาเพื่อให้ชนะการประกวดราคา
นอกจากนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการออก FRCD ในครั้งนี้ว่าเป็นการออกบัตรเงินฝากประเภทหนึ่งเท่านั้นเหตุใดผู้ที่ดำเนินการจึงต้องจัดให้มีการโรดโชว์ในหลายๆ ประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งการออกบัตรเงินฝากนั้นโดยทั่วไปก็จัดให้มีการประมูลได้เลยไม่เหมือนการออกหุ้นกู้ที่ต้องมีการโรดโชว์เพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุน
“ตอนนี้กำลังดูว่าคนของเอสเอ็มอีแบงก์มีส่วนในการทำให้แบงก์เกิดความเสียหายในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ถ้าข้อมูลการสอบสวนที่ออกปรากฎว่าคนของแบงก์ผิดจริงก็ต้องเอาผิดให้ถึงที่สุดแต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าการดำเนินการในครั้งนี้มีการฮั้วกับสแตนชาร์ตเพื่อให้เอสเอ็มอีแบงก์เกิดความเสียหายหรือไม่จะต้องดูรายละเอียดในส่วนนี้อย่างรอบคอบ” แหล่งข่าวกล่าว
มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริหารของธนาคารคือนางจิรพร สุเมธีประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์เป็นผู้เสนอเรื่องการประมูล FRCD ในครั้งนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารโดยอธิบายถึงรายละเอียดและข้อมูลในการดำเนินการทั้งหมด แต่มีความพยายามปกปิดข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับความเสี่ยงในการทำธุรกรรมในครั้งนี้
ซึ่งความเสี่ยงในการออก FRCD ในครั้งนี้มีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่เป็นตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้หากมีการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามที่เอสเอ็มอีแบงก์คาดการณ์ไว้จะทำให้ธนาคารเกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานและความเพียงพอของเงืนกองทุนของธนาคาร และอัตราดอกเบี้ยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปนั้นไม่เป็นไปตามระดับที่กำหนดไว้ในสัญญาจะทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติมจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้
“ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอีกเรื่องหนึ่งเนื่องจากคุณจิรพรที่เสนอเรื่องนี้เข้ามาและเป็นบอร์ดการเงิน หากจะทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทกลับไม่ยอมอธิบายถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากมีความเสี่ยงอื่นๆ เกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะปัญหาซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐที่ส่งผลกระทบโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้หากมีการเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดของธนาคารก็อาจมีการท้วงติงเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้” แหล่งข่าวกล่าว
ภายหลังจากที่คณะกรรมการ ธพว.ได้อนุมัติให้ SCBT เป็นผู้ระดมเงินด้วยการออกตราสารบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ประจำปี 2549 จำนวนทั้งสิ้น 300 ล้านเหรียญเป็นระยะเวลา 5 ปี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 แล้วนั้น ผู้บริหารและซีเอฟโอก้ได้ดำเนินการจัดทำสัญยาดังกล่าวนี้ขึ้นมาโดยไม่ได้รายงานต่อคณะกรรมการว่าได้ทำอนุพันธ์ผูกติดสัญญาดังกล่าวด้วย
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.75% เนื่องจากวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของตลาดการเงินสหรัฐต่ำกว่าขอบเขตที่กำหนดในสัญญาที่ธพว.ทำไว้กับ SCBT ส่งผลให้ธพว.มีภาระเบี้ยปรับเกิดขึ้นวันละ 2.5 ล้านบาทตามจำนวนวันที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าขอบเขต 3.5% ที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งเป็นวันที่ซีเอฟโอของธนาคารได้ยื่นหนังสือลาออกและขอให้มีผลบังคับใช้ในวันเดียว.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|