|
เงินเฟ้อพ.ค.พุ่ง7.6%สูงสุดรอบ 10ปี กกร.จี้สมัครร่วมถกแก้ปัญหาปากท้อง
ผู้จัดการรายวัน(3 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตายแล้วคนไทย! เงินเฟ้อพ.ค.พุ่ง 7.6% สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี “พาณิชย์” ให้เหตุผลง่ายๆ น้ำมันตัวการหลัก ทำให้ต้นทุนสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้นจนราคาพุ่งตาม “ศิริพล”ยันคงเป้าทั้งปีไว้ที่ 5-5.5% แม้ยอดรวม 5 เดือนขยับ 5.8% ไปแล้ว ขอดูสถานการณ์น้ำมันต่ออีก 2-3 เดือนค่อยว่ากันใหม่ สั่งเจ้าหน้าที่เร่งดูแลสินค้าทั้งระบบ หวังช่วยลดเงินเฟ้อ พิลึกแถลงเงินเฟ้องวดนี้ นัดบ่ายสอง แถลง 5 โมงเย็น ส่อแววปั้นตัวเลขใหม่ ด้านภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ร่อนหนังสือถึงนายกฯวันนี้ ขอเวลาว่างนั่งหัวโต๊ะเวทีกรอ. เพื่อถกร่วมเอกชนและครม.ศก.ในการเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้านจากสินค้าราคาแพง ผวาน้ำมันฉุดขาดดุลฯการค้าต่อเนื่องอาจทำศก.ชะลอยาวถึงสิ้นปี แนะใช้มาตรการทุกด้านเยียวยา ขณะที่ปัญหาการเมืองหากมีความรุนแรงยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ "เลี้ยบ"เตรียมหามาตรการเพิ่มรายได้ไม่ให้กระทบเงินเฟ้อ แบงก์ชาติเล็งทบทวนเงินเฟ้อใหม่อีกรอบ
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพ.ค.2551 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2550 สูงขึ้น 7.6% ซึ่งยอมรับว่าเป็นเงินเฟ้อที่สูงมาก และเทียบเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงขึ้น 5.8%
“อย่าไปพูดเรื่องสูงสุดเลย แค่นี้ผมก็เครียดแล้ว ปี 2541 เงินเฟ้อเคยขึ้นไปถึง 10% เพราะตอนนั้นมีเรื่องการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และลอยตัวค่าเงินบาท แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของน้ำมันล้วนๆ”
ทั้งนี้ เงินเฟ้อในเดือนพ.ค.นี้ ถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 9 ปี 11 เดือน นับจากเดือนมิ.ย.2541
นายศิริพล กล่าวว่า สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 2.1% สาเหตุหลักยังคงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายของสินค้าต่างๆ สูงขึ้น โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 2.7% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า ทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวสด ราคาสูงขึ้นตาม ผักสดราคาสูงขึ้นจากฝนตกชุก ค่าขนส่งสูงขึ้น นมประเภทต่างๆ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูปก็ปรับตัวสูงขึ้น แต่เนื้อสุกร ไข่และผลไม้ ราคาลดลง
ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.7% สูงขึ้นค่อนข้างมาก สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเช่นเดียวกัน โดยมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 9% ส่วนหมวดการศึกษา ก็เพิ่มขึ้น 1.1% เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม การปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะเฉพาะบขส. กิโลเมตรละ 3 สตางค์ และยังมีการเพิ่มขึ้นของสินค้ารายการอื่นๆ บ้าง
ส่วนเงินเฟ้อเดือนพ.ค.เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ที่สูงขึ้น 7.6% เป็นการสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ส่งผลให้หมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 11.8% สินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น ข้าวแป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ไก่สด ไข่และผลิตภัณฑ์นม และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 5.1% ปัจจัยหลักยังคงเป็นการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน 31.2%
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพ.ค.ที่หักรายการกลุ่มอาหารสดและน้ำมันเชื้อเพลิงออก เทียบกับเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบกับพ.ค.2551 สูงขึ้น 2.8% เฉลี่ย 5 เดือน เพิ่มขึ้น 1.9%
นายศิริพลกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังติดตามเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยยังคงยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 5-5.5% เช่นเดิมก่อน แต่จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำมันต่อไปอีก 2-3 เดือน เพราะสมมติฐานเดิมราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงมาก และสถานการณ์ไม่ปกติ ก็จะมาพิจารณาเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง
ส่วนการดูแลภาวะเงินเฟ้อไม่ให้สูงมากจนกระทบกับผู้บริโภคนั้น กระทรวงพาณิชย์จะมีการติดตามรายการสินค้าที่อยู่ในความดูแลในการคำนวณเงินเฟ้อทั้ง 373 รายการอย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาอย่างละเอียดว่ารายการไหนบ้างที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ก็จะเข้าไปดูแลมากขึ้น แต่หากเป็นรายการที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น ก็จะมีการประสานหารือกันมากขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มโครงการธงฟ้าให้เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น ทั้งธงฟ้าในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค และร้านค้าอิ่มทั่วฟ้าราคาเดียว โดยจะเพิ่มจุดจำหน่ายเข้าไปยังห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนด้านค่าครองชีพให้กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การแถลงเงินเฟ้อเดือนพ.ค.วานนี้ (2 มิ.ย.) นายศิริพลได้กำหนดการแถลงข่าวในเวลา 14.00 น. แต่เมื่อถึงเวลาได้ขอเลื่อนการแถลงข่าวเป็น 15.00 น. และพอถึงเวลาได้เดินทางมาแถลง โดยระบุว่าติดประชุมทำให้ต้องเลื่อนการแถลงข่าว และขอแถลงเรื่องอื่นก่อน คือ เรื่องข้าว และเมื่อถามว่าทำไมถึงไม่แถลงเงินเฟ้อเลย ก็ให้เหตุผลว่ายังทำตัวเลขไม่เสร็จ เพราะระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปกติการแถลงตัวเลขเงินเฟ้อจะมีการจัดทำเอกสารประกอบการแถลงข่าวเสร็จสิ้นก่อนวันแถลงข่าวทุกครั้ง และพร้อมที่แจก มาครั้งนี้กลับอ้างว่าระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา แต่เมื่อดูความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ๆ จัดเตรียมเอกสาร เห็นได้ว่ามีการจัดเตรียมเอกสารสำหรับแจกไว้พร้อมแล้ว และมีการแยกเอกสารบางส่วนออกไป ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะมีการปรับแต่งตัวเลขเงินเฟ้อหรือไม่ จึงต้องทำเอกสารกันใหม่
กกร.ยื่นหนังสือถึงนายกฯวันนี้
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประกอบด้วย สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย) วานนี้(2มิ.ย.) ว่า กกร.เห็นชอบร่วมกันที่จะทำหนังสือถึงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในวันนี้(3มิ.ย.)เพื่อขอเวลาในการพบนายกฯในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ที่มีนายกฯเป็นประธานร่วมกับครม.เศรษฐกิจเพื่อที่จะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ร่วมกันโดยเฉพาะปัญหาปากท้องชาวบ้านที่ราคาสินค้าแพงขึ้นจากราคาน้ำมันถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
“ เอกชนพบนายกฯไปแล้ว แต่เวทีกรอ.ยังไม่เคยมี หากนัดเวลาได้ก็ถือเป็นครั้งแรกซึ่งเรื่องเร่งด่วนคือปัญหาปากท้องชาวบ้านเราจะทำอย่างไรเพราะเวลานี้ที่ราคาน้ำมันแพงมากแล้วกระทบกับแรงซื้อที่เริ่มลดต่ำขณะที่สินค้าเองก็ขึ้นราคาไม่ได้และยังไม่รู้แนวโน้มน้ำมันจะเป็นอย่างไรต่อไปเพราะเวลานี้สิ่งที่ห่วงคือเรานำเข้าน้ำมันจนขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ12 เดือนที่ผ่านมาซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ตลอดทั้งปีจึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องมาหารือร่วมกันว่าจะช่วยกันอย่างไรในการรับภาระเพราะปัญหาบางอย่างคงไม่สามารถผลักความรับผิดชอบให้คนใดคนหนึ่งได้” นายประมนต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองนั้นก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทบต่อความเชื่อมั่น การประท้วงของเครือข่ายพันธมิตรที่เกิดขึ้นถือเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแต่สิ่งที่กังวลคือไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง เพราะจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นทั้งการลงทุนและการบริโภคได้มากขึ้นอีกจากปัจจุบันน้ำมันแพงได้กระทบพอสมควรแล้ว
ทั้งนี้ มาตรการที่จะเสนอแนะในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นสำคัญเช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ขณะนี้ได้ล่าช้าออกไป 1 ไตรมาส รวมไปถึงความชัดเจนในเรื่องของพลังงานทดแทนที่จะต้องชัดเจนในเรื่องของแผนการส่งเสริมพืชเกษตรในการผลิตพลังงานกับอาหารเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาได้ในระยะกลางและยาว ส่วนมาตรการทางภาษีนั้นก็มีภาษีเฉพาะทางที่ควรจะหยิบยกมาพิจารณาเช่นกันเช่น ภาษีอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีศุลกากรในบางรายการเพื่อลดต้นทุนการผลิตเช่น เหล็ก วัตถุดิบบางประเภท เป็นต้น
หวั่นศก.ซึมลากยาวสิ้นปีนี้
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า เอกชนมีความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวเพราะผลกระทบจากวิกฤติน้ำมันแพงและยังมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาอีกในช่วงนี้ซึ่งเกรงว่าจะกระทบให้ปัญหาลากยาวไปถึงสิ้นปีได้ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งหามาตรการเร่งด่วนมาดูแลเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยระยะสั้นคงจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาภาวะของแพงที่กระทบให้ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นและเกิดปัญหาเงินเฟ้อ
“ ราคาสินค้าที่ต้องปรับขึ้นก็คงจะต้องมาดูว่าอะไรที่ชะลอได้และพอรับภาระไหวก็คงจะรับกันไปแต่จะให้เอกชนรับภาระฝ่ายเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ก็ต้องมาดูกันว่าแล้วรัฐจะหามาตรการดูแลได้ไหมบางสาขาก็อาจจะต้องมาดูเรื่องน้ำมันว่าจะช่วยเขาอย่างไร เช่น ขนส่ง ประมง คงต้องหารือภาพรวมแม้ว่าที่ผ่านมามาตรการรัฐจะออกมาบ้างแล้วและถือว่าดีแต่ก็ยังกังวลในทางปฏิบัติ”นายสันติกล่าว
สำหรับมาตรการเบื้องต้นที่จะเสนอได้แก่ พระราชบัญญัติงบประมาณปี 2550 ที่ล่าช้าไป 1 ไตรมาสดังนั้นส่วนราชการต่งๆ จะต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าและเห็นควรเร่งปรับราคากลางของโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ,เร่งการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่มีอยุ่อยู่แล้ว เช่นระบบราง ,การปรับปรุงภาษีศุลกากรที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต,เร่งฟื้นฟูและพัฒนาภาคเกษตรในการเพิ่มผลิตภาพและรายได้ในระยะยาว และสนับสนุนให้กกร.และรัฐมีการหารือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องเศรษฐกิจ เป็นต้น
ชี้ขาดดุลการค้ามากทำบาทอ่อน
นายธวัธชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐและเอกชนจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิด เพราะการขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้นอาจลุกลามได้ตลอดปีเมื่อประเทศขาดดุลฯมากขึ้นก็จะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนทางการเงินจะทำให้ค่าเงินบาทผันผวนไปในทางอ่อนค่าได้ และการที่เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจะหลีกเลี่ยงปัญหาการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ยากดังนั้นก็จะต้องพิจารณาให้เกิดสมดุลทุกส่วน
“เราเป็นห่วงปากท้องชาวบ้านเพราะหากแรงซื้อลดต่ำเกิดปัญหาขึ้นจะลุกลามไปทุกส่วนได้ซึ่งโชคดีที่ผ่านมาส่งออกยังพอช่วยได้ และราคาสินค้าเกษตรก็มีราคาดี แต่ราคาน้ำมันต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังตอบไม่ได้และสินค้าเกษตรก็เริ่มลดลงจึงต้องเร่งหาทางดูแลไว้ก่อน กรณีสินค้าเกษตรนั้นที่ผ่านมารัฐแทบไม่ได้ปรับปรุงอะไรเพราะเกษตรไทยยังไม่มีการเพิ่มผลการผลิตต่อไร่แต่อย่างใด”นายธวัธชัยกล่าว
เลี้ยบเล็งเสนอมาตรการเพิ่มรายได้ ปชช.
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมช.คลัง กล่าวว่า เตรียมเสนอมาตรการปรับฐานรายได้ของประชาชนรวมถึงค่าครองชีพ และค่าแรงขั้นต่ำ ของผู้ใช้แรงงานให้มีความเหมาะสม กับสภาวะเศรษฐกิจ โดยไม่ให้มีผลกระทบกับเงินเฟ้อ
"อัตราเงินเฟ้อปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 5 ประชาชนควรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 - 6 เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของราคาอาหาร และราคาพลังงาน" นพ.สุรพงษ์กล่าวพร้อมยืนยันว่า จะยังไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ นอกเหนือจากค่าครองชีพที่รัฐบาลได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนนั้น ทางกระทรวงการคลัง เตรียมหารือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้ประชาชนมีอาชีพเสริม พร้อมนำผลิตภัณฑ์ของโอทอป และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อจัดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ จัดพื้นที่ราชพัสดุที่เหมาะสมเป็นตลาดกลางในการซื้อขาย
ธปท.เล็งทบทวนเงินเฟ้อใหม่
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ธปท.จะมีการทบทวนประมาณการอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือนพ.ค.ขยายตัวสูงถึง 7.6% ซึ่งเร่งตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาในอัตรา 4-5% โดยเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงมากอย่างต่อเนื่อง
“ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทะลุ 3.5% ถือเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินหรือไม่นั้นถ้าพิจารณาเทียบเป็นเดือนต่อเดือนหรือในช่วง 7 เดือนก่อนหน้าก็ไม่ได้เร่งตัวสูงเท่ากับในช่วงเดือนเม.ย. ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 2.8%นั้นยังอยู่ในอัตราที่เรามองอยู่ ส่วนทิศทางนโยบายการเงินในระยะต่อไป ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)”นางอมรากล่าว
ทั้งนี้ ธปท.ยอมรับว่ามีความกังวลอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาการเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อนว่าจะมีเหตุการณ์บานปลายหรือไม่ ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวยังคงเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามธปท.มองว่าควรให้อุปสงค์ภายในประเทศมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นการช่วยชดเชยการส่งออกที่จะชะลอตัวด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|