เมื่อ GM-BMW เข้ามาปักหลักผลิตรถยนต์ในไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

การขนานนามประเทศไทยเป็น "ดีทรอยจ์แห่งเอเชียตะวันออก" นั้น อาจไม่เกินเลยไปนัก เพราะปัจจุบัน อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ของโลก ทั้งจากซีกยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่างเข้ามาตั้งฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย

อุตสาหกรรมเหล่านี้เล็งเป้าหมายไป ที่การเปิดการค้าเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีการยกเลิกกำแพงภาษีนำเข้ายานยนต์ระหว่างประเทศในกลุ่มนี้ ซึ่งจะกลายเป็น ตลาดหลัก ที่มีขนาดใหญ่คุ้มค่ากับการลงทุนตั้งโรงงานผลิต เพื่อส่งรถ ซึ่งประกอบจากโรงงานในประเทศไทย ออก ไปขายยังประเทศต่างๆ เหล่านี้

ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โรงงานประกอบรถยนต์ของค่ายรถยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา และยุโรป 2 แห่ง ก็ได้ฤกษ์เปิดเดินสายการผลิต โดยรถยนต์คันแรก ที่ผ่านการประกอบออกมาจากโรงงานทั้ง 2 แห่ง เริ่มทยอย ส่งมอบให้กับลูกค้าได้ในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 2 สัปดาห์ < dd>

บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) : GM ค่ายรถสัญชาติอเมริกัน ได้เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤษภาคม ถัดมาอีก 11 วัน บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) : BMW จากประเทศเยอรมนี ก็เริ่มเดินสายพานประกอบรถยนต์อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 พฤษภาคม

โรงงานของทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ในจังหวัดระยองทั้งคู่ โดย GM ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ขณะที่โรงงานของ BMW อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อมตะ ซิตี้

GM นั้น ได้เริ่มเข้ามาก่อสร้างโรงงานแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2539 ใช้พื้นที่โรงงานรวม 440 ไร่ เงินลงทุนรวม 640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25,000 ล้าน บาท) กำหนดเป้าหมายประกอบรถเชฟโรเร็ต ซาฟิรา ซึ่งเป็นรถอเนกประสงค์ขนาด 7 ที่นั่ง เป็นรถรุ่นแรก ที่จะออกมาจากสายการผลิตจากโรงงานแห่งนี้ ด้วยกำลังการผลิตปีแรก 8,000 คัน แบ่งมาขายในประเทศ 1,200 คัน ส่วน ที่เหลือจะถูกส่งออก โดยมีตลาดอยู่ทั้งประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา

ปีต่อไป จะขยายกำลังการผลิตขึ้นเป็น 40,000 คัน ในจำนวนนี้ 85% เป็นการผลิต เพื่อการส่งออก ส่วนอีก 15% ขายภายในประเทศ

ส่วนโรงงานของ BMW เริ่มก่อสร้างโรงงานเมื่อปลายปีที่แล้ว และใช้เวลาก่อสร้างโรงงานเพียงประมาณ 5 เดือน เงินลงทุน 26.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,0 00 ล้านบาท) มีเป้าหมายการประกอบรถ BMW ซีรี่ส์ 3 ซีดาน ใหม่ ซึ่งมีทั้งรุ่น 318 ไอ และ 323 ไอ กำลังการผลิต 10,000 คันต่อปี จำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปขายในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก

และยังมีแผนที่จะขยายการประกอบรถรุ่นอื่นๆ ของเครือ BMW ออกมาอีกในอนาคต

ผลประโยชน์ ที่ประเทศไทยได้รับจากการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานประกอบของค่ายรถยนต์ทั้ง 2 แห่งดังกล่าว คือ การจ้างงานโดยตรง โดยในเบื้องต้น โรงงานของ GM มีการจ้างแรงงานชาวไทยไปแล้วประมาณ 600 คน และ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 คน หากสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต

ขณะที่โรงงานของ BMW ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานชาวไทยจำนวน 200 คน และมีแผนจะเพิ่มตำแหน่งงานขึ้นเป็น 500-600 คน ในปี 2547

ส่วนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาจไม่ได้รับผลประโยชน์ โดยตรงจากโรงงาน 2 แห่งนี้มากนัก เพราะโรงงานทั้ง 2 แห่ง มีการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาประกอบ เป็นส่วนใหญ่ โดยโรงงานของ GM นั้น สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนนำเข้ากับ ที่ผลิตภายในประเทศยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ของ BMW ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเพียง 20% ของมูลค่ารถยนต์เท่านั้น ซึ่งชิ้นส่วนดังกล่าว ประกอบด้วย ยาง เบาะนั่ง และ ชิ้นส่วนอื่นๆ อีกเล็กน้อย

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะหากไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโรงงานทั้ง 2 แห่งให้กับคนไทย ก็นับได้ว่าผลประโยชน์ ที่จะได้รับจากการลงทุนของค่ายรถยนต์ทั้ง 2 แห่งนี้ สำหรับประเทศ ไทยแล้วมีไม่มากเท่าใดนัก

สไตล์ ที่แตกต่างระหว่างอเมริกัน - ยุโรป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.