ครึ่งปีหลัง TRU กลับมาโดดเด่น


ผู้จัดการรายวัน(27 มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนพอสมควรสำหรับ ไทยรุ่ง(TRU)ช่วงที่ผ่านมา จากความล่าช้าของการผลิตรถกระบะดัดแปลง และไม่มีรถอเนกประสงค์รุ่นใหม่ออกมาจำหน่าย แต่ครึ่งหลังของปีเชื่อว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากส่งผลิตภัณฑ์ล่าสุดออกสู่ตลาด

นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการดำเนินธุรกิจสำหรับ บมจ.ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ (TRU) โดยการเปลี่ยนรุ่นรถกระบะของค่ายอีซูซุ จากการออกรถรุ่นใหม่ อีซูซุ ดีแมกซ์ ส่งผลกระเทือนต่อบริษัทอย่างมาก

เนื่องจากการผลิตรถดัดแปลงสำหรับรถกระบะอีซูซุ ดีแมกซ์ยังไม่ลงตัว และการผลิตชิ้นส่วนที่จะส่งให้รถกระบะดัดแปลงมีผลกระทบตามไปด้วย ทำให้เหลือเพียงการผลิตเฉพาะค่ายนิสสัน รุ่น ทีอาร์ เอ็กซ์ไซเตอร์ ที่มียอดจำหน่ายต่ำมาก

"แม้ว่าพวกเขาจะได้รับการชดเชยจากยอดขายรถยนต์แลนด์ โรเวอร์ แต่ไม่ได้ทำให้รายได้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น" สุรชัย ประมวลเจริญกิจ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บอก "บริษัทต้องใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนารวมถึงการผลิตแม่พิมพ์เพื่อรองรับรถดัดแปลงอีซูซุ ดีแมกซ์ สเตชั่น วากอน"

จากสาเหตุดังกล่าว ส่งผลให้ไตรมาส 4 ปีที่แล้วบริษัทฯมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ลดลงเหลือเพียง 23.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 34.2% โดยมียอดขาย 623.1 ล้านบาท ลดลง 13.2% จากไตรมาส 3 ปีเดียวกันที่มีจำนวน 718.3 ล้านบาท และกำไรลดลงถึง 77.5% จาก 84.4 ล้านบาท เหลือเพียง 19 ล้านบาท

นอกจาก TRU สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนก่อนฉลองปีใหม่แล้ว ไตรมาสแรกปีนี้บริษัทยังคงแสดงศักยภาพการดำเนินธุรกิจน่าผิดหวังมากกว่าไตรมาสก่อนหน้า ด้วยการประกาศขาดสุทธิ 15.1 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 178.9 ล้านบาท

"ก่อนหน้านั้นพวกเราประเมินว่าจะมีกำไร 10.4 ล้านบาท" สุรชัยเล่า

โดยมียอดขายจำนวน 509.5 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 18.2% และลดลงจากไตรมาสแรกปี 2545 ถึง 35.7% ที่มีจำนวน 792.2 ล้านบาท เนื่องจากยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงการเปลี่ยนรุ่นของรถ

"เป็นผลมาจากบริษัทไม่ได้มีรายได้จากการขายรถอเนกประสงค์รุ่นใหม่ TR Adventure Master ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากรถอีซูซุ ดีแมกซ์ ที่พวกเราเพิ่งเริ่มเปิดตัวไปในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา" สมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการ TRU กล่าว

เขาให้เหตุผลถึงการลดลงของผลประกอบการไตรมาสแรกของปีว่าบริษัทต้องใช้เวลาในการพัฒนารถอเนกประสงค์รุ่นใหม่ดังกล่าวเป็นเวลาถึงปีครึ่ง โดยมีแต่รถนิสสัน เอ็กซ์ไซเตอร์ จำหน่ายเพียงรุ่นเดียว

"เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรุ่นเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 6-7 ปี ตามอายุของรถรุ่นนั้นๆ"

นอกจากนี้โครงสร้างรายได้ของ TRU มีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์แลนด์ โรเวอร์ เพิ่มสูงขึ้นจาก 17% เป็น 46% ขณะที่รายได้จากการรับจ้างประกอบรถอเนกประสงค์ซึ่งมีกำไรขั้นต้น (Profit Margin) สูงกว่าการจำหน่ายรถยนต์

คาดสดใสครึ่งปีหลัง

เนื่องจาก TRU ได้เริ่มเปิดตัวรถ TR Adventure Master ในงานบางกอก มอเตอร์ โชว์เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า ทำให้มียอดจองจากทั่วประเทศเข้ามาจนถึงปัจจุบันประมาณ 1,000 คัน และบริษัทเริ่มส่งมอบรถรุ่นใหม่นี้ให้กับตัวแทนจำหน่ายได้ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้

"พวกเราคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป" สมพงษ์เปิดเผย

เขาประเมินยอดจำหน่าย TR Adventure ช่วงหลังของปีเฉลี่ย 500-600 คันต่อเดือน และเพิ่มเป็น 800-1,000 คันต่อเดือนในปีหน้า ส่วนรถรุ่นนิสสัน เอ็กซ์ไซเตอร์ จะขายได้ประมาณ 2,000 คันในปีนี้

"จากภาวะการเติบโตของตลาดรถยนต์ใน ประเทศ ที่ยังมีสูงมากพวกเรามั่นใจว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในการขายรถอเนกประสงค์รุ่นใหม่ และยังมีแผนการที่จะพัฒนารถอเนกประสงค์รุ่นอื่นๆ ออกสู่ตลาดต่อไปในอนาคตอันใกล้"

สำหรับธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ (Auto Parts) ในครึ่งปีหลังจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น จากการร่วมทุนระหว่างค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เจนเนอรัล มอเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา กับอีซูซุ เพื่อผลิตรถกระบะอีซูซุ ดีแมกซ์เพื่อส่งออกโดยอีซูซุมีข้อตกลงในการใช้ชิ้นส่วน Chassis จาก TRU

"การที่อีซูซุจากญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาในเมืองไทยอาจจะเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคต่อ TRU ดังนั้นขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การดำเนินงานของผู้บริหา" วรรัตน์ เผ่าภคะ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.ธนชาติ ชี้ "ในระยะ 1 ปีจากนี้พวกเขายังมีเวลาปรับยุทธศาสตร์การทำงาน"

สำหรับกรณี บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) เข้าซื้อหุ้นแพริช สตรัคเจอรัล โปรดัคส์ (ประเทศไทย) หรือ PSPT จากดาน่า คอร์ปอเรชั่น (DANA) จากอเมริกา ซึ่ง TRU ส่งชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทให้ PSPT นั้น

"ผู้บริหารระบุว่าจะไม่ส่งผลกระทบเนื่องจากทาง TRU ยังมีข้อตกลงส่งมอบชิ้นส่วน ประกอบ และทางอาปิโก ไฮเทคในปัจจุบันก็ผลิตเต็มกำลังการผลิต อีกทั้งพวกเขามีความสัมพันธ์อันดีกับอาปิโก" สุรชัยเปิดเผย

การผลิตชิ้นส่วนให้กับโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ TRU ได้รับคำสั่งซื้อในระดับน่าพอใจ อีกทั้งได้มีความพยายามในการขยายฐาน ลูกค้าของบริษัทให้กว้างขึ้น คาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วน ทางการเกษตร

ส่วนการส่งออกชุดประกอบรถดัดแปลง หรือ SKD : Semi-Knock Down Vehicle Kits ที่ไตรมาส 2 ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปประเทศจีนซึ่งบริษัทได้รับคำสั่งซื้อสูงขึ้นจากชุดเล็กและมีราคาถูก

"พวกเราเชื่อว่าปีนี้สามารถส่งออก SKD ได้ประมาณ 3,000 ชุด โดย 2,000 ชุดเป็นการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นชุดเล็กไม่มีอุปกรณ์บางอย่าง เช่น เบาะนั่ง รวมแล้วจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท" สมพงษ์อธิบาย

เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลูกค้ามีความต้องการชิ้นส่วน SKD ของ TRU เป็นอย่างมาก ทั้งรุ่น TR Grand Adventure และรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในไทย

สำหรับลูกค้าในประเทศอิหร่านนั้นบริษัทได้เริ่มเร่งการส่งออกชิ้นส่วน SKD พร้อม ทั้งทีมงานวิศวกรไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าหลังจากที่สงครามในประเทศอิรักได้สงบลงแล้ว

ส่วนการจำหน่ายรถยนต์แลนด์ โรเวอร์ ซึ่ง บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ช่วงไตรมาสแรกของปีค่อนข้างน่าผิด หวังสำหรับยอดจำหน่ายที่เฉลี่ยเพียงเดือนละประมาณ 25 คัน

กระนั้นก็ดี ผู้บริหารของ TRU ประเมินว่าแนวโน้มครึ่งหลังของปีจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ "พวกเราคาดว่ายอด ขายแลนด์ โรเวอร์ของพวกเขาตลอดทั้งปีนี้จะอยู่จำนวน 350 คัน ลดลงจากปีก่อนที่ขายได้ 363 คัน" สุรชัยอธิบาย

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยี่ห้อ นี้ เพราะต้องแข่งขันกับรถประเภท SPV : Special Purpose Vehicle จากค่ายอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่าอย่างชัดเจน อาทิ Ford Escape, Mazda Tribute และ Honda CR-V ที่มีราคา ประมาณ 1.1-1.3 ล้านบาท ขณะที่แลนด์ โรเวอร์ รุ่นเล็ก Freelander ราคาเกือบ 2 ล้านบาท

นอกจากนี้ TRU มีความเสี่ยงกรณีการแข่งขันกับรถยนต์ประเภท PPV : Passenger Pick Up Vehicle ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Toyota Sport Rider, Mitsubishi Strada G Wagon, Ford Everest แต่บริษัทมีความได้เปรียบด้านราคาถูกกว่าคู่แข่งดังกล่าวจากการ เสียภาษีเฉพาะส่วนต่อเติมเท่านั้น

ขณะที่คู่แข่งเสียภาษีเต็มจำนวนทั้งคัน แต่ มีคำถามตามมาว่าในอนาคตความได้เปรียบนี้จะหายไป เนื่องจากรัฐบาลกำลังพิจารณาโครง สร้างภาษีสรรพสามิตรถประเภท PPV ใหม่ ซึ่ง อาจจะทำให้ราคารถอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.