หนึ่งประเทศสองเพลงชาติในนิวซีแลนด์

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับชาวไทยทุกท่านคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักหรือร้องเพลงชาติไทยไม่ได้ แต่ถ้าใครได้ไปต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา แคนาดา หรือแม้แต่อังกฤษ ปัจจุบันจะพบว่าเพลงชาติจะถูกใช้ในพิธีการสำคัญจริงๆ เท่านั้น เช่น การรับแขกบ้านแขกเมือง พิธีจบการศึกษา และการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ แต่ถึงกระนั้นก็ตามถ้าท่านผู้ชมได้ชมตามจอโทรทัศน์จะเห็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือนักกีฬาฝรั่งร้องเพลงชาติของตนเองไม่เป็น ที่เป็นข่าวไม่นานมานี้ก็คือนักกีฬาฟุตบอลชื่อดังระดับโลกชาวอังกฤษคนหนึ่งออกมายอมรับว่าการที่เขาไม่ร้องเพลงชาติตอนที่ลงเล่นในนามทีมชาติเพราะเขาร้องไม่เป็น เนื้อร้องก็ยังไม่รู้ ตรงนี้อาจจะฟังดูน่าขำ แต่นี่คือสภาพความเป็นจริงในต่างประเทศ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูได้ว่าเวลาที่มีการแข่งกีฬา เวลาที่กล้องถ่ายนักกีฬาตอนร้องเพลงชาติจะมีนักกีฬาจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าขึงขังแต่ไม่ขยับปาก เพราะร้องไม่ออก

ยิ่งถ้าให้ผมถามวัยรุ่นชาวนิวซีแลนด์และคนไทยที่มาศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ว่า เมืองกีวีมีเพลงชาติกี่เพลงผมเชื่อว่าคงหาคนตอบถูกได้ยากพอสมควร เพราะว่านิวซีแลนด์มีเพลงชาติที่เป็นทางการ 2 เพลงและ 3 เนื้อร้อง ฟังดูน่าปวดหัวไหมครับ หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่าเวลาร้องเพลงชาติจะไปออกกันในทิศทางไหน เพลงชาติของนิวซีแลนด์สองทำนองคือ God Defend New Zealand กับ God Save the Queen และมีเนื้อร้องที่สามคือ Aotearoa หลายท่าน อาจสงสัยว่า God Save the Queen ซึ่งเป็น เพลงชาติของอังกฤษมาเกี่ยวอะไรด้วยผมจึงขออธิบายง่ายๆ ว่าประเทศที่ยังยอมรับควีนของอังกฤษเป็นพระประมุขของชาติ จะถือเอาเพลงของอังกฤษเป็นเพลงชาติ แต่เนื้อร้อง อาจจะต่างกันไปในบางประเทศ เช่นประเทศ แคนาดาและนิวซีแลนด์เองก็มีท่อนที่สามที่แตกต่างจากของอังกฤษ

ในนิวซีแลนด์เองแม้ว่าเพลง God Defend New Zealand จะเป็นเพลงที่ชาวนิวซีแลนด์ร้องเหมือนเพลงชาติมาตั้งแต่ปี 1876 แต่ที่จริงมีสถานะเป็นเพลงชาติที่สอง ตามหลังเพลงชาติอังกฤษ ประวัติของเพลงนี้เริ่มมาจากคำกลอนของโทมัส แบรคเกน นักหนังสือพิมพ์ชาวไอริชที่นิยมเขียนบทกลอน เกี่ยวกับสังคมของนิวซีแลนด์ในยุคนั้น แบรคเกนมีบทความที่มีชื่อเสียงมากคือการยกย่องประเทศนิวซีแลนด์ว่าเป็น God's Own Country ซึ่งเป็นบทความที่เขียนยกย่องนิวซีแลนด์เป็นสรวงสวรรค์ ด้วยธรรมชาติที่งดงามและมีเสรีภาพกับความเสมอภาค

ความคิดของแบรคเกนไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าสังคมยุโรปในศตวรรษที่ 19 นั้น ยังคงเต็มไปด้วยศักดินา มีท่านเคาท์ ท่านเซอร์ นั่งรถม้าไปทั่วท้องถนนและยังเป็นเจ้าของที่ดินส่วนมากในประเทศ สังคมเมืองก็เป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุคนั้นกรุงลอนดอนจะมีคนยากจนและตกงานไปทั่ว ตกดึกก็มีอาชญากรรม เมืองก็เต็มไปด้วยควัน จากการเผาถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีการดูถูกทางเชื้อชาติ เช่น ชาวไอริชมักจะโดนดูถูกว่า เป็นฝรั่งบ้านนอก แต่ชาวฝรั่งต่างมีความฝันที่อยากจะมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและอยู่ในสังคมที่มีความเสมอภาคทางชนชั้นและเผ่าพันธุ์ มีธรรมชาติที่สะอาด มีงานทำ มีความปลอดภัยจากอาชญากรรม ชาวสกอต ติช ไอริช เวลส์ หรืออังกฤษเองจำนวนไม่น้อยตกลงใจขึ้นเรือมาแสวงโชคในแผ่นดินใหม่กัน และเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงนิวซีแลนด์ ซึ่งมีสิ่งที่เหมือนอังกฤษในหลายๆ อย่างทั้งภูมิอากาศ ภูมิประเทศ บ้านเมืองที่สะอาดและสงบ สังคมที่เต็มไปด้วยความเสมอภาคและภูมิประเทศที่สวยงาม แบรคเกน จึงเขียนกลอนให้กับแผ่นดินใหม่นี้ว่าแผ่นดินของพระเจ้า บทกลอนดังกล่าวแพร่หลายขนาดที่นักการเมืองในยุคนั้นรวมถึงนายกรัฐมนตรีในสมัยต่อมาชื่อ ริชาร์ด เซดดอน ก็เอาคำว่า แผ่นดินของพระเจ้ามาหาเสียงในช่วงที่คำกลอนของแบรคเกนได้รับความนิยมมากเขาจึงแต่งกลอน 5 บทชุดใหม่ ชื่อ God Defend New Zealand ออกมาซึ่งแปลย่อๆ ได้ว่า "พระเจ้าได้ประทานแผ่นดินที่ไร้ซึ่งความอิจฉาริษยา คอร์รัปชั่น ความ อัปยศและความแตกแยก ให้กับประชาชนทุกเผ่าพันธุ์ได้อยู่อย่างเสมอภาค ยุติธรรม ตั้งอยู่ในความถูกต้อง, รักสันติภาพและกล้าหาญ ดังนั้นพระเจ้าจึงปกป้องนิวซีแลนด์" บทกลอนนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทำให้หนังสือพิมพ์ประกาศให้รางวัลกับคนที่แต่งทำนองเพลงให้เข้ากับบทกลอนเป็นทองคำ 10 กิเนียร์ ซึ่งคิดเป็นทองคำหนักถึง 5 บาททีเดียว ซึ่งคนที่ชนะรางวัลคือครูสอนดนตรีชื่อ จอห์น วู้ด จากนั้นวงดุริยางค์ทหาร บกได้นำเพลงดังกล่าวมาแสดงที่โรงอุปรากรในเมืองดันเนดินเป็นครั้งแรกในวันคริสต์มาสในปี 1876 โดยให้นักร้องโอเปร่าของนิวซีแลนด์ ในยุคนั้นเป็นคนร้อง และได้รับความชื่นชอบกันอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม เพลงดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด เป็นเพียงเพลงนิวซีแลนด์ยอดนิยมเท่านั้น จนกระทั่งถึงปี 1940 จอห์น แมคเดอมอต อธิบดีกรมการไปรษณีย์ในยุคนั้นได้ใช้งบของกรมซื้อลิขสิทธิ์เพลงและนำมาเล่นในงานฉลองครบรอบ 100 ปีนิวซีแลนด์แทนเพลงชาติที่มาจากอังกฤษ ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศว่าเพลง God Defend New Zealand เป็นเพลงปลุกใจประจำชาติ แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นเพลงชาติตามกฎหมาย แม้ว่าในการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพหรือโอลิมปิกนักกีฬาจะร้องแต่เพลง God Defend New Zealand แทนเพลงชาติจริงก็ตาม

ในปี 1973 นายกรัฐมนตรีนอร์แมน เคิร์กได้พยายามเปลี่ยนเพลงชาติเป็น God Defend New Zealand อย่างไรก็ตาม เคิร์ก เสียชีวิตในตำแหน่งก่อนที่จะผลักดันนโยบาย ดังกล่าวได้สำเร็จ เมื่อทางรัฐบาลไม่ทำประชาชนก็ลงมือเอง โดยในปี 1976 เพื่อเป็น การครบรอบ 100 ปีของเพลง God Defend New Zealand ประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนเพลงชาติได้ออกล่ารายชื่อผู้ร่วมอุดมการณ์และนำเสนอต่อรัฐสภาทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ ได้นำไปเสนอต่อผู้สำเร็จราชการเพื่อทูลเกล้าฯ ต่อควีน ซึ่งพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเพลงชาติเพลงที่สอง ในช่วงแรกทางการได้มีมติให้เล่นเพลงชาติทั้งสองเพลงควบคู่กัน จนกระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมออกมาชี้แจงถึงการใช้เพลงชาติทั้งสอง กล่าวคือในวันชาติ วันแอนแซค วันเปิดประชุมสภา ในพิธีการรับรองอาคันตุกะจากต่างประเทศ หรือในพิธีการมอบสัญชาตินิวซีแลนด์ถึงจะเล่นเพลงชาติทั้งสองเพลง ขณะที่ในพิธีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือพระราชวงศ์อังกฤษ เสด็จเป็นประธานให้เล่นเพลง God Save the Queen ขณะที่พิธีอื่นๆ ที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีไปเป็นประธานให้เล่นเพลง God Defend New Zealand นอก จากนี้ยังมีกฎที่น่าปวดหัวคือ หากควีนอังกฤษ ทรงเสด็จเยือนนิวซีแลนด์ในโอกาสที่พระองค์ ทรงเป็นประธานในฐานะควีนของเครือจักรภพ หรือของอังกฤษให้เล่นเพลงชาติที่หนึ่ง แต่ถ้าพระองค์ทรงเป็นประธานในฐานะพระราชินีของนิวซีแลนด์ให้เล่นเพลงชาติเพลงที่สองแทน หลังจากที่ประชาชนต้องปวดหัวกับประกาศของกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว ชาวเมารีก็กลัวที่จะตกรถไฟเที่ยวพิเศษจึงขอเสนอ เวอร์ชั่นเมารีเข้าไปด้วยในปี 1979 โดยเอากลอน God Defend New Zealand ซึ่งแปลเป็นภาษาเมารี ในปี 1878 นำมาปัดฝุ่นใหม่โดยปรับเนื้อเพลงให้เข้ากับทำนองและใช้ชื่อเพลงว่า Aotearoa และยื่นเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อขอสิทธิที่ชาวเมารีพึงจะได้รับทำให้กลายเป็นเพลงชาติเพลงที่สามที่นำมาบรรเลงในพิธีการที่เกี่ยวกับชาวเมารีอีกต่างหาก

แค่ฟังประวัติเพลงชาติของนิวซีแลนด์ ผมก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะปวดหัวไม่น้อยและยิ่งชาวนิวซีแลนด์เองก็คงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมถึงมีหลายคนที่ร้องเพลงชาติไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะร้องเพลงไหน แต่ที่ร้ายที่สุดคือความจริงแล้วแม้แต่เพลงชาติยอดนิยมอย่าง God Defend New Zealand เองก็มีถึง 5 ท่อน แต่เพื่อความกะทัดรัด รัฐบาลจึงมีมติให้ร้องเพียงท่อนแรกในพิธีการต่างๆ แต่ถ้าให้ประชาชนร้องหมด 5 ท่อนผมเชื่อว่าคงไม่มีใครร้องเพลงชาตินิวซีแลนด์ได้ พอมองดูประเทศต่างๆ ทั้งนิวซีแลนด์ อังกฤษ อเมริกา แคนาดา หรือออสเตรเลีย ผมก็อดที่จะภูมิใจไม่ได้กับคนไทยซึ่งไปร่วมงานที่ไหน ไปแข่งกีฬาที่ไหน เพลงชาติไทยร้องกันเป็นหมดทั้งคนดู นักกีฬาและสตาฟโค้ช และผมเองก็เชื่อว่าที่กรุงปักกิ่งในปีนี้ อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ จะกวาดไปกี่เหรียญทอง ก็ไม่สำคัญเพราะเวลาที่เชิญธงสู่ยอดเสา ผมจะดูว่าชาติที่ได้เป็นสิบเป็นร้อยเหรียญทองจะหาคนที่ร้องเพลง The Star Spangled Banner, Advance Australia Fair หรือ God Save the Queen ได้สักกี่คน แต่ผมเชื่อว่าทุกเหรียญทองที่ไทยได้มาจะมีเสียงคนร้องเพลงชาติไทยกระหึ่มไปทั่วสนามกีฬาอย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.