|
Binayak Sen หมอนักสิทธิมนุษยชนในจองจำ
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"สุขภาพที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชน" ดร.บินายัค เซ็น ตระหนักถึงหลักการและรากของปัญหานี้ร่วมทศวรรษก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศขึ้นเป็นปฏิญญาสากล กว่า 30 ปีที่หมอบินายัคอุทิศตนเพื่อคนยากไร้ในรัฐชัตติสการ์หพื้นที่สีแดงของอินเดีย จนได้ชื่อว่าเป็นหมอของคนยาก เป็นหมอนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ดังได้รับรางวัลทรงเกียรติทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ล่าสุดเขาได้รับรางวัลโจนาธาน มันน์ จากคณะองค์กรด้านสาธารณสุข ที่ทำงานอยู่ในกว่า 140 ประเทศ แต่น่าสะท้อนใจว่า หมอบินายัคคงไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลดังกล่าวได้ เพราะกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา เขาต้องขังในข้อหาเป็นสมาชิกกลุ่ม Naxalite และเป็นภัยต่อความไม่สงบของอินเดีย โดยไม่ได้รับแม้สิทธิประกันตัว
บินายัค เซ็น จบการแพทย์จากวิทยาลัยการแพทย์คริสเตียน เวลโลร์ ปัจจุบันอายุ 56 ปี สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์นอกจากจะหัวดีได้รางวัลเหรียญทองดีเด่น เขายังเป็นนักกิจกรรมรวมกลุ่มกับเพื่อน นักศึกษาทำงานสังคมสงเคราะห์อยู่ไม่ขาด ดร.พี. ซัคคาเรียห์ อดีตอาจารย์แพทย์ประจำวิทยาลัยดังกล่าว เขียนเล่าถึงลูกศิษย์ที่เขาภาคภูมิใจว่า ก่อนจบการศึกษาบินายัคทำวิทยานิพนธ์เรื่องโรคขาดสารอาหาร โดยไปทำงานวิจัยอยู่ในชุมชนแออัดของเวลโลร์ จากประสบการณ์ช่วงนั้นบินายัคตระหนักดีว่า โรคขาดสารอาหารไม่ใช่แค่ประเด็นทางการแพทย์ รากของปัญหานั้นเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมและการเมือง นั่นคือช่วงปี 1966-1971 ก่อนหน้าที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศปฏิญญาสากลว่าสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิมนุษยชนในปี 1978
ด้วยความสนใจดังกล่าว บินายัค เซ็น ศึกษาต่อในสาขา Social Medicine and Community Health ที่มหาวิทยาลัยจาวาฮาร์ลัล เนห์รู กรุงเดลี หลังจบเขาไปทำงานที่โรงพยาบาลชุมชนก่อตั้งโดยกลุ่มเควกเกอร์ ในชนบทห่างไกลของรัฐมัธยประเทศ โดยเป็นแพทย์ประจำโครงการต้านวัณโรค และเริ่มคุ้นเคยกับกลุ่มคนงานเหมืองแร่ ต่อมาจึงย้ายไปดัลลีราชฮารา รัฐชัตติสการ์ห ที่ตั้งถิ่นฐานของคนงานเหมืองแร่ ซึ่งเป็นเหมือนเขตทุรกันดาร ตกสำรวจ หมู่บ้านละแวกนั้นไม่มีโรงเรียน บ่อน้ำดื่ม ไฟฟ้า หรือสถานีอนามัย แม้ว่ากลุ่มคนงานจะรวมตัวกันขึ้นเป็นสหภาพ ภายใต้การนำของชังการ์ นิโยกี แต่รัฐก็ไม่เหลียวแลที่จะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตดังกล่าว
หมอบินายัคจึงเปิดสถานีอนามัยขนาดเล็ก และฝึกอบรมอาสาสมัครคนงานเหมืองให้มีความรู้ในเรื่องงานพยาบาล งานห้องแล็บ การทำบัญชีและบริหารจัดการ เพื่อให้คนงานเหล่านี้สามารถผลัดเวรเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ ด้วยเขาเชื่อว่าชาวบ้านควรมีความรู้ในเรื่องสุขอนามัยจนถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นความรู้เฉพาะของแพทย์ที่จบปริญญาเท่านั้น ชั่วเวลา 7 ปี สถานีอนามัยขนาด 10 เตียง ก็ขยับขยายขึ้นเป็นโรงพยาบาลชาฮีด ที่สามารถรับคนไข้ได้ถึง 90 เตียง
แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดก็เกิดขึ้น นิโยกีผู้นำสหภาพถูกลอบฆ่าโดยกลุ่มมาเฟียเหมืองแร่
หมอบินายัคซึ่งนับถือนิโยกีเสมือนพี่ชายรู้สึกสะเทือนใจและหดหู่ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนเป็นความขัดแย้งและความรุนแรง เขาตัดสินใจออกจากพื้นที่ไปทำงานที่อื่นชั่วคราว ก่อนจะย้ายกลับมาชัตติสการ์ห โดยร่วมกับอิลีน่าภรรยาก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อรูปันตาร์ ขึ้นที่ตำบลไรปูร์
นับจากปี 1990 เป็นต้นมา ทั้งสองอุทิศตนกับการให้ความรู้ด้านสุขอนามัยพื้นฐานแก่ชาวบ้าน พร้อมทั้งฝึกอบรมทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะสามารถเดินทางไปเปิดคลินิกเคลื่อนที่ในหมู่บ้านห่างไกลอื่นๆ ซึ่งพื้นที่ละแวกนั้นเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน Gangrail รวมทั้งกลุ่มที่โดนรัฐบังคับย้ายออกจากป่าชุมชนเดิม ด้วยเหตุผลของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ชาวบ้านต่างรู้ดีว่าพื้นที่ดังกล่าวอุดมด้วยแร่เหล็กและรัฐกันพื้นที่ไว้เพื่อเตรียมขายสัมปทานให้กับบรรษัทเอกชน
นอกเหนือจากวัณโรค มาลาเรีย การเสียชีวิตหลังคลอดบุตรซึ่งเป็นปัญหาเรื่องสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน หมอบินายัคพบว่าโรคขาดสารอาหารในเด็กถือเป็นปัญหาเร่งด่วน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหาร" (Food Security) เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกตัดขาดจากพื้นที่ทำกินและป่าชุมชนเดิม เขาจึงริเริ่มโครงการธนาคารอาหารของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองและมีอาหารพอเพียงในฤดูกาลต่างๆ
ในปี 2004 หมอบินายัค เซ็น ได้รับรางวัล Paul Harrison จากวิทยาลัยการแพทย์คริสเตียน เวลโลร์ ในการอุทิศตนทำงานเพื่อผู้ยากไร้ ผู้อำนวยการของวิทยาลัยขณะนั้นกล่าวถึงหมอบินายัคว่า "เขาเป็นคนจริงต่อสิ่งที่พูด เขาทำให้เราตระหนักว่า ผู้คนในชุมชนจะมีสุขภาพที่ดีได้ ต้องอาศัยปัจจัยมากมาย นับจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ความมั่นคงทางอาหาร ที่อยู่อาศัย สิทธิอันเท่าเทียม และความยุติธรรม เขาเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้เราเห็นถึงบทบาทของหมอในสภาพสังคมที่แตกสลายและเต็มไปด้วยความอยุติธรรม"
เดือนมกราคม 2006 นารายัน สันยัล ผู้นำทางความคิดวัย 67 ปี ของกลุ่มนักซัลไลท์ (Naxal) กลุ่มปฏิบัติการต่อต้านรัฐที่เคลื่อนไหวอยู่ในหลายรัฐของอินเดียถูกจับในข้อหาฆ่าคนตายและต้องขังเพื่อรอการดำเนินคดี พี่ชายของเขาจึงพยายามติดต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องทนายและการตรวจรักษาอาการปวดรุนแรงที่มือของน้องชาย หมอบินายัคในฐานะเลขาธิการของ People's Union for Civil Liberties (PUCL) หนึ่งในองค์กรที่ได้รับการติดต่อ จึงเข้าให้ความช่วยเหลือทั้งการหาทนายและทำการผ่าตัดให้ด้วยตนเอง ซึ่งการเข้าตรวจรักษาทั้ง 33 ครั้ง ล้วนได้รับการอนุญาตและอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ เหตุการณ์เกินความคาดหมายของหมอนักสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2007 เมื่อทางการรัฐชัตติสการ์หจับกุมตัวปิจุช กูฮา พ่อค้าจากกัลกัตตาพร้อมของกลางเงินสด 49,000 รูปี และจดหมายไม่ลงชื่อ 3 ฉบับ เขียนร้องเรียนสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ในคุกและปลุกขวัญให้ผู้รับจดหมายขยายกองกำลังในหมู่ชาวนาและกรรมกรในเขตชานเมือง โดยกูฮาให้การว่าเป็นเงินค่าทนายที่เขาต้องส่งมอบให้หมอบินายัค ส่วนจดหมายที่เชื่อว่าเขียนโดยสันยัลนั้น หมอบินายัคซึ่งลักลอบเป็นคนเดินสารมอบให้เขาเพื่อส่งต่อแก่สายนักซัลไลท์คนอื่นๆ แต่ต่อมากูฮาให้การในชั้นศาลว่าเขาถูกกักตัวและทรมานมาก่อนหน้านั้น 5 วัน และโดนบังคับให้เซ็นชื่อในกระดาษเปล่า
อย่างไรก็ตาม กองตำรวจของรัฐชัตติสการ์หได้ออกแถลงการณ์ว่าหมอบินายัคต้องสงสัยเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มนักซัลไลท์ที่เคลื่อนไหวก่อกวนอยู่ในรัฐ พร้อมกับออกหมายเรียกให้มาให้การที่สถานีตำรวจ หมอบินายัคซึ่งขณะนั้นเดินทางไปเยี่ยมมารดาที่เมืองกัลกัตตา รีบเดินทางกลับไปไรปูร์ แม้ว่ามีคนเตือนให้เขาปฏิเสธด้วยการส่งทนายไปแทน แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจและมองว่าน่าจะแค่เรื่องของการเข้าใจผิด ในวันที่ 14 พฤษภาคม เขาจึงไปสถานีตำรวจเพื่อหวังจะ "ให้การสั้นๆ" ตามหมายเรียก แต่กลับถูกจับกุมและต้องขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการก่อการอันไม่ต้องด้วยกฎหมาย และบทบัญญัติเพื่อความมั่นคงพิเศษของรัฐชัตติสการ์ห ซึ่งเปรียบได้กับกฎอัยการศึกที่ปิดประตูสิทธิขั้นพื้นฐานทุกประการของผู้ต้องสงสัย ทันทีที่ถูกจับกุม คำอุทธรณ์และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวหมอบินายัคก็หลั่งไหลมาจากทุกทิศ ทั้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชน บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ แต่ตลอดเวลากว่าปีที่ผ่านมา ศาลทั้งสามของอินเดียต่างยืนความเห็นเดิมว่า ผู้ต้องหาเป็นภัยต่อความไม่สงบของประเทศ ต้องจำขังระหว่างรอการดำเนินคดีในชั้นต่อไปโดยไม่มีการประกันตัว
การจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับหมอบินายัค เราจำต้องเข้าใจสถานการณ์ภายในรัฐชัตติสการ์หและประเทศอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมารัฐรับมือกลุ่มปฏิบัติการต่อต้านรัฐ ไม่ว่าในกรณีของแคชเมียร์ อัสสัม มานีปูร์ หรือกลุ่มนักซัลไลท์ที่กระจายอยู่ในหลายรัฐ ด้วยวิธีตาต่อตาฟันต่อฟันมาโดยตลอด โดยไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอหรือเชื้อไฟของความขัดแย้ง เช่น ความยากจน การไม่มีที่ทำกิน หรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ในกรณีของชัตติสการ์หฝ่ายรัฐถึงกับสนับสนุนให้มีการก่อตั้งกองกำลังพลเรือนขึ้นปฏิบัติการตอบโต้ ในชื่อกลุ่ม Salwa Jadum ตลอดปีที่ผ่านมาการปะทะระหว่างกลุ่มนักซัลไลท์และซัลวา จาดุม ก่อให้เกิดเหตุรุนแรงและเสียชีวิตรวมกว่า 300 ครั้ง
ที่ผ่านมา หมอบินายัคแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของทั้งกลุ่มนักซัลไลท์และซัลวา จาดุม ขณะเดียวกันเขาและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้ร่วมกันสืบสวนและวิพากษ์วิจารณ์คดีหลายคดี ที่ต้องสงสัยว่าเป็นการทำวิสามัญฆาตกรรมหรือจัดฉากการปะทะโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงนำเสนอรายงานผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของกลุ่มซัลวา จาดุม เมื่อปะติดปะต่อภาพเหล่านี้เข้าด้วยกัน กรณีการให้การรักษาสันยัลจึงเป็นช่องโอกาสมากกว่าสาเหตุหลัก ที่ฝ่ายรัฐใช้เป็นเหตุมัดมือบุคคลที่ตนมองว่าเป็นเสี้ยน และเชือดไก่เพื่อปิดปากกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ อิสรภาพของหมอบินายัคจึงไม่ใช่เรื่องของการใช้เหตุผล หลักฐานร้อยแปด หลักกฎหมาย หรือแม้แต่หลักสิทธิมนุษยชน อิสรภาพหรือกระทั่งโอกาสที่จะได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของหมอบินายัค ดูจะขึ้นกับความเป็นไปได้อันริบหรี่ที่ฝ่ายรัฐจะหันมาตั้งคำถามกับนโยบายและวิธีการที่ตนเลือกใช้
ข้อมูลและภาพ : นิตยสารเตเฮลกา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|