|
โรงแรมอังกฤษ Made in Shenzhen
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ปลายปี 2549 ระหว่างที่ผมเดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็พบกับข่าวเล็กๆ แต่น่าสนใจชิ้นหนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์ระบุว่าในปี 2551 นี้ แท็กซี่สีดำทรงคลาสสิกเอกลักษณ์ของกรุงลอนดอนและประเทศอังกฤษ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "London Black Cabs" กำลังจะย้ายฐานการผลิตหลักจากเมืองโคเวนทรีที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอนไปยังโรงงานของบริษัทในเครือ Geely Automotive Holdings Ltd. หรือ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศจีน[1]
สำหรับความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าวนั้นล่าสุดมีรายงานข่าวจากผู้บริหารของบริษัท Manganese Bronze Holding ผู้ผลิตแท็กซี่ลอนดอนรายใหญ่ที่สุดระบุว่า โรงงานที่บริษัทตั้งขึ้นโดยร่วมทุนกับบริษัทในเครือ Geely ของจีนที่เซี่ยงไฮ้น่าจะสามารถผลิตรถยนต์แท็กซี่ลอนดอนคันแรกออกมาให้ชาวโลกได้ยลโฉมภายในเดือนมิถุนายน 2551 นี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ทางผู้บริหารของ Manganese Bronze ของอังกฤษที่ปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนร่วมกับ Geely ถือหุ้นในบริษัท Shanghai LTI Automobile ซึ่งผลิตแท็กซี่ลอนดอนในประเทศจีน ได้ออกมาเปิดเผยว่าในการย้ายฐานการผลิตรถแท็กซี่ลอนดอนจากอังกฤษไปยังนครเซี่ยงไฮ้นั้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตรถแท็กซี่ลอนดอนลดลงอย่างมหาศาล อย่างเช่น ในรุ่น TX4 จากต้นทุนการผลิต 21,000 ถึง 28,000 ปอนด์ต่อคันหากผลิตในประเทศอังกฤษจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น หากผลิตในเซี่ยงไฮ้โดยได้คุณภาพรถเหมือนๆ กัน
มากกว่านั้น ยังมีข่าวคราวความคืบหน้าอีกด้วยว่าสำหรับโรงงานแท็กซี่ลอนดอนดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ที่เมืองโคเวนทรีก็จะนำเข้าชิ้นส่วนในการประกอบจากโรงงานประเทศจีนด้วย โดยภายในปีหน้า (2552) โรงงานในโคเวนทรีจะใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ในการประกอบทั้งหมดจากประเทศจีน ขณะเดียวกันทาง Manganese Bronze กับ Geely ก็วางแผนไว้ด้วยว่าโรงงานที่เซี่ยงไฮ้จะมีกำลังการผลิตแท็กซี่ลอนดอนได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 40,000 คัน ยังไม่ทันที่ผมจะหายตื่นเต้นกับข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับ "แท็กซี่ลอนดอน เมดอินไชน่า" ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ของสหรัฐอเมริกาก็ตีพิมพ์ข่าวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับโรงแรมในกรุงลอนดอนที่โครงสร้างทั้งหมดถูกหล่อจากโรงงานในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน
ข่าวชิ้นดังกล่าวระบุว่า ในปีนี้ Travelodge อันเป็นเครือโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ที่ใหญ่ที่สุดในเกาะอังกฤษได้สร้างโรงแรมจำนวน 2 แห่งที่ผลิตจากโรงงานในเมืองเซินเจิ้น โดยโรงแรมแห่งแรกอยู่ที่เขตอักซ์บริดจ์ (Uxbridge) ทางตะวันตกของกรุงลอนดอนเป็นโรงแรมสูง 8 ชั้นขนาด 120 ห้อง และมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่อีกแห่งหนึ่งเป็นโรงแรมขนาด 307 ห้อง อยู่ใกล้ๆ กับสนามบินฮีธโทรว์ ซึ่งมีกำหนดเปิดในเดือนธันวาคมปีนี้[2] สำหรับทราเวลลอดจ์ สหราชอาณาจักร (Travelodge UK; คนละเจ้าของกับเครือ Travelodge ในสหรัฐอเมริกา[3]) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 ปัจจุบันมีโรงแรมที่บริหารทั้งสิ้นจำนวน 330 แห่งทั่วอังกฤษ มีจำนวนห้องพักราวสองหมื่นห้อง และถือเป็นเครือโรงแรมราคาประหยัดอันดับที่สองของอังกฤษ รองจากเครือพรีเมียร์ อินน์ (Premier Inn)
ทั้งนี้เนื่องจากทางบริษัทตั้งเป้าหมายระยะยาวไว้ว่าภายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) หรืออีก 12 ปีข้างหน้า Travelodge จะต้องครองส่วนแบ่งโรงแรมในอังกฤษให้ได้ถึงร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายระยะสั้น หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า (ภายในปี 2555) ซึ่งจะเป็นปีที่มหานครลอนดอนเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนคือ Travelodge จะต้องเป็นเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในลอนดอน โดยจะต้องมีห้องพักจำนวน 7,000 ห้อง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่จะมาเยือน
ด้วยเป้าหมายของ Travelodge ในการก้าวขึ้นเป็นเครือโรงแรมราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ ผู้บริหารจึงต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการสร้างห้องพักให้ได้อย่างรวดเร็วและที่สำคัญราคาต่ำที่สุด เนื่องจากโรงแรมในเครือ Travelodge นั้นเป็นโรงแรมราคาประหยัดที่ราคาห้องพักต่ำที่สุดนั้นเริ่มต้นที่เพียง 19 ปอนด์ ทำให้ Travelodge ดึงบริษัท Verbus Systems บริษัทก่อสร้างอังกฤษซึ่งมีเทคนิคในการสร้างห้องจากชิ้นส่วนเหล็กที่หล่อขึ้นจากที่อื่นแล้วนำมาประกอบกันเป็นโรงแรมเข้ามาสร้างโรงแรมให้
พอล โรลเลตต์ ผู้อำนวยการด้านการตลาดของ Verbus Systems กล่าวว่า ทางบริษัทของเขาสามารถสร้างโรงแรมขนาด 300 ห้องหรือตึกสูงได้มากที่สุดถึง 16 ชั้น ณ ที่แห่งใดก็ได้บนโลกใบนี้โดยใช้เวลาก่อสร้างเพียงแค่ 20 สัปดาห์ โดยปัจจุบันบริษัท Verbus Systems กำลังสร้างโรงแรมจำนวนสองแห่งให้กับ Travelodge ดังที่กล่าวไปแล้ว สำหรับขั้นตอนในการสร้างนั้นเริ่มจากการออกแบบโดย Travelodge ก่อนที่แบบจะถูกส่งไปผลิตโครงสร้างโรงงานในประเทศจีน จากนั้นโครงสร้างดังกล่าวก็จะถูกสร้างมาในรูปแบบของตู้คอนเทนเนอร์ โดยคอนเทนเนอร์แต่ละตู้บรรจุไว้ด้วยโครงสร้างเหล็กของอาคาร จากนั้นก็นำตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ขนลงเรือจากประเทศจีนมายังประเทศอังกฤษเพื่อประกอบเข้าด้วยกัน ณ สถานที่ที่ต้องการ ซึ่งตู้แต่ละตู้จะถูกใส่เข้าไปในช่องที่เตรียมเอาไว้คล้ายกับการต่อตัวต่อ จากนั้นก็มีการเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ใส่อุปกรณ์และติดตั้งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับอาคารเข้าไป เมื่อทำการทาสีและตกแต่งภายในขั้นสุดท้าย โรงแรมราคาประหยัดก็เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ทั้งนั้นมีการยืนยันว่าโรงแรมที่สร้างด้วยวิธีดังกล่าวมีความแข็งแรง คงทน และให้ความรู้สึกไม่ผิดเพี้ยนไปจากโรงแรม Travelodge แห่งอื่นๆ เลย Verbus Systems และ Travelodge ระบุว่าการก่อสร้างด้วยวิธีดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนการสร้างได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ขณะที่ลดระยะเวลาการก่อสร้างได้ถึงร้อยละ 25 พิสูจน์ได้จากโรงแรมที่อักซ์บริดจ์นั้นมีค่าก่อสร้างเพียง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับ 12 ล้านเหรียญ หากใช้วิธีปกติ ทั้งนี้ทั้งนั้นการลดต้นทุนดังกล่าว จะทำให้ทางโรงแรมสามารถตั้งราคาห้องพักได้ถูกลง โดยโรงแรมที่อักซ์บริดจ์นั้น จะมีราคาการเข้าพักต่อคืนเริ่มต้นที่เพียง 30 ปอนด์ สำหรับโรงแรม Made in China ดังกล่าวนั้นจะเป็นต้นแบบสำหรับการก่อสร้างในอนาคต ซึ่งก็รวมถึงการสร้างโรงแรมชั่วคราวในเทศกาลดนตรี มหกรรมกีฬาใหญ่ๆ อย่างไรก็ตาม วิธีการสร้างโรงแรมดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย Travelodge แต่โรงแรมสหรัฐฯ ในเครือ Holiday Inn และ Marriott ก็เคยทดลองใช้มาก่อนแล้วหลายปี
กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแน่นอนว่าการนำเข้า "โรงแรม" จากประเทศจีนมาตั้งไว้กลางกรุงลอนดอนโดยใช้แรงงานคนอังกฤษน้อยมากนั้น หากคิดในอีกมุมหนึ่งก็คือการอาศัยแรงงานราคาถูกจากประเทศจีนมาสร้างโรงแรมในอังกฤษนั่นเอง ซึ่งในประเด็นนี้ บาร์คเลย์ ซัมเนอร์ โฆษกของสหภาพแรงงานก่อสร้าง, พันธมิตรการค้าและผู้ชำนาญการ (Union of Construction, Allied Trades and Technicians) ของอังกฤษได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเรื่องที่ "น่าใจหาย" เป็นอย่างยิ่ง เพราะการกระทำเช่นนี้เท่ากับว่า โรงแรม Travelodge กำลังเอางานของแรงงานก่อสร้างชาวอังกฤษไปให้คนจีนทำ ซึ่งนั่นหมายความว่าแรงงานก่อสร้างชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งอาจจะต้องตกงาน
กระนั้นทางพอล โรลเลตต์ ก็ออกมาโต้แย้งว่าปัญหาการก่อสร้างในอังกฤษ ในขณะนี้คือการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง พร้อมกับกล่าวประชดว่า ถ้าหากมีมาตรการห้ามมิให้ใช้วิธีการก่อสร้างดังกล่าว บริษัทของเขาก็คงต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศจีนเข้ามาในอังกฤษแทน!
แท้จริงแล้วความกังวลของสหภาพแรงงานก่อสร้างอังกฤษนั้น ถือว่าไม่เกินเลยไปนัก เพราะทาง Travelodge ออกมายืนยันแล้วว่าในอนาคตข้างหน้า ทางเครือจะใช้วิธีการก่อสร้างโรงแรมแบบสำเร็จรูปนี้กับโรงแรมจำนวนครึ่งหนึ่งของโรงแรมจำนวน 40 แห่งที่สร้างใหม่ทุกปี และเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วการก่อสร้างอาคารด้วยวิธีนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศจีนนี้ก็ดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นทุกทีๆ
เป็นไงครับ ...ฟังแล้วไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมว่า พ.ศ.นี้ "Made in China" เขาครองโลกจริงๆ
อ่านเพิ่มเติม
[1] อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในคอลัมน์เรื่อง "เมื่อ London Black Cabs เปลี๊ยนไป๋!" โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับพฤศจิกายน 2549
[2] The New York Times, Arriving in London : Hotels Made in China, 11 พฤษภาคม 2551
[3] เว็บไซต์ของ Travelodge ไปที่ www.travelodge.co.uk
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|