|
Tea of life ชาตามสั่ง
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ชาอู่หลงใบกลมเมื่อโดนน้ำร้อนก็คลี่ออกเห็นเป็นใบชาลอยในแก้ว แต่จากที่เคยให้รสชาติฝาด Tea of life กลับอบเพื่อให้รสชาติของชาที่อ่อนกว่า บรรจุในวัสดุที่สวยสะดุดตา นี่คือวิถีทางของแบรนด์ชาน้องใหม่ที่กำลังเติบโตด้วย "made to order"
เมื่อปีกลาย ชาอู่หลงในแพ็กเกจจิ้งสีสดใส พร้อมลวดลายทันสมัยของอายุพร วงษ์โคเมท และปิยะวรรณ เหมือนประสิทธิเวช สองสาวที่มา อยู่ในฐานะของพี่สะใภ้และน้องสามี รู้จักกันเฉพาะในหมู่เพื่อนฝูงและเครือญาติไม่กี่คน ก่อนอานุภาพของ "word of mouth" หรือ "การบอกต่อ" จะส่งผลให้ทั้งคู่ต้องตัดสินใจ ก่อตั้งบริษัทเล็กๆ ขึ้นมาเป็นงานอดิเรกนอกเหนือ จากภาระงานประจำในบริษัท เพื่อทำการผลิตชาอู่หลงอบแห้งของตนส่งขายในสถานที่ต่างๆ
โดยคงสภาพของการรับสั่งทำเฉพาะที่ต้องการ โดยไม่มีหน้าร้านวางขาย หรือ made to order เพียงเท่านั้น แต่อนาคตของแบรนด์ชาเล็กๆ ที่เพิ่งเกิดใหม่นี้กลับเห็นลู่ทางที่สดใสไม่น้อย "มันเริ่มต้นจากการที่เราไปรับดูธุรกิจของคุณพ่อที่เชียงราย และมีโอกาสไปเยี่ยมไร่ของคุณพ่อ พื้นที่เล็กๆ ที่เราให้ชาวบ้านบนดอยตุงเช่าปลูกพืช หนึ่งในนั้นก็คือชาอู่หลง ซึ่งขึ้นชื่อมากที่นั่น เขาจะปลูกแล้วส่งให้กับพ่อค้าส่งชาละแวกนั้น เราเองไม่ดื่มชา เพราะคิดว่ามันฝาดไป แต่เพราะการที่ไปบ่อยครั้ง ชาวบ้านก็เลยอบชาให้มันฝาดน้อยลง เพื่อให้เราดื่มง่าย เราก็สงสัยว่าทำได้ด้วยเหรอ ชาวบ้านเขาก็บอกว่าได้ แต่ว่าชารสชาติอ่อนแบบนี้เขามักจะขายไม่ค่อยได้ ตั้งแต่นั้นเราเลยสนใจ ไปนั่งคลุกคลีอยู่กับเขา ดูตั้งแต่เขาเก็บยอดชามาตาก ผึ่งลมจนถึงกระบวนการอบ ทดลองอบชาด้วยความร้อนในระยะเวลาหลายๆ แบบจนได้ชาในรสชาติที่ตัวเราเองดื่มได้ และคิดว่าไม่ฝาดจนเกินไป" อายุพร วงษ์โคเมท เริ่มต้นเล่าที่มาของชา made to order
จากจุดเริ่มต้นเพียงเพราะการมองหาชาที่ถูกปากตนเอง ในเวลาต่อมาเริ่มขยับขยายมาผลิตจำนวนมากขึ้น เพื่อใช้เป็นของฝากเพื่อนฝูงและเครือญาติ ทุกครั้งที่กลับมาจากการเดินทางไปที่เชียงราย จนกระทั่งผู้ที่ได้รับแจกเองเริ่มกลับมาขอซื้อ ทั้งคู่เลยทำการผลิตชาเพื่อขายให้เพื่อนฝูง ใช้เป็นของขวัญสำหรับคนอื่นต่อๆ กันไป โดยอาศัยความเป็นคนรุ่นใหม่มองหากลิ่นที่เขามาทำให้ชานั้นโดดเด่นมากกว่าการเป็นชาล้วนเพียงอย่างเดียว ทั้งคู่เริ่มคิดค้นวิธีการอบใบเตย ตะไคร้ และมะลิ เพื่อผสมรวมเข้าไปในแพ็กเกจที่คิดว่าสวยงาม และสามารถรักษาคุณภาพของชาได้ยาวนานข้ามปี และเริ่มไม่หยุดนิ่งอยู่เฉพาะการรับสั่งทำให้กับเพื่อนฝูงเพียงเท่านั้น เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อนฝูงของทั้งสองได้ชักชวนให้ผลิตชาในรูปแบบของกระป๋องขนาดเล็ก มีฝาปิดสนิทกันความชื้นจากภายนอก เพื่อส่งให้กับไทยออยล์ใช้เป็นของขวัญสำหรับ คู่ค้าและพันธมิตรในช่วงปีใหม่
ทั้งคู่ต้องผลิตชาในกระป๋องที่มากถึง 6 พันกระป๋องหรือ 2 พันชุดสำหรับไทยออยล์ และนั่นจุดประกายความฝันในการต่อยอดงานอดิเรกให้เติบโตและทำเงินมากยิ่งขึ้น อายุพรเล่าว่า "เมื่อสองปีที่แล้วเคยไปร่วมงานแต่งงานเพื่อนที่ยุโรป ก็ไปทดลองชงชาของตนเองให้คนที่มาร่วมงานเพื่อนได้ทดลองดื่มกัน เป็นเพราะตอนนั้นเริ่มคิดแล้วว่าอยากจะทดลองขายชาในคิงส์พาวเวอร์ ดิวตี้ ฟรี และคิดว่าที่นั่นกลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยทดลองจากกลุ่มเพื่อนชาวต่างชาติในงานแต่งงานเพื่อนดู ให้พวกเขาช่วยชิม และดูว่าอยากจะได้ชารสชาติแบบไหน แล้วกลับมาบอกชาวบ้านให้เขาอบไปในแนวทางนั้นตั้งแต่ตอนนั้นมา" ชา Tea of life เริ่มวางขายในคิงส์พาวเวอร์เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว ต้องใช้เวลาหลายเดือนสำหรับการส่งตัวอย่างให้ทางคิงส์พาวเวอร์ทดลองชิมชา จนกว่าจะอนุญาตให้ผลิตชาส่งวางขาย ในเวลาต่อมา คิงส์พาวเวอร์ก็ตัดสินใจสั่งซื้อแบบซื้อขาด วางขายที่คิงส์พาวเวอร์แบบ exclusive
ปัจจุบันทางคิงส์พาวเวอร์ทำการสั่งซื้อชาของทั้งคู่เพิ่มอย่างน้อยเดือนละ 2 หน และยังอยู่ในระหว่างการรอพิจารณาเพื่อเข้าไปวางขายในแบรนด์เดียวกันที่คิงส์พาวเวอร์ในซอยรางน้ำ ขณะที่ปิยะวรรณ เหมือนประสิทธิเวช อาศัยสายสัมพันธ์ที่เคยทำงานใน กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ในการขอคำแนะนำเพื่อจับคู่ธุรกิจกับบริษัทที่ต้องการสินค้าของตนไปวางขายในต่างประเทศ
ท้ายที่สุดจึงมาหยุดที่การจับคู่ระหว่างสปาของคนไทยในแมดริด ประเทศ สเปน ซึ่งขณะนั้นกำลังต้องการชาไปวางขายในร้านของตนเอง โดยติดชื่อแบรนด์ ของสปาที่นั่น กว่าจะได้ชาหนึ่งแก้วนั้น ชาสามใบแรกของยอดที่ถูกเก็บมาจะได้รับการผึ่งตากแดด และผึ่งให้แห้งในห้องปรับอากาศ ก่อนนำมานวดด้วยระยะเวลาที่พอเหมาะ เรียกกระบวนการนวดใบชานี้ว่าการหมัก ก่อนส่งเข้าอบด้วยอุณหภูมิและเวลาที่ต้องการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความลับหรือเป็นสูตรเฉพาะของชาแต่ละยี่ห้อแทบทั้งสิ้น
สำหรับ Tea of life แล้วความลับหรือหัวใจอยู่ที่การอบให้ได้รสชาติที่อ่อนและลื่นคอสำหรับผู้ที่ไม่นิยมการดื่มชา หรือแม้แต่อยากจะดื่มชาแต่ก็ฝืนจนเกินไปที่จะได้รับรสชาติอันฝันแสนจะฝาดบาดคอ เมื่อตัดสินใจจะลงแรงกับธุรกิจชาอย่างจริงจัง ทั้งคู่ตัดสินใจเปลี่ยนให้ชาวบ้านที่เคยเช่าไร่ปลูกชาแล้วขายให้คนอื่น มาเป็นการเจรจาของรับซื้อชาจากไร่ของตนทั้งหมด พร้อมกับชักชวนให้กลุ่มเกษตรกรอีกนับสิบรายที่ปลูกชาเหมือนกันเข้ามาส่งชาให้ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งกระบวนการของการปลูกชาจากไร่ของตนและกลุ่มเกษตรกรที่ชักชวนเข้ามานั้นจะต้องไม่ใช้สารเคมี หรือยาฆ่าแมลงในการปลูกชา ขอเพียงให้ปลูกชา และรดน้ำปกติ เพียงเท่านั้น แม้แต่ปุ๋ยธรรมชาติก็ไม่ให้ใส่
แต่แม้จะให้ชาวบ้านปลูกชาแบบไม่ใช่ยาฆ่าแมลงและสารเคมี แต่เป็นเพราะผู้ทำ ยังต้องดื่มชาของตนเองที่ผลิต ดังนั้นจึงใส่ใจด้วยการให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยตรวจสอบสารปนเปื้อนชาทุกครั้งที่มีการเก็บเกี่ยว รวมถึงมะลิ ตะไคร้ และใบเตย ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อรับรองว่าจะต้องไม่มีความชื้น เชื้อราหรือแม้แต่สารปนเปื้อนซึ่งเป็นอันตรายได้ แม้ จะเป็นต้นทุนที่สูงพอสมควรต่อการตรวจคุณภาพหนึ่งครั้ง แต่ชาทุกล็อตที่เก็บเกี่ยวได้ทุกวันนี้ถูกส่งมายังกรุงเทพฯ เพื่อทำการตรวจและรอรับใบอนุญาตเพื่อการผลิตต่อไป เหนือสิ่งอื่นใดเพื่อทำการตรวจสอบย้อนกลับคืนได้หากเกิดปัญหาขึ้น และหาสาเหตุได้ว่า มาจากไร่ผู้ปลูกรายใดเพื่อทำการแก้ไขและปรับปรุงกันต่อไปในอนาคต ในเวลาต่อมาจากการตรวจสอบสารปนเปื้อนเพียงอย่างเดียว เริ่มกลายเป็นการให้คำปรึกษาในด้านการผลิต ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้คำแนะนำทั้งวิธีการอบชา มะลิ ตะไคร้หรือแม้แต่ใบเตยให้ได้กลิ่นมากที่สุด อีกทั้งยังแนะนำวิธีการล้าง หรือแม้แต่เลือกใช้ใบตะไคร้แทนต้นตะไคร้ ซึ่งให้กลิ่นที่เจือจางกว่า ถูกใจคนต่างชาติมากกว่า "เราไม่คิดว่าจะรวยกับแบรนด์นี้อย่างแน่นอน มีหลายสิ่งที่ประกอบกัน เพราะเรารู้ว่าเราอยากดื่มชาแต่ดื่มไม่ได้เพราะไม่ชอบรสชาติฝาดๆ ของชา การที่คิดค้นชาที่ไม่ฝาดจนเกินไป ทำให้เขาได้รับประโยชน์จากชาอย่างที่เขาต้องการอย่างครบถ้วน แต่จะให้เราทำขายแล้วไม่สวย ไม่ถูกใจคนซื้อเราเองก็ทำใจไม่ได้ ดังนั้น Tea of life ก็จะยังอยู่แบบนี้ คือทำเฉพาะที่สั่งซื้อ ใครอยากได้แค่ไหนก็จัดทำให้เป็นครั้งๆ เป็น made to order เหมือนเคย แต่อาจจะเห็นว่าเราผลิตเพื่อวางขายมากขึ้นเท่านั้นเอง" อายุพรปิดท้ายบทสนทนาเรื่องราวของแบรนด์ ตัวเองได้เป็นอย่างดี
นี่คือตัวอย่างของแบรนด์เล็กที่แม้จะไม่มีหน้าร้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากำลังมีอนาคต ที่สดใสด้วยวิถีทางของการรับสั่งทำและวางขายโดยใช้แบรนด์ของตัวเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|