อนิจจัง...โทรเลขไทย เหลือไว้เพียงความทรงจำ

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

"รู้จักตั้งแต่เด็ก เคยใช้สมัยวัยเรียน ลืมไปสมัยทำงาน ลากันพร้อมความแก่" เนื้อความในโทรเลขฉบับสุดท้ายของคุณลุงวัยกว่า 60 ปี ที่กำลังจะส่งถึงตัวเอง... เป็นดังคำอาลัยลาที่ตอกย้ำว่า นับจากนี้จะไม่มีอีกแล้วเสียง "ตะแล๊ปแก๊ป" ที่แว่วดังมาจากไปรษณีย์ไทย

ภาพความทรงจำในอดีตที่มีความผูกพันกับโทรเลขของลุงเล็กถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านคำบอกเล่าของแก "ตั้งใจเรียน ห่วง รัก/แม่" เป็นโทรเลขฉบับแรกที่คุณลุงได้รับหลังจากเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ได้เพียงไม่กี่วัน และเป็นกำลังใจให้แกทุกครั้งในยามท้อแท้ในการเรียน สำหรับโทรเลขที่ลุงเล็กส่งกลับบ้านบ่อยที่สุด มีเพียงข้อความเดียว "ส่งด่วน" ถึงแม้ข้อความ จะสั้นแต่แม่ของคุณลุงก็เข้าใจดีว่าลูกต้องการอะไร ส่วนโทรเลขฉบับสุดท้ายก่อนหน้าที่ลุงเล็กจะส่งให้ตัวเองครั้งนี้มีเนื้อหาเพียงสามคำ "กลับบ้านด่วน" แต่ก็ทำให้เสียใจที่สุดในชีวิตทันทีที่อ่านจบ เพราะรู้ดีว่ามีเหตุร้ายอะไรรออยู่ จากนั้นความผูกพันระหว่างคุณลุงกับเครื่องมือสื่อสารที่เรียกว่า "โทรเลข" ก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ และอีเมล นับเป็นเวลาร่วม 20 ปีที่ห่างหายจากกัน จนมาถึงวันสุดท้ายของโทรเลขไทย คุณลุงจึงมาร่วมแสดงความอาลัยรักแด่เพื่อนเก่า... เป็นครั้งสุดท้าย

ในชั่วชีวิตคนวัย 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด หลายคนคงเคยได้ใช้บริการโทรเลขมาแล้วไม่น้อยครั้ง ขณะที่เด็กรุ่นหลังหลายๆ คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าตาโทรเลขเป็นอย่างไร "ข้อความนี้เป็นข้อความประวัติศาสตร์ นะ ส่งให้เก็บไว้ให้ดีด้วย" เป็นข้อความยอดนิยมในหมู่เด็กรุ่นใหม่ที่ยืนรอจ่ายเงินเพื่อส่งโทรเลขฉบับแรกและฉบับสุดท้ายให้กับตัวเอง และเพื่อนรัก เพื่อได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การปิดฉากโทรเลขไทย เป็นอีกหนึ่งสีสันในงาน "อำลา...โทรเลขไทย" เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551

นับเป็นเวลาร่วม 133 ปีที่โทรเลขไทยได้ให้บริการส่งข่าวด่วนถึงมือคนไทย ไม่ว่าข่าวนั้นจะมาพร้อมความสุขหรือ ความทุกข์ แต่เครื่องมือสื่อสารยุคแรกนี้ก็ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยังไม่มีทางเลือกการสื่อสาร อื่นที่เร็วกว่าและประหยัดกว่า

ตำนานแห่งโทรเลขไทยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2418 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสให้สร้างระบบโทรเลขขึ้นภายใต้ความดูแลของกระทรวงกลาโหม เพื่อป้องกันไม่ให้สัมปทานการสร้างสายโทรเลขตกอยู่ในมือคนอังกฤษ ซึ่งติดต่อเริ่มเจรจาขออนุญาตสร้างสายโทรเลขจากไซ่ง่อนเข้าสู่สยามตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 4

จริงๆ แล้ว ประเทศไทยรู้จักโทรเลขมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2404 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่คณะทูตปรัสเซียนำเครื่องส่งโทรเลขมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการเพื่อเจริญ สัมพันธไมตรี โดยครั้งนั้นคนไทยรู้จักโทรเลขในนาม "ตะแล๊ปแก๊ป" หรือ telegraph ซึ่งมาจากภาษากรีก หมายถึง การเขียนจากระยะไกล

จากวันที่ "แซมวล มอร์ส" (Samuel Morse) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้คิด ค้นรหัสมอร์ส (Morse code) ได้ทำการส่งโทรเลขฉบับแรกที่มีใจความว่า "What hath God wrought" (สิ่งต่างๆ ล้วนพระผู้เป็นเจ้ารังสรรค์ขึ้น) สำเร็จในปี พ.ศ. 2387 เพียงไม่ถึง 20 ปี คนไทยก็ได้รู้จักเครื่องมือสื่อสารชิ้นเดียวกัน แล้วโทรเลขฉบับ แรกของไทยก็ถูกส่งจากพระที่นั่งที่อุทยานสราญรมย์เมื่อปี พ.ศ.2418 นับจากวันแรกที่ประเทศไทยเริ่มใช้โทรเลข เป็นใช้เวลาเกือบร้อยปีกว่าที่โทรเลขไทยจะเข้าถึงคนไทยทั่วประเทศและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ในยุคก่อนโทรศัพท์ โทรเลขถือเป็น วิธีการสื่อสารที่รวดเร็วที่สุด แม้แต่ในยุคที่มีโทรศัพท์แล้ว ในช่วงแรกยังคงกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และตัวเมือง และยังมีราคาแพง โทรเลขจึงยังคงเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการสื่อสารที่ต้องการ ความรวดเร็วเรื่อยมาจนหลังปี 2530 ที่โทรศัพท์เริ่มเข้าถึงทุกบ้านง่ายขึ้น

เนื่องจากโทรเลขมีกระบวนการมาก เริ่มตั้งแต่การส่งข้อความระหว่างสถานีต้นทางปลายทางที่ต้องใช้รหัสสื่อสารกัน และแปลงกลับรหัสเป็นข้อความที่ปลายทาง เมื่อได้เนื้อความ ก็ต้องเขียนและบรรจุซอง จากนั้นก็ต้องส่งม้าเร็วหรือ "บุรุษโทรเลข" ออกไปส่งถึงมือผู้รับให้ทันตามกำหนดเวลา เหล่านี้จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งโทรเลขสูงตามมา เพราะค่าใช้จ่ายในการส่งคำนวณจากจำนวนคำ จากเดิมคำละ 10 สตางค์ 25 สตางค์ 50 สตางค์ ปัจจุบันเป็นคำละ 1 บาท ส่วนโทรเลขด่วนพิเศษคำละ 2 บาท การเขียนโทรเลขจึงถือเป็นศิลปะแห่งการย่อความ ผู้ส่งโทรเลขส่วนใหญ่ต้องคิดมากก่อนเขียนข้อความ เพื่อใช้คำน้อยที่สุดแต่ผู้รับเข้าใจได้ หลายข้อความจึงดูเหมือนรหัสที่เข้าใจกันเพียงสองคน ด้วยค่าใช้จ่ายที่แพง เนื้อหาที่ถูกส่งผ่านโทรเลขส่วนใหญ่จึงมักมีนัยหมายถึงเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ มีความเร่งด่วน และมีความหมายสำหรับผู้รับ (และผู้ส่ง) บ่อยครั้งจึงมักเป็นข่าวร้ายเร่งด่วนที่ไม่อาจรอได้ โดยเฉพาะข่าวการตาย

ยุครุ่งเรืองของโทรเลขไทยอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เฟื่องฟูสูงสุดในปี 2528 มียอดผู้ใช้โทรเลขทะลุ 8 ล้านฉบับ จนเมื่อเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อ "โทรศัพท์" เริ่มเข้ามาแทนที่ ยอดผู้ใช้โทรเลขลดลงฮวบฮาบ ในปี 2550 มีการส่งโทรเลขเพียง 6 แสนฉบับ 99% เป็นโทรเลข ทวงนี้หรือหมายศาลที่ส่งโดยธนาคารกับบริษัทบัตรเครดิต มีเพียง 1% ที่เป็นของประชาชนทั่วไป "ต้องขอบคุณธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตที่ช่วยอุดหนุนเราจนทำให้เราประวิงโทรเลข มาได้ยาวจนทุกวันนี้ เพราะเรามีต้นทุนให้บริการโทรเลขเดือนละ 25 ล้านบาท แต่รายได้เข้ามาเพียงเดือนละ 5 แสนกว่าบาท ปีนึงเราขาดทุนเกือบ 300 ล้านบาท" สมพล จันทร์ประเสริฐ ที่ปรึกษาอาวุโส แห่งบมจ. กสท. โทรคมนาคม กล่าวบนเวที จาก "กรมไปรษณีย์โทรเลข" ที่มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ชื่อ "การสื่อสารแห่งประเทศไทย" จนเมื่อปี 2546 หน่วยงานนี้กลายเป็นเอกชนเต็มตัว ภายใต้ชื่อ "บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด" ทำให้การขาดทุนเป็นสิ่งที่ไม่อาจจำทนได้อีกต่อไป

ยิ่งเมื่อบริษัท ไปรษณีย์ไทย กำลัง "แต่งตัว" เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดหุ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ยิ่งทำให้บริการโทรเลขเป็นเหมือน "เนื้องอก" ที่ต้องตัดทิ้งอย่างเร่งด่วน ท่ามกลางความเสียดายของใครหลายคนที่จะไม่ได้สืบสาน "มรดกทางการสื่อสาร 5 แผ่นดิน" ให้คนรุ่นหลัง "ผมเคยหวังว่าโทรเลขจะมีอายุยาวมากกว่านี้ เพราะนี่เป็นกิจการที่รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้งไว้ อยากให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกว่า การที่พระองค์ทรงทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมานั้นมีความหมายต่อประเทศ ไทยและคนไทยอย่างไร" สมิธ ธรรมสโรช กล่าวอย่างเสียดายในฐานะอดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์ฯ ทั้งนี้ ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ต้องปิดตำนานโทรเลขไทยแต่ในหลายประเทศทั่วโลก ได้ยุติการให้บริการนี้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฟินแลนด์ ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือแม้แต่อินโดนีเซียและลาวก็ยกเลิกให้บริการนี้ไปก่อนหน้าไทยกว่า 5 ปีแล้ว เมื่อมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า เร็วกว่า ประหยัดกว่าเข้ามา เทคโนโลยีเก่าๆ ก็ต้องตกกระป๋องและหายไปจากชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันที่รวดเร็วไม่แพ้จังหวะชีพจรเต้น อดีตแชมป์แห่งการสื่อสารเร่งด่วนในศตวรรษก่อนอย่าง "ตะแล๊ปแก๊ป" ก็จึงต้องถึงกาล อวสานเป็นธรรมดา ...นี่เป็นสัจธรรมที่หลายคนได้รับไปด้วยจากงานวันนั้น

"เทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ คนเราอาจตกเป็นเหยื่อของการสื่อสารสมัยใหม่ ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก และการตัดสินใจ รักกันง่าย ทะเลาะกันง่าย ความยั้งคิดน้อยลง" เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ เป็นอีกคนที่มาร่วมงานอำลาฯ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสื่อแสดงถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะติดต่อกัน เข้าใจกัน และเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าการสื่อสารที่ง่ายและเร็วขึ้นจะทำให้มนุษย์เราเข้าใจและรักกันมากขึ้น

...หากว่าจำนวน "คำ" ที่มากมายเหล่านั้นไม่ได้สื่อนัยสำคัญ ไม่มีความหมาย และไม่ได้ออกมาจากความคิด (ถึง) หรือห้วงคำนึงที่อยากสื่อสารถึงกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.