Green Mirror...ฤาน้ำจะท่วมโลก

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่แพร่สะพัดไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ตว่า น้ำแข็งที่ Greenland มิใช่แต่จะละลาย แต่กำลังจะเลื่อนไถลลงไปในทะเล ทั้งก้อนทั้งแผ่น สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มีการเรียกประชุมปรึกษาหารือกันเป็นการใหญ่ ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนอย่างที่รู้ๆ กัน แต่ความเร็วและความแรงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นมากกว่าที่เราคาดหมายไว้มากทีเดียว

ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจเป็นหลักฐานยืนยัน เหตุที่น้ำแข็งละลายแบบลื่นไถลทั้งก้อน แทนที่จะค่อยๆ ละลาย มาจากผิวข้างบน เพราะมีการแตกกะเทาะของแผ่นผืนน้ำแข็งเช่นเดียว กับแผ่นดินแยก เกิดน้ำแข็งหลอมเหลว (meltwater) ไหลลงไปอยู่ใต้ฐานของผืนน้ำแข็ง ทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้นๆ และหล่อลื่นให้แผ่นน้ำแข็งลื่นไถลลงไปในทะเล พร้อมๆ กับเกิดการแตกออกของผืนน้ำแข็งออกเป็นก้อนเล็กก้อนน้อยกระจายไปทั่ว นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนว่า meltwater ที่ไหลอยู่ใต้ผืนน้ำแข็งของ Greenland นั้นมีปริมาณ มากเท่ากับน้ำตกไนแองการาที่แคนาดาเลยทีเดียว ระบายออกสู่ทะเลด้วยความเร็วถึง 8,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ความจริงนี้ถูกค้นพบโดย ดาวเทียมสำรวจของ NASA เมื่อเดือนสิงหาคม 2007 ที่ผ่านมานี้เอง ยิ่งกว่านั้นยังมีการคาดการณ์กันว่า ทวีปน้ำแข็งที่ Antarctic ก็กำลังจะเกิดการละลายในทำนองเดียวกันคือ มี meltwater และก้อนน้ำแข็ง (icebergs) ที่แตกออกมาจากผืนน้ำแข็ง ช่วยเร่งการละลายตัวให้เร็วขึ้น

จะไม่ให้กังวลเรื่องน้ำท่วมโลกได้อย่างไร ในเมื่อ ณ วันนี้ในปี 2008 ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าค่าที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินไว้ถึง 2 เท่า แล้วเราจะหาทางหนีทีไล่กันอย่างไรดี

ปัจจัยที่เร่งให้น้ำแข็งละลาย น้ำแข็งที่ละลายลงสู่ทะเลมีอยู่สองลักษณะ ลักษณะหนึ่งคือ ละลายมาจากแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ (Arctic) และขั้วโลกใต้ (Antarctic) อีกลักษณะหนึ่งมาจาก glacier ที่ปกคลุมอยู่บนเทือกเขาสูงที่มีหิมะตก glacier ที่กำลังละลายอยู่ตามยอดเขาต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาหิมาลัยในเอเชีย Patagonia ในอเมริกาใต้ เทือกเขา Alps ใน ยุโรป และอื่นๆ ล้วนเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ สำคัญๆ หลายสาย การละลายของ glacier ลงสู่ทะเล มีส่วนช่วยให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างสำคัญ

มิใช่แต่เท่านั้นยังมีปฏิกิริยาอีกหลายอย่างที่เร่งให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ได้แก่ เมื่อน้ำแข็งกลายเป็นน้ำทะเล จะดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ แทนที่จะสะท้อนแสงออกไปเมื่ออยู่ในรูปของน้ำแข็ง ซึ่งจะเร่งให้เกิดการละลายของน้ำแข็งชายฝั่งให้เร็วขึ้นได้อีก ข้อมูลในปี 2007 พบว่า น้ำแข็งชายฝั่งทะเล Arctic ลดลงไปถึง 23% ภายในเวลาเพียง 2 ปี (2005-2007) ปรากฏการณ์ที่ท้องทะเลพองตัวขึ้น หรือ ocean thermal expansio ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นจะทำให้ระดับ น้ำทะเลเพิ่มขึ้นไปอีก นักวิชาการคาดว่า ocean thermal expansion จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นอีกได้ถึง 0.5 มิลลิเมตร/ปี ดินเยือกแข็ง (permafrost) ที่อยู่บริเวณแผ่นดินรอบๆ Arctic Circle ก็จะปลด ปล่อยก๊าซมีเทน และน้ำมันที่ซ่อนไว้ข้างใต้ออกมา เราอาจจะได้เชื้อเพลิงไปใช้อีกมาก มายก็จริง แต่นั่นหมายถึงการปล่อยก๊าซมีเทน ออกมาสู่บรรยากาศมากขึ้น ก๊าซมีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ดูดซับความร้อนไว้ได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่า โลกร้อนขึ้นน้ำแข็งก็ละลายเร็วขึ้นอีก นอกจากนั้นดินเยือกแข็งที่ละลายยังทำให้แผ่นดินทรุด บ้านเรือน ตึกพังทลาย ป่าสนล้มตาย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ผลจากปฏิกิริยาของท้องทะเลยังทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และผลพวงตามมาอเนกประการ ที่น่าสนใจคือ

- เกิดการปรวนแปรของกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นที่ไหลวนเวียนระหว่างมหาสมุทร การไหลเวียนของกระแสน้ำขึ้นอยู่ กับอุณหภูมิของน้ำทะเล ความหนาแน่นของน้ำและลม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิและความหนาแน่นของน้ำ ก็ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนไปด้วย เช่น กระแสน้ำอุ่นที่ไหลผ่านชายฝั่งตะวันตกของยุโรป (ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สเปน) ในมหาสมุทรแอตแลนติก เคยทำให้ชายฝั่งยุโรปอบอุ่นในฤดูหนาวและกำลังสบายในฤดูร้อน (เช่น แถบชายทะเลริเวียร่าของฝรั่งเศส อันเป็นสวรรค์ของคนมีเงิน) เมื่อน้ำแข็งละลายที่ Greenland กระแส น้ำได้เปลี่ยนไปเป็นกระแสน้ำที่เย็นขึ้น ฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านมาของฝรั่งเศสจึงมีอากาศหนาวขึ้นและนานขึ้นมาก

- เกิด storm surge หรือพายุที่พัดคลื่นยักษ์ขึ้นสู่ชายฝั่ง มิใช่สึนามิ แต่มีความรุนแรงเกือบเท่ากัน เพราะมีความสูงของคลื่น ได้ถึง 5-7 เมตร อาจพัดกวาดเอาผู้คนและบ้านเรือนจำนวนมากลงทะเลไปได้อย่างง่าย ดาย ที่เกิดขึ้นที่อ่าวเบงกอลของบังกลาเทศเคยทำให้ผู้คนตายไปแล้วหลายร้อยคน คลื่นยักษ์นี้มักเกิดขึ้นพร้อมพายุหมุน ซึ่งก่อตัวขึ้นในท้องทะเลเขตร้อน มีแนวโน้มว่า storm surge จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น เมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำระเหยเป็น ไอเหนือท้องทะเลมากขึ้น ทำให้เกิดความกดอากาศสูง ทุกวันนี้มีพลเมืองทั่วโลกถึง 1,200 พัน ล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ตามพื้นที่ชายฝั่ง และเกาะเล็กเกาะน้อยต่างๆ ต้องเสี่ยงต่อภัย จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น บางส่วนอาจจะเลว ลงถึงขั้นที่อาศัยอยู่ไม่ได้ ต้องมีการอพยพครั้งใหญ่ นอกจากที่ได้กล่าวไปแล้วยังมีผลพวง ต่างๆ เกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะคุกคามความเป็น อยู่หลายด้านอย่างช้าๆ ได้แก่ การกัดเซาะชายฝั่ง การรุกล้ำของน้ำทะเลเข้าไปในแหล่งน้ำใต้ดินและลำน้ำจืด การประมง การท่องเที่ยว ชาวกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย เพราะเมืองเหล่านี้ของ ไทยตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มต่ำสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ นอกจากจะมีประชากรหนาแน่นแล้ว ยังเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบของประเทศอีกด้วย มีข้อเท็จจริงที่ควรคำนึงถึงคือ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ยทั่วโลก หรือ global average sea level rise ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร/ปี ตามที่ IPCC คาดคะเนไว้นั้น มิใช่จะเกิดขึ้นเท่าๆ กันทุกแห่งทั่วโลก บางแห่งอาจจะเกิดมากกว่านี้ บางแห่งน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ แผ่นดินทรุด การไหลออกของแม่น้ำ ตะกอนดินสะสม สิ่งก่อสร้างชายฝั่ง การพัฒนาและการทำลายชายฝั่งในแต่ละท้องถิ่น ทั้งหมดนี้มีผลให้ระดับน้ำทะเลชายฝั่งของพื้นที่สูงขึ้นได้มากกว่าการละลายของน้ำแข็งเสียอีก บางทีอาจจะลดลงได้ ชายหาดของเมืองไทยหลายแห่งตกอยู่ในลักษณะนี้ คือมีการสูญเสียชายหาด คลื่นพัดเอาทรายออกไป จนกระทั่งระดับน้ำทะเลบริเวณนั้นลดลง ในแง่ของเกษตรกรรม การละลายของ น้ำแข็งอาจทำให้พื้นที่ในเขตหนาวจัดดีขึ้น ผู้คนยินดีกับอากาศที่อุ่นสบาย พืชผลเติบโต ง่ายขึ้น ทำการเกษตรได้กว้างขวางขึ้น ไร่องุ่น จะเปลี่ยนจากที่ปลูกได้ดีในยุโรปใต้มาอยู่ที่ยุโรปเหนือ แต่เกษตรกรรมที่อยู่ในเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย ผลผลิตจะลดลงจากการปรับตัวของพืช ยิ่งกว่านั้นการระเหยของน้ำจากอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นยังทำให้ดินแห้งสูญเสียความชื้น และขาดแคลนน้ำเพาะปลูกในฤดูแล้ง ในแง่พลังงาน ผู้ที่จะได้ประโยชน์สุดๆ คือผู้ที่ขุดหาน้ำมันในเขตหนาว เพราะจะพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย ส่วนการขนส่งสินค้า logistics ต่างๆ ทางทะเลระหว่างประเทศ ก็ทำได้ง่ายขึ้นเมื่อปราศจากก้อนน้ำแข็งกีดขวาง

ความคิดเห็นต่าง-มองในแง่ดี มีนักวิทยาศาสตร์อีกพวกหนึ่งที่ให้ข้อมูลในแง่ดี และคัดค้านการคาดคะเนในแง่ร้ายจนเกินไปของกลุ่ม IPCC พวกที่มองในแง่ดีพวกนี้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ย้อนกลับ กล่าวคือ ทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นขึ้น ผู้มีความเห็นต่างคิดว่า เราควรมองย้อนกลับไปในอดีต ในยุคน้ำแข็งเมื่อหนึ่งแสน กว่าปีมาแล้ว (glacial/interglacial cycles) ได้เกิดระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงไปถึง 120 เมตร จากการก่อตัวของแผ่นน้ำแข็งและจากการละลาย ข้อมูลระบุว่าในครั้งล่าสุดของยุคน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับปัจจุบัน 4-6 เมตร และ Greenland มีอุณหภูมิสูงกว่า ปัจจุบัน 3 องศาเซลเซียส เพิ่งมาถึงช่วง 7,000 ปีมานี้เอง ที่โลกมีระดับน้ำทะเลค่อนข้างคงที่ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง จึงเป็นการปลอบขวัญได้บ้างว่า มีเพิ่ม ก็ต้องมีลด หลายๆ ปัจจัยเป็น ตัวแปรที่กลับไปกลับมา

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเห็นว่า sunspot หรือจุดดับของดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ มีการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จะทำให้รังสีที่แผ่มายังโลกเปลี่ยนตามไปด้วยและมีส่วนทำให้อุณหภูมิบรรยากาศโลกเย็นลงปัจจัยนี้จึงช่วยให้บรรยากาศของโลกเย็นลงบ้าง อีกพวกหนึ่งเห็นว่า เมื่อเกิดการละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ก็จะมีการตกของหิมะลงมาสะสมด้วย มีรายงานว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่าน มามีหิมะตกลงมาสะสมบนแผ่นน้ำแข็งที่ Greenland อยู่มากพอควร แต่ความเป็นจริงก็ชี้ชัดว่า อัตราการละลายก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ในอัตราที่เร็วกว่า เป็นผลให้มวลน้ำแข็งลดลงๆ ในทุกวันนี้ ละอองไอและฝุ่นผงจำนวนมากจากการระเบิดของภูเขาไฟ ช่วย ในการก่อตัวของก้อนเมฆและสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปจากผิวโลก ทำให้โลกเย็นลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม กลไกที่มีผลสองด้านของก้อนเมฆในการลดและเพิ่มอุณหภูมิของโลกนั้น นักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่า ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้โลกร้อนขึ้นหรือเย็นลงกันแน่ แต่อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ แนวโน้มที่จะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิของโลกนั้นมีมากกว่า สรุปแล้ว แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะมีความเห็นต่าง แต่หลายค่าย ก็ออกมายอมรับว่า การคาดคะเนภาวะโลกร้อน สาเหตุ และผลที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นตัวแปร ยิ่งที่เกี่ยวกับท้องทะเลและท้องฟ้าด้วยแล้ว มีทั้งตัวเร่งและตัวต้านที่คาน กันอยู่ และไม่รู้ว่าจะไปทางไหนแน่ในระยะยาว แม้ว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ร้อนขึ้น ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ว่าจะรวดเร็วและรุนแรงแค่ไหน

แนวทางที่จะช่วยบรรเทาผลจากน้ำท่วมโลก มนุษย์และสัตว์โลกจะเอาตัวรอดกันได้แค่ไหนในภาวะน้ำท่วมโลก เรามีทางแก้ไข อยู่บ้าง แต่เราต้องเสียสละ มีผู้เสนอแนะว่า ในวงจรหมุนเวียนของน้ำ จะมีการแลกเปลี่ยน หมุนเวียนของน้ำบนบกและน้ำทะเลอยู่เสมอ โดยการระเหย การก่อตัวเป็นเมฆ การตกลงมาเป็นฝน หากมีน้ำในมหาสมุทรมาก และถ้ามีการเคลื่อนตัวน้ำในทะเลขึ้นไปบนบก กักเก็บไว้บนแผ่นดินได้มาก ก็จะช่วยให้บนบก มีน้ำใช้ มีความชุ่มชื้น และในท้องทะเลมีระดับ น้ำลดลง แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเราทำลายศักยภาพในการกักเก็บน้ำของดิน ของแหล่งน้ำใต้ดินของป่าไม้ไปจนเกือบหมด จากการพัฒนาเศรษฐกิจ การเพาะปลูก การลักลอบตัดไม้ปะปนกันไป เรายังพอมีเวลาที่จะหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติ เพื่อให้วงจรหมุนเวียนต่างๆ พลิกฟื้นธรรมชาติกลับคืนสู่ความสมดุล หรือเราจะเอาอย่างพวกคริสตชน ในคัมภีร์ไบเบิล ที่เล่าว่า โมเซสขนเอาผู้คนและสัตว์ต่างๆ ขึ้นไปอยู่บนเรือโนอาห์ เมื่อครั้งน้ำท่วมโลกก่อนคริสตกาล แต่ที่แน่ๆ คือ เราไม่สามารถจะสร้างกำแพงสูงๆ กั้นน้ำทะเลไว้ได้เสมอไป (อย่างที่พวกเราชอบทำกัน เพราะมันคิดง่าย ทำง่าย) เราควรมีการวางแผนที่ปฏิบัติได้จริง ได้แก่ การกำหนดมาตรการจัดการและควบคุมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ระบุพื้นที่เสี่ยงภัย และเตรียมการสร้างสาธารณูปโภคที่รับน้ำท่วมชายฝั่งได้ หากปล่อยให้การพัฒนาเป็นไปอย่าง ไร้ขอบเขตก็จะยิ่งเสี่ยงต่อความเสียหายมากขึ้น

เมื่อทั่วโลกตื่นตูมกับข้อมูลนี้ แล้วเมืองไทยจะมาวุ่นวายกับเรื่องการเมืองจิ๊บจ๊อยอยู่ได้อย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.