ปลิว มังกรกนก The Professional

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ปลิว มังกรกนก เป็นผู้บริหารที่ยังยืนหยัดร่วมทำงานกับทิสโก้มาจวบจนถึงทุกวันนี้ และเขายังเป็นความหวังที่จะนำพาให้ธนาคารแห่งนี้เป็นสถาบันการเงินที่ได้รับการยอมรับจากชาวไทยและต่างชาติ เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา

"ตอนที่แบงก์ใหญ่เริ่มรุกเข้ามาทำธุรกิจเช่าซื้อ สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน ผมยอมถอยมาร์เก็ตแชร์ของผมลงมาเหลือแค่ครึ่งเดียว แต่หลังจากนั้น เริ่มเห็นแล้วว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ผมกลับมาบุกใหม่ แล้วกวาดมาร์เก็ตแชร์คืนกลับมาได้เกลี้ยง"

เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงประสบการณ์กว่า 30 ปี ในธุรกิจการเงินของปลิว มังกรกนก เวลาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคาร พาณิชย์ได้รับโอกาสเปิดกว้างในการทำธุรกิจ จากแผนแม่บทพัฒนาสถาบันการเงินเมื่อปี 2548 ทำให้พื้นที่การทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เริ่มมีความทับซ้อนกับธนาคารน้องใหม่อย่างทิสโก้ ที่เพิ่งได้รับการยกระดับขึ้นมาจากบริษัทเงินทุน

ปัจจุบัน ปลิวมีอายุ 59 ปี ซึ่งความเป็นจริงเขาต้องเกษียณชีวิตการทำงานตั้งแต่อายุ 55 ปี แต่คณะกรรมการได้เลือกให้เขาต่ออายุการทำงานครั้งที่สอง เพื่อทำงานอีก 3 ปี จากก่อนหน้านี้ได้ต่ออายุการทำงานมาแล้วก็ตาม ความไว้วางใจของคณะกรรมการที่มีต่อปลิวนั้น แสดงให้เห็นถึงฝีมือการทำงานที่ผ่านมา ของเขาได้เป็นอย่างดี เพราะประสบการณ์ทางด้านการเงินของเขาที่มีเกือบ 30 ปี นั้นมีค่าสำหรับทิสโก้เป็นอย่างยิ่ง

ปลิวเป็นผู้บริหารที่อยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสุพล วัธนเวคิน ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน แต่ทั้งสองคนมีบทบาทการทำงานที่แตกต่างกัน

สุพลทำงานในเกียรตินาคินในฐานะเป็น "เจ้าของ" แต่ปลิวทำงานในบทบาทของ "มืออาชีพ" ปลิวเริ่มทำงานที่ทิสโก้ เมื่อปี 2518 เขาได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานจากรุ่นพี่หลายๆ คน ทั้งคนไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่มีความสามารถหลายคน เพราะทิสโก้เมื่อในอดีตเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงที่รวมคนเก่งไว้เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ชุมพล ณ ลำเลียง ที่เป็นรุ่นแรกๆ

คณะกรรมการชุดแรกมีเสนาะ นิลกำแหง เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นประกอบด้วย ดร.อำนวย วีรวรรณ ประพจน์ วัชราภัย บัญชา ล่ำซำ บรรยงค์ ล่ำซำ และดร.เสนาะ อูนากูล

ส่วนผู้ถือหุ้นของทิสโก้ เริ่มก่อตั้งจากผู้ร่วมทุน 3 ฝ่าย ในยุคเริ่มต้นประกอบด้วยธนาคารแบงเกอร์ทรัสต์ (นิวยอร์ก) 60 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารกสิกรไทย (กรุงเทพฯ) 20 เปอร์เซ็นต์ และแบนคอมดิเวลลอปเมนท์คอร์ปอเรชั่น (มนิลา) 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2512 เพื่อให้บริการรับฝากเงิน โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อกู้เงินจากประชาชน เป็นการหลีกเลี่ยงคำว่า "รับฝากเงิน"

ปลิวร่วมงานกับศิวะพร ทรรทรานนท์ บันเทิง ตันติวิท ในช่วงวิกฤติบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ในช่วงปี 2521-2522 ในตอนนั้นเขายังมองว่าไม่หนักหนาสาหัส เพราะยังมีรุ่นพี่และผู้บริหารต่างชาติเป็นแรงหนุน

นอกจากศิวะพรและบันเทิงยังมีโอกาส ร่วมงานกับสิริฉัตร อรรถเวทย์วรวุฒิ และ จันทรา อาชวานันทกุล

ปลิวทำงานในสายงานของบันเทิง โดยมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ แต่ก็ได้ทำงานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง บันเทิงก็ลาออกไปเป็นผู้บริหารอยู่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาตและปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ธนาคารธนชาต

ปลิวทำงานในทิสโก้ประมาณ 7 ปีก็ลาออกไปร่วมงานกับบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในปี 2525 ตามคำชักชวนของศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งขณะนั้น ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่เพิ่งเกิดขึ้น ใหม่

หลังจากนั้น ปลิวถูกศิวะพรเรียกตัวกลับมาทำงานที่ทิสโก้เหมือนเดิม โดยมารับตำแหน่งเป็นรองกรรมการอำนวยการ รองจากศิวะพรและจันทรา ปลิวเริ่มมีโอกาสแสดงฝีมือในการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อประเทศไทยประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งในขณะนั้นผู้บริหารรุ่นเก่าเริ่มลาออกบางส่วน และบางคนก็เกษียณอายุไปแล้ว ดูเหมือนว่าจะเหลือเขาเพียงคนเดียวเป็นผู้บริหารในยุคต้นๆ เมื่อครั้งเป็นบริษัทเงินทุนทิสโก้ จำกัด การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ปลิวค่อนข้างโชคดี เพราะหลังจากมีการประกาศให้บริษัทเงินทุน 12 แห่งยุติการดำเนินงานชั่วคราวก่อนลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เงินฝากไหลเข้ามาอยู่ในบริษัทเงินทิสโก้ แทน

ว่ากันว่า คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าทิสโก้มีสถานะการเงินดีที่สุดและมีผู้ถือหุ้น เป็นธนาคารกสิกร และแบงเกอร์ทรัสต์ (นิวยอร์ก)

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของการบริหารงานที่มี "ระบบ" การบริหารงานที่มีผู้บริหารที่เป็นระดับมือโปรเฟสชั่นแนล ไม่ได้เห็นแก่พวกพ้อง และการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ ปลิวเลือกเดินบนเส้นทางธุรกิจการเงิน ซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่เขาเรียนมาแม้แต่น้อย เขาจบ ปริญญาตรีวิศวอุตสาหการ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.11) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิศวะรุ่นเดียวกับอนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กับบุญคลี ปลั่งศิริ ของชินคอร์ป

หลังจากจบปริญญาตรี ปลิวเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาเดียวกันที่มีมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยมีศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย และเป็นผู้ชักชวนให้เขาเรียนต่อปริญญาโทเอ็มบีเอ สาขาไฟแนนซ์ ต่ออีกใบจาก UCLA

ปลิวเริ่มรู้จักศิวะพรโดยมีศิรินทร์เป็นผู้แนะนำ และศิวะพรก็เริ่มชักชวนให้เขาไปทำงาน ด้วย โดยมีผู้บริหารของแบงเกอร์ทรัสต์ สัมภาษณ์เขาที่นิวยอร์ก หลังจากจบปริญญาโทเขาเริ่มงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ในปี 2518

เกือบชีวิตการทำงานของปลิวทั้งหมดอยู่บนถนนสายการเงิน และยังมีเพื่อนๆ หลายคน ที่กระจายไปอยู่ในแบงก์และสถาบันการเงินต่างๆ หากมองในด้านบวก ผู้บริหารบางคน ที่เป็นอดีตผู้บริหารทิสโก้ อาจช่วยสายสัมพันธ์ ต่อยอดธุรกิจก็อาจเป็นได้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นความจำเป็น แต่ด้วยประสบ การณ์การทำงานของปลิว ในฐานะผู้บริหาร สูงสุดของทิสโก้ รวมทั้งคณะกรรมการที่ได้ไว้วางใจให้เขาทำงานต่อ ย่อมต้องการให้ปลิว สร้างความเติบใหญ่ให้กับทิสโก้ในทศวรรษนี้

แต่สิ่งที่ปลิวต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุด คือการเร่งสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพราะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ บุคลากรของทิสโก้ถูกซื้อตัวไปทำงาน 70-80 คน ส่วนเป็นบุคลากรต่างจังหวัด และย้ายไป อยู่กับแบงก์เป็นส่วนใหญ่

แม้ว่าเขาจะบอกว่าไม่เดือดร้อนอะไร แต่ก็อาจเป็นสิ่งที่เขากังวลอยู่ในใจลึกๆ เหมือนกัน เพราะการสร้างบุคลากรให้มีประสิทธิภาพได้นั้นต้องใช้เวลา โดยเฉพาะปลิว มีความคิดที่จะรับคนใหม่ๆ เข้ามาทำงาน เป็นสิ่งที่เขาคาดหวังไว้ในใจว่า คนเหล่านั้นจะรักองค์กรเช่นเดียวกับเขาที่ทำงานกับทิสโก้ มาเกือบ 30 ปี

รายละเอียดเพิ่มเติม ปลิว มังกรกนก อ่านเรื่อง "ปลิว มังกรกนก Back to the Light" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2548 หรือใน www.gotomanager.com)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.