The Realistic Way

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

Universal Banking เป็นคำนิยามที่หลายๆ แบงก์ให้ความหมายไว้ว่า การให้บริการการเงินแบบครบวงจร มีบริการทุกประเภทให้กับทุกคน ทว่า ความหมายดังกล่าวในมุมความคิดของ "สุพล วัธนเวคิน" ธนาคารเกียรตินาคิน กลับให้คำนิยามนี้ว่า มีผลิตภัณฑ์ทุกประเภท แต่ให้บริการได้เฉพาะบางคน

ไม่เป็นเรื่องแปลกที่ธนาคารเกียรติ นาคินจะนิยามเช่นนั้น เพราะธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะธุรกิจเช่าซื้อ ถือว่าเป็นธุรกิจหลักที่หล่อเลี้ยงให้ธนาคารแห่งนี้อยู่มาได้จวบจนทุกวันนี้ และยังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้ต่อไปในอนาคต ปัจจุบันธนาคารเกียรตินาคินมีสินค้าและบริการการเงินทุกประเภทเทียบ เท่ากับแบงก์ใหญ่ที่มีอยู่ในขณะนี้ อาทิ บริการเงินฝาก บริการเช่าซื้อรถยนต์บริการสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย บริการสินเชื่อพาณิชยกรรมและอุตสาห-กรรม บริการหลักทรัพย์

บริการครบวงจร หรือ Universal Banking ถูกขยายเพิ่มเติมมากขึ้น หลังจากที่ธนาคารได้รับใบอนุญาตให้ดำเนิน ธุรกิจในฐานะธนาคารพาณิชย์ เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา

ธุรกิจเช่าซื้อ เป็นบริการที่โดดเด่นที่สุดของธนาคารแห่งนี้ ในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จนทำให้ธนาคารหลายแห่งลงมาเล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้น สีสันและการแข่งขันจึงเพิ่มทวีคูณ แต่ดูเหมือนว่าเกียรตินาคินจะไม่ยี่หระ เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา และธุรกิจที่ธนาคารทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นธุรกิจท้องถิ่นที่รู้จักตลาดเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะเมื่อเลือกพื้นที่ใดเป็นยุทธศาสตร์แล้ว ในพื้นที่นั้นธนาคารจะต้องเป็นที่ 1 หรือ 2 เท่านั้น โดยจะทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่ายและยี่ห้อรถ ความเป็นธนาคารขนาดเล็กของธนาคารเกียรตินาคินสร้างความได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะความคล่องตัวในการให้บริการลูกค้าในระดับปัจเจกบุคคล ธนาคารเชื่อว่าเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความประทับใจ ในขณะที่ธนาคารใหญ่มีโอกาสน้อยที่จะทำตลาดในรูปแบบดังกล่าว เพราะด้วยฐานลูกค้าขนาดใหญ่ การบริการจึงเน้นความต้องการในวงกว้าง มากกว่า

กลุ่มลูกค้าที่เป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารเกียรตินาคิน เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีตั้งแต่เริ่มแรกและปัจจุบันก็คงเป็นอยู่ ส่วนวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เริ่มต้นจากลูกค้าที่ใช้บริการธุรกิจเช่าซื้อ หลังจากนั้นธนาคารจะนำเสนอบริการอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง

เป้าหมายการทำธุรกิจของธนาคารจะไม่เน้นสร้างมูลค่าสินทรัพย์ แต่จะให้ความสำคัญเรื่องของกำไรและรายได้เป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงธนาคารเมืองไทยในปัจจุบันที่มีผู้ถือหุ้น ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานหลายๆ แห่ง อาทิ ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีกลุ่มจีอี แคปิตอล ถือหุ้น 34.71 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารทหารไทย กลุ่มไอเอ็นจี จากเนเธอร์แลนด์ เข้าถือหุ้น 26.4 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่ธนาคารธนชาตที่มีสถาบันการเงินโนวาสโกเทียจากแคนาดา เข้ามาถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายนนี้

เป้าหมายของธนาคารที่มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น เพื่อต้องการขยายธุรกิจไปสู่ความเป็น Universal Banking และเพื่อรับมือการเปิดเสรีทางด้านการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เปรียบเหมือนธนาคารหลายแห่งได้เลือกคู่ไปแล้ว และวิธีการเช่นนี้ก็กำลังจะเกิดขึ้น กับธนาคารอีกหลายแห่ง อย่างเช่นธนาคารนครหลวงไทยที่กำลังแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูหล่อ สวย สมาร์ท เพื่อหาคู่มาช่วยคิดขยายธุรกิจ ในทางตรงกันข้าม แทบจะทุกครั้งที่มีงานแถลงข่าวของธนาคารเกียรตินาคิน ผู้สื่อข่าวเกือบทุกสำนักจะต้องถามถึงพันธมิตรใหม่ของธนาคารแห่งนี้เสมอ และทุกครั้งเช่นกันผู้บริหารเกียรตินาคินจะให้คำตอบเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยน "ธนาคารไม่เห็นความจำเป็นที่เราต้องมีพันธมิตรใหม่หรือพันธมิตรต่างชาติ"

สิ่งที่คนวงนอกมองเข้ามาในธนาคารเกียรตินาคิน เสมือนจะเป็นห่วงว่าเป็นธนาคาร ขนาดเล็ก การบริหารงานแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อหลายๆ สิบปีที่ผ่านมา ฉะนั้นธนาคารแห่งนี้จะทานกระแสแรงกดดันของต่างชาติเข้ามาได้อย่างไร ขณะเดียวกันหากประเทศไทยเปิดเสรีทางด้าน การเงินอย่างเต็มที่ ประตูการค้าที่เปิดกว้าง คู่แข่งที่ทะลักเข้ามาจะรับมืออย่างไร สุพล วัธนเวคิน ประธานกรรมการ บริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) อรรถาธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ธนาคารแห่งนี้ไม่ต้องการคู่ที่เป็นต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเพิ่มเติมมากกว่าในปัจจุบันที่มีอยู่เพราะผู้ถือหุ้นและสถาบัน ที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของ ถือหุ้นในเกียรตินาคินประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และผู้ถือหุ้นเหล่านั้นก็พึงพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับอยู่แล้วในปัจจุบัน

"มันไม่มีรูมอะไรที่ต้องหาพาร์ตเนอร์ ที่ไหนอีกแล้ว ในขณะเดียวกัน ผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน เขาไม่ต้องการเข้ามาบริหาร เขาพอใจอยากเข้าลงทุนอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเกิดคำถามว่า 1. หาทำไม 2. หามาได้ จะลงตรงไหน มันก็คงไม่มี วันนี้ก็ไม่ได้บอบช้ำอะไร กำไรดี ฐานะดี" สิ่งที่ยืนยันคำกล่าวของสุพลคือ ผลประกอบการตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารเกียรตินาคินมีผลกำไรจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการเติบโตจะไม่มากนัก อย่างเช่น ล่าสุดปี 2550 ที่ผ่านมามีรายได้ 8,507.38 ล้านบาท มีกำไร 2,154.12 ล้านบาท ส่วนปี 2549 มีรายได้ 7,092.20 ล้านบาท และมีกำไร 2,033.70 ล้านบาท

กระแสการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ธนาคารที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน และมีเป้าหมายเพื่อเป็น Universal Banking นั้น ไม่ใช่คำตอบของธนาคารเกียรตินาคิน เพราะธนาคารแห่งนี้เชื่อว่าเขาสามารถเป็น Universal Banking ได้โดยปราศจากผู้ถือ หุ้นรายใหญ่จากต่างชาติ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.