|
พิบัติภัยในจีนและพม่า ยังไม่สายที่จะช่วยชาวพม่า
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเป็นอย่างดีของจีนข่มให้คณะนายพลผู้ปกครองพม่าด้อยลงอย่างถนัดตา แต่ยังไม่สายเกินไปสำหรับคนนอกที่จะช่วยชาวพม่า
ต้องรอให้เกิดหายนภัยอีกครั้ง จึงทำให้คณะนายพลผู้ปกครองพม่าได้เห็นว่า การตอบสนองต่อภัยธรรมชาติที่ถูกต้องควรจะเป็นเช่นใด 10 วันหลังจากพายุไซโคลนถล่มพม่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม รัฐบาลทหารพม่าซึ่งเป็นโรคเกลียดกลัวต่างชาติ จัดการจนแน่ใจว่า ความช่วยเหลือจากต่างประเทศค่อยๆ ส่งไปถึงผู้ประสบภัยอย่างช้าๆ และสิ่งของบรรเทาทุกข์ส่วนใหญ่ที่ได้รับจากต่างประเทศก่อนหน้านั้น ก็ยังไม่ได้แจกจ่ายไปถึงมือผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ในขณะที่สหประชาชาติระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตและผู้ประสบภัยในพม่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ก็เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในภาคตะวันตกของจีน ประธานาธิบดี Hu Jintao เรียกระดมกำลังทหาร และเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ทันที เพื่อปฏิบัติการกู้ภัยอย่าง สุดกำลัง นายกรัฐมนตรี Wen Jiabao เดินทางไปถึงพื้นที่ประสบภัยภายในไม่กี่ชั่วโมง และไม่พยายามที่จะปกปิดความร้ายแรงของหายนภัยที่เกิดขึ้น พร้อมกับประกาศว่า จีนยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างรู้สึกขอบคุณ เห็นได้ว่า การจัดการต่อภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนครั้งนี้ตรงข้ามกับพม่าอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันก็ตรงข้ามกับจีนในอดีต ในปี 1976 เคยเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงยิ่งกว่าครั้งนี้ในเมือง Tangshan ของจีน แต่ยอด ผู้เสียชีวิตซึ่งสูงถึงอย่างน้อย 250,000 คนในครั้งนั้น กลับถูกปกปิดไว้เป็นเวลานานหลายเดือนและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็ถูกจีนปฏิเสธอย่างไม่ไยดี
รัฐบาลจีนยังคงหยิ่งทะนง บางครั้งก็ยังแสดงความฉุนเฉียว แต่จีนเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ หลังจากที่ต้องเผชิญกับเรื่องที่น่าตกใจอย่างเช่นในปี 2003 เมื่อเกิดการระบาดอย่างรุนแรงของโรค SARS ซึ่งยังไม่มียารักษา ทำให้จีนเริ่มตระหนักว่า เมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรงชนิดใหม่ขึ้นหากปราศจากการควบคุมที่ดีก็อาจสร้างความเสียหายมหาศาลให้แก่เศรษฐกิจที่กำลังก้าวสู่ความทันสมัยได้ จีนจึงได้บทเรียนว่า การปกปิดข่าวร้ายใช่จะเป็นสิ่งที่ฉลาดเสมอไป การเผชิญ ภัยพายุหิมะอย่างรุนแรงในช่วงตรุษจีนเมื่อเดือนมกราคมของปีนี้ ทำให้จีนตระหนักด้วยว่า ปัญหาสภาพอากาศก็ทำให้ประเทศเป็น อัมพาตได้ แม้จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจน้อยกว่า แต่ก็สร้างความปั่นป่วนตลอดช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่สำคัญที่สุดของจีน จีนยังได้เห็นถึงข้อดีของการรู้จักยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบเสียบ้าง เป็นบางครั้ง รวมทั้งการรู้จักกล่าวคำขอโทษของนายกรัฐมนตรีและตั้งแต่นั้นจีนก็ได้เรียนรู้ว่า การทุบตีชาวทิเบตอาจไม่ใช่เรื่องฉลาด ในขณะที่จีนกำลังพยายามจะทำให้โลกประทับใจกับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปีนี้
บทเรียนเหล่านั้นช่วยให้จีนตอบสนองต่อภัยธรรมชาติครั้งล่าสุดอย่างเปิดเผยมากขึ้น แต่พม่าไม่มีบทเรียนที่ทำให้คิดได้ อย่างจีน และที่แน่ๆ คือถึงหาก พม่าจะพอมีบทเรียนอยู่บ้าง แต่ก็ ยังไม่พอที่จะช่วยชีวิตผู้ประสบภัย ชาวพม่ากว่า 2.5 ล้านคน ที่กำลัง เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตหากไม่ได้รับความช่วยเหลือมากกว่านี้ ชาวพม่าที่รอดชีวิตเหล่านั้นอาจแปลกใจหากได้รู้ว่าในปี 2005 การประชุมสุดยอดที่สหประชาชาติได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการต่อหลักการ ที่ว่า นานาชาติมีความรับผิดชอบที่จะต้อง คุ้มครองประชาชนจากการถูกกดขี่ข่มเหงภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง ถึงแม้ว่าการจะเข้าไปปกป้องคุ้มครองประชาชนในประเทศ ใดประเทศหนึ่ง จะต้องให้คณะมนตรีความมั่นคงอนุมัติ และแม้ว่าในขณะที่นานาชาติอนุมัติหลักการนั้น อาจจะมีเจตนาเพียงเพื่อจะคุ้มครองประชาชนจากการถูกกดขี่ข่มเหงโดยใช้อาวุธก็ตาม แต่ในการอนุมัติหลักการดังกล่าวมีการระบุถึง "อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ" ด้วย และหากหนึ่งในสามของผู้รอดชีวิต 2.5 ล้านคนในพม่า ต้องเสียชีวิตจากความหิวโหยและโรคระบาด อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธความช่วยเหลือจากภายนอก ก็แน่นอนว่าการกระทำเช่นนั้นจะเข้าข่ายอาชญากรรมดังกล่าว
หากเกิดโศกนาฏกรรมกับผู้รอดชีวิตในพม่าจริง จะต้องเป็นตราบาปในมโนธรรม ของโลกเป็นแน่ เหมือนกับที่โลกเคยรู้สึกผิดกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 700,000 คน ถ้าเช่นนั้น เราจะป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีกได้อย่างไร การใช้วิธีทางกฎหมาย ดูเหมือนจะไร้ความหมาย จีนและรัสเซียคงจะใช้สิทธิยับยั้งร่างมติใดๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงที่เกี่ยวกับพม่า จะใช้วิธีทางการเมืองก็คงจะไม่ได้เช่นกัน ความพยายามใดๆ ที่จะท้าทายอำนาจของคณะนายพลผู้ปกครองพม่ารังแต่จะสร้างความขัดแย้ง
ในเมื่อชาติเพื่อนบ้านของพม่าเองยังไม่กล้าที่จะตำหนิรัฐบาล พม่าแม้แต่คำเดียว ในที่ประชุมสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) จึงอาจต้องตกเป็นภาระของสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและอังกฤษ 3 มหาอำนาจ ที่มีเรือลอยลำอยู่ใกล้ๆ พม่า และสามารถจะลงมือทำสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลพม่าได้อย่าง รวดเร็ว แต่ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะท้าทายรัฐบาลพม่าไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่คิดที่จะยึดอำนาจรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการรุกรานด้วยอาวุธ การปฏิบัติการเพื่อท้าทายรัฐบาลพม่าก็คงจะจำกัดอยู่ที่การทิ้งสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางอากาศเท่านั้น แต่ปัญหาคือเครื่องบินที่ขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์อาจถูกรัฐบาลพม่ายิง หากปราศจากเครื่องบินรบคุ้มครอง และอาจนำไปสู่การสู้รบโดยไม่จำเป็น และ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นในเขตที่ประสบภัยพิบัติอยู่แล้ว ความเสี่ยงอีกอย่างคือ ความพยายามจะส่งอาหารและยาไปยังผู้ประสบภัยชาวพม่าโดยที่รัฐบาลพม่าไม่อนุญาต อาจทำให้รัฐบาลไม่พอใจและหยุดส่งความช่วยเหลือไปให้แก่ผู้ประสบภัยโดยสิ้นเชิง
แต่หากรัฐบาลพม่ายังคงดื้อดึงไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอกอยู่เช่นนี้ การลองเริ่มปฏิบัติการทิ้งสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางอากาศก็อาจจะน่าลองดู เพราะอย่างน้อยอาจช่วยชีวิตผู้ประสบภัยได้บ้าง โดยขั้นแรกควรเริ่มที่การเสนอร่างมติในคณะมนตรีความมั่นคง แม้ว่าร่างมติดังกล่าวอาจจะถูกยับยั้งโดยการใช้สิทธิยับยั้งจนขาดความแข็งแกร่งทางกฎหมาย แต่การปกป้องอย่างผิดๆ ของผู้ที่แก้ต่างให้รัฐบาลพม่า จะกลับทำให้ร่างมติดังกล่าวมีความชอบธรรมมาก ยิ่งขึ้นในความรู้สึกของชาวโลก หลังจากนั้นควรเริ่มการทิ้งสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางอากาศในพม่า เนื่องจากพยากรณ์อากาศระบุว่า จะมีพายุอีกหลายลูกที่จะพัดเข้าพม่า หากผู้รอดชีวิตชาวพม่าต้องตายเพิ่มขึ้นอีกเป็นพันๆ คน ผู้ที่คัดค้านไม่ให้ลงมือทำอะไรเลยจะต้องอธิบายว่า เหตุใดพวกเขาจึงยังคงสนับสนุนนโยบายไม่ทำอะไร เลย รวมทั้งต้องอธิบายด้วยว่า แล้วเมื่อใดกัน จึงจะถึงเวลาที่ควรเริ่ม นำหลักการความรับผิดชอบเพื่อคุ้มครองประชาชนมาใช้อย่างแท้จริง และไม่ทำให้หลักการที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่นี้ ต้องกลายเป็นความหวังที่พังภินท์ เป็นคำสัญญาที่คืนคำ หรือเป็นการทรยศที่น่าเศร้าอีกครั้ง จากที่มีอยู่มากมายอยู่แล้วในสหประชาชาติ
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ดิ อีโคโนมิสต์ 15 พฤษภาคม 2551
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|