|
วิกฤตซับไพร์มโลกยังไม่กระทบไทยทุนตะวันออกกลางเตรียมรุกอสังหาฯ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
*เอกชนชี้วิกฤตซับไพร์มในอเมริกาไม่กระทบไทยร้ายแรง เม็ดเงินลงทุนเอเชียยังไหลเข้าไทยต่อเนื่อง
*กลุ่มทุนตะวันออกกลางมาแรง หลังร่ำรวยจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมหาศาล
*กลุ่มดูไบ เวิลด์ สหายรักอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” เผยสนใจลงทุนโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ ท่าเรือ ภายใต้เม็ดเงินร่วมแสนล้านบาท
วิกฤตซับไพร์มที่ลุกลามรุนแรง จนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวอย่างหนัก และลามไปถึงยุโรปในบางส่วน แม้หลายฝ่ายจะออกมาวิเคราะห์ว่า ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย ยกเว้นธุรกิจส่งออกที่พึ่งพาอเมริกาเป็นตลาดหลัก แต่ในทางอ้อมเริ่มจับสัญญาณได้ว่า การขยายลงทุนใหม่ในไทยของนักลงทุนจากฝั่งอเมริกาลดลง ในขณะที่กลุ่มทุนจากฟากตะวันออกกลาง ที่ร่ำรวยจากการค้าขายน้ำมัน กลายเป็นกลุ่มทุนใหม่ที่กำลังมาแรงในขณะนี้
ยังไม่กระทบอสังหาฯ ไทย
ในมุมมองของที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องดีลกับกลุ่มทุนข้ามชาติ อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด ยังเชื่อมั่นว่า วิกฤตซับไพร์มที่เกิดขึ้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ภาคธุรกิจการเงิน แต่จะไม่กระทบการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทย เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชีย และเป็นกลุ่มทุนที่ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ไม่ได้อาศัยฐานเงินทุนจากการทำธุรกิจการเงิน
“ในช่วงนี้กลุ่มนักลงทุนหลายรายยังเข้ามาดูตลาดไทย และหาผู้ร่วมทุนเพื่อ Join Venture แต่การลงทุนจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น ต้องเป็นการลงทุนในทำเลและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำจริงๆ ซึ่งโดยพื้นฐานตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยต่างชาติเห็นว่ายังมีศักยภาพน่าลงทุน” อลิวัสสากล่าว
ส่วนชายนิด โง้วศิริมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ก็มองว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่กระทบเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มทุนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนสิงค์โปร์ และฮ่องกงที่เข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทย ซึ่งไม่ได้พึ่งพาเงินจากอเมริกา แต่เป็นกองทุนที่มีฐานเงินทุนมาจากตะวันออกกลางผสมอยู่ด้วย แม้จะเป็นเงินเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะฐานการลงทุนใหญ่ของกลุ่มตะวันออกกลางยังอยู่ที่ยุโรป
ในแง่ของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยของชาวต่างชาติ อลิวัสสาพบว่า กลุ่มลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมามีกำลังซื้อจากชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ซบเซาไประยะหนึ่ง เห็นได้จากการออกบูธในงาน Siam Paragon Luxury Property Showcase มียอดขาย 600-700 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว จากกำลังซื้อของชาวต่างชาติที่กลับมา
ทุนดูไบบุกไทย
ชายนิดกล่าวว่า ต่อจากนี้กลุ่มทุนที่จะมาแรง คือ กลุ่มทุนจากตะวันออกกลาง ฮ่องกง สิงค์โปร์ ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนจากตะวันออกกลาง ที่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และมีเม็ดเงินมาลงจริง โดยอลิวัสสาระบุว่า สไตล์การลงทุนของกลุ่มทุนจากตะวันออกกลางจะเปิดกว้าง สนใจลงทุนในตลาดใดก็ได้ที่มีผลตอบแทนดี เช่น โรงแรม รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ ซึ่งเป็นการพัฒนาใหม่ เพราะได้ผลตอบแทนสูงและเร็วกว่าการลงทุนพัฒนาอาคารสำนักงานใหม่ ส่วนการซื้ออาคารเก่ามารีโนเวทใหม่ทำได้ยาก เพราะมีซัปพลายในตลาดน้อย
สิ่งที่การันตีว่าทุนดูไบสนใจลงทุนในตลาดเอเชียจริงเห็นได้จาก กลุ่มดูไบ เวิลด์ กลุ่มทุนที่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาลดูไปเข้ามาเสนอตัวให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ทำการศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) ในรูปแบบโครงการเชิงพาณิชย์ ในวงเงินกว่า200 ล้านบาท คาดจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 เดือน ซึ่งหากไทยเปิดให้ลงทุน กลุ่มทุนนี้ก็พร้อมเสนอตัวเข้ามาลงทุนทั้งหมดเต็มรูปแบบ เพราะดูไบ เวิลด์มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจท่าเรือน้ำลึกหลายแห่งกระจายอยู่ในกลุ่มประเทศรอบอ่าวอาหรับ (GCC) และในรัสเซียและซีไอเอส โดยสนใจจะขอสิทธิในการบริหารเป็นเวลา 30 ปี ขอสิทธิในการพัฒนาพื้นที่รายทาง 10 กม. และสนใจลงทุนสร้างรางรถไฟเพิ่มเติมเชื่อมต่อไปยังภาคเหนือ เวียดนามและจีนต่อไปด้วย
ผู้ชักนำกลุ่มบริษัท ดูไบ เวิลด์ให้เข้ามาลงทุนในไทย คือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับสุลต่าน อาห์เหม็ด บิน สุลาเยม ประธานกรรมการบริหารของดูไบ เวิลด์ ซึ่งกลุ่มทุนดังกล่าวได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการอื่นๆ ทั้งในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ การคมนาคมขนส่ง หรือโลจิสติกส์ เช่น โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท พื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตย และพื้นที่ว่างบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งหมดอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ในทางกลับกันก็มีการจับตาว่า หากดูไบ เวิลด์ตัดสินใจเทเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทยจริง หนึ่งในผู้ร่วมทุนชาวไทยจะมีเครือข่ายของธุรกิจ “ชินวัตร” พ่วงอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์จากการลงทุนครั้งนี้อย่างมหาศาล
กระทบแผนเจรจาร่วมทุน
ด้านดีเวลลอปเปอร์ไทยที่เดินธุรกิจด้วยการอาศัยฐานเงินทุนจากต่างชาติ ในรูปแบบบริษัทร่วมทุนมีทั้งได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป เช่น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ โดยการร่วมทุนกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทีเอ็ม ดับบลิว เอเชีย พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ 1 ภายใต้การบริหารของไพร์มเมอริกา เรียลเอสเตท อินเวสเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ผู้ร่วมทุนไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์ม เพราะมีฐานเงินทุนมาจากธุรกิจประกันภัยอย่างเดียว ไม่มีการเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ ในขณะที่แผนการหาพันธมิตรรายใหม่ เพื่อฟื้นฟูฐานะทางเงินของบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ยังไม่ลงตัว เพราะพันธมิตรที่อยู่ระหว่างเจรจาอยู่ในภาวะสะดุดยาวจากวิกฤตดังกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|