|
สื่อวิทยุหืดขึ้นคอครึ่งปีหลังจีเอ็มเอ็ม-อาร์เอสพลิกเกมสู้วิกฤติ
ผู้จัดการรายวัน(2 มิถุนายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดสื่อโฆษณาวิทยุยังอึมครึม แม้ครึ่งปีแรกโตดี สองค่ายยักษ์ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่-อาร์เอส มองตรงกัน ยังน่าเป็นห่วง ประเมินจากเศรษฐกิจแย่ กำลังซื้อลด ลูกค้าวางแผนซื้อสื่อระยะสั้นลง ต้องงัดเกมมาต่อสู้ช่วงชิงลูกค้าและงบโฆษณากันเต็มที่
ตลาดโฆษณาของสื่อวิทยุในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมาของปี 2551 นี้ กล่าวได้ว่า เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่สื่อหลักที่มีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกของปีที่แล้ว (2550) โดยมีมูลค่าจาก 1,913 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,105 ล้านบาท (ส่วนสื่อโฆษณาที่มีการเติบโตสูงช่วง 4 เดือนแรกนี้คือ สื่อเคลื่อนที่ เติบโต 52% สื่อโรงหนังเติบโต 10.13% )
หากพิจารณาแค่เพียงเดือนเมษายนเดือนเดียวปี 2551 จะพบว่า เมษายนปี 2551 สื่อวิทยุมีมูลค่า 569 ล้านบาท เพิ่มจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่มี 530 ล้านบาท หรือเติบโต 7.36%
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมของสื่อโฆษณาทางวิทยุจะมีการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับสื่อหลักอย่าง ทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์ช่วงครึ่งปีหลังนี้ดูจะยังไม่น่าไว้วางใจ ถึงขนาดที่ ผู้ประกอบการสื่อวิทยุหลัก 2 ค่ายใหญ่ อย่างเครือจีเอ็มเอ็มและอาร์เอส ยังต้องออกมายอมรับตรงกันว่า น่าเป็นห่วง
แกรมมี่ย้ำสร้างแบรนด์ดึงลูกค้า
นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) มองว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมทั้งค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นแต่กำลังซื้อลดลง และปัญหาการเมืองที่ยังไม่นิ่ง จะมีผลกระทบต่อการใช้งบประมาณโฆษณาทางสื่อวิทยุของเจ้าของสินค้าและบริการที่ชะลอหรือลดลงแน่นอน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการหรือแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งในตลาดอยู่แล้ว ยังสามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ แต่รายเล็กอาจจะลำบาก
"ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องระวังตัวในการทำธุรกิจให้มาก และต้องติดตามสถานการณ์บ้านเมืองช่วงไตรมาส3ให้ดี ซึ่งคาดว่าถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงทางการเมืองแล้ว ธุรกิจวิทยุก็ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก"
ทั้งนี้นางสายทิพย์ ประเมินการซื้อสื่อของลูกค้าไว้ว่า จะเป็นรูปแบบของการซื้อสื่อช่วงสั้นๆเช่น รายเดือน รายไตรมาส เป็นต้น ไม่หมือนในอดีตที่วางแผนซื้อสื่อระยะยาว
ในส่วนของแผนงานด้านวิทยุของจีเอ็มเอ็มมีเดียครึ่งปีหลังนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงให้มากที่สุดคือ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม เพราะหากแบรนด์ดีมีภาพลักษณ์ดีแล้วโอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจลงโฆษณาก็มีมากขึ้น นอกจากนั้นจะต้องเร่งอัดกิจกรรมให้มากขึ้นด้วยและเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ฟังและลูกค้าได้ด้วย
นางสายทิพย์กล่าวต่อว่า หากไม่เกิดเหตุกาณ์อะไรที่เกินความคาดหมายแล้ว คาดว่าธุรกิจวิทยุของจีเอ็มเอ็มมีเดียจะเติบโตได้ประมาณ 15% ขณะที่ผลประกอบการไตรมาสแรกกลุ่มวิทยุ 4 คลื่น ของบริษัทฯ คือ กรีนเวฟ 106.5 ,นิวฮอตเวฟ 91.5 , 89 บานาน่า เอฟเอ็ม และ 94 อีเอฟเอ็ม สามารถทำรายได้ตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับไตรมาส 2 ที่ยังขยายตัวในอัตรา 10% และทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้รวม 750 ล้านบาท
อาร์เอสเพิ่มความถี่-อัดซีอาร์เอ็ม
นายคมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค จำกัด บริษัทในกลุ่มสายงานอาร์เอส เรดิโอ ผู้ผลิตรายการวิทยุ COOL 93 fahrenheit และ MAX 94.5 Digital Radio กล่าวว่า สื่อวิทยุยังคงเป็นสือทางเลือกอันดับที่ 2 รองจากสื่อวิทยุ ที่ลูกค้าเจ้าของสินค้าเลือกลงโฆษณา แต่พบว่า ปัจจุบันนี้ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ปัญหาการเมืองวุ่นวาย มีการชุมนุมประท้วงต่างๆ ประกอบกับความเข้มงวดในการใช้จ่ายงบประมาณโฆษณาของเจ้าของสินค้าทำให้การใช้เม็ดเงินเปลี่ยนไป
ส่งผลให้ครึ่งปีหลังนี้ การลงโฆษณาของลูกค้านั้นแทนที่จะวางแผนซื้อสื่อระยะยาวเป็นปีเหมือนอดีต แต่กลับเปลี่ยนไปไปโดยหันมาซื้อระยะสั้นแทน เช่น ครึ่งเดือนหรือรายไตรมาส เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ แต่ตลาดรวมในช่วงไตรมาสสองนี้คาดว่าน่าจะยังดีอยู่
ดังนั้นแนวทางการดำเนินงานบริษัทฯในครึ่งปีหลังนี้ จะมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์และการจัดอีเว้นต์หรือกิจกรรมเป็นหลักซึ่งจะเพิ่มจำนวนการจัดให้ถี่มากกว่าปีที่แล้วโดยคาดว่าจะมีมากกว่ 40 งาน จากปีที่แล้วมีประมาณ 30 งาน และเน้นการทำซีอาร์เอ็มด้วย
"ข้อได้เปรียบหนึ่งของอาร์เอสตอนนี้คือ กระแสฟุตบอลยูโร เนื่องจากทางกลุ่มอาร์เอสได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรปี 2551 จึงสามารถทำตลาดกับฟุตบอลยูโรได้ด้วยกิจกรรมต่างๆ ล่าสุด จากการจัดรายการโกทูโกลด์ก็ได้ผู้โชคดี 2 รายเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ขณะที่จะมีการปรับคอนเท้นต์ให้นำเสนอเกี่ยวกับฟุตบอลทั้งสกู๊ป ข่าว กับทั้ง 2 คลื่นด้วย"
รวมไปถึงการทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งกับลูกค้า เช่น ฮอนด้าจับมือกับบริษัทฯ จัดการแข่งขันฟุตบอล 7 คน เดินสายเล่นทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าใช้งบประมาณแล้วคุ้มค่า ส่วนลูกค้าใหม่ๆก็มีเข้ามาบ้างเช่นกันแต่ส่วนใหญ่เป็นด้านคอนซูเมอร์โปรดักต์ ที่ไม่ได้เน้นสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง
สำหรับผลประกอบการในปีนี้ นายคมสันต์กล่าวไว้ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีว่า ปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 360 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่คาดว่าจะปิดรายได้ที่ 345 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งเอาไว้ที่ 450 ล้านบาท หรือประมาณ 100 ล้านบาท โดยที่ตั้งเป้าหมายมาร์จิ้นหรือการทำกำไรไว้ที่ 30% ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ขณะที่ต่ำสุดน่าจะอยู่ที่ 25-30% กับปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมสื่อวิทยุ
ส่วนงบการตลาดปีนี้ตั้งไว้ที่ 82 ล้านบาท แบ่งเป็น คลื่น คูล 93 ฟาเรนไฮต์ 46 ล้านบาท และคลื่นแม็กซ์ 94.5 จำนวน 36 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่ใช้งบตลาดรวม 66 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นคลื่นคูล จำนวน 38 ล้านบาท และคลื่น แม็กซ์ จำนวน 28 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|