เมื่อมหาวิทยาลัยออสเตรเลียจะออกนอกระบบบ้าง

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สิบสามพฤษภาคมที่ผ่านมา ในการแถลงงบประมาณแผ่นดินประจำปีต่อรัฐสภาของรัฐบาลจอห์น โฮเวิร์ด หนึ่งในนโยบายที่สำคัญและอื้อฉาวมากๆ ในประเทศออสเตรเลีย ตอนนี้คือ แผนสิบปีเพื่อปฏิรูประบบการศึกษา ระดับสูงของออสเตรเลียในชื่อว่า "Our Universities : Backing Australia's Future" ผลของแผนนี้ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างกว้างขวาง

สะเทือนมาถึงเมืองไทยเลยครับ

ดร.เบรนดัน เนลสัน (Dr.Brendan Nelson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา, วิทยาศาสตร์ และการฝึกอบรม (Ministry of Education, Science and Training) ของออสเตรเลียเริ่มต้นแผนปฏิรูปนี้ โดยออกรายงานการศึกษาแนวทางการปฏิรูปการศึกษาระดับสูงในเอกสารหนา 99 หน้า ชื่อ Higher Education at the Crossroads เมื่อเดือนเมษายนปีกลาย

เอกสารนี้กล่าวถึงอนาคตของมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย ที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย การที่มหาวิทยาลัยออสเตรเลียจะสามารถติดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ บทบาทของรัฐและประเทศในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาของมหาวิทยาลัย และบทบาทของเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

หนึ่งปีถัดมา เอกสารภายใต้โครงการที่ชื่อว่า "Our Universities: Backing Australia's Future" ซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์ของ รัฐบาลต่อการปฏิรูประบบการศึกษาระดับสูง โดยรัฐบาลจะเพิ่มเงินอุดหนุน 1,500 ล้านเหรียญในช่วงสี่ปี โดยมุ่งส่งเสริมการสอน การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ บทบาทภาครัฐ การอุดหนุนทางการเงินแก่นักเรียนนักศึกษา การวิจัย การร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และการเพิ่มคุณภาพในช่วงอีกสิบปีถัดไป รัฐบาลจะลงทุนอีก 6,900 ล้านเหรียญสำหรับภาคการศึกษาและ 3,700 ล้านเหรียญสำหรับสนับสนุนการเรียนของนักเรียนนักศึกษา

Our Universities : Backing Australia's Future ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานทางการศึกษาสี่อย่าง คือ ความยั่งยืน, คุณภาพ, ความยุติธรรม และความหลากหลาย (sustainability, quality, equity และ diversity)

แต่เมื่อมองจากมุมมองของพวกซ้าย บทวิเคราะห์นโยบายการศึกษาฉบับใหม่ในหนังสือพิมพ์ของพวกซ้ายอย่าง Green Left Weekly วิเคราะห์ผลกระทบสองอย่าง ได้แก่

หนึ่ง ค่าเล่าเรียนจะแพงขึ้น

ภายใต้งบประมาณแผ่นดินอันใหม่นี้จะยอมให้มหาวิทยาลัยสามารถขึ้นค่าเล่าเรียนได้มากถึง 30% แรงบีบคั้นจากเงินอุดหนุนของภาครัฐส่งผลให้มหาวิทยาลัยจะต้องหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ค่าเล่าเรียนพุ่งสูงขึ้น 30% เต็มได้อย่างไม่ยากนัก

สอง สอดคล้องกับค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้น มหาวิทยาลัยจะเพิ่มโควตารับนักศึกษาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจะเน้นนักศึกษาที่จ่ายเงินเต็มล่วงหน้าก่อนเริ่มเรียนในแต่ละเทอม ซึ่งโดยมากก็คือนักศึกษาต่างชาติอย่างเราๆ นี่เอง โดยรับเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 50%

ต่อจากนี้ ใครจะมาเรียนที่ออสเตรเลีย ก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน

หนังสือพิมพ์เล่มนี้โจมตีนโยบายนี้ในประเด็นสำคัญคือ เป็นการเพิ่มความยากลำบากสำหรับคนจนที่จะเข้าสู่การศึกษาระดับสูง และพยายามหาทางออกว่า ใครควรจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาเหล่านี้กันแน่

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ว่า แนวทางการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลเหมือนเป็นการลอกโครงสร้างการศึกษาของอเมริกา ที่แบ่งระบบการศึกษาออกเป็นสามชั้น คือ พวกคุณภาพต่ำ พวกปานกลาง และของดีราคาแพง

Robert Manne ศาสตราจารย์ทางด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัย La Trobe วิเคราะห์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วถึงผลกระทบจากนโยบายนี้สามประการ ได้แก่

หนึ่ง ทำไมคนจนต้องมาจ่ายภาษีสนับสนุนการศึกษาให้คนรวยด้วย

สอง การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียน โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยชั้นนำ และในหลักสูตรที่เป็นที่นิยม

สาม จะส่งผลอย่างต่อเนื่องต่อระบบการศึกษาโดยรวมของออสเตรเลียเอง ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในทุกระดับจะสูงขึ้น และจะเกิดกลุ่ม Ivy League ในออสเตรเลียกับกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เหลือ

Ivy League เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่และมีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา โดยในออสเตรเลียจะอยู่ในชื่อของกลุ่มแปดมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือ Group of Eight ซึ่งประกอบด้วย The University of Adelaide, The Australian National University (ANU), The University of Melbourne, Monash University, The Unviersity of New South Wales, The University of Queensland, The University of Sydney และ The University of Western Australia และกลุ่มนี้ ก็เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะขึ้นราคาค่าเรียนมาก ที่สุดด้วยเช่นกัน

ผลก็คือ จะเกิดช่องว่างระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำกับมหาวิทยาลัยที่เหลือที่กว้างขึ้นๆ ทุกวัน แรงดึงดูดอาจารย์และความต้องการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำก็จะเย้ายวนกว่าในมหาวิทยาลัยที่เหลือ

ในปี 1983 รายได้ของมหาวิทยาลัยมาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลมากถึง 90% แต่ เมื่อปี 1999 ที่ผ่านมา เงินอุดหนุนของรัฐบาล ลดลงต่ำกว่า 50% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัยมาจาก HECS และการเปิดคอร์ส เรียนราคาถูกสำหรับนักเรียนเอเชีย เงินส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยใช้ไปกับการจัดการภายในการตลาด และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นรายจ่ายสำคัญแต่อย่างไร

ปัจจุบัน จำนวนเงินที่ใช้จ่ายในภาคการศึกษาของออสเตรเลียคิดเป็น 1.5% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายๆ ประเทศ

นโยบายการศึกษาฉบับใหม่นี้ เปรียบเสมือนการปลดปล่อยมหาวิทยาลัยออกจากการกำกับของรัฐบาล โดยเฉพาะทางด้านการเงิน หรือ Deregulation ซึ่งคล้ายๆ กับแนวคิดบางส่วนของการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั่นเอง เนื่องจาก มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถวางแผนทาง การเงิน และสามารถใช้เงินที่เรียกเก็บแพงขึ้นมาใช้ในการจัดการทางการศึกษา การวิจัย และพัฒนา และการตลาดได้มากขึ้น แต่ มหาวิทยาลัยก็ต้องหารายได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

นั่นหมายถึงว่า มหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจหน่วยหนึ่ง การศึกษาจะเป็นการศึกษา โดยมีผลตอบแทนทางการเงินเป็นตัววัดประสิทธิภาพทางการศึกษาแทนจำนวนสิทธิบัตร หรือจำนวนผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์แทน

ในเมื่อคนรวยถึงจะมีโอกาสได้รับการศึกษาระดับสูง หลายคนเรียกร้องให้คนรวยต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น และไม่ควรนำคนที่รายได้น้อย และมีโอกาสได้รับการศึกษา ต่ำกว่าไปจ่ายภาษีอุดหนุนการศึกษา เพราะเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมนัก

เนื่องจากคนที่ได้รับการศึกษาสูงย่อมมีโอกาสในการทำงานสูงกว่า รายได้ดีกว่า จึงควรที่จะต้องจ่ายเงินภาษีสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

บางกลุ่มแนะนำให้ปฏิรูประบบภาษี และเก็บภาษีจากคนรายได้สูงกับบริษัทขนาดใหญ่แทน และจัดการศึกษาฟรีแทน

ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ หรือ UQ ชุมนุมประท้วงนโยบายการศึกษาฉบับนี้ในโอกาสที่ ดร.เบรนดัน เนลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา, วิทยาศาสตร์ และการฝึกอบรมมาเปิดตึกมูลค่าหลายพันล้าน เหรียญที่ UQ การศึกษาควรจะเป็นช่องทางที่ทำให้คนเท่าเทียมกันได้ น่าจะเป็นโอกาสหนึ่งที่คนจน จะสามารถลดช่องว่างระหว่างพวกเขากับคนรวยได้ แต่เมื่อเกิดกำแพงกั้นมิให้ คนจนเข้าใกล้คนรวยแล้ว ออสเตรเลียน่าจะเผชิญกับปัญหาระยะยาวในอนาคต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.