Winding Down of Concorde Era

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"คองคอร์ด Concorde" เป็นยิ่งกว่าเครื่องบินที่บินเร็วกว่าเสียง (supersonic jet) มันเป็น "ความฝัน" ที่อาจเป็นจริงเมื่อคุณรวยพอจะซื้อที่นั่ง round trip ราคาแพงระยับถึง 6,980 ดอลลาร์สหรัฐ (286,000 บาท) เพื่อซื้อเวลาและบริการสุดยอดเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากลอนดอนถึงนิวยอร์กที่ห่างกัน 5,943 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 2 ชั่วโมง 54 นาที 45 วินาที หรือตกนาทีละ 1,600 บาท เรียกว่ายังไม่ทันหายเหนื่อยก็ถึงที่หมายแล้ว สมกับสโลแกนว่า "arrive before you leave"

พลันปีกแห่งความฝันได้ยุติลงเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะเจ้านกสีเงิน "คองคอร์ด" ลำสุดท้ายใน 5 ลำของสายการบินแอร์ฟรานซ์เที่ยวบินอำลาได้เหินฟ้าจากสนามบิน JFK นิวยอร์กเข้าสู่สนามบิน Charles de Gaulle ที่กรุงปารีสเป็นครั้งสุดท้ายท่ามกลางฝูงชนที่เฝ้ามอง ขณะที่คองคอร์ดของสายการบิน บริติช แอร์เวย์ อีก 7 ลำ มีแผนทยอยเข้ากรุพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่กันยายนจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้

ท่ามกลางบรรยากาศวังเวงของธุรกิจการบิน คองคอร์ดก็ยังเป็นสัญลักษณ์ "Rich & Famous" ที่ครองตลาดคนรวยมานานถึง 27 ปี ซึ่งคนวัย 52 อย่าง Sir Richard Branson เจ้าของสายการบิน Virgin Atlantic Airways ใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของยิ่งนัก โดยพยายามที่จะขอซื้อคองคอร์ดจากแอร์ฟรานซ์และบริติชแอร์เวย์ แต่ไร้ผล ทำให้เขาตำหนิการกระทำของบริติช แอร์เวย์ ว่าผิดมหันต์

"It was funded by the British taxpayer, not by British Airways, and therefore, we have said to the British government that we feel that Concorde should be handed over to Virgin Atlantic that has a lower cost base. And we can keep supersonic travel for another 10 or 15 years. So I hope by September or October you will see Concorde in Virgin colors, not British Airway colors"

ความอหังการที่จะขี่เจ้าแห่งความเร็วของ Sir Richard Branson เกิดจากความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ หลากหลายของเขา นับจากสายการบิน Virgin Atlantic ซึ่งสิงคโปร์ แอร์ไลน์ร่วมถือหุ้นด้วย, กิจการเดินรถไฟในอังกฤษ จนถึงธุรกิจเพลง ตลอดจนธุรกิจโทรศัพท์มือถือ Virgin Mobile ที่ร่วมทุนกับ Deutsche Telekom มันได้ปลุกเร้าความทะเยอทะยานของ Branson ที่จะบริหารตลาดลูกค้าระดับพรีเมียมของคองคอร์ดให้รุ่งเรืองยิ่งกว่าอดีต และจะส่งผลดีอย่างมหาศาลกับธุรกิจ Virgin Group ของเขาด้วย

แต่ Branson ต้องอกหัก หลักลอยและคอยนานเมื่อ Rod Eddington ประธานของบริติช แอร์เวย์ปฏิเสธเขาโดยสิ้นเชิงว่า "Not for sale" จนกว่าสภาพธุรกิจโดยรวมดีขึ้นแล้วค่อยคิดกันใหม่

เหตุที่ต้องยุติการบินเที่ยวบินของคองคอร์ด ทั้งๆ ที่มีจุดแข็งในฐานะ premium aviation brand มาตลอด 27 ปี ก็เพราะขาดทุนหนักจนแบกต่อไปไม่ไหว นี่คือปรากฏการณ์ทางธุรกิจที่สะท้อนจุดตกต่ำสุดขีดของอุตสาหกรรมการบินโลก ที่ปลดระวางเครื่องบินและคนจำนวนมากที่สุดยุคหนึ่ง

นับเนื่องจากเดือนกรกฎาคม 2000 อุบัติเหตุเครื่องบินคองคอร์ดตก หลังทะยานขึ้นจากสนามบิน Roissy Charles De Gaulle ใกล้กรุงปารีส คนตาย 113 ศพ ทำให้คองคอร์ดต้องหยุดบินนานกว่าหนึ่งปี และเมื่อเปิดบินใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2001 ธุรกิจโลกอยู่ในสภาวะถดถอยและวิกฤติตกต่ำมากขึ้นจากเหตุสะเทือนชาวโลกใน 9/11 และสงครามสหรัฐฯ ถล่มอิรัก จนถึงการระบาดของโรค SARS หรือหวัดมรณะในปี 2003

กลุ่มลูกค้าของคองคอร์ด ไม่ว่ามหาเศรษฐีบ่อน้ำมัน นักธุรกิจ CEO หรือซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวู้ดต่างไม่ไว้วางใจสถานการณ์ ขณะที่ภาวะตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และอังกฤษรวนเรไม่แน่นอน ทำให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ต่างรัดเข็มขัด และได้ยกเลิกแผนการเดินทางด้วยคองคอร์ดจำนวนมาก ทำให้แต่ละเที่ยวบินที่สามารถจุคนเต็ม 100 ที่นั่งต้องโหรงเหรง วังเวง

"แต่ละเที่ยวบินของเรามีผู้โดยสารเพียงแค่ 20% เท่านั้นเอง" ประธานของแอร์ฟรานซ์ Jean-Cyrill Spinetta เปิดอกแถลงข่าว และเมื่อปลดระวางคองคอร์ดแล้ว เขาคาดว่า แอร์ฟรานซ์จะสามารถล้างบัญชีขาดทุนได้ถึง 64.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่บริติช แอร์เวย์จะตัดบัญชี ได้ถึง 130.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ผ่านมา ต้นทุนของคองคอร์ดซึ่งแต่ละลำมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 20 ปี ได้ ทวีเพิ่มค่าซ่อมบำรุงมากขึ้นถึง 58% นับจากเครื่องบินคองคอร์ดตกในปี 2000 แต่สายการบินก็ไม่สามารถเพิ่มค่าโดยสารถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้คุ้มต้นทุนและมีกำไรได้

ตำนานกำเนิดของคองคอร์ด ถือว่าเป็นนวัตกรรมมูลค่านับพันพันล้านดอลลาร์สหรัฐของ Anglo-French ที่เกิดขึ้นเมื่อทศวรรษ 1960 จนกระทั่งคองคอร์ดลำแรกทะยานขึ้นฟ้าในปี 1969 ท่ามกลางความตื่นตะลึงในรูปโฉม และศักยภาพที่บินเร็วที่สุด แต่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง ถึงกระนั้นอนาคตของคองคอร์ดก็ดูสดใสเมื่อมีออร์เดอร์เข้ามา แต่ในปี 1973 วิกฤติการณ์น้ำมันแพงได้ดับฝันที่จะขาย คนซื้อเริ่มหันไปสั่งของถูกกว่าและจุคนได้มากกว่าอย่างโบอิ้ง 747 ที่แพนแอมใช้บินในปี 1970 ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสจึงต้องยกสมบัตินี้ให้สายการบินแห่งชาติทั้งสองประเทศบริหาร และในปี 1976 คองคอร์ดเที่ยวบินแรกจึงเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยยุคต้นๆ ฝูงบินคองคอร์ดมีจำนวนถึง 20 ลำที่ผลิตโดย Airbus โรงงานที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศส

ตลอดเวลา 27 ปี คองคอร์ดรับใช้คนรวยมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้มีมหาเศรษฐีบ่อน้ำมันเป็นลูกค้าขาประจำส่วนใหญ่ ที่นิยมโดยสารเครื่องบินคองคอร์ดเดินทางข้ามทวีปปีละประมาณ 70 เที่ยวบิน

ทั้งสองประเทศได้อัดฉีดเงินมหาศาลซ่อมบำรุงรักษาความเป็นคองคอร์ดไว้ ขณะที่ค่าโดยสารจำต้องปรับขึ้นเพื่อให้คุ้มทุน แต่สถานการณ์โดยรวมยิ่งเลวร้ายลงจนกระทั่งถึงการตัดสินใจเด็ดปีกเจ้าเวหาลำนี้ภายในตุลาคมปีนี้

เศรษฐีที่ไม่อยากพลาดเที่ยวบินพิเศษ (Special Concorde Spring & Summer Fares) ทางบริติช แอร์เวย์ได้จัดโปรแกรมอำลาอาลัยคองคอร์ด "แบบรวย แล้วเลิก" ในอัตราต่างๆ ดังนี้คือ one-way Concorde, one-way World Traveller (economy) ในอัตรา 3,999 และ 4,499 ดอลลาร์สหรัฐ ในแบบ one-way Concorde, one-way Traveller Plus ขณะที่ชั้นบิสิเนสคลาส 4,999 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ one-way Concorde, one-way Club World business class แต่ถ้าจะนั่งเฟิร์สคลาส 5,999 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นแบบ one-way Concorde, one-way FIRST และ 6,999 ดอลลาร์สหรัฐ แบบ round trip Concorde จ่ายแพงแล้วเดินทางเร็วขนาดนี้ เขาว่า กันว่าจะทำให้แก่ช้าไปสามชั่วโมง ตามกฎสัมพันธภาพของไอน์สไตน์

อย่างไรก็ตาม ลาก่อน คองคอร์ด.. ชาติหน้า ถ้ามีจริง เกิดมารวยๆ จะนั่งซะให้เข็ด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.