TDRIชี้สัญญาณร้ายซ้ำรอยวิกฤตปี’40 ‘ของแพง-เงินเฟ้อ-ตกงาน’ ศก.ไทยล่ม!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

TDRI วิเคราะห์ศก.ของไทย “เงินเฟ้อ-ของแพง” โจทย์แรกของรัฐบาลต้องแก้ไข ชี้เพิ่มเงินขรก.ชั้นผู้น้อยยังไม่พอ “ซี6 - ขรก.บำนาญ” อ่วมภาครัฐต้องรีบอุ้ม ขณะที่เสถียรภาพทาง “การเมือง-น้ำมัน” กระทบการลงทุนต่อเนื่อง เตือนสัญญาณอันตราย “คนตกงาน-ของแพง-เงินเฟ้อ” เกิดขึ้นพร้อมๆกันได้เวลานับถอยหลังซ้ำรอยวิกฤตปี’40 อีกครั้ง

ในสภาวะเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในยุค “ชักหน้า ไม่ถึงหลัง” สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นทุกตัว ส่งผลต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ขณะที่รายได้เท่าเดิมมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายจึงต้องรับชะตากรรมของตัวเอง แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยคือตั้งแต่ระดับ 5 ลงไปให้เพิ่มค่าครองชีพ 6 % มีผลย้อนหลังตั้งแต่1พ.ค.2551เป็นต้นมา และกลุ่มสถาบันการเงินก็ประกาศเพิ่มค่าครองชีพให้พนักงานเช่นกัน

แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนในภาคเอกชน ต่างๆกลับยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการช่วยเหลือ แล้วทางออกของวิกฤตครั้งนี้จะเป็นเช่นไร นี่คือสัญญาณที่เรากำลังจะย้อนกงล้อกลับไปสู่วิกฤตการณ์ซ้ำรอยเหมือนปี 2540 อีกครั้ง!?

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยและด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ ฝ่ายวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันพัฒนาวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภาครวมของประเทศให้ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ดังนี้

เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ปัญหาของเศรษฐกิจของไทยขณะนี้คงจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาราคาสินค้าที่แพงขึ้นขณะที่รายได้ของประชากรกับกับเท่าเดิมโดยปัญหามากจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงมากขึ้นแทบทุกตัว ซึ่งจากภาวะเงินเฟ้อนี่เองย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้ประจำ แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 2 ครั้งครั้งแรกต้นปี และล่าสุดที่ปรับขึ้นอีก 2-11บาททั่วประเทศหรือในอัตราที่เพิ่มขึ้น 4-5% ซึ่งหากจะเปรียบเทียบค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อต้องเปรียบกับตัวเลขตั้งต้นปี 2551 คือ 4 เดือนที่ผ่านมาไม่ใช่เปรียบเทียบกับรอบ 12 เดือนเพราะเราจะได้เห็นตัวเลขที่แท้จริงของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มแค่ 3.9% ไม่ใช่ตัวเลข 6.2% อย่างที่รับรู้กัน

อย่างไรก็ดีหากดูลงไปในรายละเอียดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 3.9% นั้นจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะใช้จ่ายเงินในการซื้อหาอาหารค่อนข้างมากซึ่งในช่วง 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.) ทำให้พบว่าอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มคนทีมีรายได้น้อยจะอยู่ที่ 5.2% เพราะฉะนั้นค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มถือว่าสอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 4-5% เพราะฉะนั้นมาตรของรัฐบาลจะเข้าไปช่วยผู้มีรายได้ต่ำ แต่หากมองไปข้างหน้าเมื่อราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นภาครัฐอาจต้องปรับคาแรงในเดือน ต.ค. หรือ พ.ย.อีกครั้งก็ได้

สถานะเงินการคลังยังเข็มแข็ง.!

ขณะที่สถานะเงินทางการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจเพราะเมื่อไปดูหนี้สาธารณะต่อGDP หากมีปัญหาตัวเลขสูงกว่านี้แต่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ 36% และอาจจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือนนี้เป็น 38 % แปลว่ายังมีช่องว่างอีก 12 % กว่าจะถึงจุดอันตรายคือ 50% ต่อ GDP ขณะเดียวกันการทำบัญชีงบประมาณแบบขาดทุนก็ช่วยได้มากเพราะไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปกว่านี้บทสรุปตรงนี้ถือว่าสถานการณ์เงินของประเทศยังไม่น่าห่วง

หวั่นเงินเฟ้อเพิ่มศก.ซ้ำรอยปี40

ส่วนกลุ่มอื่นๆที่มีเงินเดือนประจำอาทิ พนักงานบริษัท ข้าราชการบำนาญ ลูกจ้าง/พนักงานองค์กรของรัฐ ภาครัฐขึ้นค่าครองชีพชั่วคราว 5-6 % ก็ถือว่า อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเงินเฟ้อแต่ข้าราชการตั้งแต่ระดับ 6 ขึ้นไปน่าจะได้การดูแลอีกครั้งหลังจากนี้หากภาวะเงินเฟ้อยังเพิ่มสูงขึ้น ส่วนข้าราชการบำนาญน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะกติกาเขียนไว้ว่าหากจะปรับอัตราเงินเดือนตามภาวะเงินเฟ้อจะต้องส่งเรื่องเข้าครม.เพื่ออนุมัติเป็นครั้งคราวไป

อย่างไรก็ดีหากจะบอกว่าจะเกิดวิกฤติซ้ำรอยปี 2540 นั้นยังไม่มีสัญญาณจะเกิดวิกฤตแบบนั้น แต่ความเสี่ยงนั้นอาจจะมีหากปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นไป ราคาสินค้าแพงขณะเดียวกันแรงงานจำนวนมากตกงานไปอีก แต่ภาวะในปัจจุบันการจ้างงานอยู่ในระดับที่ดี ภาคการผลิตก็ยังดีเพราะการส่งออกไปได้สวยอีกทั้งตัวเลขไตรมาส1ยังอยู่ในดับที่น่าพอใจ

ลงทุนยังไม่พื้น “น้ำมัน-การเมือง”ฉุด.!

ส่วนการภาคลงทุนที่น่าห่วงในช่วงนี้จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนักที่มีต้นทุนจากการใช้น้ำมันกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะชะลอการลงทุนออกไปอีก แม้ช่วงแรกเหมือนจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งภาครัฐต้องหาวิธีการส่งเสริมการลงทุนโดยสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการลงทุนอาทิ พ.ร.บ. ค้าปลีก พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเป็นต้น ขณะเดียวกันก็เร่งขับเคลื่อนนโยบายเมกกะโปรเจ็กต์ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้โดยเร็วอีกทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการและการท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศจำนวนมากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมเช่นกัน

นอกจากนี้เสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บรรยากาศการลงทุนสดใสแต่ขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศยังเป็นห่วงสถานะทางการเมืองของไทยที่มีความง่อนแง่น ทั้งเรื่องความขัดแย้งของ 2 กลุ่มการเมืองที่อาจจะเกิดความรุนแรง การแก้รัฐธรรมนูญ และวาระการการบริหารประเทศอาจจะสั้น สิ่งเหล่านี้คือความกังวลของนักลงทุนต่างชาติ

ซับไพรม์สหรัฐฯไม่กระทบไทย

ส่วนปัญหาวิกฤตวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐฯที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยว่า ในระยะแรกหลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาซับไพรม์ในประเทศสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่แล้วก็ไม่ร้ายแรงขนาดนั้นเพราะแม้เศรษฐกิจของสหรัฐฯจะชะลอตัวแต่การส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าวยังขยายตัวได้ดีในระดับร้อยละ 20% ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯจึงไม่มีผลกระทบต่อไทยเท่าที่ควร

ขณะที่มุมมองนักวิเคราะห์จากไอเอ็มเอฟ (IMF) มองว่าปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯจะมีผลต่อทางด้านการเงินเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อทางด้านการลงทุน และการบริโภคของประเทค่อนข้างน้อย จึงน่าจะทำให้ประเทศไทยซึ่งส่งออกไปยังสหรัฐฯจำนวนมากไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ทว่าหากเกรงว่าจะเกิดวิกฤติในช่วงนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะหากจะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นน่าจะได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นปี 2551 ไม่ใช่จะมาเกิดขณะนี้จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ อีกทั้งการนำเข้าที่สูงขึ้นทั้ง เครื่องจักร วัตถุดิบนั่นเป็นสัญญาณที่ทำให้รู้ว่าภาคเอกชนเร่งลงทุนเพราะมองเห็นโอกาสและความเชื่อมั่นก็เริ่มกลับมาแล้ว

โดยสัญญาณจากนอกประเทศที่จะทำให้เรารู้ว่ามีวิกฤตคือการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก 2-3 เดือนติดต่อกัน ทั้งการส่งออกก็ตกลดลงจากยอดที่กำหนดไว้นั่นคือวิกฤตที่ทำให้ไทยต้องเตรียมตัวรับมือแต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว

รัฐต้องเร่งจัดการปัญหาเงินเฟ้อ

ดังนั้นมาตรการระยะสั้นที่ภาครัฐจะต้องทำในช่วงนี้คือดูแลภาวะเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไปและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยจากภาวะเงินเฟ้อ ราคาข้าวของที่แพงขึ้น ดูแลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำซึ่งต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงงานนอกระบบที่ยังไม่ได้รับการดูแลซึ่งหากเศรษฐกิจซบเซาแรงงานกลุ่มนี้จะถูกเลิกจ้างทันที

ดังนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือของ “รัฐบาลสมัคร1”ในการนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตหรือจะนำไปสู่วิกฤตแบบปี2540 ที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องผ่านการเจ็บปวดมาแล้ว!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.