Odious Debt

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สังฆนายกแห่งนครเคปทาวน์ (Archbishop of Cape Town) และคณะกรรมาธิการแสวงสัจจะและความปรองดองแห่งแอฟริกาใต้ (South Africa's Truth and Reconcilation Commission) เรียกร้องให้รัฐบาลแอฟริกาใต้หลังยุคการเหยียดผิวบอกเลิก หรืออีกนัยหนึ่ง 'ชักดาบ' หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลก่อนหน้านั้น แต่รัฐบาลแอฟริกาใต้ยุคผู้นำผิวดำไม่ยอมรับข้อเรียกร้องนี้ และยังรับสภาพหนี้ ตลอดจนทยอยชำระหนี้ที่รับเป็นภาระผูกพัน ทั้งๆ ที่หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลยุคผู้นำผิวขาวจำนวนมากใช้ไปในด้านการทหารและการตำรวจ อันเป็นกลไกที่ใช้ในการกดขี่ ข่มเหง และปราบปรามชนผิวดำ

ประเทศที่รัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือมีการปกครองระบอบเผด็จการจำนวนมาก ก่อหนี้ต่างประเทศ โดยที่มิได้ใช้ไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน หากแต่ใช้ไปในการเสพสุขในหมู่ผู้นำ ผู้นำประเทศเหล่านี้สามารถสะสมความมั่งคั่งโดยมิชอบ ท่ามกลางความยากจนของประชาชนในระดับรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็น อนาสตาซิโอ โซโมซา (Anastasio Somosa) แห่งนิการากัว จัง-คล็อด ดูวาลิเยร์ (Jean-Claude Duvalier) แห่งไฮติ เฟอร์ดินันด์ มาร์คอส (Ferdinand Marcos) แห่งฟิลิปปินส์ โมบูตู เซเซ เซโก (Mobutu Sese Seko) แห่งคองโก ซานิ อบาชา (Sani : Abacha) แห่งไนจีเรีย เป็นต้น

เมื่อผู้นำเผด็จการที่สะสมความมั่งคั่งโดยมิชอบเหล่านี้สิ้นอำนาจ บางคนถูกยึดทรัพย์ ดังกรณีที่รัฐบาลไนจีเรียยึดทรัพย์ครอบครัว ซานิ อบาชา แต่บางคนยังคงธำรงความมั่งคั่งไว้ได้ในระดับเดิม ดังกรณีเฟอร์ดินันด์ มาร์คอส การยึดทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินที่ฝากไว้นอกประเทศ มีกระบวนการอันยุ่งยากและซับซ้อนยิ่ง

ประเทศที่มีภาระหนี้ต่างประเทศ ย่อมมิอาจเร่งรัดกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้มากเท่าที่ควร เพราะทรัพยากรส่วนหนึ่งของชาติต้องกันไว้สำหรับการชำระหนี้ มิอาจใช้ไปในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่ หากหนี้ต่างประเทศที่ก่อไว้ในเบื้องต้น มิได้ใช้ไปในทางเพิ่มพูนศักยภาพการผลิตของระบบเศรษฐกิจ แต่ผู้นำเผด็จการนำไปใช้เสพสุขส่วนบุคคล ประเทศดังกล่าวต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายสองชั้น ชั้นแรกมิได้ประโยชน์จากหนี้ต่างประเทศที่ก่อขึ้น ชั้นที่สองต้องมีภาระในการชำระหนี้ต่างประเทศนั้น หนี้เหม็นดังกล่าว เรียกกันในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ว่า Odious Debt

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีธรรมาภิบาลสมควรรับภาระหนี้ต่างประเทศที่ก่อโดยรัฐบาลเผด็จการหรือไม่?

วิวาทะว่าด้วย Odious Debt ก่อเกิดในปี พ.ศ.2441 เมื่อสงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐอเมริกายุติลง โดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายมีชัย และได้ครอบครองคิวบาเป็นอาณานิคม สหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับภาระหนี้ต่างประเทศของคิวบาที่ก่อโดยรัฐบาลภายใต้การปกครองของสเปน โดยอ้างว่า การก่อหนี้ต่างประเทศดังกล่าว มิได้ผ่านกระบวนการขอความเห็นชอบจากประชาชนคิวบา และมิได้ใช้ไปเพื่อประโยชน์สุขของคนคิวบา แม้ว่าสเปนจะมิได้ยอมรับข้ออ้างของรัฐบาลอเมริกัน ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า รัฐบาลอเมริกันมิได้ชำระหนี้ต่างประเทศของคิวบาดังกล่าวนี้ และรัฐบาลสเปนเป็นผู้ชำระแทน

การก่อหนี้ต่างประเทศในลักษณะ Odious Debt ยังคงมีต่อมา รัฐบาลที่ต้องรับภาระในการชำระคืน Odious Debt มักจะไม่กล้า 'ชักดาบ' ทั้งๆ ที่มีเหตุผลนานัปการที่สามารถหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนการ 'ชักดาบ' ดังเช่นที่รัฐบาลอเมริกัน 'ชักดาบ' หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลคิวบาภายใต้การปกครองของสเปน เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ไม่กล้า 'ชักดาบ' ก็คือ การ 'ชักดาบ' อาจทำลายความเชื่อมั่นของตลาดการเงินระหว่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลประเทศเหล่านั้น ซึ่งยังคงต้องการระดมทรัพยากรทางการเงิน ด้วยการก่อหนี้ต่างประเทศเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ การเริ่มต้น 'ชักดาบ' มีผลในการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล (Credit Rating Agency) ย่อมลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว เพราะการ 'ชักดาบ' ส่งสัญญาณเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการสูญหนี้ที่มีมากขึ้น ดังนั้น ตลาดอาจไม่จัดสรรเงินให้กู้ หรือหากให้เงินกู้ ก็ต้องคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราตลาดโดยทั่วไป เนื่องจากต้องคำนึงถึงภาวะความเสี่ยงที่มีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ประเทศที่ 'ชักดาบ' ยังอาจถูกประเทศเจ้าหนี้ยึดทรัพย์สินที่มีอยู่ในประเทศเจ้าหนี้ด้วย ดังนี้ การ 'ชักดาบ' แม้ในกรณีของ Odious Debt ต้องเผชิญกับผลกระทบนานัปการ จนการ 'ชักดาบ' มิอาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย

วิวาทะว่าด้วย Odious Debt ปะทุขึ้นใหม่ เมื่อขบวนการ Jubilee 2000 Coalition รณรงค์ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วและองค์การระหว่างประเทศยกหนี้ให้ประเทศยากจนในโลกที่สาม (Debt Write-off) Jubilee 2000 Coalition ก่อตั้งในปี 2540 โดย Bono ศิลปินร็อกผู้ยิ่งใหญ่ในทศวรรษ 2510 เป้าหมายของ Jubilee 2000 Coalition ก็คือ การกำหนดให้ ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) เป็นปีที่มีการยกหนี้ให้แก่ประเทศที่ยากจน ขบวนการ Jubilee 2000 Coalition เติบโตอย่างรวดเร็ว และจัดให้มีการชุมนุมทุกครั้งที่มีการประชุมผู้นำกลุ่ม G7 จนท้ายที่สุด ทั้ง G7 ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศต้องให้ข้อพิจารณาข้อเรียกร้องของ Jubilee 2000 Coalition อย่างจริงจัง

Jubilee 2000 Coalition อ้างเหตุผลว่า ประเทศยากจนจำนวนมากมีภาระหนี้ต่างประเทศอันหนักอึ้ง บางประเทศมีหนี้ต่างประเทศสูงกว่า 100% ของรายได้ประชาชาติ ภาระการชำระหนี้ต่างประเทศอันหนักอึ้งนี้ ทำให้ประเทศเหล่านี้ยากจะหลุดพ้นจากภาวะความยากจนได้ เพราะขาดแคลนทรัพยากรทางการเงิน เนื่องจากทรัพยากรส่วนสำคัญต้องนำไปชำระหนี้ต่างประเทศ การขาดแคลนทรัพยากรทำให้รัฐบาลมิอาจจัดสรรสวัสดิการสังคมระดับพื้นฐานให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ประชาชนในหลายต่อหลายประเทศอดอยากหิวโหย หลายประเทศมีปัญหาทุพโภชนาการในหมู่ทารกและเด็กเล็กในประการสำคัญ หนี้ต่างประเทศที่ก่อโดยรัฐบาลเผด็จการมิได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ในทศวรรษ 2520 ซาอีร์ (Zaire) ได้รับเงินกู้ต่างประเทศจำนวน 8,500 ล้านดอลลาร์อเมริกัน แต่ถูกประธานาธิบดีโมบูตู (Mobutu) ผันไปใช้เสพสุขส่วนตัว โดยที่ประชาชนต้องรับภาระการชำระหนี้

การยกหนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะเป็น Odious Debt แก่ประเทศที่ยากจนในโลกที่สาม จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบระหว่างประเทศ มิฉะนั้นประเทศลูกหนี้ไม่กล้าบอกเลิกรับภาระการชำระหนี้ เพราะเกรงผลกระทบที่จะได้รับจากตลาดการเงินระหว่างประเทศ การให้ประเทศที่ยากจนบอกเลิกการรับภาระการชำระหนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะเป็น Odious Debt นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศเหล่านั้นในการหลุดพ้นจากบ่วงแห่งความยากจนแล้ว ยังเป็นการให้สัญญาณที่ชัดเจนแก่ตลาดการเงินระหว่างประเทศ ในการระมัดระวังการจัดสรรเงินให้กู้แก่รัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่ปราศจากธรรมาภิบาล อย่างน้อยที่สุดต้องเข้มงวดในการพิจารณาโครงการเงินกู้และการใช้เงินกู้ หากมีระเบียบระหว่างประเทศที่ยินยอมให้มีการ 'ชักดาบ' หนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะเป็น Odious Debt ได้ การให้กู้แก่รัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่ปราศจากธรรมาภิบาล จะมีความเสี่ยงมากกว่าเดิม หากสถาบันการเงินจะยังให้กู้แก่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ต่อไป ด้านหนึ่งก็ต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงขึ้นเพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยงที่มีมากขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ต้องดำเนินการปกป้องตนเองในปัญหาการสูญหนี้

เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนที่ไร้อำนาจต่อรอง ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลประเทศมหาอำนาจ และสถาบันการเงินเอกชน มิควรจัดสรรเงินกู้แก่รัฐบาลประเทศเผด็จการและรัฐบาลที่ปราศจากธรรมาภิบาล หากทุกฝ่ายยอมรับหลักการดังกล่าวนี้ ปัญหา Odious Debt ย่อมลดทอนลง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.