|
เปิดแผนเชนนอกยึดโรงแรมไทยส.โรงแรมหวั่นนอมินีเกลื่อนเมือง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจโรงแรมในช่วงปีที่ผ่านมานับว่ามีการแข่งขันกันมากขึ้นโดยเฉพาะเชนต่างชาติที่บุกเข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยขยายฐานเครือข่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะหัวเมืองท่องเที่ยวหลักที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไป
โดยเฉพาะเส้นทางในแถบภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกที่มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ขณะที่การเดินทางของตลาดจีนกับอินเดียอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น อนาคตอันใกล้การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะส่งผลอย่างมากสำหรับการเติบโตโดยรวมทั่วโลก
ในที่สุดกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวจึงมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น การปรับตัวเพื่อรองรับกระแสการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจึงเริ่มถูกหยิบนำมาใช้กันมากขึ้นเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่เชนโรงแรมไทยอย่างดุสิต ธานีที่ในช่วงปีที่ผ่านมากระโดดลงมาเล่นตลาดโรงแรมชั้นประหยัดเปิดตัว “ดีทู”ออกมารองรับตลาดหรือแม้แต่กลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เปิดตัวโรงแรมเครือ “อิมม์”ไปเมื่อต้นปี 51 ที่ผ่านมา
ขณะที่เชนโรงแรมจากต่างชาติอย่าง “แอคคอร์” ที่รับบริหารอย่างเดียวกว่า 20 แห่งในประเทศไทย ดูจะสวนกระแสเศรษฐกิจมากกว่าใครเพราะยอดพุ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 8 โดยเฉพาะที่ภูเก็ตมีอัตราการเข้าพักถึง 37% ทำให้เชนแอคคอร์ได้ใจประกาศจุดยืนภายในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีโรงแรมในเครือข่ายสูงถึง 40 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันแอคคอร์มีโรงแรมในเครือที่รับบริหารสำหรับประเทศไทยอยู่ในมือถึง 25 แห่ง และกำลังจะเปิดให้บริการใหม่เพิ่มอีกจำนวน 3 แห่ง คือในเมืองพัทยา,ชุมพร และกรุงเทพฯ
สอดคล้องกับที่เชน แอคคอร์ มีการขยายแบรนด์ในทุกระดับดาว ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ โซฟิเทล โรงแรมระดับ 5 ดาว,แกรนด์ เมอร์เคียว 4 ดาวครึ่ง,โนโวเทล 4 ดาว,เมอร์เคียว 3 ดาวครึ่ง และอีบิส 3 ดาว
จึงไม่แปลกที่กลุ่มเชนแอคคอร์จะเพิ่มเครือข่ายมากกว่า 1 เท่าตัวใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น....
การบริหารโรงแรมใหม่ในสำหรับเชนแอคคอร์ในปีที่ผ่านมามีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “ออลซีซั่นส์” เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวในรูปแบบสไตล์รีสอร์ท และถือเป็นการเข้ามาครั้งแรกของแบรนด์นี้สำหรับประเทศไทย และเป็นแห่งที่สองในแถบภูมิภาคเอเชีย
โดยคาดว่าจะเจาะกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวระดับกลางเช่นเดียวกันอีบิส
กลยุทธ์สำคัญของแบรนด์ ออล ซีซั่นส์ นับว่าเป็นแบรนด์ที่ 6 ของกลุ่มแอคคอร์ที่ถูกส่งมาวางตำแหน่งทางการตลาดเดียวกับอีบีส คือระดับ 3 ดาวแต่จะแตกต่างที่โลเคชั่นของโรงแรม โดยอิบิสจะเน้นกลุ่มโรงแรมในเมือง และมีราคาประหยัด
ขณะที่ ออล ซี ซั่นส์จะถูกวางตำแหน่งทางการตลาดเป็น โรงแรมสไตล์รีสอร์ท ซึ่งเหมาะสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยจะเน้นไปที่โลเคชั่นหัวเมืองท่องเที่ยวหลักๆ อย่างเช่น พัทยา ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆนี้
“ด้วยศักยภาพที่มีเครือข่ายบริหารโรงแรมไปทั่วโลก โดยเฉพาะแถบภูมิภาคเอเชีย ทำให้ธุรกิจของแอคคอร์ในประเทศไทยกว่า 70%มาจากนักเดินทางในทวีปเอเชียด้วยกัน ดังนั้นแบรนด์ ออล ซีซั่นส์จึงน่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการคนไทยที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารโรงแรมและรีสอร์ทได้
จากตัวเลขการเดินทางในแถบเอเชียที่เติบโตสูงขนาดนี้ น่าจะส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจโรงแรมอิบิสราคาประหยัด ออลซีซั่น เมอร์เคียวและโนโวเทลจะมีอัตราเติบโตรวดเร็วกว่าแบรนด์โซฟิเทล ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักเดินทางที่มาจากประเทศห่างไกล อาทิ ยุโรป อเมริกา
ขณะที่แผนรุกตลาดในแถบอินโดจีนส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิจะถูกใช้เป็นศูนย์กลางการจราจรทางอากาศของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามและจีนตอนใต้...การเลือกที่จะเปิดให้บริการโรงแรมในสนามบินจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ถูกเชนแอคคอร์วางยุทธศาสตร์เอาไว้ตั้งแต่แรก
โนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต คือโรงแรมแห่งที่ 2 ในจำนวนโรงแรมโนโวเทลทั้ง 3 แห่งที่เปิดให้บริการภายในบริเวณสนามบิน
ปัจจุบันแอคคอร์เปิดให้บริการโรงแรมโนโวเทล ซิตี้เกท ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติฮ่องกงเพียง 5 นาท นอกจากนี้การเปิดตัวโรงแรม บันยัน กวางโจว เมื่อปลายปี 2549 นั้นส่งผลให้แอคคอร์มีโรงแรมถึง 3 แห่งในสนามบินและเป็นโรงแรมแฟลกชิพของแอคคอร์
ขณะที่การเปิดให้บริการของสนามกอล์ฟโภคีธรา คันทรี่ กลับ นครวัต เป็นเสมือนหนึ่งการปรับโฉมของการเล่นกอล์ฟท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ถึงแม้ว่าสนามกอล์ฟจะตั้งอยู่ในประเทศที่การเมืองผันผวนอยู่ตลอดเวลาอย่างกัมพูชาก็ตาม แต่การบริหารจัดการหรือมุมมองทางการตลาดที่เชนแอคคอร์วางไว้กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ศักยภาพและตลาดการเล่นกอล์ฟท่องเที่ยวที่มีอยู่ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทย เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
หรือแม้แต่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล หัวหิน รีอสอร์ทก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีสนามกอล์ฟที่ดีหลายแห่ง เช่นเดียวกับเมืองพัทยาที่เติบโตเพราะส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนกอล์ฟ
ในภูมิภาคนี้แอคคอร์มีรีสอร์ทหลายแห่งที่ให้บริการสนามกอล์ฟด้วย และโภคีธรา คันทรี่ คลับก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่จะใช้มาตรฐานโซฟิเทลเข้าไปบริหารจัดการ และเชื่อว่าการทำตลาดยังคงดำเนินต่อไปเพราะมีนักเดินทางเข้าประเทศกัมพูชาประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน
ล่าสุดแนวโน้มที่ธุรกิจโรมแรมของคนไทยจะถูกปรับไปให้ธุรกิจเครือโรงแรมต่างชาติเข้าไปบริหารเริ่มมีมากขึ้น เนื่องจากข้อได้เปรียบของธุรกิจโรงแรมข้ามชาติมีอยู่หลายด้าน ทั้งเรื่องรูปแบบบริหารที่เป็นสากล เครือข่ายการจองที่พักที่สามารถจองได้หลากหลายวิธี แผนการตลาด รวมถึงชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวมากกว่า ขณะที่ธุรกิจโรงแรมสายพันธุ์ไทยแท้มักจะเสียเปรียบในเรื่องของแผนการตลาด และเครือข่ายการให้บริการ
ปฏิบัติการเปิดเกมรุกของ เชนแอคคอร์ ที่มีแผนขยายธุรกิจโรงแรมในไทยเพิ่มจาก 30 แห่ง เป็น 44 แห่งให้ได้ภายในปี 52 ประกอบด้วย ออล ซีซันส์ 3 แห่ง ที่กรุงเทพฯ 2 แห่ง และภูเก็ต อีบิส 4 แห่ง ที่พัทยา เกาะสมุย กรุงเทพฯ และภูเก็ต แกรนด์ เมอร์เคียว-ปทุมวัน โนโวเทล-ชุมพร โนโวเทล-คิงพาวเวอร์กรุงเทพฯ และเมอร์เคียว-ป่าตอง ภูเก็ต ซึ่งทั้งหมดอยู่ในการบริการเครือแอคคอร์ ที่มีคู่แข่งขันเป็นธุรกิจโรงแรมไทย และโรงแรมราคาถูกจากค่ายอื่น
ปัจจุบันการขยายธุรกิจบริหารจัดการโรงแรมที่เปิดใหม่จึงอยู่ในทำเลย่านธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยจะโฟกัสไปที่โรงแรมราคาถูก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มียอดการเติบโตสูงมากในระยะหลัง เห็นได้จากการเติบโตของสายการบินโลวคอสต์ ขณะที่สายการบินทั่วไปก็มีชั้นอีโคโนมีถึง 80% และชั้นธุรกิจเพียง 20% ดังนั้นค่ายแอคคอร์จึงต้องหันมาให้บริการรองรับกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยศักยภาพของกลุ่มแอคคอร์ที่สยายปีกคุมโรงแรมไทยในเวลานี้ ได้ทำให้โรงแรมโนโวเทล บางนา ซึ่งเป็นเชนโนโวเทล ในกลุ่มแอคคคอร์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากเป็นการบริหารของชาวต่างชาติที่มีระบบการตลาดที่ค่อนข้างมั่นคงนั้นเอง
สำหรับกลุ่มแอคคอร์ที่เข้ามาบริหารในประเทศไทยเวลานี้มีประมาณ 20 กว่าแห่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเครือโซฟิเทล เมอร์เคียว ออลซีซั่น อีบิส และฟอร์มูลที่กระจายไปตามทุกภาคส่วนของประเทศไทย เนื่องจากทางกลุ่มแอคคอร์มองว่า การเข้ามาบริหาร ไม่ใช่เป็นผู้ลงทุนจึงไม่ต้องใช้เงินเยอะ เพราะฉะนั้นสาเหตุที่บริษัทตัดสินใจรุกเข้ามาบริหารโรงแรมในประเทศไทย และย่านเอเชียเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจทางด้านนี้
พร้อมกันนี้จากสถิตินักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี พบว่า 70 %ของลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในแถบเอเชีย เป็นเพราะเทรนด์ของการเดินทางท่องเที่ยวกันระหว่างประเทศไทยในละแวกภูมิภาคเดียวกันมีเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มแอคคอร์มีเครือข่ายอยู่ในเอเชียน้อยมาก คืออยู่ที่ 103 แห่ง ขณะที่โรงแรมระดับเชนดังๆ มีมากกว่า 1,000 แห่ง
จากการรุกคืบดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลทำให้ สมาคมโรงแรมไทย มองว่า การเข้ามาร่วมทุนของชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะเข้ามาในรูปแบบการบริหาร และจะอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ส่วนการเข้ามาร่วมลงทุนด้วยเงินลงทุนนั้นยังมีเป็นจำนวนน้อยมาก แต่ในอนาคตถ้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังเป็นเช่นนี้ ก็รู้สึกหวั่นๆ ไม่ใช่น้อย
"การที่เชนโรงแรมใหญ่ๆ จากต่างประเทศไหลเข้ามาในเมืองไทยในเวลานี้เป็นเรื่องปกติ และมีมานานแล้ว เนื่องจากเป็นสนธิสัญญาใน WTO ตั้งแต่ปี 2000 ถึง ปี2010 ที่ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งในเวลานี้เหลือเพียงประมาณ 3ปีที่ทางประเทศไทยจะต้องพร้อมที่จะรับการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติทุกรูปแบบธุรกิจ ไม่เพียงแต่ธุรกิจโรงแรมเท่านั้น" แหล่งข่าวระดับสูงของสมาคมโรงแรมไทย กล่าว
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยจะต้องเข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการศึกษา โดยจะต้องทำให้คนไทยรู้จักเรื่องการบริหารงานโรงแรมมากขึ้น ให้มีแนวคิดเทียบเท่าต่างประเทศ ซึ่งในเวลานี้ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีโรงเรียน และมหาวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรเกี่ยวกับการโรงแรมขึ้นมามากมาย
สำหรับเรื่องการลงทุนนั้นในอดีตประเทศไทยได้กำหนดไว้ว่า ชาวต่างชาติสามารถร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 49 % แต่มาในระยะหลังมีนอมินี ซึ่งอาจจะเป็นทนายความ หรือที่ปรึกษาเป็นหุ้นส่วนในนามของเจ้าของที่เป็นชาวต่างประเทศกันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกันว่า ถ้าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงแรมไทยในเวลานี้ได้ สภาวะของโรงแรมสัญชาติไทยคงจะมีรูปแบบไม่แตกต่างจากธุรกิจธนาคารไทยมากนัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|