เบรุตวันนี้ฉายแววปารีสแห่งตะวันออก

โดย ธานี ลิ้ม
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แผนการเดินทางไปเปิดตลาดการค้ายังกลุ่มประเทศอาหรับของรัฐบาลไทยผุดขึ้นเป็นนโยบายของรัฐบาล ในช่วงสงครามสหรัฐฯ ถล่มอิรักกำลังคุกรุ่น เมื่อเหตุการณ์สงครามยุติเพียงไม่กี่วันก็สั่งเดินหน้าทันที

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออกน้อมรับแผนดังกล่าวมาลงมือปฏิบัติชนิดสายฟ้าแลบจริงๆ เพราะใช้เวลาไม่ถึง 7 วันในการติดต่อประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเยือนประเทศแถบตะวันออกกลางจำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ เลบานอน เยเมน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ในระหว่างวันที่ 1-8 พฤษภาคม 2546 จนกระทั่งสำเร็จผลตามที่คาดหมาย

ถือเป็นครั้งแรกของหลายๆ เหตุการณ์ที่มาบรรจบกันพอดี

เพราะจะเป็นผลงานครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของคนสองคน กล่าวคือเป็นครั้งแรกของปิยะบุตร ชลวิจารณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ สหธนาคาร กับตำแหน่งใหม่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นครั้งสุดท้ายกับเก้าอี้อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกของบรรพต หงษ์ทอง ก่อนคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ไปนั่งซี 11 กินตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การเยือนครั้งนี้มีความหมายระหว่างประเทศไม่น้อย เพราะคณะการค้าไทยที่นำโดยปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กับกลุ่มผู้นำส่งออกจำนวน 10 ชีวิต ประเทศไทยถือเป็นคณะแรกในการเปิดตลาดการค้ากับประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งสงครามสหรัฐฯ ถล่มอิรักเพิ่งสงบไม่นาน

กรุงเบรุต (Beirut) ประเทศเลบานอน คือเป้าหมายแรกของการเยือน และเป็นการเปิดตลาดการค้าครั้งแรกกับเลบานอนอย่างเป็นทางการของไทยเช่นกัน

ย่างเหยียบกรุงเบรุต หลายคนคงคิดเหมือนๆ กันถึงสงครามกลางเมืองและความไม่สงบ ภาพเหตุการณ์นองเลือดอย่างที่สื่อตะวันตกนิยมเผยแพร่ข่าวจนจดจำติดตาคือ ภาพอาทิตย์ยามเช้าสดใสสอดส่องร้านกาแฟริมถนนย่านการค้า มีหญิงชายจำนวนมากนั่งจิบกาแฟและอ่านหนังสือกลางแดดอันอบอุ่นอย่างมีความสุข แล้วจู่ๆ ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นพร้อมด้วยเสียงโอดครวญด้วยความเจ็บปวดตามมา

แต่นั่นเป็นภาพในอดีตไปแล้ว เพราะกรุงเบรุตวันนี้ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ

กรุงเบรุตเจ้าของฉายาปารีสแห่งตะวันออกกำลังฉายแววให้เห็นว่าเป็นปารีสแห่งตะวันออกจริงๆ เสียทีก็วันนี้ แววที่นักธุรกิจคนไทยเห็นก็คือ กำลังซื้ออันมหาศาลของผู้คนชาวเบรุต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะบอกกับตนเองว่า พวกเขาไม่ใช่ "แขกอาหรับ" เหมือนหลายๆ ประเทศที่รายล้อม ไม่ว่าจะเป็นซีเรีย จอร์แดน หรืออียิปต์ พวกเขาคือคนตะวันตก มีวัฒนธรรมใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบตะวันออก ที่สำคัญพวกเขานิยมแบรนด์เนมเอามากๆ ไม่ว่าจะเป็น CHANEL, Bvlgari, Bobbi Brown, La Mer เป็นต้น

ย่านดาวน์ทาวน์ของเบรุต คือสถานท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ซึ่งอดีตนั้นเลบานอน ถูกปกครองโดยฝรั่งเศส

ปัจจุบันมีชาวตะวันออกกลางขนเงินเข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อความสุขทั้งสินค้าและบริการจากที่นี่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากไปเสวยสุขที่ดูไบและอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ความงดงามแห่งสถาปัตยกรรมของเบรุตคือศิลปกรรมจากฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากเกิดสงครามกลางเมือง ทำให้กลายเป็นซากปรักหักพัง ศิลปกรรมจึงสูญหายไปมากพอสมควร ยกเว้นแต่เขตดาวน์ทาวน์กลางกรุงเบรุต ซึ่งรัฐบาลได้ตกแต่งและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ร้านอาหารเปิดให้บริการจำนวนมาก โดยมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายติดตั้งในหกทางแยก มีทหารคอยอารักขาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวซึ่งช่วงนั้นสงครามสหรัฐฯ ถล่มอิรักยังไม่จางเท่าไร

นอกเหนือจากนี้ยังมีร้านอาหารแถบริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทอดยาวจำนวนมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะทานอาหารไปพร้อมกับการอาบแดด นอกจากนี้ภาพที่เห็นกันจนชินก็คือ การดูดยาสูบจากตะเกียงทรงยาวคล้ายตะเกียงอาละดิน หรือที่เรียกว่า "มอระกู่"

ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแถบเบรุตนับว่าสวยงามไม่แพ้ที่ไหนๆ พอตกเย็นอากาศเริ่มอุ่นอุณหภูมิช่วงที่เราไปอยู่ที่ 17-20 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่ฤดูหนาวกำลังลาจากไป มีผู้คนเดินไปมาจำนวนมาก โดยไม่สะทกสะท้านกับเรื่องความไม่สงบแต่อย่างใด ด้วยภูมิทัศน์ที่เป็นเนินเขาไม่สูงนักอยู่ติดริมทะเล เมื่อมองขึ้นไปตามเนินเขาลูกเล็กๆ ที่เรียงรายซ้อนกันอันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเบรุต ตกกลางคืนจะเห็นแสงไฟสว่างจากบ้านแต่ละหลังสวยงามดูเหมือนงานศิลปะจากธรรมชาติเลยทีเดียว

สำหรับประเทศเลบานอนนั้นมีพื้นที่เล็กๆ เพียง 1 หมื่นตารางกิโลเมตรแทรกตัวอยู่ระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย มีชายฝั่งทะเลยาว 225 กม. มีพื้นที่ราบลุ่มแค่ 23% ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและทะเลทราย มีประชากร 3.7 ล้านคน เป็นผู้ใช้แรงงานถึง 1.5 ล้านคนเป็นแรงงานต่างชาติเสีย 1 ล้านคน เท่ากับว่าคนเลบานอนเองมีแค่ 1 ล้านคน สาเหตุเกิดจากสงครามกลางเมืองซึ่งยาวนานถึง 16 ปี (เพิ่งเลิกไปเมื่อปี 2534) ทำให้คนเลบานอนต้องยกครอบครัวไปพำนักแถบประเทศยุโรปจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกำลังอพยพกลับถิ่นฐานเดิมแล้ว พร้อมกับธุรกิจและเงินทองที่ตนเองไปแสวงหา

ชาวเลบานอนมีความพิเศษตรงที่สามารถพูดได้ถึง 3 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอารบิก จึงติดต่อสื่อสารกับคนได้ทั่วโลก

ธุรกิจในเลบานอนที่กำลังเติบโตก็คือ อุตสาหกรรมโรงแรม ท่องเที่ยว ธนาคาร และการสื่อสารคมนาคม ปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 5.8 แสนคน

สินค้าทุกชนิดเสียภาษีนำเข้าเพียง 3.5% ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาหรับด้วยกันก็ไม่ต้องเสียภาษี เมืองท่าที่เป็น Free Trade Zone ของเลบานอน มี 3 แห่งคือ ท่าเบรุต ซีลาต้า และทริโปลี สินค้าที่นำเข้าจากไทยคืออัญมณี และเครื่องประดับ อาหารกระป๋อง เม็ดพลาสติก ขณะที่สินค้าจากเลบานอนส่งออกได้แก่ อาหาร ยาสูบ เหล็ก และกระดาษ เป็นต้น

ประเทศไทยยังไม่เคยมีนักธุรกิจกลุ่มใดเข้าไปสัมผัสเลบานอนอย่างจริงจังมานาน การไปเยืยนชาติอาหรับของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนำโดยปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการเปิดประตูการค้าอันยิ่งใหญ่ให้กับนักธุรกิจไทย เพราะอนาคตคาดกันว่า เลบานอนจะถูกวางตัวเป็นศูนย์กลางเชื่อมธุรกิจการค้าระหว่างโลกอาหรับกับโลกตะวันตกอย่างน่าสนใจ...



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.