|
กระแสรักษ์สุขภาพฟันสุดฮอต!... หลายค่ายพลิกเกมชิงงัดกลยุทธ์แนวใหม่สู้
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
กลยุทธ์ทางการตลาดในธุรกิจทันตกรรมถูกพัฒนามาโดยตลอด การเจาะตลาดพร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ปัจจุบันดูจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ขณะที่พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเริ่มเปลี่ยนไป ศักยภาพหมอฟันกับเทคโนโลยีจึงเป็นไฮไลท์สร้างจุดขายให้เกิดขึ้นกับธุรกิจ
ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดทันตกรรมมีแนวโน้มการเติบโต และมีการแข่งขันรุนแรง ส่งผลให้มูลค่าตลาดโดยรวมธุรกิจ ในปี 2551 เชื่อว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 6,000ล้านบาท
ขณะเดียวกันเหล่าบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจหลายค่ายต่างหายุทธศาสตร์ของตัวเองไปพร้อมกับสร้างกิจกรรมทางการตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเปลี่ยนโลเคชั่นให้มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะการพัฒนาที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตามอายุและลักษณะลูกค้าแต่ละกลุ่ม
ขณะเดียวกันการใช้เทคโนโลยีทันสมัยบวกกับการสร้างจุดขายใหม่ด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจเพื่อดึงกลุ่มลูกค้า นับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้กระแสเชิงป้องกันและเสริมสร้างความแข็งแรงของฟันได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลาย รวมไปถึงค่านิยมในการจัดฟันเพื่อให้เกิดความสวยงามมีแนวโน้มของตลาดที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
การพลิกเกมปรับโมเดลสร้างแบรนด์เปิดเกมรุกของธุรกิจทันตกรรม ได้งัดการตลาดแนวใหม่ออกมาใช้ โดยปูพรมประชาสัมพันธ์พร้อมจัดกิจกรรมเสริมเน้นเรื่องสุขภาพฟันเป็นหลักแถมอัดฉีดโปรโมชั่นเต็มพิกัดหวังกระตุ้นตลาดให้เติบโต
เม็ดเงินกว่า 6 พันล้านบาทที่หมุนเวียนในตลาดทันตกรรมกลายเป็นขุมทรัพย์ที่ผู้ประกอบการแต่ละค่ายต่างหวังที่จะดึงส่วนแบ่งออกมาให้ได้มากที่สุด การปรับตัวตั้งรับของผู้ประกอบการเพื่อหากลยุทธ์สร้างแผนการตลาดจึงถูกงัดออกมาใช้หวังจูงใจลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกระแสของการรักษ์และเอาใจใส่ดูแลสุขภาพฟันอย่างมีคุณภาพที่กลายเป็นยุทธวิธีแนวใหม่และนับว่าใช้ได้ผลทีเดียว
ถึงแม้ว่าสัญญาณธุรกิจในปี 2550 ที่ผ่านมาจะดูไม่เอื้ออำนวยเท่าไรนัก แต่ปัจจุบันจากการโหมรุกตลาดศูนย์ทันตกรรม ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่บ่งชี้ถึงการเติบโตของตลาดได้อย่างน่าสนใจเนื่องจากทุกปีแต่ละค่ายจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ทีเดียว
ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดมากมายห้ามโฆษณาสิ้นค้าเกินจริงก็ตาม กอปรกับการแข่งขันในตลาดของประเทศไทยที่มีสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มเป้าหมายก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกันส่งผลทำให้แต่ละค่ายต้องเร่งปรับหากลยุทธ์เจาะตลาดเข้ามาใช้เพียงเพื่อหวังกระตุ้นสร้างรายได้เพิ่มไปพร้อมกับการสร้างแบรนด์ให้เกิดความจดจำ
สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ “อัศวานันท์”ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อต่อยอดธุรกิจ เรื่องนี้ พรประภา อัศวานันท์กรรมการผู้จัดการศูนย์ทันตกรรมอัศวานันท์ บอกกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า ศูนย์ฯมุ่งเน้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพฟันให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย และยังมีนโยบายหลักในการเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมสายใยอันดีให้กับคนในครอบครัว โดยเน้นในเรื่องของการเป็นผู้นำเรื่องของการให้ความรู้ เรื่องการดูแลสุขภาพฟัน ตลอดจนรวมถึงการให้คำปรึกษาอย่างถูกวิธี
จุดนี้เอง ผู้ประกอบการมองเป็นโอกาสและช่องว่างในการขยายตลาดได้อย่างมหาศาล หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมารู้จักแบรนด์และใช้ประโยชน์ได้อย่างมีคุณภาพ
จึงเป็นที่มาของการทำตลาดแนวใหม่แบบ 360 องศา ที่มีทั้งการประชาสัมพันธ์ ไปพร้อมกับจัดกิจกรรมสันทนาการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้า และส่งแคมเปญโปรโมชั่นตบท้ายเมื่อมีโอกาส นับเป็นยุทธวิธีที่ “อัศวานันท์” หยิบนำมาใช้
“อัศวานันท์เลือกที่จะใช้การจัดกิจกรรมสันทนาการให้ความรู้ไปพร้อมกับความบันเทิงเพื่อให้เกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง ทันตแพทย์ และกลุ่มเป้าหมาย” พรประภา กล่าว
ยุทธวิธีนี้ดูจะสร้างความพึงพอใจให้กับธุรกิจทันกรรมอย่าง อัศวานันท์ได้ดีทีเดียว นอกจากจะเป็นการเข้าหาถึงตลาดตรงกลุ่มเป้าหมายแล้วยังเป็นการสร้างความจดจำแบรนด์ต่อกลุ่มเป้าหมายในทางอ้อมอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ค่ายอัศวานันท์ มีการจัดกิจกรรมสำหรับคนรักสุขภาพฟันอย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯและปริมนฑล
กระแสการรุกตลาดแนวใหม่ของค่าย “อัศวานันท์”ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องนั้นส่งผลให้หลายค่ายอย่างกลุ่มของ “ศูนย์ทันตกรรมรพ.กรุงเทพ” เตรียมออกแผนรองรับที่สำคัญในการขยายฐานหรือกระตุ้นพฤติกรรมของผู้บริโภคออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีทิศทางการทำตลาดให้เป็นคอมเพล็กซ์ด้านสุขภาพฟัน ทั้งนี้เพื่อเสริมบริการให้ครบวงจร โดยเปิดบริการใหม่ๆเกี่ยวกับด้านสุขภาพฟันล้วนๆ
ขณะเดียวกันการใช้ราคาเป็นกลยุทธ์ทำตลาดของแต่ละค่ายศูนย์ทันตกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ กอปรกับการทำโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้าได้เข้าไปใช้บริการ แม้ว่ากำไรจะน้อยลงแต่เป็นการกระตุ้นตลาดและยังเป็นการขยายฐานลูกค้าไปในตัว
นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการส่งจดหมายวารสารของศูนย์ฯไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายตามบ้าน และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง หรือจะเป็นการใช้วิธีปากต่อปาก แตกต่างจากการทำตลาดช่วงแรกที่ให้ความสำคัญกับการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันใช้ไม่ได้ผลเท่าไรนักสำหรับธุรกิจนี้
พรประภา ยอมรับว่าประมาณกว่า 60 %ของรายได้มาจากกลุ่มลูกค้าคนไทยและอีกร้อยละ 40 มาจากลูกค้าต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 2 หมื่นรายและมีอัตราเติบโตขึ้นทุกปี ส่วนการเติบโตของธุรกิจปีนี้คาดว่าจะโตขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มทางเลือกในรูปแบบใหม่ๆและการขยายตัวเป็นคอมเพล็กซ์ด้านสุขภาพฟัน
ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจทันตกรรมกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจทันตกรรมนั้น การใช้ราคามักจะเป็นกลยุทธ์ทำตลาดหลักโดยนำเสนอให้มีราคาสูงไว้ก่อนขณะเดียวกันก็จัดโปรโมชั่นเป็นส่วนลดเพื่อกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าเกิดความสนใจอยากจะเข้าไปใช้บริการ
หลังจากนั้นก็จะส่งวารสารของศูนย์ไปยังลูกค้าเพื่อเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ก็เป็นสิ่งที่ศูนย์ทันตกรรมส่วนใหญ่นิยมใช้กันตบท้ายด้วยการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นการตอกย้ำแบรนด์
ส่วนการเปิดบริการใหม่ในลักษณะคอมเพล็กซ์ถือเป็นการเสริมศักยภาพให้มีบริการที่ครบวงจร และเพิ่มฐานลูกค้า อาจช่วยขยายส่วนแบ่งการตลาดได้ เนื่องจากฐานตลาดของศูนย์ทันตกรรมแต่ละแห่งยังน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด
การได้คิดค้นแคมเปญใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของการรักษ์และดูแลสุขภาพฟันไปพร้อมกับทำโปรโมชั่นในลักษณะร่วมกิจกรรมซึ่งมีการตั้งรางวัลสร้างแรงกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น โมเดลการตลาดแนวใหม่ จึงจำเป็นต้องการสร้างการรับรู้และตอกย้ำจิตสำนึกถึงความเอาใจใส่ดูแลสุขภาพฟันเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าน่าจะก่อให้เกิดผลสำเร็จในแง่ของภาพลักษณ์แบรนด์ไปพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มเป้าหมายโดยตรงเช่นกัน
การหยิบเอาเรื่องของสุขภาพฟันของคนมาปรับใช้เป็นยุทธวิธีในการทำตลาดแนวใหม่ของศูนย์ทันตกรรมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโหมกิจกรรม และไอเดียแปลกใหม่ผ่านกิจกรรมสันทนาการเป็นอีกตัวแปรที่จะ “ขับเคลื่อน”ให้โลกธุรกิจทันตกรรมสามารถ “เดินหน้า”รอดพ้นไปได้จากพิษทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
โดยคนในแวดวงธุรกิจทันตกรรม ยังเชื่อว่าแม้ตลาดจะมีการชะลอลงไปบ้างก็ตาม แต่จากการงัดกลยุทธ์ใหม่ๆออกมาใช้ กอปรกับพฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับความเอาใจใส่ดูแลด้านสุขภาพฟันเริ่มมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนต่อปีของธุรกิจทันตกรรมที่มีไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาทด้วยแล้วย่อมทำให้เกิดการใช้จ่ายของกลุ่มเซ็กกเมนท์ต่างๆขึ้นมา
นอกจากนี้บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจทันตกรรมหันมาโฆษณาผ่านทางสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตประมาณ 8 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า รวมทั้งคาดการณ์ว่าจำนวนคนที่เข้าชมเว็บไซด์ต่างๆกว่า 2 ล้านคนต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพฟัน จึงถือเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะใช้เป็นช่องทางในการพัฒนาธุรกิจและสื่อสารกับลูกค้า
แนวโน้มในอนาคตคาดว่าธุรกิจทันตกรรมในประเทศไทยยังคงขยายตัวได้ในช่วงระยะ 3-5 ปีต่อไป เนื่องจากคนไทยหันมาให้ความใส่ใจด้านสุขภาพอนามัยฟันกันมากขึ้น ทำให้คนไทยมีการใช้จ่ายในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาสุขภาพฟันให้แข็งแรงมากขึ้น โดยคนไทยบางส่วนเชื่อว่าการใช้บริการศูนย์ทันตกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้สุขภาพฟันแข็งแรง ดังนั้นเชื่อได้ว่าในอนาคตอันใกล้ศูนย์ทันตกรรมจะยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นและบริษัทรายใหม่ที่ทยอยเข้ามาในตลาด ซึ่งนับว่าเป็นผลดีกับผู้บริโภค เนื่องจากการแข่งขันจะทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะด้านคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าและราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|