ไทยสบช่องวิกฤตน้ำมัน เชียร์คนทั่วโลกซื้ออีโคคาร์! รถไทยมาตรฐานยุโรป


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

* รัฐเร่งดัน Eco car กระตุ้นเศรษฐกิจไทย
* ชี้ปัญหาวิกฤตน้ำมันโลกไม่ใช่ข้ออ้างของเอกชนล้มโครงการ แต่เป็นทางเลือกให้คนทั่วโลกใช้รถยนต์ผลิตในไทยได้อย่างดี
* นี่คือความหวังสูงสุดยานยนต์ไทยสร้างรายได้ส่งออกมหาศาลถึง 1 ล้านล้าน/ปี
* คนไทยกำลังจะได้ใช้รถราคาถูกแต่มาตรฐานยุโรป.....

ในภาวะที่ราคาน้ำมันแพงทั่วโลกหนึ่งในทางออกคือสร้างรถยนต์ประหยัดพลังงานซึ่งในประเทศไทยเองก็มีโครงการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กหรืออีโคคาร์มาตั้งแต่ยุค "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" นั่ง รมว.อุตสาหกรรม แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่คลอดซะที.!

จวบจนรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมีเสนาบดีที่ชื่อ "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" รมว.อุตสาหกรรมขณะนั้นกลับสวมบทพระเอกทำคลอดโครงการในฝันของใครหลายๆคนให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างกันขึ้นมาแต่พอจะเข้ารูปเข้ารอยก็เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งและก็ได้เสนาบดีกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ที่ชื่อ "สุวิทย์ คุณกิตติ" เดินหน้าโครงการดังกล่าวถือเป็นการ "รับไม้ต่อ" เร่งส่งเสริมให้เกิดการผลิตจริงในประเทศไทย

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ได้อนุมัติส่งเสริมลงทุนแก่ภาคเอกชนที่สนใจลงทุนผลิตอีโคคาร์ไปแล้ว 6 บริษัทด้วยกัน

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวหลายคนยังอดเป็นห่วงไม่ได้ในเรื่องมาตรฐาน ราคาที่อาจจะไม่ถูกอย่างที่คิดหรือแม้แต่จะเป็น "พระเอก"ตัวใหม่แทนกระบะ 1 ตันที่ส่งออกขายทั่วโลกมานานนับ 10 ปีแล้ว "อีโคคาร์" กับความหวังที่ตั้งไว้สูงจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรพระเอกตัวใหม่ในเวทีโลกจริงหรือ..? แล้วผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่จะขยายตัวตามจริงหรือไม่ อะไรที่ทำให้ทุกฝ่ายหวังน้ำบ่อหน้ากันเหลือเกิน.!!

ก.อุตฯมั่นใจ 'อีโอคาร์' ฉลุย.!

จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงการพัฒนาและส่งเสริมรถยนต์ขนาดเล็กหรืออีโคคาร์ในประเทศว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันหรือราคาเหล็กที่แพงขึ้นยิ่งจะส่งผลดีต่ออีโคคาร์ของประเทศไทยเพราะโครงการนี้ได้เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วก่อนที่ราคาน้ำมันจะพุ่งทะยานมากกว่านี้ หากไทยสามารถผลิตและนำออกมาจำหน่ายในสเปกที่กำหนดไว้จะทำให้ทุกคนสนใจรถยนต์ประหยัดพลังงานตัวนี้แน่นอน ถึงแม้ต่างประเทศจะมีรถยนต์ประหยัดพลังงานเช่นเดียวกับไทยแต่ยังไม่มีการนำผลิตเพื่ออกวางจำหน่ายอีกทั้งมาตรฐานประหยัดน้ำมันถึง 20 กิโลเมตร/ลิตรหรือ 100กิโลเมตร/5ลิตรยังไม่มีประเทศไหนทำได้มาก่อนจึงทำให้ 6 ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ในไทยมั่นใจว่าจะสามารถขายรถยนต์ดังกล่าวทั้งภายในและภายนอกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ขณะที่ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมากับตัวเลขส่งออกรถยนต์ของไทยไม่ว่าจะเป็นรถกระบะหรือรถเก๋งยอดส่งออกสูงมากสวนทางกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นหากอีโอคาร์สามารถวางตลาดในต่างประเทศได้ในปี 2554 และราคาน้ำมันตอนนั้นอาจจะไปถึงที่ระดับ 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลอีโคคาร์ของไทยจะไปตอบโจทย์เรื่องน้ำมันแพงได้อย่างพอเหมาะอีกด้วยและทั่วโลกก็ต้องสนใจอีโคคาร์ของไทยแน่

ยืนยัน "อีโคคาร์" ไม่แท้ง.!

แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นมาก จนอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตอีโคคาร์ และเกรงว่าโครงการนี้อาจสะดุดหรือผู้ประกอบการต้องการยกเลิกโครงการนี้เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไว้ ซึ่งเรื่องนี้จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ย้ำว่าไม่มีทางเป็นไปได้

"ยังมองไม่เห็นว่าโครงการอีโคคาร์จะล่มได้เพราะ 6 บริษัทได้ลงทุนไปมากแล้วอีกทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ปรับเปลี่ยนไม่ได้แล้วด้วยหรือหากมองแง่ร้ายจริงๆถึงการเลิกโครงการอย่างน้อยจะต้องมี 4 บริษัทที่ลงทุนต่อเนื่องคือบริษัทฮอนด้าที่เป็นผู้จุด ประกายแนวคิดนี้ ส่วนโตโยต้าคงยอมไม่ได้เช่นกันเพราะถือเป็นคู่แข่งขันกันอยู่ ด้านนิสสันก็เช่นกันตลาดในต่างประเทศแข็งแกร่งมากๆ และอีกบริษัทคือบริษัทซูซูกิถึงแม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็กแต่เขาลงทุนไปมากแล้วและเรารู้ว่าเขาเอาจริงกับโครงการนี้"

ส่วนราคาจำหน่ายอีโคคาร์ว่าอยู่ที่ผู้ผลิตแต่ละรายว่าจะเปิดราคาออกมาเท่าใดซึ่งราคาแต่ละค่ายคงไม่ต่างกันมากเพราะยังต้องคงคอนเซ็บต์รถยนต์ปลัดพลังงานและราคาเอาไว้ซึ่งผู้ผลิตก็เข้าใจตรงนี้เป็นอย่างนี้

โดยสเปกที่กำหนดไว้ให้ผู้ผลิตแต่ละค่ายผลิตให้ได้ 100,000คัน/ปีในปีที่ 5 นั้นมองเพียงตลาดในประเทศไม่ได้เพราะกำลังผลิตขนาดนี้คงจะใช้กันไม่หมด อีกทั้งบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศก็วางแผนการตลาดล่วงหน้าไว้หมดแล้วดังนั้นจะทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยนอกจากระบะ1 ตันและรถเก๋งแล้วจะมีอีโอคาร์อีกตัวที่พร้อมจะบุกต่างๆประเทศโดยคาดกันว่าการส่งออกสูงถึง 400,000 ล้านบาท

BOI โอ่จะก้าวเป็นผู้นำยานยนต์โลก

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทางการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กหรืออีโคคาร์ ในเมืองไทยว่า ต้องยอมรับว่า ขณะนี้กระแสรถยนต์ขนาดเล็กหรืออีโคคาร์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเพราะราคาน้ำมันที่นับวันจะถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆทั่วโลกจึงหันมาสนใจรถยนต์ประหยัดพลังงาน ซึ่งก่อนที่ไทยจะหันมาส่งเสริมการลงทุนในปลายปีที่แล้ว ประเทศอย่าง อินเดีย ญี่ปุ่น นำหน้าไทยไปมากแล้วทั้งเรื่องเทคโนโลยีและมาตรฐานซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งของไทยในตลาดต่างประเทศ แต่เพราะความต้องการของตลาดทั่วโลกยังมีอยู่มากจึงทำให้มั่นใจได้ว่าไทยจะสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำด้านรถยนต์ประหยัดพลังงานได้อีกประเทศหนึ่งในอนาคตอันใกล้

ขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตอีโคคาร์ให้ได้มาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอมอบหมายให้สถาบันยานยนต์เข้ามาทดสอบรถยนต์เพื่อให้ได้มาตรฐานยูโร 4 ตามสเปคที่กำหนดทำให้เชื่อมั่นใจว่ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศในเรื่องมาตรฐานของรถยนต์สามารถส่งออกได้ตามมาตรฐานระดับโลกทุกคันซึ่งทั้ง 6 บริษัทคือ ฮอนด้า, นิสสัน, ซูซูกิ, มิตซูบิชิ,โตโยต้า และ ทาทามอเตอร์ต้องนำรถยนต์เข้ามาทดสอบมาตรฐานดังกล่าวโดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

1. สถาบันยานยนต์ร่วมกับบริษัทเอกชนจะสุ่มตรวจตัวอย่างรถอีโคคาร์ในแต่ละบริษัทว่ามีอัตราใช้พลังงานไม่เกิน 5 ลิตร/ 100 กิโลเมตรจริงหรือไม่

2. รถอีโคคาร์ดังกล่าวมีมาตรฐานมลพิษระดับยูโร (EURO4) หรือไม่โดยในรายละเอียดคือปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ไม่เกิน120 กรัม/1กิโลเมตร

3. บริษัทผู้ผลิตจะต้องส่งแบบทดสอบรถต้นแบบในลักษณะการชนด้านข้างและชนด้านหน้าตามมาตรฐาน UNECE Reg.94 และ Reg.95

โดยทั้ง 6 บริษัทหากได้มาตรฐานที่กำหนดไว้ทั้ง 3 ข้อก็จะสามารถผลิตรถยนต์อีโคคาร์มาวางจำหน่ายได้และมาตรฐานระดับนี้สามารถนำไปขายในกลุ่มทวีปยุโรปได้เพราะการนำเข้ารถจากยุโรปต้องมีมาตรฐานยูโร 4 เท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นมาตรฐานดังกล่าวก็ผ่านอยู่แล้วเพราะขณะนี้รถยนต์ที่ส่งออกจำนวนมากยังอยู่ในระดับยูโร 3 ยังไม่สูงถึงขั้นยูโร 4

ส.ยานยนต์คาดไทยส่งออกทะลักแน่.!

นอกจากนี้ เป้าหมายของการพัฒนาอีคโคคาร์คือหลักจากนี้ 5 ปี นับแต่เริ่มโครงการไทยจะสามารถผลิตรถยนต์อีโคคาร์ได้ถึง 685,000 คัน/ปีโดยมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 43,440 ล้านบาทสามารถสร้างงานในประเทศได้ถึง 9,400 คน และประเทศไทยจะต้องผลิตรถยนต์มากกว่า 1.8 ล้านคัน/ปีและส่งออกมากกว่าร้อยละ 55 มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ REM และ OEM ที่มีคุณภาพและมาตรฐานโดยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 4 แสนล้านบาท/ปี

"ปีนี้คาดว่าการส่งออกรถยนต์ของไทย (กระบะและรถเก๋ง)จะอยู่ที่ 1.5แสนคันและคาดว่าอีก 3 ปีหากขยายตัวในปีละ 10% ในปี 2554 ไทยจะสามารถส่งออกรถยนต์ถึง1.95แสนเลยทีเดียวนั่นจะทำให้เราเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียได้แล้ว" วัลลภ เตียสิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ระบุ

FTA ตัวกระตุ้นยอดขายอีโคคาร์

อีกปัจจัยที่จะทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำยานยนต์โลกนั้นผู้ผลิตรายใหญ่เล็งเห็นโอกาสการทำFTAของประเทศไทยในระดับกลุ่มอาเซียนอาทิ ในอีก 5ปีข้างหน้าการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าระหว่างกันในกลุ่มอาเซียนภาษีจะเหลือ 0% มูลค่าจะมหาศาลขนาดไหนเพราะก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในอาเซียนไทยคือผู้ผลิตรายใหญ่และนำเข้ารถยนต์จากประเทศไทยแทบทั้งนั้น

ขณะที่ฝั่งยุโรปผู้ผลิตรายใหญ่หวังว่ากลุ่มอาเซียนจะบรรลุข้อตกลงทำ FTA ระหว่างอาเซียนกับอียูภายใน 5 ปีนี้หากสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้มูลค่าการส่งออกมหาศาลแน่นอน หรือหากภายใน 10 ปีนี้ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ บริษัทเอกชนเหล่านี้ก็มีแผน 2 คือจะสร้างฐานการผลิตที่ยุโรปตะวันออกที่ขณะนี้มีการลงทุนบ้างแล้วในหลายบริษัททำให้มั่นใจว่าการลงทุนในไทยจะได้ทั้งเทคโนโลยีและฐานการผลิตที่สำคัญในการส่งออกไปทั่วโลก

"เรามีกระบะที่เป็นแชมเปี้ยนมานานและตลาดขณะนี้เริ่มอิ่มตัวทั้งในและนอกประเทศซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้ายอดขายจะลดลงไปกว่านี้ แต่ไทยจะได้อีโคคาร์เข้ามาเสริมถึงปี2554 ไทยจะผลิตรถยนต์ได้ถึงปีละประมาณ 2 ล้านคันด้วยมูลค่าการส่งออกกว่า 1 ล้านล้านบาท" ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์กล่าวยืนยัน

ทุ่มสุดตัว! เพื่อแชมเปี้ยนตัวใหม่

ขณะที่ BOI พยายามจะผลักดันให้อีโคคาร์เป็น "NEW PRODUCT CHAMPION" แทนกระบะ 1 ตันที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน "ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์" รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุนของBOI อธิบายแนวคิดดังกล่าวว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาและส่งเสริมมี 2 กระทรวงหลักด้วยกันคือ 1. กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งการลงทุน(BOI) จะเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐาน และ ส่งเสริมการลงทุนร่วมกับเอกชน 2. กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพสามิตจะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องภาษี และมาตรการสนับสนุนการลงทุน

โดยเงื่อนไขการส่งเสริมลงทุนที่เอกชนจะต้องปฏิบัติตาม คือ มีขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนหลักของเครื่องยนต์อย่างน้อย 4 ใน 5 ชิ้นได้แก่ Cylinder Head , Cylinder Block, Crank Shaft, และ Connecting Rod โดยต้องมีขั้นตอน Machining Cylinder Head , Cylinder Block และ Crank Shaft เป็นอย่างน้อยซึ่งเมื่อทำตามข้อกำหนดได้ผู้ผลิตทั้ง 6 รายจะได้คือ สิทธิประโยชน์จาก BOI ประกอบด้วย

1. ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต
2. ยกเว้นภาษีเงินได้ทุกเขตไม่เกิน 8 ปี
3. ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนไม่เกินร้อยละ 90

นอกจากนี้ ในส่วนของอัตราภาษีสรรพสามิต ที่ได้รับ คือ 1.ลดภาษีสรรพสามิตจาก 30% เหลือ 17% แบ่งเป็น อีโคคาร์เครื่องยนต์เบนซินไม่เกิน 1,300 ซีซี และอีโคคาร์เครื่องยนต์ดีเซลไม่เกิน 1,400 ซีซี

ปัจจุบันไทยเป็นผลิตรถยนต์อยู่ในอันดับ 14 ของโลกแต่โครงการอีโคคาร์ประสบผลสำเร็จอันดับของไทยจะก้าวกระโดดไปสู่อันดับ 4 อยู่ในท็อปไฟว์ของโลก และไทยจะมีแชมเปี้ยนตัวใหม่แทนกระ 1ตันดังนั้นอีโคคาร์คือความหวังของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นแชมเปี้ยนตัวใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

คนแห่ติดก๊าซแทนน้ำมัน'NGV-LPG' ชนิดใดเหมาะกับรถคุณ

ราคาน้ำมันส่อเค้าพุ่งไม่หยุด ล่าสุด เบนซิน 95 แตะ 39.09 บาทต่อลิตรและมีแนวโน้มขึ้นต่อ ทำให้ผู้ใช้รถยนต์ต่างแห่ไปติดตั้งก๊าซ NGV-LPG อู่ดังเผยยอดคนติดเพิ่ม 2 เท่ารอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ด้านกรมขนส่งทางบกเผยข้อมูล NGV-LPG เลือกติดอย่างไหนดีกว่ากัน พร้อมเตือน NGV แรงอัดระเบิดแรงกว่า LPG 30 เท่า ส่วน LPG รอลุ้นรัฐบาลเตรียมขึ้นราคารวดเดียว 7 บาทต่อลิตร

สุดช้ำสำหรับผู้ใช้รถยนต์ เมื่อปั้มต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ปั้มปตท.ต่างประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดถี่ยิบ คือน้ำมันมีราคาขึ้นเกือบทุกอาทิตย์ และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ปตท.มีการประกาศขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิดอีก 50 สตางค์ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกที่สำคัญ 2 ตัวหลัก คือน้ำมันเบนซิน 95 ขึ้นสูงไปแตะระดับ 39.09 บาทต่อลิตร ขณะที่เบนซิน 91 ตกลิตรละ 37.99 บาท น้ำมันดีเซลขึ้นสูงไปอยู่ที่ 34.74 (ดีเซลหมุนเร็ว พีทีที B5 พลัส) และ 35.44 บาทต่อลิตร (ดีเซลหมุนเร็ว พีทีที เดลต้า เอ็กซ์) ส่วนน้ำมันทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น E20,แก๊สโซออล์ 95,91 ล้วนมีราคาสูงกว่า 30 บาททุกตัว แถมผู้บริหารปตท.ยังออกมายืนยันอีกว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มขึ้นอีกจากกลุ่มโอเปกที่ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง และจากการบริโภคน้ำมันจากจีนที่พุ่งสูงขึ้น

ตอนนี้เรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์เรื่องที่ถูกพูดถึงมากสุดในแวดวงคนทำงานและต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวคือ ถึงเวลาที่ต้องนำรถยนต์ของตัวเองไปติดแก๊สหรือยัง และคำถามสำคัญที่สุดคือ แล้วจะเลือกติดแก๊ส NGV หรือ LPG ดี!

เปิดข้อดี-ข้อเสีย NGV-LPG

รณยุทธ ตั้งรวมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ก๊าซ LPG ในประเทศไทยมีการนำมาใช้ในรถยนต์กันแพร่หลายมาประมาณ 30 ปีแล้ว ส่วน NGV เพิ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มีสถิติการจดทะเบียนรถใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ณ วันที่ 31 มี.ค.2551 มีรถที่ใช้ก๊าซ CNG หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ NGV เป็นเชื้อเพลิงทั่วประเทศรวม 42,261 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 37,681 คัน รถขนส่ง 4,580 คัน ขณะที่รถจดทะเบียน LPG เป็นเชื้อเพลิงทั่วประเทศมีมากกว่าถึง 206,481 คัน เป็นรถยนต์ 203,273 คันและเป็นรถขนส่ง 3,208 คัน รวมทั้งประเทศมีคนนำรถไปเปลี่ยนประเภทการใช้เชื้อเพลิงแล้ว 248,742 คัน และมีแนวโน้มที่จะมีคนนำรถยนต์ไปติดตั้งถังก๊าซมากขึ้นจากสถานการณ์น้ำมันแพง

ส่วนข้อดีข้อเสียของแต่ละก๊าซนั้น ก๊าซ NGV ขณะนี้ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอย่างมาก โดยใช้มาตรการทางภาษี กล่าวคือ ผู้ติดตั้งก๊าซ NGV จะได้รับการลดภาษีโดยหากเป็นรถใหม่ที่ใช้ก๊าซ NGV อย่างเดียวจะได้รับการลดภาษี 50% ขณะที่รถเก่าหรือมีการติดตั้งแบบใช้ 2 ระบบคือใช้น้ำมันและก๊าซ NGV จะได้รับการลดภาษี 25% ขณะที่ก๊าซ LPG จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเสียภาษีตามปกติ

ด้านความปลอดภัย ก๊าซ LPG มีการติดตั้งกันมาร่วม 30 ปี และไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนักจากผู้ใช้ก๊าซขณะที่ที่มีกว่า 2 แสนคัน จะมีปัญหาแค่ช่วงการติดตั้งแรกๆ ที่มีปัญหาอู่หรือเจ้าของรถนำถังก๊าซมือสองมาติดตั้ง ซึ่งไม่ปลอดภัย แต่หลังจากมีความนิยมใช้มากขึ้นจึงรู้อันตรายของการนำถังก๊าซมือสองมาติดตั้ง ปัจจุบันจึงไม่มีใครนำถังก๊าซมือสองมาติดตั้งแล้ว และอุปกรณ์ใหม่ๆ มีการผลิตกันจำนวนมาก ซึ่งขนาดของตัวถังก๊าซ LPG นั้นจะมีขนาดเล็กกว่าถังก๊าซ NGV ซึ่งถังก๊าซ LPG ไม่กินเนื้อที่ และไม่หนักส่วนถังก๊าซ NGV มีขนาดใหญ่กว่าและมีน้ำหนักมากกว่า

ด้านการสิ้นเปลืองพลังงาน หากถังก๊าซ NGV และ LPG มีขนาดเท่ากัน ก๊าซLPG จะอยู่ได้นานกว่าก๊าซ NGV ที่เติมเต็มถังเท่ากันถึง 3 เท่า

ด้านปั๊มที่เติมก๊าซ LPG จะมีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ปั๊มก๊าซ NGV ขณะนี้มียังไม่ถึง 200 แห่งทั่วประเทศ และปั๊มที่สามารถเติม NGV ได้ส่วนใหญ่จุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ แม้ว่าปตท.จะเล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนก๊าซ และได้เพิ่มกำลังการผลิตจากวันละ 380 ตันในปี 2550 มาเป็น 1,000 ตันต่อวันในปัจจุบัน แต่ก๊าซ NGV ก็ยังไม่พอต่อความต้องการ สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด การใช้ก๊าซ NGV จะไม่สามารถหาปั๊มก๊าซได้ ต้องปรับมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแทน ซึ่งสิ้นเปลืองมาก ขณะที่ LPG สามารถหาเติมได้ทั่วประเทศ

เตือน NGV ระเบิดแรงกว่า LPG

ด้านความหนาแน่น ลักษณะของก๊าซ NGV จะเบากว่าอากาศ เมื่อรั่วจะลอยขึ้นด้านบน และกระจายไปในอากาศ ขณะที่ LPG จะมีลักษณะหนักกว่าอากาศ เมื่อรั่วจะสะสมอยู่เหนือพื้นดิน

"ข้อมูลตรงนี้ คนใช้รถส่วนใหญ่จะรู้กันดี แต่พิจารณาให้ดีแล้ว รถที่ใช้ LPG หากอยู่ตามท้องถนน แม้ว่าจะมีลักษณะที่หนักกว่าจะจะลอยอยู่บนพื้นดิน ก็จะสามารถกระจายตัวออกได้เร็วเช่นกัน ด้านการติดไฟจึงสามารถติดไฟได้พอๆ กัน แต่ข้อมูลที่ไม่ค่อยรู้กันคือด้านแรงอัดระเบิดของ NGV ที่มีมากกว่า LPG มาก"

โดยแรงอัดระเบิดของ NGV จะอยู่ที่ 3,000-3,600 PSI (ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) ขณะที่ก๊าซ LPG มีค่าแรงดัน 100-130 PSI (ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) ฉะนั้นหากเกิดการระเบิด NGV จะระเบิดรุนแรงกว่า LPG มากถึง 30 เท่า

เตรียมขึ้น LPG 7 บาท/ลิตร

ด้านต้นทุนราคาก๊าซ ขณะนี้ NGV อยู่ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม ส่วน LPG อยู่ที่ 10.95 บาท ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ราคา LPG จะขึ้นรวดเดียว 7 บาท เนื่องจากกระทรวงพลังงานกำลังจัดทำเรื่องเสนอครม. โดยเสนอให้มีการแยกประเภทการใช้งานของก๊าซหุงต้มออกจากก๊าซ LPG ที่เติมจากปั้มต่างๆ เนื่องจากมีจำนวนคนใช้ก๊าซ LPG มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ตามบ้านเรือนมีราคาสูงขึ้นตามมา จึงเสนอให้ปรับราคาก๊าซ LPG ขึ้นทีเดียว 7 บาท ขณะนี้เรื่องกำลังเตรียมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ส่วนต้นทุนราคาติดตั้งก๊าซ NGV ระบบหัวฉีดขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นบาท ส่วนหัวดูด จะอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นบาท ขณะที่ก๊าซ LPG ระบบหัวฉีดจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นกว่าบาท ส่วนระบบหัวดูดจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 หมื่นบาท

หากเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลกำลังสนใจที่จะติดตั้งก๊าซ และไม่แน่ใจว่าจะติดตั้งถังก๊าซแบบไหนดี ให้คำนึงถึงปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดประกอบ และเลือกตัดสินใจว่าจะติดก๊าซประเภทไหน เช่น หากต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ ควรจะติดก๊าซ LPG แต่หากอยากประหยัดระยะยาว รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็ต้องเลือก NGV ซึ่ง ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคน

อย่างไรก็ดี หากเป็นรถใหม่เอี่ยมอายุไม่เกิน 5 ปี ให้ติดตั้งระบบหัวฉีด ที่จะใช้การควบคุมก๊าซโดยหัวฉีด กล่าวคือ หากมีการเหยียบคันเร่งน้อย หัวฉีดก็จะปล่อยก๊าซออกมาน้อยด้วย แต่หากเป็นรถเก่าอายุเกิน 5 ปี สามารถเลือกติดก๊าซแบบหัวดูดได้ด้วย ซึ่งจะมีราคาถูกกว่า โดยจะมีระบบการทำงานโดยก๊าซจะไหลตามช่องว่างอากาศที่เกิดขึ้นจากการเหยียบคันเร่ง

ทั้งนี้ หากสนใจติดก๊าซ NGV จะต้องไปติดตามอู่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น พอติดตั้งเสร็จแล้วก็ต้องนำรถยนต์ไปทำการตรวจสอบโดยเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเช่นกัน เสร็จแล้วจึงไปแจ้งการดำเนินการทางทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อแจ้งการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นก๊าซ NGV ขั้นตอนนี้จะมีช่างตรวจสภาพรถเพื่อตรวจความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่งก่อนติดสติกเกอร์ว่ารถคันนี้ใช้ CNG (NGV) ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนทางภาษีจากรัฐบาล

สำหรับก๊าซ LPG เนื่องจากมีการติดตั้งกันมานานกว่า 30 ปี ทางกรมขนส่งทางบกจึงยังไม่ได้ให้อู่ติดตั้งมาขอใบอนุญาตจากทางกรมฯ เนื่องจากต้องรอแก้กฎหมาย แต่หากเจ้าของรถอยากติดก๊าซ LPG ขอแนะนำให้ไปอู่ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญงาน มีการติดก๊าซ LPG มาแล้วจำนวนมาก ไม่ใช่อู่เล็ก ๆ ที่มีช่างเพียงคนเดียวที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้เมื่อติดตั้งเสร็จจะต้องไปตรวจสอบการติดตั้งจากผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งทางบก และไปยื่นขอเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงจากกรมขนส่งทางบกเช่นกัน

ด้านรถที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงนั้น ถือว่าการนำรถไปเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงจะทำได้ยากกว่า โดยเฉพาะรถปิกอัพที่ประสบกับภาวะน้ำมันแพงเช่นกัน โดยหากต้องการติดก๊าซจะต้องมีการดัดแปลงเครื่องยนต์เป็นหัวเทียนก่อน ซึ่งรวมทั้งกระบวนการแล้วจะต้องใช้เงินตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป

"LPG ไม่ใช่ผู้ร้าย"

ด้าน นินจา เว็บมาสเตอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง www.gasthai.com เวปกลางสำหรับข้อมูลสำหรับผู้สนใจติดตั้งก๊าซ LPG และ NGV ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า หากผู้จะติดตั้งก๊าซและยังเลือกไม่ถูกกว่าจะติดก๊าซอะไรดี ให้เลือกจากปัจจัยความเหมาะสมของตัวเอง แต่อยากให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยความจริงแล้วก๊าซ LPG เป็นก๊าซเหลวที่ขุดได้จากอ่าวไทยของประเทศไทยเช่นกัน แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐไม่ทำการส่งเสริม ทั้งๆ ที่มีความปลอดภัยจากแรงอัดของถังก๊าซ LPG มากกว่า NGV ถึง 30 เท่า ซึ่งความจริงแล้ว LPG ไม่ใช่ก๊าซที่เป็นผู้ร้ายเหมือนกับที่คนกำลังเข้าใจผิดกันอยู่มาก

"มีคนสงสัยว่าตรงนี้เป็นเพราะ ปตท.นำก๊าซที่เหลือจากการขายก๊าซหุงต้มในประเทศไปขายเพื่อส่งออกในราคาสูงถึง 20 บาทต่อลิตรหรือเปล่า พอได้ราคาดีก็ไม่อยากให้ก๊าซ LPG มาใช้ในรถยนต์เพราะจะได้กำไรส่วนต่างน้อยกว่าหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วเราขุด LPG ได้เหมือน NGV ส่วน NGV ขณะนี้ก็มีข้อมูลว่ารัฐได้ไปนำมาจากพม่าเพื่อใช้ในโรงงานไฟฟ้าอุตสาหกรรม พอใช้เสร็จเหลือจึงนำมาขายให้ประชาชนใช่หรือไม่ ปตท.ต้องตอบคำถาม"

ทั้งนี้ การขนส่งก๊าซ NGV ก็ยังน้อยกว่าความต้องการของประชาชนมาก เท่าที่เห็นคือมีการใช้การขนส่งทางรถบรรทุก ซึ่งใช้วิธีเอาถังก๊าซขนาด 200 ลิตรไปใส่ในคอนเทรน์เนอร์ ซึ่งรถหัวลาก 1 คันจะจุได้ประมาณ 10 ถัง แต่ละคันเติมรถยนต์ส่วนบุคคลได้ไม่ถึง 200 คัน จึงทำให้ภาพการรอติดก๊าซ NGV มีแถวยาวเหยียด และในช่วงเวลาคืนรถแท็กซี่อาจต้องรอนานถึง 2 ชั่วโมงต่อคัน ขณะที่แท็กซี่หลายคันต้องถอด NGV มาติด LPG โดยเฉพาะอู่เช่ารถแท็กซี่ที่คนเช่าไม่ยอมเช่าหากเป็นก๊าซ NGV

ปัจจุบันมีผู้สนใจไปติดก๊าซจำนวนมาก โดยเฉลี่ยจากอู่ทั่วประเทศกว่า 200 อู่ที่เป็นสมาชิกอยู่จะมีผู้มาติดตั้งก๊าซวันละ 5-10 คัน 1 คันใช้เวลาติด 2 วัน และต้องรอคิวจากอู่ ประมาณ 1 เดือนถึงจะได้ติดตั้งถังก๊าซ ส่วนอู่เล็กๆ ก็มีการติดตั้งก๊าซอย่างน้อยวันละ 2 คัน

ส่วนรถแบบไหนติดระบบอย่างไรดีนั้น ปกติแล้วรถเก่าอายุ 7 ปีขึ้นไป มักจะติดระบบหัวดูด ราคาติด LPG ประมาณ 15,000-18,000 บาท ส่วนรถใหม่ป้ายแดงอายุไม่เกิน 5 ปี ควรจะติดระบบหัวฉีดราคาประมาณ 30,000-40,000 บาท ราคาแล้วแต่ยี่ห้อหัวฉีด ซึ่งรถยนต์แต่ละรุ่นจะเหมาะกับหัวฉีดยี่ห้อและคุณภาพต่างกันไป อย่างรถยุโรปต้องติดหัวฉีดที่เสถียรมากกว่า ราคาก็จะแพงกว่า ส่วนรถญี่ปุ่นสามารถใช้หัวฉีดแบบธรรมดาได้ ราคาก็ถูกกว่า

แนะนำว่าการติดตั้งทั้งก๊าซ NGV และ LPG ระบบหัวฉีดจะดีที่สุด เพราะโอกาสเกิดภาวะแบล็คไฟร์ หรือการเกิดก๊าซกับอากาศไม่สมดุลจะมีน้อยกว่า เพราะระบบควบคุมดีกว่าระบบหัวดูด

อย่างไรก็ดี ช่วงสถานการณ์น้ำมันแพงนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังนำรถยนต์ส่วนบุคคลไปติดตั้งก๊าซระบบ LPG มากกว่า NGV ทำให้มีภาวะถังก๊าซ LPG ขนาด 58,65,75 ลิตร ที่ได้รับความนิยมในการติดตั้งมากที่สุดกำลังขาดตลาด แต่เชื่อว่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น เพราะผู้ผลิตถังก๊าซอยู่ในประเทศไทย และกำลังเพิ่มผลผลิตออกสู่ท้องตลาด

สำหรับรถเก่าก่อนนำไปติดตั้งก๊าซ ควรจะนำรถไปซ่อมบำรุงให้ดีก่อน โดยเฉพาะท่อยางของระบบน้ำ, ท่อน้ำมัน, แบตเตอรี่, ถ่ายน้ำมันเครื่อง เพราะการเปลี่ยนการใช้น้ำมันมาใช้ก๊าซนั้น อาจจะทำให้ท่อต่างๆ กรอบได้หากไม่มีการใช้น้ำมัน การเปลี่ยนของใหม่จะทำให้อายุการใช้งานนานขึ้น และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ดี ส่วนผู้ใช้ก๊าซ LPG ควรจะสตาร์ทเครื่องด้วยน้ำมัน ให้น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ก่อนค่อยปรับระบบเป็นก๊าซ จะทำให้มีอายุการใช้งานยาวนาน

2 อู่ดังชี้คนติดก๊าซเพิ่ม 2 เท่า

อภิสิทธิ์ ธนาดำรงศักดิ์ ผู้จัดการแผนกก๊าซ NGV ของบริษัทซุปเปอร์เซ็นทรัลแก็ซ ซึ่งเป็นอู่ติดแก๊ซรายใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดก๊าซ NGV ของประชาชนเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีมีจำนวนมาก โดยอู่ขนาดใหญ่จะตกวันละ 8-10 คันต่อวัน และจะมีการติดตั้ง 3 วันต่อ 1 คัน ทั้งนี้ราคาติดตั้งก๊าซ NGV ระบบหัวฉีดของร้านจะอยู่ที่วันละ 6.2-6.5 หมื่นบาท ส่วนรถเก่าที่มีระบบคาร์บูเรเตอร์จะติดตั้งระบบหัวดูด ซึ่งสนนราคาอยู่ที่ 4 หมื่นบาท

พรศักดิ์ จงวิมาณสิทธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทพี.เอส พรศักดิ์ จำกัดซึ่งเป็นผู้ริเริ่มติดก๊าซ LPG มากว่า 27 ปี และเป็นผู้คิดค้นถังก๊าซ LPG ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งอุปกรณ์หลายชนิด เปิดเผยว่าสถานการณ์การนำรถมาติดก๊าซ LPG ขณะนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าเมื่อช่วงเดือนมกราคมมาก โดยช่วงเมษายนถึงปัจจุบันมีคนมาใช้บริการติดก๊าซกับทางอู่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า โดยทุกสาขา (4 สาขา) มีรวมกันประมาณ 60 คันต่อวัน ส่วนอู่ใหญ่มีการติดก๊าซประมาณ 20 คันต่อวัน ซึ่ง 1 วันจะสามารถส่งมอบรถได้วันละ 10-15 คัน

2552 Ecocar จะวิ่งกันเกลื่อนเมือง

ทัพอีโคคาร์จาก 6 ยี่ห้อ เตรียมประชันโฉม ส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปเรื่องโมเดลที่จะผลิต เว้นแต่โตโยต้าที่ยังอุบเงียบ ขณะที่ราคาและความประหยัดพลังงานอาจไม่แตกต่างกันนัก แนะผู้ใช้ควรเลือกซื้อด้วยปัจจัยในเรื่องบริการหลังการขายเป็นหลัก

ยุคน้ำมันแพงใครที่กำลังมองหาพาหนะประเภทรถยนต์ก็ต้องดีดลูกคิดกันมากหน่อย เพื่อหวังจะได้ใช้รถยนต์ที่กินน้ำมันน้อยที่สุด แต่ถ้าต้องการจะได้ใช้รถยนต์ที่ทั้งประหยัดราคา และปริโภคน้ำมันในระดับ 20 กิโลเมตรต่อลิตรขึ้นไปหละก็ คงต้องอดใจรออีกสักนิด เพราะรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ หรือรถยนต์ประหยัดพลังงานคันแรกที่ผลิตในประเทศไทย จะออกมาวิ่งราวๆ ครึ่งหลังของปี 2552

ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จำนวน 6 รายได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์อีโคคาร์ และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด, สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด, มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ จำกัด และ ทาทา มอเตอร์ ประเทศอินเดีย

เผยโฉม 6 รถเล็กล๊อตแรก

โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย และฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เป็น 2 ค่ายใหญ่ที่ถูกเฝ้ามองจากตลาดมากที่สุด โตโยต้านั้นค่อนข้างเก็บตัวเงียบ และเลี่ยงที่จะเปิดเผยถึงรถรุ่นที่นำมาผลิตในโครงการอีโคคาร์ แต่ก็มีการคาดเดากันว่ารุ่นที่เหมาะสมกับอีโคคาร์ของไทยมากที่สุดคือ Aygo

ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มีวี่แววว่าอาจจะมีการผลิตอีโคคาร์บนพื้นฐานเดียวกับรุ่น Life โดยมาพร้อมกับเครื่องยนต์ขนาด 1000 ซีซี. แน่นอนมันวิ่งได้เกิน 20 กิโลเมตรต่อลิตร ปัจจุบันฮอนด้าได้ตั้ง ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย-แปซิฟิก จำกัด เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ หรืออาร์แอนด์ดีฮอนด้าประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ซึ่งเป็นศูนย์ อาร์แอนด์ดี แห่งที่ 4 ที่ตั้งอยู่นอกญี่ปุ่น หน้าที่หนึ่งของศูนย์นี้ก็คือการพัฒนารถยนต์อีโคคาร์ของเมืองไทย

อย่างไรก็ดี อีโคคาร์ของทั้ง 2 เชื่อว่าจะมีราคาสูงกว่าอีก 4 แบรนด์ที่เหลือ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิต และขั้นตอนการดำเนินการมากกว่า แต่ก็ให้ความมั่นใจกับลูกค้าได้สูงกว่าเช่นกัน นั่นก็มาจากเครือข่ายจำนวนโชว์รูม และศูนย์บริการที่ครอบคลุมมากกว่า รวมทั้งความเชื่อมั่นในแบรนด์ก็สูงกว่าด้วยเช่นกัน

แต่หากตัดปัจจัยอื่นๆ ทิ้งไป และพุ่งเป้ามาที่ตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก อีโคคาร์ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นรถที่ได้รับความนิยม โดยรุ่นที่คาดว่าจะนำเข้ามาทำตลาดได้แก่ eK เป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่ทำยอดขายได้ค่อนข้างดีในประเทศญี่ปุ่น ใช้เครื่องยนต์ขนาด 660 ซีซี. สำหรับเมืองไทยนั้นมีการเปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการว่าจะใช้เครื่องยนต์ขนาด 1100 ซีซี. ด้วยศักยภาพของแบรนด์ในระยะหลังที่ทำผลงานยอดขายได้พอสมควร รวมทั้งรูปทรงแบบกล่อง ที่มีแนวโน้มจะได้รับความสนใจจากตลาดผู้ใช้เมืองไทย eK ของมิตซูบิชิ น่าจะทำยอดขายได้พอสมควร ว่ากันว่า มิตซูบิชิ อาจตั้งราคาให้อยู่ในระดับไม่เกิน 300,000 บาท

สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด เป็นอีกรายหนึ่งที่ให้น้ำหนักการทำตลาดรถอีโคคาร์ค่อนข้างมาก สาเหตุก็เพราะนิสสัน ยังไม่มีรถในกลุ่มรถไซน์เล็ก รวมถึงซิตี้คาร์มาก่อน ทำให้สูญเสียโอกาสในตลาดรถราคาต่ำกว่า 500,000 แสนไปค่อนข้างมาก ดังนั้นอีโคคาร์จึงเป็นจิ๊กซอ ตัวสำคัญของแบรนด์นิสสัน โดยทางนิสสันมอตเตอร์ประเทศญีปุ่นประกาศแล้วว่า จะนำรถยนต์รุ่น Cube เครื่องยนต์ขนาด 1100 ซีซี. เข้ามาผลิตเป็นอีโคคาร์ ซึ่งนิสสันมีรถที่สามารถใช้เป็นอีโคคาร์ได้หลายรุ่นเช่นกัน และจะเป็นคู่แข่งสำคัญของ eK ของมิตซูบิชิ

ด้านซูซูกิ มอเตอร์นั้น ก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าจะผลิตอีโคคาร์จากพื้นฐานของรถยนต์รุ่น สวิฟต์ ด้วยเครื่องยนต์ขนาด 996 ซีซี. และ 1242 ซีซี. และคาดว่ารถยนต์ของซูซูกิ จะอยู่ในกลุ่มรถราคาต่ำ เนื่องจากปัจจุบันประชากรรถยนต์ของซูซูกิ ในเมืองไทยมีอยู่น้อยมาก ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นการรุกตลาดของค่ายเล็กอย่างซูซูกิ อาจจะใช้เรื่องราคาเป็นอาวุธในการแข่งขัน

นอกจากนี้ในเรื่องจำนวนโชว์รูมและศูนย์บริการที่มีให้เห็นค่อนข้างน้อย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการตัดสินใจของลูกค้า ซึ่งซูซูกิ อาจจะต้องลงทุนเพิ่มในเรื่องเครือข่ายการจำหน่ายและศูนย์บริการ ที่ประกาศเพิ่มโชว์รูมจาก 30 แห่งเป็น 100 แห่งด้วย

ขณะที่ทาทา มอเตอร์ ประเทศอินเดียนั้น สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการยานยนต์โลกด้วยรถยนต์รุ่น นาโน ในราคาขายในประเทศอินเดียเพียง 80,000 บาท แต่สำหรับอีโคคาร์ในเมืองไทยนั้น ทาทามอเตอร์ ประเทศไทย บอกว่าอยู่ระหว่างการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยเกี่ยวกับรุ่นของรถที่จะนำเข้ามาผลิต หากต้องการให้อีโคคาร์ แบรนด์ทาทา เปิดตัวด้วยราคาต่ำที่สุดในตลาดคงหนีไม่พ้นการเปิดตัวด้วยรุ่น นาโน ซึ่งเมื่อนำมาผลิตและจำหน่ายในเมืองไทยแล้ว อาจมีการเพิ่มออฟชั่น ตามความต้องการของตลาด ทำให้ราคาน่าจะอยู่ที่ไม่เกินคันละ 150,000 บาท

อีกตัวเลือกหนึ่งคือ ทาทา อินดิกา รถยนต์ขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายในประเทศอินเดียว ซึ่งมีรูปทรงที่สวยงามกว่านาโน ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 1400 ซีซี.ทำให้ราคาของรถรุ่นนี้โดดขึ้นไปอยู่ที่ระดับคันละ 350,000 บาท แข่งกับค่ายใหญ่ทั้งโตโยต้า และฮอนด้า

ยังมีโครงการลงทุนผลิตอีโคคาร์ของ กลุ่มโฟล์คสวาเกน เอจี เยอรมัน มูลค่าราว 27,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการ BOI แต่ในที่สุดแล้วตลาดอีโคคาร์ ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในมือผู้ผลิตรายใหญ่ ทั้งโตโยต้า และฮอนด้า เนื่องจากการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ในปัจจุบันผู้บริโภคจะให้น้ำหนักในด้านบริการหลังการขายเป็นสำคัญ และทั้ง 2 แบรนด์ก็มีโชว์รูม ศูนย์บริการกันรายละราวๆ 300 แห่ง นอกเหนือจากรูปลักษณ์ตัวรถที่ถูกใจ แม้ในเรื่องราคาจะค่อนข้างสูงกว่าหลายๆ แบรนด์ ส่วนเรื่องประหยัดพลังงานนั้นคงจะไม่แตกต่างกันสักเท่าใด เพราะทุกรุ่นต้องผ่านมาตรฐาน เงื่อนไขของโครงการอีโคคาร์อยู่แล้ว

ชิ้นส่วน-แม่พิมพ์ เกาะขบวนโกย! รัฐดันอีโคคาร์นอนกินยาว 10ปี

อุตฯยานยนต์ต่อเนื่องทั้ง "แม่พิมพ์-ผลิตชิ้นส่วน" เฮรับ "อีโคคาร์" หลังภาครัฐเดินห้นาโครงการพร้อมตั้งเป้าแชมป์อีโคคาร์โลก วงในเผยนอนกินออร์เดอร์กว่า 7 แสนคันโตทันที 50 % หลังรัฐหาตลาดให้ มั่นฝีมือไทยเยี่ยม ฟันธงเกาะขบวนรวย10 ปี...

ถือว่าเป็นที่สัญญานที่ดีอย่างยิ่งเมื่อนโยบายอีโคคาร์ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าวด้วยหวังว่าอีโคคาร์จะเป็นแชมเปี้ยนตัวใหม่ต่อจากรถปิคอัพ1ขนาดตันที่ไทยถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในขณะนี้ คาดว่าจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญต่อวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกด้วย

ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าว่าบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่เบื้องต้น 6 รายอาทิ ฮอนด้า ซูซูกิ นิสสัน มิตซูบิชิ โตโยต้า และทาทา มอเตอร์ จะมีกำลังการผลิตต่อปีที่สูงถึง 685,000 คันต่อปี มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 43,440 ล้านบาทโดยขณะนี้ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)แล้ว

อุตฯต่อเนื่องโตก้าวกระโดด

จากตัวเลขข้างต้นจึงเป็นการบ่งชี้อย่างดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่ง วิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้วิเคราะห์ผ่าน "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่า การเกิดขึ้นของโครงการอีโคคาร์ย่อมเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการในแวดวงนี้ แน่นอนว่าจะเป็นการขยายโอกาสในการส่งออกชิ้นส่วนของรถอีโคคาร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้รถอีโคคาร์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 29- 30 ล้านคัน

ดังนั้นอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งหมดจะโตขึ้นอย่างมากในภาวะที่ตลาดรถปิกอัพค่อนข้างที่จะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

"ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ต่อ 1คันของรถยนต์ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยสามารถทำได้แทบทั้งหมด ยกเว้นเครื่องยนต์ และชุดเกียร์เท่านั้น ซึ่งในรถปิคอัพนี่ก็เกือบจะ 100 เปอร์เซนต์อยู่แล้ว ทั้งการหล่อเสื้อเครื่อง แม่พิมพ์ทุกอย่าง ซึ่งพื้นฐานที่แข็งแกร่งนี้จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับการเติบโตแบบก้าวกระโดครั้งนี้ได้ "

ปัจจุบันบริษัทต่างๆก็เริ่มที่จะลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้นแล้วเมื่อเห็นสัญญานที่ชัดเจนจากภาครัฐในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว ที่สำคัญนั้นมาจากที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นแหล่งผลิตรถปิคอัพมาก่อน จึงเป็นสิ่งที่หนุนช่วยอย่างดีต่อการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมรถยนต์อีโคคาร์ เพราะ"ประสบการณ์" ซึ่งสั่งสมมายาวนานเป็นเครื่องการรันตีว่าไทยแกร่งพอที่จะรองรับการเกิดขึ้นของโครงการนี้

เม็ดเงินสูง 1.4 แสนล้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่ออีโคคาร์เป็นรถที่มีขนาดเล็กกว่ารถปิคอัพ บริษัทยักใหญ่ต่างๆจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการลงทุนเพื่อสร้าง Platform (พื้นฐานการการผลิต) ใหม่รวมถึงแม่พิมพ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นรวมถึงอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนซึ่งมีเม็ดเงินจากส่วนนี้สูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งในการนี้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์จะกลายเป็นอุตสาหกรรมแรกๆที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการดังกล่าว

"โครงการอีโคคาร์เกิดขึ้น จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามากว่า 1.4 แสนล้านบาท ทั้งจากการก่อสร้างโรงงานเพิ่มเติม ธุรกิจแม่พิมพ์ ยาง ฯลฯ ซึ่งคาดว่าบริษัทต่างจะมาลงที่ไทยทั้งหมด แม้ว่าประเทศอื่นๆจะมีค่าจ้างงานที่ถูกกว่าอย่างเวียดนาม แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องใช้ความชำนาญซึ่งไทยมีความพร้อมที่สุดในแทบทุกด้าน"

นับว่าเป็นการลงทุนและเกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวโน้มว่าเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวจะยังคงไหลมาลงทุนยังประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบความพร้อมระหว่างไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาค อาทิ พม่าซึ่งมีสถานภาพทางการเมืองที่ไม่สู้จะดีนัก สิงคโปร์ก็ขาดแคลนทรัพยากรน้ำ ลาวที่ระบบโรงสร้างพื้นฐานยังไม่ดีพอ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ด้วยตัวภูมิศาสตร์ไม่เอื้อต่อการก่อตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ หรือ มาเลเซียที่มีรถประจำชาติก็กลายเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของชาวต่างชาติ ดังนั้นไทยจึงมีความพร้อมที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ชี้ราคาถูก-ยอดทะลัก

จุดแข็งอีกประการหนึ่ง ก็ด้วยกรอบความตกลงที่ค่อนข้างเป็นจุดสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้อนาคตของอีโคคาร์ค่อนข้างสดใส ทั้ง ราคาที่ถูก แม้ว่าน้ำมัน จะแพงก็ตามแต่ราคาก็ไม่น่าที่จะเกินเพดานที่ตั้งไว้ในระดับ 3- 5แสน ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ว่าต้องการให้เป็นรถคันแรกของครอบครัว สำหรับคนที่เพิ่งทำงานสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างไม่ยากเย็นเกินไปนัก

"บริษัทต่างๆรู้ต่างก็ทราบกันดีว่า โครงสร้าง คุณภาพ ระบบต่างๆของไทยมีคุณภาพอยู่ในระดับใด ซึ่งแน่นอนว่าอยู่ในระดับที่สูง หากอีโคคาร์ที่กำลังจะผลิตนี้ ราคาไม่แพงเกินไปนักคุณภาพไม่หยาบเกินไปนักก็ถือว่าน่าจะขายดีอย่างแน่นอน"

นอกจากคุณภาพที่ต้องเหมาะสมแล้ว กรอบที่บริษัทต่างๆรวมทั้งประเทศไทยได้วางไว้ ก็คือ ประหยัดทั้งพลังงานและเงินในกระเป๋า ทำให้เชื่อว่าจะขายได้ ขณะที่ธุรกิจต่อเนื่องในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างผู้ผลิตชิ้นส่วนก็ค่อนข้างที่จะสดใสไม่แพ้กัน

รับอานิสงส์ยาว 10 ปี

สามารถ ดีพิจารณ์ ประธานกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หนึ่งในเครือข่ายอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งได้รับอานิสงส์จากโครงการอีโคคาร์อย่างมาก อธิบายว่า การเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์ทั้ง 6 บริษัท จะเกิดสร้างงานอีกอย่างน้อย 50 % เนื่องจากยอดของแผนการผลิตรถยนต์อย่างน้อย 7 แสนคันซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับยอดผลิตคนเมื่อปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 1.3 ล้านคัน และเมื่อโครงการอีโคคาร์เสร็จสิ้นจะมียอดการผลิตสูงถึง 2.4 ล้านคัน ซึ่งถือว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ติด 1 ใน 4 ของโลก จากเดิมซึ่งอยู่ในอันดับ 1ใน 10ของโลก

จากการวางแผนด้วยนโยบายที่ตั้งไว้ในระดับแชมเปี้ยนนี้ บริษัทต่างๆจะใช้ไทยเป็นฐานผลิตและส่งออกไปยัง 155 ประเทศทั่วโลกซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ และผู้ที่จะได้รับมหาศาล คือผู้ผลิตชิ้นส่วนจะมี 2 กลุ่มคือ โออีเอ็ม ผู้ผลิตของแท้ อาร์อีเอ็ม อะไหล่ เนื่องจาก เป้าหมายคือการส่งออกสู่ตลาดโลก (Mass Production) ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เบื้องต้นก็คือ กลุ่มผู้นำเข้าเครื่องจักรในการผลิต คาดว่าจากนี้ไปอีก 10 ปีผู้ผลิตชิ้นส่วนยายนต์ไทยจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน

"ธุรกิจต่อเนื่องที่จะโตเป็นอันดับแรกก็คือ เครื่องจักรกล ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำ และธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำอย่าง ยาง อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆก็จะพลอยเติบโตตามไปด้วย

คาดว่าธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนจะมีการเติบโตไปอีกอย่างน้อย10 ปี เพราะการลงทุนของบริษัทต่างๆย่อมมากการณ์ไกล และอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนจะพอลยได้รับอินสงส์จากโครงการนี้อย่างต่ำ 10 ปีขึ้นไป "


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.