ไทยกับเส้นทางสู่การผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำ


ผู้จัดการรายวัน(26 พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก แต่อุตสาหกรรมที่นับว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญ คือ อุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากยังไม่มีอุตสาหกรรมถลุงเหล็กจากสินแร่เหล็กแต่อย่างใด แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ก่อตั้งกิจการมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแนวโน้มให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อีกครั้งหนึ่ง

อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำสมัยใหม่ของไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายส่งเสริมให้ก่อตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำจากสินแร่เหล็ก และส่งเสริมให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก่อสร้างเตาถลุงเหล็กขนาดเล็กแบบใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม โรงถลุงเหล็กของเครือซิเมนต์ไทยมีขนาดเล็กมาก มีกำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ รัฐบาลจึงริเริ่มก่อตั้งโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าขนาดใหญ่ขึ้นภายในประเทศ แม้รัฐบาลจะทำการศึกษาในเรื่องนี้หลายครั้ง แต่รายงานการศึกษาถูกเก็บขึ้นหิ้งทั้งหมด โครงการไม่ได้รับความสนใจลงทุนแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันโรงถลุงเหล็กของเครือซิเมนต์ไทย ได้ปิดตัวเองลงในเวลาต่อมา เนื่องจากกิจการมีขนาดเล็กมาก ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูง จึงไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ดังนั้น การผลิตเหล็กทั้งหมดในประเทศไทยในปัจจุบันจึงเป็นการผลิตโดยใช้เตาหลอมไฟฟ้าจากเศษเหล็กเป็นหลัก ไม่ได้เป็นการผลิตขึ้นจากสินแร่เหล็กแต่อย่างใด

ต่อมาในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ระหว่างปี 2535 - 2539 จึงมีความพยายามรื้อฟื้นการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กขึ้นมาอีก โดยได้มีการอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 6 โครงการ เพื่อก่อตั้งโรงถลุงเหล็กขั้นต้นน้ำ กำลังการผลิตรวม 9.15 ล้านตัน/ปี โดยในจำนวนนี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยี Blast Furnace เพียงรายเดียวเท่านั้น คือ กลุ่มทีพีไอ สำหรับโครงการที่เหลืออีก 5 โครงการ เป็นการผลิตเหล็กพรุน อย่างไรก็ตาม เมื่อไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ได้ส่งผลให้ทั้ง 6 โครงการ ต้องยกเลิกหรือชะลอโครงการลงทุนทั้งหมด

ต่อมาอุตสาหกรรมเหล็กของไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำจะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก หากเกิดปัญหาเป็นหนี้ NPLs แล้ว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง โดยประเทศไทยได้รับบทเรียนครั้งสำคัญในเรื่องนี้เมื่อครั้งเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและนับเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงกำหนดกฎและกติกาสำหรับการลงทุนว่าโครงการจะต้องมีอัตราหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นไม่เกิน 2 ต่อ 1 การให้การส่งเสริมข้างต้นจะเป็นแบบเสรี จะไม่ระงับให้การส่งเสริมแก่รายอื่นๆ เพื่อให้ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งผูกขาดตัดตอนอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำของประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีผู้สนใจลงทุนในการผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย

โครงการแรก เป็นของบริษัท จีสตีล จำกัด (มหาชน) เป็นการลงทุน 41,000 ล้านบาท ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2548 เป็นการผลิตแบบครบวงจร โดยในส่วนต้นน้ำจะประกอบด้วยเตาถลุงเหล็กแบบ Blast Furnace จำนวน 2 เตา กำลังการผลิตเหล็กถลุงรวมกัน 2.65 ล้านตัน/ปี กำหนดตั้งโรงงานที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

โครงการที่สอง เป็นของบริษัท สหวิริยาอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีแผนจะลงทุนตั้งโรงงานผลิตเหล็กแบบครบวงจรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจำแนกเป็น 5 เฟส กำลังการผลิตรวม 30 ล้านตัน/ปี เงินลงทุน 524,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 เฉพาะโครงการในเฟสแรกเท่านั้น ซึ่งลงทุนรวม 90,200 ล้านบาท โดยมีเตา Blast Furnace และ Basic Oxygen Furnace ขนาด 4.5 ล้านตัน/ปี

โครงการที่สาม เป็นของ Shougang Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 7 ของจีน ได้ยื่นข้อเสนอก่อสร้างโครงการผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำ ขั้นกลางน้ำ และขั้นปลายน้ำ โดยมีเตา Blast Furnace และ Basic Oxygen Furnace ขนาดกำลังการผลิตรวม 4 ล้านตัน/ปี มูลค่าการลงทุน 108,552 ล้านบาท กำหนดตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

โครงการที่สี่ ดำเนินการโดยบริษัท ทาทาสตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในเครือตาต้าสตีลของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2550 ลงทุนจำนวน 3,600 ล้านบาท (จากการประมาณการเงินลงทุนล่าสุดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,800 ล้านบาท) เพื่อก่อสร้างเตาถลุงเหล็กขนาดเล็กแบบ Mini Blast Furnace กำลังการผลิต 500,000 ตัน/ปี ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี

โครงการที่ห้า เป็นโครงการเดิมของบริษัท นครไทยสติปมิล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตเหล็กพรุน กำลังการผลิต 1.5 ล้านตัน/ปี ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี โดยได้นำเข้าเครื่องจักรมาแล้วบางส่วนตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จึงสนใจที่จะรื้อฟื้นโครงการนี้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากจะซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติมอีกไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับ 5 โครงการข้างต้น เกือบทั้งหมดได้ยกเลิกโครงการหรือมิฉะนั้นก็ชะลอโครงการอย่างไม่มีกำหนด ยกเว้นโครงการถลุงเหล็กขนาดเล็กโดยใช้ Mini Blast Furnace ของบริษัทตาต้าสตีลเท่านั้น ซึ่งกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จของโครงการนี้ได้เลื่อนออกไป กล่าวคือ จากเดิมกำหนดไว้ที่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ได้เลื่อนออกไปเป็นไตรมาสที่ 2 ของปี 2552

ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 ประกาศแนวทางส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูง ซึ่งเป็นเหล็กที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวเพื่อใช้งานเฉพาะเจาะจง เช่น เหล็ก Ultra High Tension Steel ฯลฯ เพื่อยกระดับจากเหล็ก Commodity Grade ซึ่งมีราคาต่ำและการแข่งขันในด้านราคาสูง โดยเฉพาะการแข่งขันจากผู้ผลิตของประเทศจีน

สำหรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศลงวันที่ 7 ธันวาคม 2550 กำหนดเงื่อนไขหลายประการ เป็นต้นว่า

ประการแรก เป็นโครงการผลิตเหล็กขั้นต้นน้ำเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่มีเทคโนโลยีทันสมัยในทุกขั้นตอนการผลิต โดยจะต้องผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่มีความบริสุทธิ์สูง มีธาตุมลทินต่ำ มีสิ่งเจือปนต่ำ และต้องมีปริมาณการผลิตเหล็กคุณภาพสูงไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน/ปี

ประการที่สอง ต้องมีการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสามารถพัฒนางานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรือหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต

ประการที่สาม ต้องมีระบบควบคุมและจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ประการที่สี่ เป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลและบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) และต้องเสนอแผนงานที่แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน ท้องถิ่น และสังคม

พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดให้ผู้สนใจลงทุนยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงพร้อมข้อเสนอเบื้องต้นภายในวันที่ 31 มกราคม 2551 ซึ่งเมื่อครบกำหนด มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย คือ บริษัทอาร์เซลอร์-มิตตัล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก บริษัทนิปปอนสตีลของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก บริษัท JFE ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และบริษัทเซี่ยงไฮ้เป่าสตีลซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก โดยแต่ละรายกำหนดจะลงทุนนับแสนล้านบาท

ทั้ง 4 โครงการ ได้กำหนดจะใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน คือ Blast Furnace และ Basic Oxygen Furnace ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานสำหรับกิจการถลุงเหล็กที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าก่อตั้งโรงถลุงเหล็กข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ประการแรก แต่ละโครงการต้องการพื้นที่กว้างขวางถึง 5,000 - 6,000 ไร่ และต้องตั้งอยู่ใกล้ทะเลที่มีน้ำลึก เพื่อลดต้นทุนในด้านลอจิสติกส์ เนื่องจากต้องก่อสร้างท่าเรือที่มีความลึกหน้าท่าไม่ต่ำกว่า 20 เมตร

ประการที่สอง โครงการต้องการปริมาณน้ำเป็นปริมาณมากถึง 100,000 ลบ.ม./วัน ดังนั้น จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมายังโรงถลุงเหล็ก

ประการที่สาม ต้องสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของบรรดา NGOs

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น รัฐบาลมีนโยบายปีแห่งการลงทุน 2551 - 2552 โดยกำหนด 8 มาตรการ โดย 1 ใน 8 มาตรการข้างต้น คือ การเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ หากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันเพื่อผลักดันมาตรการนี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการก่อตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นน้ำในประเทศไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ 6 อันดับแรกของโลก มีเฉพาะบริษัทพอสโก้ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เท่านั้น ที่ไม่สนใจตั้งฐานการผลิตเหล็กต้นน้ำในประเทศไทย เนื่องจากกำหนดจะลงทุนโครงการขนาดยักษ์ที่อ่าว Van Phong ในจังหวัด Khanh Hoa ของเวียดนาม

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.