ตึกใหญ่หลังหนึ่งที่ตั้งอยู่โดดเด่นคียงคู่กับไทรริมน้ำมานานถึง 95 ปีเป็นภาพที่ลูกหลานหลายรุ่น
ในย่านตลาดน้อยคุ้นตามาตั้งแต่จำความได้
นอกจากความสง่างามของตัวอาคาร ตึกหลังนี้ยังมีร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
และเต็มไปด้วยคุณค่าที่น่าจดจำเพราะในอดีตคือ แบงก์สยามกัมมาจล ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของคนไทย
แต่ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย
องค์ประธานกำเนิดธนาคารแห่งนี้คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
ซึ่งพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าไชยันตมงคล หรือ "พระบิดาแห่งการธนาคารไทย"
พระองค์เป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมุ่งมั่นก่อตั้งธนาคารกลางของประเทศ
เพื่อดูแลระบบการเงินของประเทศเช่นเดียวกับชาติตะวันตก โดยครั้งแรกที่ทำการเป็นเพียงตึกแถว
2 ชั้น 3 คูหา บริเวณย่านบ้านหม้อ มีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า "บุคคลัภย์"
(book Club)
แม้ตัวอาคารหลังนี้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2451 ซึ่งกรมหมื่นมหิศศรราชหฤทัยสิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว
ขณะที่มีพระชนม์เพียง 42 พรรษา แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะการวางรากฐานในเรื่องธนาคารของพระองค์
อาคารหลังนี้มีทั้งหมดสามชั้น ถูกกำหนดผังและวางแบบแปลนไว้อย่างพิถีพิถัน
โดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน มุขด้านหน้าอาคารหันเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตามความนิยมในสมัยนั้น
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบเรอเนสซองส์ (ร่วมสมัยกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งอนันตสมาคม)
การก่อสร้างเป็นฝีมือของผู้รับเหมาสัญชาติเยอรมัน ที่เข้ามาตั้งกิจการในเมืองไทย
ชื่อ ห้างยี.ครูเซอร์ การก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 2 ปี เป็นเงิน 3 แสนบาท เมื่อเปิดใช้ครั้งแรกนั้นชั้นบนเป็นที่พักของผู้จัดการ
และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ชาวต่างประเทศ ชั้นที่สองเป็นที่ทำการและชั้นล่างเป็นห้องนิรภัย
ปี พ.ศ.2529 มีการบูรณะครั้งใหญ่ แต่ก็เป็นเพียงเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาในจุดที่รั่วซึม
และทาสีใหม่ให้งดงามขึ้นเท่านั้น ในคราวนั้นมีการจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้
ปลายปี พ.ศ.2538 มีการบูรณะใหญ่อีกครั้ง เพื่อซ่อมแซมและบำรุงรักษารายละเอียดทางด้านสถาปัตยกรรมเพื่อคงความงดงามต่อไป
และได้ย้ายส่วนพิพิธภัณฑ์ไปอยู่ที่สำนักงานใหญ่บริเวณรัชโยธิน
ทุกวันนี้ผู้คนย่านตลาดน้อยจำนวนมาก ได้เดินเข้าออกธนาคารแห่งนี้เพื่อใช้บริการและได้สัมผัสกับความงดงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย