ภาวะกระทิง อานิสงส์ดอลลาร์อ่อน

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่าเงินดอลลาร์อ่อน การเคลื่อนย้ายเงินทุนเริ่มคึกคักอีกครั้ง และตลาดหุ้นเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ สำหรับการแสวงหาผลตอบแทน ชดเชยความสูญเสียจากความไม่ไว้วางใจค่าเงินดอลลาร์

วิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยไหลรูดลงไปถึงจุดต่ำสุด 249 จุด จากนั้นเริ่มทรงตัวและค่อยๆ ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและหยุดพักที่ระดับ 340 จุด แล้วปรับตัวลดลงอีกครั้งสู่ 256 จุด ก่อนทะยานขึ้นมาที่ 347 จุด ลักษณะความเคลื่อนไหวดังกล่าว ในเชิงเทคนิคเรียกว่า ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะขาขึ้นโดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม การประเมินความสดใสของตลาดหุ้นไทยไม่สามารถพิจารณาเชิงเทคนิคมิติเดียว องค์ประกอบที่สำคัญต่อการเติบโตและเป็นคำถามสำหรับนักลงทุนใน ปัจจุบันและอนาคต คือ ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้ตลาดสดใสต่อเนื่องและยั่งยืนได้หรือไม่

ทันทีที่ MSCI ปรับน้ำหนักการลงทุนของประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องจากระดับ 2.6% เป็น 2.9% เมื่อตลาดรับรู้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นทันที 20 จุด และสามารถยืนเหนือ 400 จุดได้

"เดือนดังกล่าวนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิประมาณ 4,500 ล้านบาท และในอนาคตคาดว่า MSCI จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไทยอีก และเม็ดเงินจะไหลเข้ามามากพอสมควร" วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.ทรีนีตี้กล่าว

ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้บรรยากาศ ตลาดหุ้นไทยคึกคักในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เกิดจากการประเมินค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนตัวในระยะยาว เนื่องเพราะรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีหนี้สูง และขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ก่อ ให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังสกุลเงินที่แข็งกว่า โดยยุโรปเป็นตลาดแรกที่บรรดากองทุนโยกเงินเข้าไป ตามด้วยออสเตรเลีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และไทย

อีกทั้งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งภายในปีนี้ ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนถูกเร่งให้เร็วมากยิ่งขึ้น ผลที่ตามมา ก็คือ บรรดาคู่ค้าของ อเมริกา เช่น อังกฤษ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ต้องลดดอกเบี้ยตามไปด้วย

"ค่าเงินของประเทศคู่ค้าจะอ่อนตัวเมื่อเทียบค่าเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย" วิศิษฐ์ชี้ "สิ่งที่เกิดขึ้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก"

หากเฟดลดดอกเบี้ย คำถามก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถรับ ความกดดันกับค่าเงินบาทแข็งได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะลดลงตามไปด้วยในช่วงเดือนสิงหาคม นี้อย่างน้อย 25 basis point หลังจากรัฐบาล ชำระหนี้คืนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) งวดสุดท้ายจำนวน 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นเดือนนี้

หลังจาก ธปท.ลดดอกเบี้ยส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยค่าลง เป็นเหตุผลเพียงพอที่การลงทุนในตลาดหุ้นถูกจับตามองจากผู้ฝากเงิน บางคนที่ทนทุกข์กับระดับผลตอบแทนไม่ได้จึงย้ายเงินไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่ง ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินออมประมาณ 3-5%

ความเชื่อมั่นเงินบาทที่แข็งค่าในระยะยาว นอกเหนือไปจากปัจจัยภายนอกแล้ว เดือนสิงหาคมนี้เชื่อว่าประเทศไทยจะได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จาก S&P และ Moody's ด้วยเหตุผลเสถียร ภาพของประเทศโดยรวมดีขึ้น

"จากนี้ไปไทยดูมีความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น" วิศิษฐ์บอก "เม็ดเงินจะไหลเข้าตลาดหุ้นอีกในครึ่งปีหลัง" รวยหรือจน

หลังจากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปีนี้ออกมาสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุนพอสมควร เมื่อโชว์อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เฉลี่ยอยู่ที่ 32% และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน 21.3% โดยมีหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E Ratio) 1.1 เท่า และผลตอบแทน ต่อผู้ถือหุ้น (ROE) 22.7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

เมื่อเทียบรายได้ของบริษัทจดทะเบียน กับดัชนีตลาดหุ้นไทย ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจดัชนีพุ่งทะยานขึ้นไปไม่หยุดยั้งโดยไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับ แต่หลังจากความล่มสลายผ่านพ้นไปจนถึงปัจจุบันราคาหุ้นถูกกว่า ปัจจัยพื้นฐาน

หากพิจารณาหุ้นขวัญใจนักลงทุนแล้ว กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงติดอันดับต้นๆ สม่ำเสมอโดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เนื่องจากไตรมาสแรกมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 2.56% และ 2.10% ตามลำดับ

"เป็นตัวเลขที่ดีที่สุดของธนาคารขนาดใหญ่ แสดงถึงความสามารถในการทำกำไร" ชาลี กือเย็น ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้กล่าว

อีกทั้ง SCB มีค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรายได้ต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่ระดับ 46.1% ส่วน KBANK อยู่ที่ 56.9% "ความโดดเด่นของ KBANK จะมีสูงขึ้นหลังจากไถ่ถอน Slips เพราะทำให้ต้นทุนทางการเงินและดอกเบี้ยจ่ายลดลงทันที" เธอบอก "ส่วน SCB ต้องรอความสามารถในการหาพันธมิตรให้ได้"

สำหรับหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีและพลังงานได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบมจ.อะโรเมติกส์ (ATC) เพราะตัวเลขกำไรเพียงไตรมาสแรกปีนี้มากกว่ากำไร 5 ปีย้อนหลังรวมกัน

ขณะที่ บมจ.ปตท. หรือ PTT แม้ว่ากำไรไตรมาสที่ 2 จะออกมาไม่น่าประทับใจ "แต่ในระยะยาวกำไรแข็งแกร่งและมั่นคงอย่าง มาก เนื่องจากธุรกิจแต่ละประเภทอยู่ในทิศ ทางเติบโต" กิติชาญ ศิริสุขอาชา นักวิเคราะห์ หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าว

ด้าน บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) เป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลอยู่ในระดับน่าสนใจและผลประกอบการโดดเด่น แต่ตลาดยังรอบทสรุปของการขยายการลงทุน "เรามองโลก ในแง่ดีของแผนการซื้อโรงไฟฟ้า TECO, BLCP และ UPDC ลดลง เนื่องจากระดับราคา อาจจะสูงเกินไป" อิฐพงษ์ แสงทับทิม นักวิเคราะห์ หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าว

ส่วนหุ้นกลุ่มสื่อสารนั้น บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) โดดเด่นที่สุด จากความเป็นผู้นำการให้บริการโทรศัพท์ มือถือ เพียงแค่ไตรมาสแรกยอดผู้ใช้บริการเติบโตถึง 30% คาดว่าสิ้นปีนี้บริษัทจะมียอดสมาชิก 3 ล้านเลขหมาย

"พวกเราคาดว่าปีนี้กำไรจะเติบโตจาก ปีที่แล้วถึง 44%" ตุลยา เพ็งนิติ นักวิเคราะห์ หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ชี้ "ผู้บริหาร ADVANC เปิดเผยว่าหากราคาหุ้นยัง ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าอยู่มาก อาจจะซื้อหุ้นคืน จำนวนหนึ่งเพื่อทำให้ราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้น"

สำหรับหุ้นกลุ่มเกษตรสามารถลงทุนได้ในปัจจุบันคือ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และ บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) แม้ว่าไตรมาสแรกของปีนี้ทั้งสองบริษัทจะมีตัวเลขกำไรขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่หลังจากญี่ปุ่นประกาศยกเลิกการนำเข้าไก่ทั้งหมดจาก จีน เนื่องจากตรวจพบโรคไข้หวัดนก รวมไปถึงเนเธอร์แลนด์ต้องฆ่าไก่ทิ้ง 45 ล้านตัวจากโรคดังกล่าว

ส่งผลให้ CPF และ GFPT ได้ประโยชน์อย่างมาก โดยมีคำสั่งซื้อไก่เข้ามาจนถึงสิ้นปี และราคาไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 1,300 เหรียญสหรัฐต่อตันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา "ปีนี้ทั้งสองจะไม่ขาดทุน ทำให้หุ้น ถูกจับตามองจากนักลงทุนอย่างใกล้ชิด แต่พวกเรายังคงแนะนำให้ลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว" วชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้บอก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.