ค่าเงินบาทใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน
สามารถแข็งค่ามากขึ้นจนถูกจับตามองจากตลาด
อย่างใกล้ชิดจากความวิตกกังวลต่อ
ความผันผวนในอนาคต
นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้อย่างสมบูรณ์
นับตั้งแต่สงครามตะวันออก ตามด้วยการระบาดของโรคซาร์สและปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด
ล่าสุดเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทกลับมาผันผวนอีกครั้ง สร้างความกังวลให้กับตลาดเป็นอย่างมาก
โดยเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ
10 เดือนที่ 41.52 บาทต่อดอลลาร์ในวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยเงินดอลลาร์สหรัฐถูกกดดันมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สัมภาษณ์ของจอร์จ
โซรอส พ่อมดการเงินที่ได้อ้างการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญ
รวมถึงข่าวการเพิ่มระดับการเตือนภัยก่อการร้าย และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งสูงเกินคาดของอเมริกา
ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง
"การออกมาให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) ในเชิงบวกต่อการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้นักลงทุนเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อทำกำไร"
นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว
จากปัจจัยสำคัญที่แสดงถึงความเคลื่อนไหวทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าต่อไปพอสมควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง ประกอบกับอเมริกาขาดดุลการค้าชั่วโมงละ
50 ล้านเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลมีหนี้สินสูงมาก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวในระยะยาว
"ถ้า FED ลดดอกเบี้ยบรรดาคู่ค้าของ อเมริกาต้องลดดอกเบี้ยตามไปด้วย เช่น
อังกฤษ กลุ่มประเทศยุโรป ทำให้ค่าเงินอ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินในเอเชีย"
วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้กล่าว
"คำถาม ก็คือ แบงก์ชาติทนแรงกดดันกับบาทแข็งได้มากน้อยเพียงใด คาดว่าจะต้องลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน"
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเดียวกันเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าพอสมควร
เนื่องเพราะ ธปท. ยังคงเก็บดอลลาร์สหรัฐเพื่อเตรียมนำไปชำระหนี้คืนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(IMF) งวดสุดท้ายจำนวน 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สิ้นเดือนนี้
"หลังจากนั้นโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก มีความเป็นไปได้สูงมาก" วิศิษฐ์บอก