|
แบงก์ตะลุมบอนแย่งตลาด"สินเชื่อบ้าน"กลยุทธ์ดอกเบี้ยผสมมาตรการรัฐดึงใจลูกค้า
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดสินเชื่อบ้านคึกคัก แบงก์กรูแย่งลูกค้า กระหน่ำด้วยโปรโมชั่น "ดอกเบี้ย"ล่อใจ ผนวกกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์จากรัฐบาลออกมาหนุน ทำให้ตลาดอสังหาฯที่คาดว่าจะซบเซา เพราะเศรษฐกินไม่เอื้อ น้ำมันแพง การบริโภคหดตัว ยังคึกคักจากกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการอย่างแท้จริงในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์
ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอาจไม่เอื้อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากนัก โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ทะยานพุ่งขึ้นตามราคาน้ำมันที่ไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการเอกชนคาดคะเนการบริโภคของประชาชนยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง และใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น
แม้แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยหนุนถึง 2 ก๊อก แต่กระนั้นผู้ประกอบการก็ยังเล็งเห็นว่ามาตรการคงช่วยไม่ได้มากมายนัก
อย่างไรก็ตาม ในงานมันนี เอ็กซ์โป ล่าสุดที่เพิ่งปิดฉากไปได้สะท้อนภาพที่ต่างออกไปจากที่คาดการณ์ไว้ เห็นจากยอดตัวเลขที่สรุปออกมาหลังจบงาน สินเชื่อบ้านเป็นธุรกรรมที่ผู้เข้าชมงานสมัครใช้บริการมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง รวมมูลค่า 93,890 ล้านบาท หรือคิดเป็น77% ของปริมาณธุรกรรมรวม
ส่วนหนึ่งมาจากแบงก์และสถาบันการเงินต่างๆ ใช้ดอกเบี้ยเป็นเกมในการแข่งขัน เช่นเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 0% ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 9 เดือน และยังมีโปรโมชั่นลุ้นจับรางวัลรับดอกเบี้ย 0% นานถึง 1 ปี พร้อมได้สิทธิ์ชิงรางวัลรถยนต์อีกต่อหนึ่ง
โดยแบงก์ที่กระโดดเข้ามาเล่นแคมเปญ 0% นั้นโดยมากจะเป็นแบงก์พาณิชย์ นครหลวงไทย แบงก์กรุงศรีอยุธยา แบงก์กรุงเทพ กสิกรไทย และกรุงไทย เป็นต้น โดยแคมเปญที่กล่าวถึงนี้ถือได้ว่ากระตุ้นความสนใจนักลงทุนได้ตรงจุดที่สุดในภาวะเช่นนี้
แม้แคมเปญการตลาดที่แรงดึงใจลูกค้าด้วยดอกเบี้ย 0% จะจบไปพร้อมกับงาน มันนี่เอ็กซ์โปรก็ตามที แต่เชื่อว่าแบงก์ต่างๆ ยังคงโฟกัสตลาดมาที่สินเชื่อบ้านอยู่ นั่นเพราะเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำด้วยการกู้เงินที่มีหลักทรัพย์เป็นค้ำประกัน จึงชื่อว่าแบงก์อาจจะออกคมเปญใหม่ๆเพื่อนกระตุ้นความสนใจจากลูกค้าเช่นกัน
ไม่เพียงการอัดแคมเปญจากแบงก์เท่านั้นที่ทำให้ตลาดสินเชื่อบ้านคึกคัก "สิรวิชญ์ สงวนสันติกุล" ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เล่าว่า มาตรการที่ภาครัฐออกมาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านไว้ในครอบครองจริงๆตัดสินใจที่จะขอสินเชื่อเพื่อกู้บ้าน
สำหรับ มาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่การลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เหลือ 0.01% ครอบคลุมทั้งอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายจัดสรรที่ดิน อาคารสำนักงาน และห้องชุด และอสังหาริมทรัพย์ที่มีเนื้อที่ไม่เกิน1 ไร่ และไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายการจัดสรรที่ดิน ในส่วนนี้น่าจะทำให้ประชาชนที่ซื้อบ้านลดต้นทุนได้ ขณะเดียวกันในการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ให้เหลือ 0.01% ก็เป็นอีกมาตรการที่ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
"มาตรการจากภาครัฐในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สินเชื่อบ้านคึกคักได้ในภาวะเศรษฐกิจเยี่ยงนี้"
สิรวิชญ์ เล่าว่า ออมสินก็เป็นอีกแบงก์หนึ่งที่มีลูกค้าเดินเข้ามาทำธุรกรรมทางด้านสินเชื่อบ้าน แม้จะไม่ได้แข่งในเรื่องแคมเปญดอกเบี้ยแรงเหมือนแบงก์พาณิชย์อื่นๆก็ตาม แต่ในงานมันนี่เอ็กซ์โป ก็ยังมีลูกค้าที่เข้ามาติดต่อถึง 1,510 ราย คิดเป็นวงเงิน 2.58 พันล้านบาท
เช่นเดียวกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ก็ไม่ได้เล่นแคมเปญดอกเบี้ย 0% แต่ให้โปรโมชั่นกู้ซื้อบ้าน แถมจานดาวเทียมสามารถDTHมูลค่า 4,500 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยลอยตัวพิเศษ 3% ใน 3 เดือนแรกและในเดือนที่ 4-36 เป็นMRR ลบ2% หรือเท่ากับ 5.50% (ขณะที่ปัจจุบันMRR เท่ากับ 7.50%) หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวพิเศษตามประกาศของ ธอส. โดยลูกค้าผ่อนนานได้สูงสุด 30 ปี
ส่วนแบงก์ที่เล่นดอกเบี้ย 0% เริ่มที่ แบงก์นครหลวงไทย ดอกเบี้ย0% นาน9เดือน แบงก์กรุงศรีให้ทั้งสินเชื่อเงินกู้และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ย 0% 3เดือน แบงก์กรุงเทพ ดอกเบี้ยเดือนที่ 1-6 คิดอัตรา 0.99% เดือนที่ 7-12 คิดอัตรา 1.99% ส่วน แบงก์กสิกรไทย ให้แคมเปญสินเชื่อบ้านกระตุ้นด้วยสิทธ์อยู่ฟรีนาน 6 เดือน หลังจากนั้นเลือกอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ 6 แบบ พร้อมลุ้นจับรางวัลอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 12 เดือน 20 รางวัล
อีกด้าน บริษัทบรรหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) อัดโปรโมชั่นทรัพย์ราคาถูก โดยเฉพาะคอนโดฯ โครงการ "หทัยราษฎร์" ราคาถูกเพียง 1.99 แสนบาท รับส่วนลด 2% ของราคาทรัพย์ พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์
ทั้งหมดถือแคมเปญโดนใจลูกค้าที่จัดขึ้นในงานมันนี่ เอ็กซ์โปร เท่านั้น ส่วนแคมเปญรอบหน้า แบงก์ต่างๆจะออกมาอย่างไรเป็นเรื่องต้องติดมตามสำหรับผู้บริโภค และในการให้สินเชื่อของแต่ละแบงก์แม้จะให้ดอกเบี้ย หรือสิทธิพิเศษจูงใจ แต่ในรายละเอียดเป็นเรื่องที่ลูกค้าผู้บริโภคต้องเข้าไปสอบถามข้อมูลด้วยตนเอง เนื่องจากแคมเปญคล้ายกัน แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดอาจมีความต่างกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ ความต้องการบ้านของผู้บริโภคนั้นยังคงมีอยู่ แต่ภาวะที่ไม่ได้เอื้อให้จับจ่ายใช้สอยเช่นนี้ ต้องอาศัยมาตรการหลายๆด้านเป็นแรงจูงใจ ทั้งจากภาครัฐในเรื่องของการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง และที่สำคัญการสนับสนุนจากแบงก์ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งต้องอยู่ในจุดที่ลูกค้ารับมือไหวในภาวะที่ปัจจัยหลายๆด้านไม่เอื้อให้กระจายรายได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|