บีเอฟเอ็มรุกหาตลาดใหม่แตกไลน์สู่สินค้าตกแต่งภายใน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

บีเอฟเอ็มเร่งแก้โจทย์ตลาดแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิทโตต่ำกว่าเป้า หลังอสังหาฯ ซบต่อเนื่อง ดิ้นหาตลาดใหม่ แตกไลน์เพิ่มสินค้าตกแต่งภายในอาคาร พร้อมชูนวัตกรรมประหยัดพลังงาน เกาะกระแสโลกร้อน

แม้บีเอฟเอ็มจะหนึ่งในผู้นำเข้าแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิทภายใต้แบรนด์ ALPOLIC /fr จากญี่ปุ่นมากว่า 10 ปี แต่ด้วยคุณสมบัติของสินค้าที่เป็นของใหม่ ใช้กันในวงแคบ ตลาดยังไม่ค่อยรู้จัก รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายบังคับเรื่องการเลือกใช้วัสดุในการออกแบบอาคารให้ปลอดภัย ทำให้โจทย์ของบีเอฟเอ็มในการทำตลาด คือ ต้องเร่งสร้างความรู้เรื่องตัวสินค้าแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยการวางสเปคกับสถาปนิก และเดินสายให้ความรู้เรื่องสินค้ากับกลุ่มสถานศึกษาเป็นหลัก เพื่อเปลี่ยนตลาดให้หันมาใช้แผ่นผนังคอมสิทไส้กลางกันไฟในการตกแต่งอาคารแทนการใช้วัสดุอื่นๆ

คีย์แมสเสจที่บีเอฟเอ็มใช้ในการสื่อสารกับตลาด คือ เป็นแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิทที่มีไส้กลางเป็นแร่ทนไฟ ที่มีคุณสมบัติไม่ติดไฟ และไม่ก่อให้เกิดควันพิษ จึงปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ แตกต่างจากสินค้าทั่วไปในตลาดที่ใช้พลาสติกเป็นไส้กลาง รวมทั้งการเคลือบผิวด้วยลูมิฟลอน เบสต์ ฟลูโรคาร์บอน ทำให้สีผิวคงทนกว่าสีประเภท PVDF ทั่วไป จึงทนทาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา โดยในปีนี้บีเอฟเอ็มได้เพิ่มแนวคิดเรื่อง Green Building เข้าไป เพื่อรับกระแสภาวะโลกร้อนด้วย โดยชูจุดขายเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ อะลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลได้ ช่วยสะท้อนรังสีความร้อน ทำให้อาคารเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน ช่วยประหยัดไฟฟ้า

จากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงในปีที่แล้วทำให้ตลาดรวมแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิทจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 30% กลับเติบโตเพียง 10% คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท หรือ 1 ล้าน ตร.ม. ซึ่งกศิปัญญ์ ศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอฟเอ็ม จำกัด กล่าวว่า ยอดขายในปี 2550 ของบริษัทก็เติบโตขึ้นเพียง 10% เช่นกัน หรือมียอดขาย 280 ล้านบาท ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าในปีนี้ตลาดแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิทยังมีโอกาสเติบโตจากนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์จะทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นงานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าที่เป็นอาคารสาธารณะส่วนใหญ่จะกำหนดสเปควัสดุที่ต้องทนไฟ ซึ่งตรงกับสินค้าของบริษัทฯ รวมทั้งยอดขายจากโครงการของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้น หลังความเชื่อมั่นหวนกลับมา

กศิปัญญ์บอกว่า ขณะนี้การใช้งานแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิทประเภทไส้กลางกันไฟในตลาดยังมีน้อยมาก บางรายยังใช้ไส้กลางเป็นพลาสติก หรือใช้วัสดุอื่นๆ ในการตกแต่งภายนอกอาคาร อีกทั้งคู่แข่งที่เป็นสินค้าประเภทเดียวกันยังไม่เน้นการทำตลาดมากนัก จึงเป็นโอกาสที่บีเอฟเอ็มจะเร่งสร้างแบรนด์ และเร่งทำตลาดล่วงหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ทางการออกกฎหมายควบคุมเรื่องนี้ ก็จะยิ่งดันให้ตลาดเติบโตได้อีกมากในอนาคต

แม้บริษัทจะได้ประโยชน์จากค่าบาทที่แข็งขึ้นมาช่วยเหลือเรื่องต้นทุนในการนำเข้าสินค้า แต่สิ่งที่ยังดูเป็นอุปสรรคในการทำตลาดของบีเอฟเอ็ม คือ พิกัดภาษีสินค้านำเข้าที่บริษัทต้องรับภาระถึง 5% ทำให้การตั้งราคาต้องพุ่งเป้าไปที่ตลาดบนหรือโครงการเกรดเอทั้งสร้างใหม่และรีโนเวทที่มีกำลังซื้อสูงแทน เช่น โรงแรม คอนโดมิเนียมไฮเอนด์ โรงพยาบาล เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งโชว์รูมที่กศิปัญญ์บอกว่าเป็นตลาดที่เติบโตเป็นพิเศษ ในขณะที่งานก่อสร้างของราชการยังเป็นตลาดที่เจาะเข้าไปได้ยาก เพราะงานราชการยังไม่ค่อยให้ความสำคัญในการกำหนดสเปคให้เป็นวัสดุทนไฟมากนัก และปัญหาใหญ่ของผู้ผลิตทุกราย คือ เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ เช่น อะลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักๆ ของการผลิตที่ขึ้นราคาไปแล้ว 20-30% ทำให้สถาปนิกและผู้รับเหมาต้องรัดเข็มขัดลดการใช้วัสดุราคาแพง บีเอฟเอ็มจึงใช้โปรแกรม Panel Cut Optimization มาช่วยในการคำนวณปริมาณที่ใช้ และการตัดแผ่นให้เหลือเศษวัสดุให้น้อยที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้าสั่งสินค้าน้อยที่สุด

บีเอฟเอ็มดิ้นไปสู่การหาตลาดใหม่ๆ ด้วยการรุกไปยังตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่ม โดยการเปิดตัวแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิทรุ่นใหม่ เป็นการเพิ่มการใช้งานของสินค้าที่ไม่จำกัดเฉพาะการใช้งานภายนอกอาคาร ได้แก่ ชุดลายหินและลายไม้ (Stone & Timber Series) ใช้ตกแต่งภายในบ้านได้ ซึ่งมีราคาถูกกว่าการใช้หินนำเข้าหรือไม้จริง น้ำหนักเบากว่า สามารถลดน้ำหนักของโครงสร้างอาคารได้ ทั้งนี้คาดว่าสินค้ารุ่นใหม่จะแชร์รายได้ในสัดส่วน 10% โดยในปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 25% หรือมียอดขาย 350 ล้านบาท จากปัจจุบันบีเอฟเอ็มมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ 30%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.