The Complicated Service


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นบรรยากาศที่คึกคักไม่น้อยทีเดียว เมื่อตัวแทนจากธุรกิจการเงิน 4 แห่ง ได้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน ในห้องจินดาธร ชั้น 8 อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เพื่อร่วมเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรในบริการใหม่ที่มีชื่อว่าสินเชื่อภายใต้การประกันการส่งออก (Trade Credit Insurance and Guarantee)

ธุรกิจการเงินทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) บริษัทภัทรประกันภัย และบริษัทกสิกร แฟค เตอริ่ง

สินเชื่อภายใต้การประกันการส่งออก ถือเป็นบริการทางการเงินที่เพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเป็นการผสมผสานรูปแบบการให้สินเชื่อ เพื่อการส่งออก (Packing Cradit) กับธุรกิจประกันภัยเข้าด้วยกัน

เป็นความซับซ้อนที่เป็นผลมาจากพัฒนาการของรูปแบบการค้าระหว่างประเทศ จากในอดีตที่ผู้นำเข้าจะต้องเปิด Letter of Cradit (L/C) กับธนาคารในประเทศก่อน เพื่อเป็นหลักประกันกับผู้ขายสินค้าว่าจะได้รับเงินแน่ หลังสินค้าถูกขนลงเรือไปแล้ว เพราะมีธนาคารค้ำประกัน

แต่ปัจจุบัน ผู้นำเข้าไม่จำเป็นต้องเปิด L/C แต่อาจจ่ายเงินค่าสินค้าผ่านตั๋วส่งออกที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่อีกหลายประเภท เช่น Document Against Acceptance : D/A, Document Against Payment : D/P หรือเปิดเป็นบัญชีเงินเชื่อ (Open Account)

ซึ่งรูปแบบนี้ ผู้ส่งออกอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินค่าสินค้า หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่นบริษัทผู้นำเข้าล้มละลาย ประเทศผู้นำเข้าประกาศพักชำระหนี้ หรือยกเลิกใบอนุญาตนำเข้า หรือมีการปฏิวัติ หรือสงครามเกิดขึ้น

รูปแบบของบริการนี้ เริ่มต้นเมื่อผู้ส่งออกได้รับออร์เดอร์สินค้า และมาขอ Packing Cradit กับธนาคารกสิกรไทย ลูกค้า จะได้รับคำแนะนำว่าควรทำประกันการส่งออก โดยมีสถาบันการเงินผู้รับประกัน 3 แห่ง ให้เลือก คือ EXIM ภัทรประกันภัยและ กสิกร แฟคเตอริ่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีจุดเด่นของบริการที่แตกต่างกัน

เมื่อลูกค้าตัดสินใจทำประกัน โดยซื้อกรมธรรม์กับผู้ให้ประกันรายใดรายหนึ่ง หลังส่งสินค้าลงเรือไปแล้ว ลูกค้ามีโอกาส ได้รับสินเชื่ออีกก้อนหนึ่ง โดยการขายลดตั๋วส่งออก กับธนาคารเพื่อนำเงินไปหมุนเวียน

เมื่อลูกค้าได้รับชำระค่าสินค้าแล้ว จึงค่อยนำเงินมาจ่ายคืน Packing Cradit

แต่หากเกิดกรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถจ่ายค่าสินค้าได้ จากเหตุผลต่างๆ ดังกล่าว ผู้รับประกันจะจ่ายค่าสินค้าให้แทน ในอัตราส่วนประมาณ 85% ของมูลค่าสินค้า

บริการนี้ ผลประโยชน์จะตกกับทุกฝ่าย เพราะผู้ส่งออกจะมั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินค่าสินค้าแน่ ส่วนบริษัทผู้รับประกันจะมีรายได้จากกรมธรรม์ และความเสี่ยงหากเกิดการไม่ชำระค่าสินค้าก็มีน้อย เพราะผู้ให้ประกันแต่ละแห่งจะทำประกันต่อออกไปให้ผู้รับประกันรายอื่นเข้ามาร่วมรับผิดชอบ

ส่วนธนาคาร การซื้อลดตั๋วส่งออก ถือเป็นการสนับสนุนการเพิ่มรอบการใช้วงเงิน Packing Cradit ให้เร็วขึ้น เพราะลูกค้าจะมีเงินหมุนเวียนเข้ามาก่อนที่จะได้รับชำระค่าสินค้า ที่สำคัญผลตอบแทนที่ธนาคารได้รับก็เพิ่มขึ้น เพราะเท่ากับได้เพิ่มวงเงินให้กับลูกค้าเป็น 2 วงเงิน

ธนาคารกสิกรไทย ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจากบริการใหม่นี้ จะทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นได้อีก 10,000 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.