เกมที่เปลี่ยนแทบทุกวัน


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

21 เม.ย.
- ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาถอดบริษัทเอฟเฟคทีฟ แพลนเนอร์ส (EPL) ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถบริหารได้ตามแผน และได้แต่งตั้งประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารเดิมร่วมกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว ก่อนให้เจ้าหนี้ลงมติคัดเลือกผู้บริหารแผนรายใหม่ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม EPL ยังเป็นผู้บริหารแผนของบริษัทในเครือ TPI อีก 6 แห่ง

22 เม.ย.
- คณะกรรมการเจ้าหนี้ ได้สั่งตัดเงินกู้หมุนเวียน จำนวน 80 ล้านดอลลาร์ ที่ให้กับ TPI ในช่วงการฟื้นฟูกิจการเป็นการชั่วคราว เพื่อรอดูว่าผู้บริหารแผนคนใหม่จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ได้หรือไม่ พร้อมกันนั้น ก็ได้กำหนดวันประชุมเจ้าหนี้เพื่อคัดเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ในวันที่ 12 พฤษภาคม

- พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรมจะเข้าไปเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลายจนมีผลกระทบกับพนักงานของ TPI ซึ่งมีจำนวน 7,300 คน

23 เม.ย.
- ดิเอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล เสนอบทความเชิงวิเคราะห์ที่สะท้อนให้เห็นปฏิกิริยาด้านลบจากกรณีนี้ โดยการ สัมภาษณ์ตัวแทนของบริษัทหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่กล่าวคล้ายกันว่าเป็นช่องโหว่ในระบบยุติธรรมของไทย และอาจมีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต

24 เม.ย.

- เริ่มปรากฏรายชื่อบุคคลหลายคนที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ และลูกหนี้ ที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารแผน TPI แต่ยังไม่มีชื่อของสุวรรณ วลัยเสถียร

30 เม.ย.
- สุวรรณ วลัยเสถียร ได้เปิดตัวในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานการเจรจาในกรณีของ TPI โดยยอมรับว่าได้รับการทาบทามจากชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ ขณะเดียวกันตัวแทนจากฝ่ายเจ้าหนี้ ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีชื่อของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อยู่ในคณะผู้บริหารแผนชุดใหม่ ซึ่งกำลังจะมีการคัดเลือกกัน

1 พ.ค.
- ฝ่ายบุคคลของ TPI ได้มีคำสั่งปลดพนักงานตั้งแต่ระดับรองผู้จัดการใหญ่ลงมา จำนวน 32 คน โดยอ้างว่าเป็นผู้ที่ทำงานสนองนโยบายของ EPL โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน แต่คำสั่งนี้ถูกคัดค้านจากตัวแทน จพท.ที่เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว ขณะเดียวกัน EPL ในฐานะผู้บริหารแผนบริษัทในเครือ TPI ได้ใช้สิทธิ์เรียกหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัท
- นิตยสารฟาร์อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว ได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์กรณี TPI ว่าเป็นสัญญาณไม่ดีต่อนักลงทุนต่างประเทศในไทย

2 พ.ค.
- สุวรรณ วลัยเสถียร นำเสนอรายชื่อกรรมการบริษัทที่เสนอตัวเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู TPI รายใหม่ต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 12 พฤษภาคม โดยมีชื่อของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธาน พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมากล่าวถึงการแก้ปัญหากรณีนี้ว่าทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ ไม่ควรมีทิฐิซึ่งกันและกัน เพราะจะทำให้พังได้ทั้ง 2 ฝ่าย

5 พ.ค.
- สุวรรณ วลัยเสถียร ให้รายละเอียดแนวทางฟื้นฟูกิจการ TPI ว่าบริษัทที่จะเข้าไปดำเนินการ ใช้ชื่อว่าบริษัทบริหารแผนไทย ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย 100% มีกรรมการประกอบด้วยพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา และพละ สุขเวช อดีต ผู้ว่า ปตท. และในการบริหารแผน จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายลูกหนี้ส่งกรรมการเข้าร่วมด้วย 1 คน ในการเปิดเผยราย ละเอียดครั้งนี้ สุวรรณได้อ้างว่าเป็นตัวแทนที่รัฐบาลส่งเข้ามา และได้มีการรายงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ รับทราบแล้ว ขณะที่ฝ่ายลูกหนี้ ก็มีการเตรียมรายชื่อที่จะเสนอให้ที่ประชุมในวันที่ 12 พฤษภาคม คัดเลือกให้เป็นผู้บริหารแผนเช่นกัน

6 พ.ค. - สหภาพแรงงาน TPI ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ยอมรับแผนของบริษัทบริหารแผนไทย เพราะเห็นว่าเป็นบริษัทที่เจ้าหนี้ส่งเข้ามาเหมือน EPL เพียงแต่เปลี่ยนหน้าเป็นบริษัทของคนไทย 100% เท่านั้น

7 พ.ค. - จพท.เรียกประชุม 3 ฝ่ายประกอบด้วยเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และจพท. เพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นก่อนการประชุมในวันที่ 12 พฤษภาคม แต่การประชุมล้ม เนื่องจากฝ่ายลูกหนี้ไม่มาร่วม

9 พ.ค. - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ แกนนำเจ้าหนี้ และประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารแผนชั่วคราว TPI เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านพิษณุโลก ร่วมกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และสุชาติ เชาว์วิศิษฐ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และได้ข้อสรุปว่าคณะกรรมการบริหารแผนชุดใหม่จะมี 15 คน โดยให้แต่ละฝ่ายเสนอรรายชื่อบุคคลเข้ามาฝ่ายละ 14 คน ให้ ดร.สมคิดเป็นผู้คัดเลือกเหลือฝ่ายละ 7 คน ส่วนอีก 1 คน จะเป็นตัวแทนที่รัฐบาลส่งเข้าไป

12 พ.ค. - การประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ เพื่อคัดเลือกผู้บริหารแผนชุดใหม่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยตัวแทนธนาคารกรุงเทพ และฝ่ายลูกหนี้เห็นชอบให้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 19 พฤษภาคม เพื่อพิจารณาแนวทางที่ทางรัฐบาลเสนอเข้ามาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ขณะที่เจ้าหนี้ต่างประเทศ ที่ยังไม่รับรู้เรื่องนี้ ได้แสดงความไม่พอใจ

13 พ.ค. - ตัวแทนบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ได้ยื่นหนังสือเรียกหนี้คืนจาก TPI จำนวน 319 ล้านดอลลาร์
- ศาลล้มละลายกลางได้ถอด EPL ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนบริษัทในเครือ TPI 6 แห่ง โดยให้ TPI และจพท.เข้าเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว

15 พ.ค. - ลูกหนี้ ได้ส่งรายชื่อบุคคลจำนวน 15 คนให้กับดร.สมคิด ขณะที่ฝ่ายเจ้าหนี้ยังไม่ส่ง แต่มีกระแสว่าเจ้าหนี้ต่างประเทศยังคงยืนยันแนวทางให้บริษัทบริหารแผนไทย ที่มีสุวรรณ วลัยเสถียร เป็นแกนนำ เข้าไปเป็นผู้บริหารแผน TPI

16 พ.ค. - พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เรียกตัวแทนธนาคารกรุงเทพ กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ และ IFC เข้าพบเพื่อหาข้อสรุปก่อนการประชุมในวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งในการพบกันคราวนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เสนอแนวทางใหม่ 3 แนวทางประกอบด้วย 1-ให้เจ้าหนี้ยืนยันตามแนวทางเดิม คือเสนอชื่อบริษัทผู้บริหารแผนไทย 2-เพิ่มสัดส่วนตัวแทนจากฝ่ายลูกหนี้ให้เข้าไปร่วมในบริษัทบริหารแผนไทยมากขึ้น และ 3-เลื่อนการประชุมออกไปก่อน

19 พ.ค. - การประชุมยังไม่ได้ข้อสรุป โดยตัวแทนจพท.ได้เลื่อนให้ไปคัดเลือกกันอีกครั้งในวันที่ 2 มิถุนายน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ภายในกลุ่มเจ้าหนี้เริ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างเจ้าหนี้ต่างประเทศ ซึ่งนำโดย IFC ที่ยืนยันจะใช้บริษัทบริหารแผนไทย ส่วนเจ้าหนี้ไทย ที่นำโดยธนาคารกรุงเทพ มีแนวโน้มจะทำตามแนวทางของรัฐบาล

21 พ.ค. - จพท.แจ้งต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากครบกำหนด 30 วันหลังจากมีคำพิพากษาถอด EPL จากการเป็นผู้บริหารแผน โดยจะขอเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้ เพื่อคัดเลือกผู้บริหารแผนในวันที่ 2 มิถุนายน

22 พ.ค. - สุวรรณ วลัยเสถียร รองประธานบริษัทบริหารแผนไทย ได้กล่าวว่าได้ทำแผนฟื้นฟู TPI ชุดใหม่เสร็จแล้ว โดยกำลังทยอยส่งให้เจ้าหนี้ ในแผนดังกล่าวมีหลักการให้เพิ่มทุนจดทะเบียน TPI ขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง

26 พ.ค. - จพท.ได้นัดตัวแทนเจ้าหนี้ และลูกหนี้ มาเจรจาเพื่อหาทางออกในการคัดเลือกผู้บริหารแผน ซึ่งตัวแทนลูกหนี้ยังยืนยัน แนวทางที่รัฐบาลเสนอ คือมีตัวแทนเจ้าหนี้และลูกหนี้ฝ่ายละ 7 คน และมีตัวแทนจากรัฐบาล 1 คน เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพ ตัวแทนเจ้าหนี้ฝ่ายไทย แต่ตัวแทนเจ้าหนี้ต่างประเทศ ไม่มีตัวแทนเข้าร่วม

27 พ.ค. - กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางใหม่ ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของ TPI อีกครั้ง โดยใช้เวลา 90 วัน

28 พ.ค. - ศาลล้มละลายกลางได้เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย โดยเรียกตัวแทนจากเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และตัวแทนจากรัฐบาลเข้าร่วมหารือกัน โดยการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนเจ้าหนี้ต่างประเทศเข้าร่วมครบทุกคน ผลการประชุมปรากฏว่าตัวแทนเจ้าหนี้ได้ปฏิเสธแนวทางที่รัฐบาลได้เคยเสนอไว้ทั้ง 2 แนวทางโดยสิ้นเชิง และมีแนวโน้มว่าในวันที่ 2 มิถุนายน คณะกรรมการเจ้าหนี้จะมีมติเลือกบริษัทบริหารแผนไทย ให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI

2 มิ.ย. - ที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ ซึ่งปรากฏว่า 99.6% ของเจ้าหนี้ที่เข้ามาร่วมประชุม โหวตเลือกบริษัทผู้บริหารแผนไทย ให้เป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของ TPI ซึ่ง จพท.จะนำผลการโหวตครั้งนี้ เสนอต่อศาลล้มละลายกลางแต่งตั้ง เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

13 มิ.ย. - ล่าสุดศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่อนุมัติบริษัทบริหารแผนไทย โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูแทน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.