เป็นเหมือนเกมที่พลิกผันตลอดเวลากว่า 1 เดือน ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาถอดบริษัทเอฟเฟคทีฟ
แพลนเนอร์ส (EPL) ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทปิโตรเคมีกัลไทย
(TPI) และแต่งตั้งประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร ผู้ซึ่งแสดงบทบาทเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเจ้าหนี้มาตลอดเวลากว่า
3 ปี เข้าเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว ร่วมกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.)
แต่ในที่สุด กรณีนี้ก็ได้บทสรุปตรงที่เจ้าหนี้มีน้ำหนักมากกว่าในการโหวตเลือกให้บริษัทบริหารแผนไทย
ซึ่งนำทีมโดยสุวรรณ วลัยเสถียร เป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ ที่จะเข้าไปรับหน้าที่แทน
EPL
แม้ว่าระหว่างเวลาที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ รัฐบาลโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี พยายามยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นตัวกลางหาทางออกที่น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
แต่สุดท้ายแล้ว กลุ่มเจ้าหนี้ก็ไม่เลือกหนทางนั้น
เหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้กรณี TPI ต้องได้บทสรุปเช่นนี้ ก็น่าจะเนื่องมาจากบุคลิกส่วนตัวของประชัย
ที่ขัดแย้งไปกับทุกฝ่าย ไม่เว้นแต่ จพท.ที่ต้องเป็นผู้บริหารแผนร่วมกับเขาตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่
21 พฤษภาคม
ตลอดระยะเวลา 51 วันที่เขาเหมือนกับได้กลับบ้านเก่าเพื่อบริหารกิจการของ
TPI อีกครั้ง การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ ของ TPI ระหว่างที่เขาเข้าเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวแต่ละอย่าง
ล้วนไม่ได้รับความเห็นชอบจาก จพท.แทบทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นกรณีการไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยงวดเดือนเมษายน และพฤษภาคม การจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาประเมินทรัพย์สิน
การจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย รวมถึงการไล่ออกพนักงานตั้งแต่ระดับบริหารลงไปจำนวน
38 คน ได้ถูก จพท.แสดงความ เห็นคัดค้านอย่างเป็นทางการออกมา
ในเวลา 51 วันดังกล่าว ดูเหมือนจะมีเพียงเรื่องเดียวที่จพท.ไม่แสดงท่าทีคัดค้านออกมา
คือการตั้งอัตราเงินเดือนเพื่อจ่ายให้กับกลุ่มของประชัย
อัตราเงินเดือนดังกล่าว ประกอบด้วยประชัย ประทีป และ ประมวล เลี่ยวไพรัตน์
คนละ 1.5 ล้านบาท สมชาย สกุลสุรรัตน์ 1.5 ล้านบาท อรพินท์ เลี่ยวไพรัตน์
1 ล้านบาท และประกิต ประทีปเสน 5 แสนบาท รวม 6 คน คิดเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท
มองในมุมของประชัย เงินก้อนนี้ที่เขาได้รับไม่น่าจะคุ้ม