NPL หนี้บุคคลพุ่ง 64% น้ำมันกระทืบซ้ำอีก 80 สต.


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

รายจ่ายท่วมรายได้ แบงก์ชาติตะลึง ณ มี.ค. 51 สินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป เป็นเอ็นพีแอลทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพุ่งถึง 22% เฉพาะเอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มสูงถึง 64.45% แสดงให้เห็นผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนจำใจเบี้ยวหนี้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ครม.วานนี้อนุมัติเพิ่มเงิน ขรก.ระดับล่างจิ๊บจ๊อย สวนทางราคาน้ำมันที่วันนี้เชลล์ปรับขึ้นอีก 80 สต.

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท.ได้ประกาศยอดการใช้บริการบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลล่าสุด ณ สิ้นเดือน มี.ค.หรือไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า ในระบบมีจำนวนบัญชีของผู้มาขอบริการสินเชื่อส่วนบุคลของธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างชาติ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ทั้งสิ้น 10,846,204 บัญชี เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 719,200 บัญชี หรือคิดเป็น 7.1%

ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคลโดยรวมมีจำนวน 206,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 16,981 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.96% แบ่งเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ไทย 92,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.69% ส่วนนอนแบงก์ 91,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.85% และสาขาธนาคารต่างชาติกลับลดลง 3.26% โดยมียอดคงค้างอยู่ที่ 22,340 ล้านบาท

นอกจากนี้ หากพิจารณาสินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป หรือเริ่มมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 9,580 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 1,799 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23.12% โดยเป็นหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทย 3,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,514 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 65.45% ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลของนอนแบงก์มีทั้งสิ้น 4,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% และหนี้ในส่วนของสาขาธนาคารต่างชาติลดลง 8.06% ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างที่ 1,632 ล้านบาท

สายนโยบายสถาบันการเงินธปท.ยังรายงานเพิ่มเติมถึงธุรกิจบัตรเครดิตล่าสุด ณ สิ้นเดือนมี.ค.ของปีนี้ พบว่า ในระบบสถาบันการเงินมีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 12,064,293 บัตร เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 976,950 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.81% ขณะที่มียอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้น 174,765.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,382.62 ล้านบาท คิดเป็น 5.04% เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อของบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทย 3,970.08 ล้านบาท คิดเป็น 7.11% ผู้ประกอบการที่เป็นนอนแบงก์เพิ่มขึ้น 3,483.69 ล้านบาท คิดเป็น 4.53% และผู้ประกอบการที่เป็นสาขาธนาคารต่างชาติเพิ่มขึ้น 929.66 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.76%

ขณะเดียวกัน หากพิจารณายอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป โดยสิ้นเดือน มี.ค.มีหนี้เอ็นพีแอลรวมทั้งสิ้น 6,033.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 1,096.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.22% โดยเป็นสินเชื่อเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ไทย 2,273.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 430.58 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23.37% หนี้เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตนอนแบงก์ มีทั้งสิ้น 2,201.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 286.07 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.93% ขณะที่เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตธนาคารต่างประเทศมียอดคงค้าง 1,558.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 380.23 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.26%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ มียอดการใช้จ่ายโดยรวม 80,147.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 9,770 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.88% แบ่งเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ 58,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,528 ล้านบาท คิดเป็น 17.02% ส่วนปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีจำนวน 2,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 513 ล้านบาท คิดเป็น 21.33% และยอดการเบิกเงินสดล่วงหน้าอีก 18,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 729.83 ล้านบาท หรือ 4.09%

"ธปท.จะจับตาการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคต่อไป โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เพิ่มขึ้นถึง 64.45%" รายงานระบุแลว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตที่สูงกว่า 22% นั้น ประเมินว่า น่าจะเกิดขึ้นจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันรายได้ของประชาชนยังไม่เพิ่มขึ้นรวดเร็วเพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาต่อความสามารถในการชำระหนี้ขอลูกค้าให้ลดลง และส่งผลให้จำนวนรายที่มีปัญหาไม่สามารถชำระค่างวด หรือผ่อนส่งบัตรเครดิตได้มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเบี้ยวหนี้ของสถาบันการเงิน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน เม.ย.สูงถึง 6.2%

ครม.เพิ่มค่าครองชีพ ขรก. ต่ำซี 5 จิ๊บจ๊อย

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้มีมติให้เงินเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการ ต่ำกว่า ซี 5 ลงมา โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.51 คาดว่าจะใช้งบประมาณในปี 51 ประมาณ 340 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมข้าราชการพลเรือน ทหหาร ตำรวจ ครู ลูกจ้างประจำ รวม 3 แสนคน

"มั่นใจว่าจะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อ การปรับขึ้นครั้งนี้น่าจะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียน 300 ล้านบาทหลายรอบ" นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ปัจจุบัน ข้าราชการระดับ 5 ลงมาหรือเทียบเท่าที่มีอัตราเงินเดือนไม่ถึง 11,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพในอัตราเดือนละ 1,000 บาท เมื่อนำเงินช่วยเหลือการครองชีพรวมกับเงินเดือนแล้วจะต้องมีรายได้รวมไม่เกิน 11,000 บาท และหากข้าราชการได้รับเงินช่วยเหลือการครองชีพในอัตราเดือนละ 1,000 บาท รวมกับเงินเดือนแล้วยังมีรายได้ไม่ถึง 7,700 บาท ให้ได้รับเงินช่วยเหลือการครองชีพเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้มีรายได้รวมต่อเดือนเท่ากับ 7,700 บาท

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือข้าราชการระดับต้นตามนโยบายรัฐบาล ครม.จึงเห็นควรให้ปรับเงินช่วยเหลือการครองชีพ โดยปรับขยายเพดานเงินเดือนของข้าราชการที่ได้รับเงินค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เพดานเงินเดือนข้าราชการปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราขั้นต่ำ 7,700 บาทเป็น 8,200 บาท และขั้นสูงจาก 11,000 เป็น 11,700 บาท

*อนุมัติงบ 5 องค์กรอิสระ 2.5 หมื่นล้าน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ได้อนุมัติการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 ขององค์กรอิสระ 5 หน่วยงานตามที่สำนักงบประมาณเสนอมา ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครม.อนุมัติเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,501,159,700 บาท สำนักงานศาลยุติธรรม 16,763.66 ล้านบาท สภาการชาติไทย จำนวนเงิน 5,472,455,600 บาท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) วงเงิน 1,892,462,400 บาท สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วงเงิน 256,757,300 บาท

“เชลล์”นำขึ้นน้ำมัน80สต./ลิตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 พ.ค.) บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย, บ. ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ,สยามสหบริการ จำกัด(มหาชน) หรือ ซัสโก้ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ ได้แจ้งปรับขึ้นราคานำทุกชนิด 80 สตางค์ต่อลิตรส่งผลให้เบนซิน 95 ขยับเป็น 38.39 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 เป็น 37.29 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เป็น 34.39 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 เป็น 33.59 บาทต่อลิตร และดีเซลเป็น 35.24 บาทต่อลิตร ซึ่งถือเป็นอัตราการปรับขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ค้าน้ำมันไทย และราคาดังกล่าวยังทำสถิติใหม่อีกครั้ง

สำหรับ ปตท.และบางจาก ขยับเฉพาะกลุ่มเบนซิน 50 สตางค์ต่อลิตรทำให้เบนซิน 95 ขยับเป็น 38.09 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 เป็น 36.99 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เป็น 34.09 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็น 33.29 บาทต่อลิตรทำให้ราคากลุ่มเบนซินปตท.ต่ำกว่าเชลล์ 30 สตางค์ต่อลิตร ส่วนดีเซลไม่เปลี่ยนแปลงจึงทำให้ดีเซลปตท.ต่ำกว่าเชลล์ 80 สตางค์ต่อลิตร

นายไซม่อน เฮิร์ส ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดค้าปลีก บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เชลล์จำเป็นต้องปรับราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด 80 สตางค์ต่อลิตรเนื่องจากเฉลี่ยบริษัทยังคงต้องแบกรับภาระขาดทุนค้าปลีกน้ำมันจากการปรับราคาไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตั้งแต่ต้นปีแล้วรวม 600 ล้านบาท ซึ่งบริษัทพยายามทยอยปรับราคาเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนในขณะนี้ที่มีค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“ ทุกลิตรที่ขายเราขายต่ำกว่าทุนอย่างดีเซลนั้นเราขาดทุน 4.20 บาทต่อลิตร ขณะที่เบนซินล่าสุดมีค่าการตลาดเพียง 3 สตางค์ต่อลิตรแต่ที่เหมาะสมควรเป็น 1.50 บาทต่อลิตรทำให้ทุกลิตรเราขายขาดทุน ซึ่งราคาขายปลีกยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นต้องการให้ประชาชนประหยัดด้วยวิธีง่ายๆ เช่น จำกัดความเร็วรถยนต์ การเติมลมยางให้เหมาะสม เป็นต้น ส่วนรัฐนั้นควรจะดูในเรื่องของค่าการกลั่นที่ได้รับ 3 บาทต่อลิตรซึ่งผู้ค้าที่มีโรงกลั่นจะนำรายได้ส่วนนี้มาเฉลี่ยขาดทุนได้”นายไซม่อนกล่าว

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.จะพิจารณาแบบวันต่อวัน ซึ่งดีเซลคงจะมีการปรับขึ้นแน่นอนในสัปดาห์นี้ โดยล่าสุดนั้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขณะนี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็ประมาณ 3 บาทจากราคาขายที่ประมาณ 34.44 บาทต่อลิตร ขณะที่เบนซินค่าการตลาดต่ำเช่นกัน

"ขณะนี้กลุ่มปตท.ได้ปรับแผนการลงทุนและปรับเพิ่มเม็ดเงินลงทุนจากเดิมกว่า 800,000ล้านบาท เป็นประมาณ 943,000 ล้านบาท ในส่วนนี้จะเป็นของ ปตท. ประมาณ 227,568 ล้านบาท โดยแม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นแต่ภาพรวมรายได้คงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากปตท.จะมีส่วนในการแบกรับภาระกรณีราคาพลังงานในประเทศรวมกว่า 30,000 ล้านบาท"

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านน้ำมัน กล่าวว่า การปรับขึ้นน้ำมันเนื่องจากค่าการตลาดผู้ค้าขาดเฉลี่ยติดลบ กว่า 2 บาทต่อลิตรจึงยากที่ผู้ค้าจะตรึงไว้ในที่สุดคงต้องปรับราคาภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าห่วงคือราคาน้ำมันในไตรมาส 4 นั้นปกติจะสูงมากเมื่อราคาขณะนี้สูงอยู่จึงมีโอกาสที่จะเห็นระดับราคาน้ำมันดิบโลก 150 เหรียญต่อบาร์เรลได้ค่อนข้างสูง

นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า ปกติราคาน้ำมันไตรมาส 2 จะลดต่ำแต่ช่วง 1-2 ปีกลับตรงกันข้ามดังนั้นสิ่งที่น่าคิดคือราคาที่ปรับขึ้นดังกล่าวเป็นปัจจัยพื้นฐานหรือไม่เพราะหากดูความต้องการที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันแต่กำลังการผลิตกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่นช่วง 10 ปีแทบไม่ได้เกิดใหม่ ส่วนน้ำมันดิบหากพิจารณาจะมีเพียงซาอุดิอาระเบียเท่านั้นที่มีความสามารถจะผลิตเพิ่มแต่ก็ต้องอาศัยเวลาดังนั้นปีนี้ตลอดปียังเชื่อว่าน้ำมันจะทรงตัวระดับสูงแน่นอน

รายงานข่าวจากไทยออยล์แจ้งว่า ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันที่ 12 พ.ค. เวสต์เท็กซัสลด 1.73 เหรียญต่อบาร์เรลปิดที่ 124.23 เหรียญต่อบาร์เรล ดูไบขึ้น 1.86 เหรียญต่อบาร์เรลปิดที่ 120 เหรีญต่อบาร์เรล สำเร็จรูปสิงคโปร์เบนซิน 95 เพิ่ม 2.41 เหรียญต่อบาร์เรลปิดที่ 131.29 เหรียญต่อบาร์เรล ดีเซล ขึ้น 4.56 เหรียญต่อบาร์เรลปิดที่ 157.85 เหรียญต่อบาร์เรล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.