CBS โครงการที่จะทำให้ฝันขอวิโรจน์เป็นจริง

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมเคยฝัน และคิดว่าความฝันนั้นจะเป็นจริง คือในอนาคตต่อไป ผู้ใช้บริการของเรา จะเป็น 1 คน 1 บัญชี คือมี 1 บัญชีพอ ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้หรือเงินฝาก ใช้เบอร์บัญชีเดียวกัน หากวันนี้เอาเงินออกไปมาก ก็เป็นเงินกู้ ถ้าเอาเงินมาเข้าก็เป็นเงินฝาก"

ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างมาก ทำให้สิ่งที่วิโรจน์เคยฝันเอาไว้ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม

โดยเฉพาะที่ธนาคารกรุงไทย

ปีนี้เป็นปีที่ธนาคารกรุงไทยทุ่มงบประมาณจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา ระบบเทคโนโลยี

ธนาคารกำลังมีโครงการย้ายศูนย์คอมพิวเตอร์ที่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ และถนนศรีอยุธยาออกไป โดยจะก่อสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น 3 แห่ง กระจายไปตามย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วย backup ให้กันและกัน

นอกจากนี้ ธนาคารกำลังพัฒนาเพื่อนำระบบ Core Banking System : CBS เข้ามาใช้กับงานในธนาคาร

"งบประมาณที่เราจะใช้ครั้งนี้ตกประมาณ 4,000 ล้านบาท" ฉายฉาน กังวานพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาระบบเทคโนโลยีของธนาคารกรุงไทยบอก

CBS คือเทคโนโลยีที่จะใช้เชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และข้อมูลที่เคยกระจัด กระจายอยู่ตามฝ่ายงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน และให้สามารถทำงานร่วมกันได้ในระบบ real time

ข้อมูลที่จะถูกนำมาจัดให้เป็นระบบใหม่ จะช่วยให้ฝ่ายการตลาดสามารถสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ได้อย่างใกล้ชิด

ธนาคารกรุงไทย กำลังจะพัฒนาบทบาทของธนาคาร จากที่เป็นเพียงผู้รับเงินฝาก ปล่อยเงินกู้ให้เป็นเสมือนที่ปรึกษาของลูกค้าในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงิน โดยอาศัยฐานข้อมูลของลูกค้าที่มีอยู่

"ลูกค้าสามารถมาขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารได้ตลอดเวลาว่า เขากำลังต้องการอะไร และธนาคารจะสามารถช่วยเขาตรงไหน ซึ่งธนาคารก็จะอาศัยฐานข้อมูลนี้ในการให้คำแนะนำ เช่น ลูกค้าบอกต้องการจะทำประกัน เราก็จะดูในไฟล์ว่าลูกค้าคนนี้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนแต่ละเดือนอย่างไร แล้วเราก็จะเลือกกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับภาระค่าใช้จ่ายให้กับเขา"

ซึ่งบทบาทนี้ ต่อไปจะขยายไปถึงการที่จะกำหนดให้ลูกค้า 1 คน มีบัญชีกับ ธนาคารเพียง 1 บัญชีก็เพียงพอ

การลดจำนวนบัญชีลงมา จะมีผลต่อต้นทุนของธนาคารที่จะลดลง และการจัดการภายใน จะทำได้สะดวกมากขึ้น

"ต่อไปถ้ามีบัญชีเดียว หากลูกค้านำเงินมาฝากเป็นรายวัน เราก็จะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตรา call money rate หรือถ้าฝากเกิน 7 วัน เราก็ให้ saving rate พอฝากถึง 1 เดือน เราก็ให้ monthly rate เราก็ทำอย่างนี้ไล่ขึ้นไปจนถึงปี ถ้าเงินยังทิ้งไว้ แล้วเราจะมีกระบวนการจัดการที่แฟร์ว่าเงินก้อนไหนเขาเข้ามาแล้วแช่กี่วัน หรือเอาเข้าๆ ออกๆ เราจะจัดกระบวนการ ให้ลูกค้ารู้สึกว่าเรายุติธรรมกับเขา ในการจัดการเรื่องบัญชีเหล่านี้ เพราะฉะนั้นลูกค้า จะสบายใจได้ว่าเมื่อเอาเงินเข้า-ออกบัญชีนี้ แล้วเดี๋ยวแบงก์จะตัดไปจ่ายเป็นค่าผ่อนบ้าน เอง ตัดไปจ่ายโอดีเอง พูดง่ายๆ คือเราจะทำหน้าที่ cash management ให้" วิโรจน์ อธิบายคอนเซ็ปต์

ระบบ CBS ของธนาคารกรุงไทย ได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า Profile ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทซาสเชส จากสหรัฐอเมริกา การลงทุนเฉพาะในส่วนนี้ คิดเป็นเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการติดตั้งทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ในสำนักงานใหญ่และสาขา

ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ จะเริ่มทดลองระบบโดยการเดินคู่ขนานไปกับระบบปัจจุบัน ก่อนที่จะเริ่มใช้อย่างจริงจังประมาณปลายปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.