ไขรหัสมาตรฐาน CSR-DIW เตรียมความพร้อม สู่ ISO 26000


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

• ครั้งแรกของภาครัฐและอุตสาหกรรมที่ได้มีมาตรฐานCSRเวอร์ชั่นไทย
• เพื่อขานรับกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม
• มาทำความรู้จัก และเรียนรู้ “10 เข็มทิศ 7 กุญแจ”ที่ถอดแบบมาจาก ISO26000
• คำตอบสุดท้าย....ขององค์กรธุรกิจที่มุ่งเติบโตอย่างยั่งยืน !!!

ท่ามกลางกระแสฟีเวอร์ CSRที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการรอคอย มาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 มาตรฐานสำคัญที่จะทำให้ CSR ไม่ใช่แนวคิดหรือแนวปฏิบัติขององค์กรธุรกิจอีกต่อไป แต่จะถูกยกระดับขึ้นไปเป็นข้อเสนอ หรือข้อแนะนำ guidance document ที่เป็นมาตรฐานในการดำเนินงานขององค์กรในระดับสากล ที่องค์กรต่างๆ พึงปฏิบัติ

ทั้งนี้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้เลือกใช้ โดยคาดว่า มาตรฐาน ISO26000 จะประกาศใช้ในปี 2553 นี้ ส่งผลให้ทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรมหันมาสนใจและศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่มุ่งหวัง ให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนต่างเดินหน้าปฎิบัติการกันอย่างคึกคัก

ล่าสุด แม่งานของภาคผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดย “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับบทเป็น “หัวหอก”ในการเตรียมความพร้อมให้กับภาคผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้เลือกอย่าง “สมัครใจ”ในการ ด้วยการ จัดทำเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม ( Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works: CSR-DIW) ในแต่ละระดับ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ( ISO 26000 Social Responsibility) และได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551

ภายใต้โครงการนี้ เพื่อส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคมขึ้น ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นใบเบิกทาง ให้กับบรรดาโรงงานอุตสาหกรรม นำเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวไปปฏิบัติ และพัฒนาตนเองเข้าสู่ มาตรฐานสากลว่า ISO 26000 ต่อไป

ยึดแม่แบบ ISO 26000

อธิบดีกรมโรงงาน นายรัชดา สิงคาลวณิช เปิดเผยว่า มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม หรือ CSR-DIW ได้ถูกจัดทำขึ้น โดยการศึกษาและอิงหลักการ และประเด็นหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม 10 หลักการ และ 7 ประเด็นของ มาตรฐานสากล ISO 26000 เป็นหลัก โดย ยกเอาหลักการและประเด็นหลักๆมาทั้งหมด ขณะที่รายละเอียดอาจแตกต่างกันไป ทั้งนี้ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆสามารถศึกษา เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และนำเอาไปปฎิบัติได้จริง

“ ในมาตรฐาน CSR-DIW มีจุดที่เหมือนกับ ร่างมาตรฐาน ISO 26000 คือ 10 หลักการและ 7 ประเด็น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญนั้นมีครบ เพราะต้องการสร้างความคุ้นเคย และเตรียมความพร้อมก่อนที่มาตรฐานสากลจริงจะประกาศใช้ โดยประเด็นรายละเอียดได้มีการตัดออกไปหลายประเด็น เพื่อความเหมาะสม ”

เนื้อหาเด่นๆของ 10 หลักการ ครอบคลุมในการดำเนินธุรกิจทั้งภายในและภานนอกองค์กร อาทิ 1.การปฏิบัติตามกฎหมาย 2.การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล 3.การยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วยเสีย 4.ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ 5. ความโปร่งใส 6.การพัฒนาอย่างยั่งยืน 7.การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม.8 หลักการป้องกันล่วงหน้า 9.หลักการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน .10 หลักการเคารพต่อความหลากหลาย (เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา อายุ เพศ หรือความคิดเห็นทางการเมือง)

นอกจากนี้ ยังมีกำหนด ขอบข่ายและการนำไปใช้ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับอย่างชัดเจน ได้แก่ (1) ระดับพื้นฐาน (Beginning level) คือ มีการกำหนดนโยบาย มีแผนการปฏิบัติ มีการปฏิบัติตามแผน และตามเกณฑ์กำหนดสำหรับระดับพื้นฐาน (2) ระดับกลาง (Intermediate level) คือ คือ มีการกำหนดนโยบาย มีแผนการปฏิบัติ มีการปฏิบัติตามแผน มีการแก้ไขปรับปรุง และมีการปฏิบัติตามเกณฑ์กำหนดสำหรับระดับกลาง ซึ่งพัฒนามากขึ้น กว่าระดับพื้นฐาน และ (3) ระดับพัฒนา (Developing level) คือ คือ มีการกำหนดนโยบาย มีแผนการปฏิบัติ มีการปฏิบัติตามแผน มีการแก้ไขปรับปรุง และมีการปฏิบัติตามเกณฑ์กำหนดสำหรับระดับพัฒนา ซึ่งพัฒนามากขึ้นกว่าระดับกลาง

จุดที่น่าสนใจใน มาตรฐานตัวนี้ ยังได้กำหนดประเด็นในเรื่อง เกณฑ์การปฏิบัติ โดยได้จัดแบ่งออกเป็นด้านๆ ประกอบด้วย ด้านนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม มีการกำหนดนโยบาย การนำไปปฏิบัติ และการสื่อสาร ด้านการทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้กำหนดการชี้บ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดลำดับความสำคัญของผลประโยชน์และผลกระทบ รวมถึง แผนการเข้าถึงและการสื่อสาร ด้านการนำความรับผิดชอบต่อสังคมไปปฏิบัติ ได้กำหนดประเด็น ความตระหนักและความรู้ความสามารถ โครงสร้างการปฏิบัติงาน และ แผนการปฏิบัติ รวมถึง ทางด้านการประเมินผลการดำเนินงาน ได้กำหนด ประเด็น การเฝ้าระวัง และการแก้ไขปรับปรุง

นอกจากนี้ ยังได้อธิบาย “บทนิยาม” ในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง ความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการตัดสินใจหรือกิจกรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการของโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านพฤติกรรมที่โปร่งใสและมีจรรยาบรรณ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสวัสดิการของสังคม คำนึงถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย เป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้องกับพฤติกรรมตามมาตรฐานสากล และบูรณาการทั่วทั้งโรงงานอุตสาหกรรม 2.ส่วน “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อาจได้รับหรือได้รับผลประโยชน์หรือผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เห็นภาพของแต่ละประเด็นได้ชัดเจนขึ้น

แหล่งข่าว จากกรมโรงงาน กล่าวด้วยว่า ความสำคัญของมาตรฐาน CSR-DIW ต่อภาคผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั้น หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใด สามารถ ดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าวได้ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องทำมาค้าขายกับต่างประเทศอยู่จะช่วยเป็นใบเบิกทาง ทำให้ค้าขายได้ง่ายและเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น เพราะมาตรฐานตัวนี้เป็นเสมือนเครื่องมือสะท้อนว่า ผู้ประกอบการนั้นได้แสดงความ ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งปัจจุบันเป็นกระแสฟีเวอร์ทั่วโลกที่สังคมโลกรวมถึงธุรกิจได้ให้น้ำหนักกันมากขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

“ ล่าสุดกลุ่มประเทศในและนอก OECD ได้ทำข้อตกลงด้านซีเอสอาร์เป็นที่เรียร้อยแล้ว ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมไทยไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับ CSR อนาคตจะประสบปัญหาลำบาก โดยเฉพาะหากต้องมีการทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยอาจส่งผลถึงความไม่ยั่งยืนทางธุรกิจ และอาจขายสินค้าไม่ได้ แม้ว่าขณะนี้อาจไม่ได้มีข้อกำหนดซีเอสอาร์เป็นมาตรการกีดกันทางการค้านอกเหนือจากเรื่องภาษีก็ตาม แต่ในการให้ความสำคัญในประเด็นนี้ของกลุ่มประเทศอียูได้มีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว” อธิบดีกรมโรงงานคนเดิม บอก

สอดคล้องกับ ความเห็นของ แหล่งข่าว นักวิชาการด้าน CSR ของ สถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวถึง ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของCSRสำหรับภายในองค์กร ในแง่ของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ จะทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพและมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นในอัตราที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เนื่องจากเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ปัจจุบัน เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจที่มีซีเอสอาร์ ซึ่งเรียกกันเฉพาะว่า SRI (Social Responsibility Investing) นั้น มีมูลค่าเกิน 2 ล้านล้านเหรียญ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นโอกาสที่องค์กรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติของตลาด

ในแง่ของพนักงาน เกิดความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกับองค์กร ได้รับความสุขจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ นอกเหนือจากผลตอบแทนในรูปตัวเงิน ทำให้องค์กรสามารถที่จะรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ และในขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะชักชวนบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการ ให้เข้ามาทำงานกับองค์กรได้ ขณะเดียวกัน องค์กรสามารถสร้างรายได้และส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น จากการที่ลูกค้าพิจารณาเลือกซื้อสินค้าและบริการจากองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถที่จะลดรายจ่ายของกิจการ จากการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์

คำตอบสุดท้าย ธุรกิจเติบโตยั่งยืน?

อธิบดีคนเดิมยังกล่าวด้วยว่า บทบาทของCSR ยังเปรียบเสมือน “คำตอบสุดท้ายที่ดี ”และเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอย่างยั่งยืน “ ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน มีความหมายลึกซึ้งกว่ายาวนาน เปรียบเสมือนคีย์แซคเซสโซลูชั่นของธุรกิจปัจจุบัน อีกทั้งควรยึดหลัก 10 ประการ (หมายถึง การทำอะไรก็แล้วแต่ต้องคำนึงถึงกฎหมายทั้งในประเทศและกฎกติกาของโลกและต่างประเทศ และ 1 ใน 10 คือ การคำถึงถึงความยั่งยืน ไม่ใช่คำนึงถึงแต่เรื่อง profit กำไร แต่ควรคำนึงมี คนในสังคมpeople และโลกplanet ควบคู่กันไป)และในคีย์อิสชู 7 ข้อ ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่อง CSR ในประเด็นสิ่งแวดล้อมกำหนดชัดเจน ไม่ว่าจะทำธุรกิจใดๆก็แล้วแต่ ”

ทางด้านอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ผู้ช่วยศาตราจารย์ ด็อกเตอร์ “สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุธาสินี” ผู้เชี่ยวชาญด้าน ซีเอสอาร์ ให้ทัศนะจากการศึกษาเปรียบเทียบ มาตรฐาน CSR-DIW กับ ร่าง ISO26000 พบว่า ทั้งสองมีความสอดคล้องกันอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็น 10 หลักการสำคัญ และ 7 Key Issues ซึ่งทำให้มาตรฐานตัวนี้มีความสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยเด่นชัดขึ้น อีกทั้ง มาตรฐานที่กำหนดสามารถมองเห็นภาพของการแสดงความรับผิดชอบต่องสังคมได้ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถศึกษาและนำไปปฎิบัติได้จริงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ความแตกต่างของมาตรฐาน 2 ตัวนี้ก็ให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยเบื้องต้น แหล่งผู้จัดทำ โดย CSR-DIW เป็นมาตรฐานในประเทศไทย ซึ่งมีกรมโรงงาน ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดทำ ขณะที่ ISO26000 Social Responsibility เป็นมาตรฐานสากลที่จัดทำขึ้นโดย โรงงานอุตสาหกรรมระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization forStandardization: ISO) ได้จัดทำ ซึ่งมีแผนจะประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2553

ต่อมาเป็นรายละเอียด ซึ่งเชื่อว่า ทั้งหลักการ 10 ประการและ 7 ประเด็นหลักของทั้งสอง มาตรฐานก็จะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะ วัฒนธรรม ในแต่ละองค์กรธุรกิจและประเทศไม่เหมือนกัน

“CSR-DIW นี้ล้อมาจาก ดราฟตัวที่ 3 ของ ISO26000 ที่มีการapply เชื่อว่า หากISO 26000 ประกาศใช้จริงแล้ว มาตรฐานตัวนี้อาจต้องการปรับปรุงรายละเอียด หรือกำหนดเพิ่มเติมลงไป เพื่อให้มาตรฐานใกล้เคียงกันมากที่สุด อย่างไรก็ตาม บทบาทของ CSR-DIW ยังเปรียบเสมือน การโค้งชิ่ง หรือการฝึกสอนก่อนสู่สนามปฎิบัติอีกด้วย หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใดนำไปใช้ ก็จะช่วยเตรียมความพร้อมเบื้องต้นก่อนสู่สนามจริง ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงรอ ISO 26000 เมื่อถึงเวลานั้นก็สามารถยกระดับไปเทียบชั้นเดียวกันได้เลย” ผู้เชี่ยวชาญด้าน ซีเอสอาร์ ให้ความเห็น

หากผู้ประกอบอุตสาหกรรมใด ไม่อยากตกกระแสปรับตัวธุรกิจเข้าสู่ยุค CSRฟีเวอร์ ก็ควรปูทาง เตรียมตัวองค์กรแต่เนิ่นด้วย“ เข็มทิศ และกุญแจ”ที่ภาครัฐ หยิบยื่นให้แต่เนิ่นๆมีแต่ win-win ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว!!!

10 เข็มทิศ CSR-DIW

ในมาตรฐานแสดงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม หรือ CSR-DIW ได้กำหนดหลักการสำคัญ ซึ่งเปรียบเสมือน “ เข็มทิศ”ของแนวทางปฎิบัติ ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า แห่ง ได้ยึดเป็นหลักดำเนินการด้าน CSR ไว้อย่างน่าสนใจ

ตัวที่ 1 การปฏิบัติตามกฎหมาย
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรตั้งใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในเชิงรุกและเชิงรับอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ครอบคลุมถึงการรับผิดชอบต่อการกระทำที่เป็นเรื่องส่วนตัวของสมาชิกของโรงงานอุตสาหกรรม

ตัวที่ 2 การเคารพต่อแนวปฏิบัติสากล
ผู้ประกอบอุตสาหกรรมควรที่จะยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาสากล คำสั่ง คำประกาศ อนุสัญญา มติ และข้อแนะนำ ที่ได้รับการรับรองจากองค์กรระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมนั้นๆ

ตัวที่ 3 การยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วยเสีย
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรยอมรับว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจมีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลอยได้ของกิจกรรมของตน โดยควรหารือและเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรม และให้ได้รับทราบถึงนโยบายข้อเสนอ และการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อข้อมูลต่างๆ เช่น นโยบาย ข้อเสนอ และการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการชี้บ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การกำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการสื่อสาร และการพิจารณาความเห็นที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีส่วนส่วนเสีย

ตัวที่ 4 การความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรแสดงและอธิบายให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบอย่างชัดเจนและสมเหตุสมผลถึงหน้าที่ นโยบาย การตัดสินใจและการกระทำที่โรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบและผลกระทบที่มีหรืออาจมี ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโรงงานอุตสาหกรรมควรแสดงถึงวัตถุประสงค์และความก้าวหน้า ความสำเร็จและความล้มเหลว และอุปสรรคและโอกาสของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งควรมีการรายงานอย่างสม่ำเสมอด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงในแง่การค้าหรือความปลอดภัยอื่นๆ

ตัวที่ 5 การความโปร่งใส
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีความตั้งใจในการเปิดเผยโครงสร้างภายใน นโยบาย กฎระเบียบ วิธีป้องกันความรับผิดชอบ กระบวนการตัดสินใจ และข้อมูลอื่นๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

ตัวที่ 6 การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีความพยายามอย่างต่อเนื่องใน “การบรรลุความต้องการในปัจจุบันโดยไม่ทำให้ความต้องการของคนรุ่นอนาคตเสียไป”การพัฒนาอย่างยั่งยืนอาจพิจารณาได้หลายมิติ ทั้งด้านสังคม (รวมถึงด้านวัฒนธรรม) สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เป้าหมาย ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของสังคมโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต และเพื่อการจัดการความอุดมสมบูรณ์และทรัพยากรธรรมชาติ

ตัวที่ 7 การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรมีการบริหารจัดการและดำเนินการกิจกรรมของตนในลักษณะที่มีศีลธรรมจรรยาและน่าชื่นชมยกย่อง ซึ่งประกอบด้วยความจริงใจ ความซื่อสัตย์ และความซื่อตรงตัวอย่างของการปฏิบัติที่ไม่มีจริยธรรม เช่น คอรัปชั่น ความไม่ซื่อสัตย์ การบิดเบือน การข่มขู่ การเลือกปฏิบัติ และการเล่นพรรคเล่นพวก

ตัวที่ 8 การป้องกันล่วงหน้า
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรทำการคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างรอบคอบ ในการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและรักษาผลประโยชน์ของตน ในกรณีที่มีความเสี่ยงการป้องกันล่วงหน้าสำคัญอย่างยิ่งในกรณีที่มีความเสี่ยงหรือความเสียหายร้ายแรงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อสุขภาพและทรัพย์สินของมนุษย์ หรือต่อสิ่งแวดล้อม การป้องกันล่วงหน้าควรพิจารณาผลลัพธ์ของการดำเนินการในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งควรมีข้อมูลและ องค์ความรู้ครบถ้วนมารองรับก่อนตัดสินใจดำเนินกิจกรรมใดๆเครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้หลักการนี้ คือ การประเมินความเสี่ยง และ การทบทวนอย่างรอบคอบ

ตัวที่ 9 การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรดำเนินนโยบายและกิจกรรมที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และประกาศจากองค์กรระดับสากล

ตัวที่ 10 การเคารพต่อความหลากหลาย
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรจ้างงานโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา อายุ เพศ หรือความคิดเห็นทางการเมือง มีวิธีการปฏิบัติเชิงบวกต่อความหลากหลายว่าเป็นปัจจัยสำหรับการเปลี่ยนแปลง และควรยอมรับความแตกต่างทางสังคมสิ่งแวดล้อม กฎหมาย และวัฒนธรรมในโรงงานอุตสาหกรรมและระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม ยอมรับขีดจำกัดในเรื่องความสามารถในการสื่อสารทางภาษา ประสบการณ์ การฝึกอบรมหรือการศึกษา ความพิการ หรืออื่นๆ และให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานเด็ก และนโยบายการปลดจากงานที่ไม่เลือกปฏิบัติ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.