|

สวนสยาม vs ดรีมเวิลด์!สวนหมัดข้ามสนามรบ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตัวเลขการเติบโตลดลง 5% ของตลาดสวนสนุกในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นเสมือนแรงบีบให้ผู้เล่นหลักๆในตลาดอย่าง สวนสยาม และ ดรีมเวิลด์ ต้องพลิกกระบวนรบ ควานหาดีมานด์เพื่อกระตุ้นให้ตลาดที่มีแนวโน้มถดถอยนี้ กลับมามีสีสันอีกครั้ง และนั่นคือเกมรบใหม่ของตลาดสวนสนุกที่มีมูลค่าเกือบหมื่นล้านบาทต่อปี ที่ต่างต้องเร่งปักธงรบเพื่อขอเป็นผู้นำของตลาด....
ภาวะการณ์เติบโตแบบติดลบของตลาดสวนสนุกในบ้านเรา มีออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงปลายปี50มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสเรื่องของไม่ความปลอดภัยบวกกับเทรนด์ในเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยนิยมเล่นเครื่องเล่นมากนัก กอปรกับตลาดใหม่ๆที่จะเข้ามาพลอยมีน้อยลงตามไปด้วยส่งผลให้สวนสยามมีลูกค้าลดลงถึง 10% และมีรายได้รวมลดลงอีกร้อยละ 30
ความพยายามครั้งใหม่ของสวนสยาม หลังจากพักรบไประยะหนึ่ง กลับมาครั้งนี้เจ้าของฉายา ทะเลกรุงเทพ ตัดสินใจเริ่มปรับกระบวนทัพใหม่เดินหน้าพัฒนาต่อตามแผนเดิมที่ได้ลงทุนไป 3,000 ล้านบาททั้งซื้อเครื่องเล่นเข้ามาเพิ่ม 17 เครื่องและปรับปรุงเครื่องเล่นเดิมให้มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ดรีมเวิลด์ ก็ไม่ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามบุกฝ่ายเดียว เร่งเดินเครื่องต่อยอดความสำเร็จเนรมิตเครื่องเล่นชิ้นใหม่สกายโคสเตอร์ รถไฟเหาะแขวนรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเปิดให้บริการ อุบัติการณ์ความรุนแรงของศึกชิงพื้นที่ธุรกิจสวนสนุก นับจากนี้จะกลายเป็นเกมต่อสู้กันชนิดหมัดต่อหมัด
หลายเดือนที่ผ่านมาของการเปิดให้บริการเครื่องเล่นตัวใหม่ในสวนสยามก็ยังไม่สามารถแจ้งเกิดหรือเบียดผู้นำตลาดเครื่องเล่นอย่าง ดรีมเวิลด์ได้มากนัก แม้ว่าการเปิดตัวเครื่องเล่นชิ้นใหม่จะใช้โปรโมชั่นและการโหมทำประชาสัมพันธ์เป็นหลัก พร้อมกับขายความน่าเชื่อถือของการใช้ทีมงานมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการ นั่นเป็นเพราะสวนสยามรู้ตัวดีว่าการเปลี่ยนจุดขายใหม่โดยเฉพาะการชูเครื่องเล่นเป็นหลักต้องใช้เวลา แน่นอนคนเป็นผู้ที่มาทีหลังย่อมห่างจากผู้นำหลายก้าว ทั้งๆที่เปิดให้บริการมาก่อน(สวนน้ำ)ก็ตาม
ขณะเดียวกันสวนสยาม พยายามจะแทรกเข้าไปในกลุ่มผู้ชื่นชอบในเครื่องเล่นได้มากขึ้นเนื่องจากมีเครื่องเล่น 6 ชนิดที่ฮอตฮิตในยุโรปและอเมริกาเปิดให้บริการ ขณะที่อีก 10 ชนิดที่เหลือคาดว่าจะทยอยติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ภายในปีหน้า ในฐานะที่เป็นผู้ตาม และผู้ท้าชิง การสร้างความแตกต่างในด้านสินค้าโดยเฉพาะเครื่องเล่นใหม่ๆถูกมองว่าเป็นโปรดักส์ที่สามารถลอกเลียนแบบได้เพียงแต่ต้องใช้งบลงทุนสูงตามไปด้วย
สอดคล้องกับแผนการตลาดที่ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ผู้ก่อตั้งสวนสยามบอกไว้ว่า ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 300-500 ล้านบาท กำไรสุทธิ 60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปีก่อนที่ได้ 30 ล้านบาท และภายหลังจากติดตั้งเครื่องเล่นใหม่ครบทั้งหมด คาดว่าในปี 2552 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 700-1,000 ล้านบาท
“ปี 2550 มีผู้มาใช้บริการสวนสยามกว่า 1.7 ล้านราย คาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 1.8 ล้านราย และปัจจุบันมีผู้ถือบัตรสมาชิกถึง 4 หมื่นราย”ไชยวัฒน์ กล่าว
นอกจากนั้นเดือนตุลาคมศกนี้สวนสยามจะเปิดตัวสวนสัตว์แอฟริกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการนำสัตว์จากแอฟริกาเข้ามาโชว์จำนวน 200-300 ตัว โดยขณะนี้ได้ทยอยนำเข้ามาอยู่ภายในสวนสยามบ้างแล้วจำนวน 100 ตัว ซึ่งภายหลังจากมีการติดตั้งเครื่องเล่นแล้วเสร็จและเปิดสวนสัตว์แอฟริกา จะทำให้สวนสยามมีคอนเซ็ปต์ให้บริการใหม่ภายใต้ชื่อ นิว สยาม พาร์ค ซิตี้
ด้านอำพล สุทธิเพียร กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น จำกัด ผู้บริหารสวนสนุกดรีมเวิลด์ เตรียมปรับราคาบัตรผ่านปะตูเพิ่มอีก 35 บาท จากปัจจุบันจำหน่ายบัตรผู้ใหญ่ในราคา 365 บาท ซึ่งถือเป็นการปรับครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากภาวะต้นทุนโดยรวมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนในสวนสนุกดรีมเวิลด์ลดลงราว 5% จากปรกติมีปริมาณนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 2 ล้านคนต่อปี
สถานการณ์ดังกล่าวดรีมเวิลด์จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อให้มีผู้เข้ามาใช้บริการในอัตราเดิมอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคนต่อปี หวังกระตุ้นในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนที่ผ่านมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดภายใต้ 2 แคมเปญที่ไปผูกร่วมกับพันธมิตรธุรกิจเครื่องดื่มเป๊ปซี่ นำฝาจีบ 3 ฝา หรือฝาเกลียว 2 ฝา มาใช้เป็นส่วนลดบัตรผ่านประตูได้ 50 บาท ขณะที่โปรโมชั่นสองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาได้ให้สิทธิผู้สูงอายุเกิน 60 ปี สามารถเข้าสวนสนุกดรีมเวิลด์ได้ฟรี ส่งผลให้มีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมากในช่วงนั้น
ปัจจุบันดรีมเวิลด์มีความแตกต่างในจุดที่เป็นสถานที่พักผ่อนแบบครอบครัว และให้บริการด้านภูมิทัศน์ที่เป็นจุดถ่ายรูปด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าแบ่งออกเป็นสัดส่วน คนไทย 70% และ 30% เป็นชาวต่างชาติ
“ช่วงปลายปีที่ผ่านมาบริษัทใช้งบลงทุนไปกว่า 250 ล้านบาท เปิดตัวให้บริการ 2 เครื่องเล่นใหม่ล่าสุดคือ สกาย โคลสเตอร์ และสวน 4 ทวีป เพิ่มเติมจากเดิมที่เปิดให้บริการเครื่องเล่นกว่า 20 ชนิดในสวนสนุกดรีมเวิลด์ โดยการดำเนินการครั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการพักผ่อนหย่อนใจในสวนสนุกมากขึ้นในฤดูกาลอื่นๆนอกเหนือจากในช่วงปิดเทอมหรือหน้าร้อน ”อำพลกล่าว
ปัจจุบันธุรกิจสวนสนุกในเมืองไทยกำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษถึงความไม่ปลอดภัยในเครื่องเล่นต่างๆที่เปิดให้บริการ จากสถิติช่วงปีที่ผ่านมา เครื่องเล่นภายในสวนสนุกจะเป็นจุดขายที่สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปสัมผัส แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเครื่องเล่นก็จะส่งผลเพียงระยะสั้นๆเท่านั้นไม่นานก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ
เป็นที่สังเกตว่าแต่ละค่ายแบรนด์ในธุรกิจสวนสนุกจะสร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้นมา เพื่อต้องการที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งขาจรและขาประจำให้ได้มากที่สุด แน่นอนการสร้างกิจกรรมใหม่ๆหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจจึงกลายเป็นยุทธวิธีที่จะถูกนำมาใช้มากที่สุดสำหรับธุรกิจบริการแบบนี้ รวมไปถึงกลยุทธ์ของแต่ละค่ายจึงจำเป็นต้องฉีกหนีคู่แข่งให้ได้มากที่สุดเช่นกัน
เครื่องเล่นของสวนสยามที่เปิดให้บริการ วอเท็กซ์ หรือรถไฟเหาะตีลังกาเกลียวสว่านที่ใหญ่ที่สุดในโลก, บูมเมอแรง รถไฟเหาะตีลังกาถอยหลัง, ไซ-แอม ทาวเวอร์-หอคอยชมวิวลอยฟ้าสูง 100 เมตร, ไจแอ้นท์ดร็อป-ยักษ์ตกตึกดิ่งพสุธาสูง 75 เมตร, อะลาดิน-พรมเหาะมหัศจรรย์ และเหยี่ยวเวหาเครื่องเล่นใหม่ของ ดรีมเวิลด์ ที่เปิดให้บริการแล้ว สกายโคสเตอร์ รถไฟเหาะแขวนรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาและ สวน 4 ทวีปที่ไว้สำหรับเก็บภาพเป็นที่ระลึก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|