|
ปรับโฟกัส วัดกระแสรับอานิสงส์หนุนหุ้นพลังงานหมุนเวียน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ราคาน้ำมันแพงทำกระแสพลังงานหมุนเวียนเดินหน้าต่อเนื่อง น่าสนใจยกแผงทั้งกลุ่มพืชทำไบโอดีเซล-เอทานอล-พลังงานแสงอาทิตย์ บล.นครหลวงไทย มองมีผลผลิตออกมาต่อเนื่อง ได้พลังงานสะอาด ทำให้ความมั่นคงในระยะยาว
จากแนวโน้มพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มสัดส่วนขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบยังคงยืนเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรลอย่างแข็งแกร่ง ทำให้พืช 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ,ถั่วเหลือง ,ข้าวโพด และอ้อย ได้ประโยชน์จากราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการเอทานอลในประเทศผลประกอบการก็จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ประกอบการเกี่ยวกับเซลล์แสงอาทิตย์ธุรกิจต้นน้ำ และ บางจาก ปิโตรเลียม ก็ได้อานิสงค์จากการปรับรับกระแสมาใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยเช่นกัน
บริษัทหลักทรัพย์(บล.)นครหลวงไทย มองว่า กระแสการใช้พลังงานหมุนเวียนในส่วนของไบโอดีเซลนี้ ซึ่งยุคแรกยังคงใช้วัตถุดิบจากวัตถุดิบเมล็ด รวมถึงผลพืชที่ให้น้ำมันหรือความหวานจะส่งผลบวกต่อกลุ่ม ผู้ผลิตปาล์ม คือ บมจ. สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (UPOIC), บมจ.ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม (UVAN), บมจ.ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (CPI) ส่วนน้ำมันถั่วเหลือง คือ บมจ.น้ำมันพืชไทย (TVO) นอกจากนี้ยังมี ข้าวโพด และ อ้อย ซึ่งในระยะสั้นและระยะกลางเชื่อว่าราคาสินค้าจะปรับขึ้นจากการนำไปใช้ ในการผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลได้
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การพัฒนาไบโอดีเซลเข้าสู่ยุคที่ 2 ซึ่งสามารถใช้ผลผลิตจากส่วนของพืช ชนิดอื่นได้ อาทิ เซลลูโลส จึงคาดว่าจะทำให้แรงกดดันด้านความต้องการนำไปผลิตไบโอดีเซลต่อพืชให้น้ำมันที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเหล่านี้ลดลง
ขณะที่ ผู้ประกอบการซึ่งเกี่ยวข้องกับเอทานอลซึ่งน่าสนใจก็มี บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) และ บมจ. ลานนา รีซอสเซส(LANNA)โดยประเมินว่าผลงานจะดีขึ้นต่อเนื่องจากนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยการลดภาษีให้รถยนต์ที่สามารถ ใช้น้ำมัน E20 บวกกับความเชื่อมั่นและการยอมรับแก๊สโซฮอล์ที่สูงโดดเด่นขึ้นในปีนี้ ทำให้คาดว่าสถานการณ์การผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนผู้ประกอบการเซลล์แสงอาทิตย์ จากความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์โลก ทำให้คาดแนวโน้มความ ตึงตัวของธุรกิจต้นน้ำ(ซิลิคอนถึงเซลล์แสงอาทิตย์) ยังคงสูง ทำให้ประเมินว่า อำนาจต่อรองและอัตรากำไรในกลุ่มธุรกิจต้นน้ำ ยังคงสูง ขณะที่ธุรกิจปลายน้ำ (ตั้งแต่ผลิตแผงเซลล์) จะยังมีแรงกดดันด้านต้นทุน
ดังนั้น จึงคาดว่า บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม (AKR) จะได้ดีจากเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการผลักต้นทุนเพื่อเพิ่มอัตรากำไรได้ ขณะที่ บมจ. โซลาร์ตรอน (SOLAR) โรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันด้านต้นทุนในส่วนของธุรกิจผลิตแผงเซลล์
ด้าน บมจ.บางจากปิโตเลียม (BCP) ซึ่งมีการชูกลยุทธ์ผู้นำในการค้าไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ทำให้ชิงส่วนแบ่งการตลาดในตลาดค้าปลีกเพิ่มเป็น 12.5% และครองส่วนตลาดในผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล ได้สูงถึง 76.8% ส่วนต่างจากค่าการตลาด ของน้ำมันก๊าซโซฮอล์และไบโอดีเซลที่ดีกว่าน้ำมันปกติ ทำให้ธุรกิจการตลาดของ BCP มีความสามารถในการต้านทานการแข่งขันที่รุนแรงดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งมองว่าเป็นการดำเนินกลยุทธ์ที่ถูกทาง ทิศทางธุรกิจของ BCP น่าจะสดใสในปี 2552 จากทั้งโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน และจากส่วนแบ่งการตลาด ที่ดีขึ้นในธุรกิจสถานีน้ำมัน
ทั้งนี้ พลังงานหมุนเวียนจะได้เปรียบพลังงานทดแทนจำพวกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในอนาคต เนื่องมาจากมีข้อได้เปรียบในเรื่อง ความมั่นคงในระยะยาวในการใช้พลังงาน, ความจำเป็นที่ต้องมีพลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะผลกระทบจากโลกร้อน และ ข้อจำกัดเรื่องต้นทุนจากพลังงานในปัจจุบันที่สูงขึ้นจะทำให้ความแตกต่างด้านต้นทุนพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียนเริ่มลดลง
โดยคาดว่าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และสินค้าเกษตรจะมีข้อได้เปรียบจากการเป็นพลังงานและวัตถุดิบที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา รวมถึงแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลงในอนาคต ในขณะที่พลังงานทดแทนจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถผลิตขึ้นใหม่ได้
สำหรับพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยนั้น มีความชัดเจนด้านการขนส่ง เพราะรัฐบาลมีนโยบายบังคับและสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลและเอทานอล ซึ่งปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มจาก B2 เป็น B5 แต่จะผ่อนคลายหลังปี 2555 จากการขยายพื้นที่การเพาะปลูก
ขณะที่เอทานอลจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากการยอมรับการใช้แก๊สโซฮอล์และการเปลี่ยนรุ่น รถเป็นรถ E20 ทั้งนี้ บล.นครหลวงไทย ประเมินว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตเอทานอลได้จากความพร้อมด้านวัตถุดิบและมีความต้องการรองรับ สำหรับการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคการผลิตไฟฟ้า ภาครัฐมีนโยบายกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าคืนที่มีส่วนเพิ่มให้ผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเติบโตน้อยกว่าภาคขนส่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|