|
โจทย์ใหญ่วัสดุก่อสร้างยุคน้ำมันแพงชูนวัตกรรมหัวหอกรักษากำไร
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 พฤษภาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
*วัสดุก่อสร้างดิ้นสุดแรง เร่งปรับกระบวนทัพ รับมือน้ำมันแพง
*งัดนวัตกรรมล้ำยุค อัพราคา-รักษากำไร แก้โจทย์ต้นทุนพุ่ง
*ผู้ผลิตไทยตีปีกหมดยุคสงครามราคาสินค้าจีนตีตลาด หลังจีนเลิกหนุนภาษีส่งออก
แม้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะส่งสัญญาณฟื้นตัว จากความเชื่อมั่นที่เป็นผลต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ แต่ในมุมของธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่ดูเหมือนน่าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวในรอบใหม่นี้ ยังติดกับดักเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้การทำตลาดปีนี้เจอโจทย์ใหม่ที่ยากกว่าเดิม
ชูนวัตกรรมอัพราคา
จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้พิชิต ไม้พุ่ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เครือซิเมนต์ไทย เชื่อว่า จะทำให้ตลาดรวมวัสดุก่อสร้างปีนี้ปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากยอดขายไตรมาส 1 ปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ยอดขายจากตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น จากกำลังซื้อของเกษตรกรที่สูงขึ้น จากพืชผลที่ขายได้ราคาดี โดยในปีนี้กลุ่มวัสดุก่อสร้างตั้งเป้ายอดขายที่ 24,000-25,000 ล้านบาท ทรงตัวเท่ากับปีที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเอสซีจีเร่งลดต้นทุนทุกวิธีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษากำไร โดยเน้นสินค้านวัตกรรมใหม่ ซึ่งสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าสินค้ารุ่นทั่วไป 35-40%
เอสซีจีอาศัยความเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ Synergy สินค้าทุกประเภทเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Home Solution” เปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานสถาปนิก’51 ที่ผ่านมา เน้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบ One Stop Shopping ครบวงจร ด้วยการขายสินค้าแบบยกระบบ ทั้งตัวสินค้ารวมไปถึงสามารถใช้บริการช่างติดตั้งของเอสซีจีได้ ซึ่งพิชิตกล่าวว่า การให้บริการทีมช่างติดตั้งจะช่วยแก้ปัญหางบบานปลาย การติดตั้งไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดปัญหาในภายหลัง
สินค้านวัตกรรมใหม่ที่เอสซีจีเปิดตัวในปีนี้ส่วนใหญ่เกาะกระแสลดภาวะโลกร้อน และประหยัดพลังงาน เพิ่มเติมจากนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาทั่วไปของลูกค้า เช่น ระบบผนังอัจฉริยะกันความร้อน, GRC Wall ผนังสำเร็จรูปคอนกรีตเสริมใยแก้ว สามารถสร้างงานชินใหญ่ แต่น้ำหนักเบา ช่วยประหยัดโครงสร้างของอาคาร, ระบบหลังคากันร้อน ผสมผสานการใช้วัสดุกันความร้อนที่เหมาะสมในตำแหน่งต่างๆ เพื่อระบายอากาศบริเวณฝ้าชายคาภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ, ระบบหลังคากันรั่ว ใช้อุปกรณ์กันรั่วที่ได้มาตรฐาน ใช้งานง่าย ไม่ต้องเสี่ยงกับฝีมือช่างติดตั้ง, ระบบหลังคากันแรงลม, ระบบหลังคาเพิ่มอรรถประโยชน์ เช่น การใช้แสงสว่างธรรมชาติมาใช้งานในตัวบ้าน การเพิ่มจุดติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมบนหลังคา, ระบบโครงหลังคาสำเร็จรูป แก้ปัญหาโครงหลังคาเป็นสนิม, Roof Garden ระบบปลูกสวนบนหลังคา ซึ่งทุกระบบเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะเอสซีจีเท่านั้น
นอกจากนี้ยังพัฒนา นวัตกรรมหลังคาที่พัฒนาร่วมกันระหว่างสินค้าในเครือ ได้แก่ กระเบื้องหลังคาเซรามิค Excella กระเบื้องเซรามิคปูพื้นและผนัง COTTO และกระเบื้องหลังคาคอนกรีต CPAC Monier/NeuStile ในรูปแบบของการมุงหลังคาแบบซ้อนทับชั้นเดียว โดยไม่ต้องติดตั้งแผ่นรองใต้หลังคา เพื่อป้องกันกระเบื้องรั่ว รวมทั้ง CeraFino by Excella กระเบื้องหลังคาเซรามิคที่บางที่สุด ทนทานต่อทุกสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ด้านสีทีโอเอเปิดตัวสีทีโอเอ เซเว่น อิน วัน ฟิวเจอร์ คัลเลอร์ สีเกรดบนสุดหรืออัลตร้าพรีเมี่ยมที่ปรับจากสูตรเดิมเพื่อแก้ปัญหารอยแตกร้าวของอาคาร โดยพัฒนาเนื้อสีให้ยืดหยุ่นสูงถึง 300% เป็นครั้งแรก ป้องกันคราบสกปรกเกาะติดและน้ำซึมเข้าโครงสร้างภายใน ราคาขาย 2,500 บาท (ถัง 15 ลิตร) และ 850 บาท (ถัง 5 ลิตร) เจาะกลุ่มบ้านเก่าและบ้านใหม่ ทั้งนี้การพัฒนาสีรุ่นใหม่ได้ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นอีก 5% อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นยังเป็นปัญหาต่อผลกำไร ซึ่งทีโอเอต้องเร่งแก้ด้วยการขยายฐานลูกค้าและยอดขายส่งออกเป็นตัวช่วย
ขณะที่สตาร์มาร์ค เปิดตัว Always Check with Starmark สำรวจพฤติกรรมของลูกค้าก่อนซื้อชุดครัว ให้ทราบถึงความต้องการในการใช้ครัวอย่างละเอียด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาชุดครัวที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคน และบริการ Design Dplus ออกแบบชุดครัวด้วยคอมพิวเตอร์โปรแกรม 2020 โดยดีไซน์เนอร์มืออาชีพ ให้ลูกค้าเลือกและแก้ไขแบบ พร้อมงบประมาณการทำครัวได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
เร่งลดต้นทุนผลิต
ทักษะ บุษยโภคะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โมเดิร์นฟอร์ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วัตถุดิบ เช่น โลหะ พลาสติกขึ้นราคากว่า 20% แม้บริษัทฯ จะเน้นตลาดบนที่ไม่ได้สนใจเรื่องราคา แต่บริษัทฯ ก็ได้ปรับเรื่องดีไซน์ ลดการใช้วัสดุราคาแพง เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต
ล่าสุดสยามซานิทารีแวร์ฯ หรือคอตโต้ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับโมเดิร์นฟอร์ม เพื่อพัฒนาเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องน้ำภายใต้แบรนด์ Cotto Modenform ซึ่งโมเดิร์นฟอร์มจะผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้ทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบ Customize สำหรับลูกค้าของคอตโต้ โดยคอตโต้มีจุดแข็งอยู่ที่ช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง ขณะที่โมเดิร์นฟอร์มเชี่ยวชาญในการผลิตและออกแบบเฟอร์นิเจอร์
ส่วนโมเก้น แบรนด์สุขภัณฑ์ของคนไทยที่ชูเรื่องดีไซน์เป็นจุดขาย ในระดับราคาไม่สูงนัก เปิดตัวซีรีส์ “Absolute Solution” สุขภัณฑ์ระบบหม้อน้ำซ่อนผนังสำเร็จรูปตัวแรกของโลก ที่รวมฟังก์ชั่นต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น ที่ใส่กระดาษชำระ ที่วางหนังสือ แต่ก็ปรับตัวโดยนำเอาอะคริลิกมาเป็นส่วนผสมในการผลิต ช่วยให้ต้นทุนลดลงได้ส่วนหนึ่ง
หมดยุคสินค้าจีนตีตลาด
สิทธิวัฒน์ สหวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท วู๊ดเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตพื้นไม้ลามิเนตสำเร็จรูป “วนธัวร์” กล่าวว่า หลังจากจีนยกเลิกการอุดหนุนภาษีส่งออกให้กับผู้ผลิต ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้ามายังไทยสูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าหันมาจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในไทยแทน ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ารับจ้างผลิต (OEM) เพิ่มขึ้นเป็น 7 ราย คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 70% จากปัจจัยดังกล่าวทำให้สงครามราคาในตลาดวัสดุก่อสร้างลดลง ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตเต็มที่ 3.2 ล้าน ตร.ม.ต่อปี เป็นยอดส่งออก 60% ขายในประเทศ 40% ล่าสุดวู๊ดเทคตกลงเป็นพันธมิตรกับไคเดิล (Kaindl) นำเข้าพื้นไม้ลามิเนตจากออสเตรีย เพื่อเจาะตลาดระดับพรีเมี่ยม โดยจะปรับให้ราคาต่ำกว่าคู่แข่งที่เป็นไม้ประเภท Engineer Wood ประมาณ 10-20%
ด้าน บริษัท ไพร์ซ ออฟ วู้ด อินดรัสทรีส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม้ ชูนวัตกรรมสร้างบ้านไม้ป่าด้วยแนวคิด s ยกกำลัง 5 ซึ่งสามารถสร้างเสร็จด้วยระยะเวลา 3-15 วันเท่านั้น คมวิทย์ บุญธำรงกิจ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าว เกิดจากการคิดค้น วิจัยและพัฒนา เพื่อตบโจทย์การก่อสร้างบ้านไม้ได้ทุกเรื่องในแบบ Modern Tropical Style โดยเป็นการนำไม้เข้ามาประกอบให้ความรู้สึกอบอุ่น เหมาะสำหรับภูมิอากาศในประเทศไทยและยังช่วยประหยัดพลังงานถึง 43 % ซึ่งถือว่าเป็นการตอบรับกระแสการหยุดภาวะโลกร้อนด้วย
ปรับทิศรุกตลาดกลาง-ล่าง
หลังจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รุ่งทิพย์ ตรงกมลธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวาเทร็นด้า จำกัด ผู้นำเข้าก็อกน้ำและอุปกรณ์ภายในห้องน้ำแบรนด์โซเนีย โนวาบาธ อิซานี่ และดามิกซ่า กล่าวว่า ทำให้ยอดขายในส่วนของตลาดไฮเอนด์หดตัวลง ทำให้ปีนี้บริษัทได้ปรับแผนหันมารุกตลาดระดับกลาง-ล่าง และลูกค้าทั่วไป (รีเทล) มากขึ้นเป็น 30% ผ่านช่องทาง Direct Marketing และ Below-the-Line ชูจุดเด่นของสินค้าในแง่ดีไซน์ การประหยัดพลังงาน โดยจะเพิ่มสินค้าระดับกลางให้หลากหลาย ใช้โปรโมชั่นเป็นตัวเร่งการตัดสินใจซื้อให้มากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|