100 แบรนด์ทรงอิทธิพลปี 2008


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

การจัดอันดับสุดยอดแบรนด์ทรงอิทธิพล (Most Powerful Brands Ranking) 100 อันดับของโลกเป็นหนึ่งในดัชนีที่ชี้วัดความสำเร็จของกิจการเจ้าของแบรนด์ชั้นนำของโลกได้อย่างหนึ่งในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ

การจัดอันดับแบรนด์ของมิลล์วาร์ด บราวน์ ออฟติเมอร์ (Millward brown optimor) เมื่อไม่นานมานี้ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจทางการตลาด เพราะแบรนด์ที่ทรงคุณค่าเป็นสินทรัพย์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในกิจการแต่ละกิจการ แม้ว่าจะไม่มีสินทรัพย์เหล่านี้ตีค่าอยู่ในวงการเงินก็ตาม

การสำรวจทางนิตยสารฟอร์จูนเชื่อว่า คุณค่าแบรนด์ของกิจการจัดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของมูลค่าของกิจการที่ติดอันดับท็อปของฟอร์จูน และมีผลการดำเนินงานดีกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มเอสแอนด์พี รวมด้วย

แนวคิดของการจัดอันดับท็อปแบรนด์ทรงอิทธิพลของมิลล์วาร์ดฯ เป็นความพยายามผสมผสานข้อมูลทางการเงินกับผลที่ได้จากแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างกว่าล้านคน เพื่อสะท้อนให้เห็นทั้งความรู้สึกของผู้บริโภคโดยตรงและความสามารถของกิจการในการสื่อสารและแปลความหมายสู่มูลค่าของผู้ถือหุ้น

โดยภาพรวมของแบรนด์ที่มีการนำมาจัดอันดับในปี 2008 พบว่าแบรนด์อย่างแอปเปิลมีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าแบรนด์สูงสุดในกลุ่ม 100 อันดับ รองลงมาคือแบรนด์แบล็กเบอร์รี่

ในมุมมองของการจัดอันดับสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประการแรก แบรนด์ของเอเชียก้าวขึ้นมามีความโดดเด่นในกลุ่มแบรนด์เก่าแก่ของโลกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์จากจีนซึ่งแข็งแกร่งมากขึ้นจนน่าจะทำให้นักการตลาดในทุกมุมของโลกหวาดหวั่นมากขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้มีแบรนด์ 7 แบรนด์มาจากกลุ่มประเทศชั้นนำในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง มีมูลค่าเพิ่มโดยเฉลี่ยประมาณ 7% เท่านั้น ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าจะทาบไม่ติดมูลค่าของ 4 แบรนด์จากจีนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 51% โดยจำนวนนี้ได้แก่ แบรนด์ ไชน่า โมบาย, แบงค์ ออฟไชน่า ไชน่าคอนสตัคชั่นแบงก์ และไอซีบีซี

ผลการจัดอันดับแสดงว่าตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญในการสร้างการเติบโตของมูลค่าแบรนด์ระดับโลก ไม่ใช่จากตลาดพัฒนาแล้วอย่างแต่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์อย่างแอปเปิลและกุชชี่ ที่ได้แรงสนับสนุนแบรนด์จากตลาดเกิดใหม่

ประการที่สอง พิจารณาเป็นสาขาอุตสาหกรรมของแบรนด์ ได้พบว่าสาขาเทคโนโลยีซึ่งรวมแบรนด์ของกิจการมือถือ มีสัดส่วนคิดเป็น 28% ของแบรนด์ 100 อันดับแรก แถมยังมีผลการดำเนินงานและการเติบโตของแบรนด์แซงหน้าแบรนด์สาขาอื่นๆ

ในการจัดอันดับแบรนด์ครั้งนี้มีการแบ่งสาขาอุตสาหกรรมของแบรนด์ออกเป็นกลุ่มหลากหลาย เช่น เสื้อผ้า เบียร์ รถยนต์ อาหารฟาสต์ฟูด บริการทางการเงิน สินค้าฟุ่มเฟือย สื่อสารระบบโมบาย เชื้อเพลิงรถ ของใช้ส่วนตัว กิจการค้าปลีก และเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริงก์ และสาขาเทคโนโลยี

ประการที่สาม การสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมกว่า 50,000 แบรนด์ใน 31 ประเทศ และมีมูลค่ารวมเกินกว่า 85% ของจีดีพีมวลรวมของโลก โดยวิธีการประเมินมูลค่าของแบรนด์ทางการเงิน เป็นผลรวมของรายรับทุกประเภทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากแบรนด์นั้น เป็นมูลค่าตลาดของแบรนด์ ผนวกกับสภาพความเสี่ยงของแบรนด์ และความเป็นไปได้ในการเติบโต

กลุ่มสาขาอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มจะพบประเด็นที่เป็นไฮไลต์ของแบรนด์ที่มีความแตกต่างและหลากหลายกันออกไป ไม่เหมือนกันทั้ง 16 กลุ่ม ซึ่ง 5 กลุ่มสาขาอุตสาหกรรมที่ยังคงมีอัตราการเติบโตสูงอย่างน่าสนใจคือ กิจการโมบาย เทคโนโลยี ของใช้ส่วนตัว ฟาสต์ฟูด และสินค้าฟุ่มเฟือย

ในกลุ่มย่อยๆ ของแต่ละสาขามีประเด็นที่น่ากล่าวถึงได้แก่ กลุ่มแบรนด์เสื้อผ้า แบรนด์เสื้อผ้าสปอร์ตและการตลาดค้าปลีกทางออนไลน์เป็นแรงขับเคลื่อนมูลค่าแบรนด์ที่สำคัญที่สุดของทั้งกลุ่มรองเท้าและเสื้อผ้า กับพฤติกรรมการสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์สปอร์ตทั้งในช่วงเล่นกีฬาหรือไม่ได้ก็ตาม และการส่งเสริมการจำหน่ายด้วยกิจกรรมพิเศษอย่างเวิลด์คลับ และโอลิมปิค ช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อโดยเฉพาะในจีนที่เป็นเป้าหมายหลักของแบรนด์เสื้อผ้าในประเทศทางตะวันตก

สำหรับกลุ่มเบียร์ซึ่งประสบปัญหาซบเซาตามกลุ่มของบุหรี่ที่ถูกห้ามและจำกัดการขายแทบจะไม่มีที่วางจำหน่ายตามร้านค้า เพราะเหล้า เบียร์ บุหรี่มักจะเป็นสินค้าที่ส่งเสริมกันและกัน ในขณะเดียวกัน การแข่งขันจากกลุ่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ด้วยกันก็กระทบต่อยอดขายและมูลค่าของแบรนด์ไม่น้อย แบรนด์หลักๆของธุรกิจจึงเดินแถวหาตลาดประเทศกำลังพัฒนากันเป็นแถว โดยเบียร์ระดับพรีเมียมทำท่าจะไปได้สวยกว่าเบียร์ระดับล่าง นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างหนึ่งในธุรกิจเบียร์คือ การรวมกิจการระหว่างกันเพื่อธำรงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด

ส่วนกลุ่มรถยนต์ก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่ประสบความเสียหายและมีปัญหาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันและวัตถุดิบในการผลิตและประกอบรถยนต์ ประกอบกับความแปรปรวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของความต้องการจากลูกค้า อย่างไรก็ตามการเติบโตของแบรนด์กลุ่มรถยนต์ยังไปได้ดีในตลาดย่านเอเชียและละตินอเมริกา พร้อมทั้งมีความพยายามในการยกระดับเทคโนโลยีใหม่ๆ การออกแบบใหม่ๆ ลดการสิ้นเปลืองพลังงานและกรีนโมเดล

แบรนด์กลุ่มกาแฟโลกไม่ได้ต่างจากสาขาอุตสาหกรรมอื่นในด้านการชะลอตัว เทียบกับที่เคยมีอัตราเติบโตที่ดีช่วงปี 2007 และกระทบต่อแทบทุกแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการมีความพยายามในการคิดค้นสูตรแปลกใหม่ ในระดับตลาดพรีเมียมพร้อมกับการแก้ปัญหาการถูกกล่าวหาว่ากดขี่ราคาวัตถุดิบ หรือมีการค้าไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นพฤติกรรมของลูกค้าก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากกาแฟสำเร็จเป็นกาแฟปรุงสดอย่าง กราวน์คอฟฟี่

กลุ่มอาหารฟาสต์ฟูดคุณค่าของแบรนด์มาจากการเน้นและปรับปรุงด้านสุขภาพ รวมถึงคุณภาพเชิงโภชนาการในเมนู กระนั้นก็ตามยอดการจำหน่ายของร้านอาหารเปิดใหม่จึงชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ตลาดย่านเอเชียยังคงเป็นความหวังหลักของแบรนด์ในกลุ่มนี้ อย่างเคเอฟซีเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็งที่สุดในตลาดจีน เมื่อตลาดยอมรับสินค้าประเภทฟาสต์ฟูดมากขึ้น

กิจการสถาบันการเงินโดยรวมถือว่ามีมูลค่าของแบรนด์เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าสถาบันในสหรัฐฯและอังกฤษจะถูกมองว่าได้รับผลจากวิกฤตการณ์ซับไพร์มอย่างหนัก ในขณะที่ธนาคารของจีนกลับมีการเติบโตของมูลค่าแบรนด์ติดต่อกันเป็นปีที่สอง แต่นักการตลาดส่วนหนึ่งยังสงสัยว่าความสำเร็จนี้มาจากความสามารถในด้านการบริหารหรือว่ามาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย

ธุรกิจประกันภัยชั้นนำเป็นธุรกิจที่มีความพยายามในการปรับตัวตามความผันผวนของตลาดและปรับฐานลูกค้า พร้อมทั้งกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการพยายามหันไปหาตลาดใหม่ๆ แทนตลาดประกันภัยในสังคมคนสูงอายุ

การที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นของคู่กายผู้คนทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการโมบายเข้ามามีบทบาทความสำคัญมากขึ้น และใช้แนวทางการสร้างสมาชิกถาวรเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ถาวร แต่การเปิดเสรีภาคในวงกว้างทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น พร้อมการเปิดตัวของ 3G

สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ส่วนตัว ที่มีมูลค่าแบรนด์ดีขึ้นมาจากปัจจัยกระตุ้นอย่างเช่นกลุ่มยาสีฟันที่มีไวท์เทนนิ่ง หรือกลุ่มที่ยกกระชับผิวพรรณที่สร้างมูลค่าดีขึ้น ทำให้การรับรู้ของผู้บริโภคเป็นไปในทางบวกเพิ่มขึ้นกว่าอดีต โดยเฉพาะในกลุ่มบิวตี้แคร์ ตลอดจนความนิยมในผลิตภัณฑ์ประเภทสปา

แบรนด์ของกลุ่มค้าปลีกสร้างมูลค่าของแบรนด์ด้วยการมุ่งสู่การตลาด “กรีนมาร์เก็ต” และเน้นความเป็นสินค้า “โภชนาการ”

สำหรับผลการจัดอันดับแบรนด์ทรงอิทธิพล 100 อันดับแรกของโลก พบว่ากูเกิลครองอันดับ 1 รองลงมาคือจีอี และไมโครซอฟท์ครองอันดับ 3 ตามลำดับ ส่วนอันดับ 4 คือโคคา-โคล่า และไชน่า โมบายอยู่อันดับที่ 5 สำหรับอันดับที่ 6-10 คือไอบีเอ็ม แอปเปิล แมคโดนัลด์ โนเกีย และมาร์ลโบโรตามลำดับ

ในอเมริกาเหนือแบรนด์ที่มีมูลค่าอันดับ 1 ด้านมูลค่าคือไชน่า โมบาย รองลงมาคือโตโยต้า อันดับ 3 คือ ไอซีบีซี จากจีน ไชน่าคอนสตรักชั่นแบงก์ในอันดับ 4 และแบงก์ออฟไชน่าอันดับ 5 ตามลำดับ

หากเรียงใหม่ตามสาขาอุตสาหกรรมพบว่า สาขาเสื้อผ้าแบรนด์ไนกี้ครองอันดับ 1 รองลงมาคือ เอชแอนด์เอ็ม และอันดับ 3 คือซาร่า ตามด้วยเอสปรี และอาดิดาส ตามลำดับ

สาขาอุตสาหกรรมเบียร์ แบรนด์ครองแชมป์ยังคงเป็นบัดไวเซอร์ รองลงมาคือ บัดไลท์ และเฮเนเก้นตามลำดับ

แบรนด์ในกลุ่มรถยนต์ที่ยังครองอันดับ 1 คือโตโยต้า รองลงมาคือ บีเอ็มดับบลิว พอร์ช เมอร์ซีเดส และฮอนด้าตามลำดับ

กลุ่มกาแฟ คือเนสกาแฟ รองลงมาคือเนสเพรสโซ่, พอล์เกอร์ส, แมกซ์ เวล เฮาส์, และจาก็อปส์ตามลำดับแบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่ครองอันดับ 1 คือแมคโดนัลด์ รองลงมาคือสตาร์บัคส์ ซับเวย์ เคเอฟซี และทิม ฮอร์ตัน ตามลำดับ

กลุ่มสถาบันการเงินคือแบรนด์ แบงก์ ออฟ อเมริกา รองลงมาคือซิตี้ ไอซีบีซี อเมริกัน เอ็กซ์เพรส และเวลล์ ฟาร์โก้

กิจการประกันภัยที่ได้รับการยอมรับในแบรนด์ด้วยมูลค่าสูงสุดคือสเตรทฟาร์ม รองลงมาคือเอเอ๊กซ์เอ, เอไอจี, ไอเอ็นจี อะไลอันซ์ ตามลำดับ

แบรนด์ดังกลุ่มฟุ่มเฟือยหรูหราที่ครองอันดับคือหลุยส์วิตตอง รองลงมาคือแอร์เมส กุชชี่ คาร์เทียร์ และชาแนล ตามลำดับ

กลุ่มเครื่องใช้ส่วนตัวมีมูลค่าแบรนด์สูงสุดคือ ยิลเลตต์ รองลงมาคือ ลอรีอัล คอลเกต เอวอน และการ์นิเยร์ ตามลำดับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.