นกวายุภักษ์ในรูปลักษณ์ใหม่

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ของธนาคารกรุงไทย ถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ที่วิโรจน์ นวลแข ต้องการจะเปลี่ยนบุคลิกภาพของธนาคารแห่งนี้

เขากล้าตัดสินใจในขณะที่กรรมการผู้จัดการคนอื่นไม่เคยมองเห็นถึงจุดนี้มาก่อน

สัญลักษณ์รูปนกวายุภักษ์ที่ธนาคารใช้มากว่า 30 ปี ได้ถูกออกแบบใหม่ ตามโครงการจัดทำเอกลักษณ์ขององค์กร เพื่อปรับภาพลักษณ์ของธนาคารให้เป็นมาตรฐาน

คณะกรรมการของธนาคารได้คัดเลือกบริษัทคมน์มาศ เป็นผู้ดำเนินการออกแบบสัญลักษณ์ใหม่ของธนาคาร โดยคัดเลือกมาจากบริษัทที่เสนอตัวเข้ามา 5 ราย

สัญลักษณ์ใหม่ ยังคงภาพนกวายุภักษ์ไว้ เพื่อแสดงถึงความมั่นคงจากกระทรวงการคลัง แต่ได้มีการปรับปรุงโดยเพิ่มรายละเอียดทั้งส่วนหัว จงอยปาก โดยเฉพาะส่วนปีกให้ดูอ่อนช้อยแบบไทยๆ แต่แข็งแกร่งสมกับความเป็นผู้นำ

แนวความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสัญลักษณ์ใหม่ ประกอบด้วย

- Vision : มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการตลาดในธุรกิจธนาคาร เพื่อสร้างผลกำไรและภาพลักษณ์ด้านการแข่งขัน ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดและประสิทธิภาพของบุคลากรที่เหนือกว่า

- Positioning : ธนาคารกรุงไทย คือสถาบันการเงินที่เคียงข้างชาวไทย ร่วมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จากรากหญ้าถึงชุมชนสู่ระดับประเทศ

มีการสร้าง Super Graphic คือ Speed Mark ขึ้นมาประกอบโลโกนกวายุภักษ์ เพื่อเสริมให้ดูทันสมัยเด่น และมีเอกลักษณ์มากขึ้น

ส่วนสี ได้เลือกใช้สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีเดิมเป็นสีหลัก โดยเพิ่มสีเขียวมิ้นต์ และสีฟ้าเข้ามาตัด

โดยทั้ง 3 สี มีความหมายดังนี้

สีน้ำเงิน แสดงถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความมั่นคง

สีฟ้า แสดงถึงความกว้างขวางยิ่งใหญ่

สีเขียว แสดงถึงความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม

ธนาคารกรุงไทยได้เริ่มใช้สัญลักษณ์ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545

พร้อมเปลี่ยนชื่อธนาคารใหม่จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็น บมจ.ธนาคารกรุงไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.