Key to be High Performance Organization

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

หนทางที่จะทำให้ ปตท.เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศได้ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ แต่ 2 สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การพัฒนาเรื่องของคน และเทคโนโลยี

ปรัชญา ภิญญาวัธน์ และอนนต์ สิริแสงทักษิณ เป็น 2 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ปตท.ที่กำลังทำงานสอด ประสานใกล้ชิดกันมากที่สุด

ปรัชญาดูแลเรื่องการบริหารองค์กร ภารกิจหลักของเขาขณะนี้ คือการวางแผน พัฒนาบุคลากรของ ปตท.ให้มีคุณภาพ

ขณะที่อนนต์รับผิดชอบเรื่องกลยุทธ์ และการพัฒนาองค์กร เขามีภารกิจในการนำเทคโนโลยีใหม่ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรให้แข็งแกร่ง มีความได้เปรียบคู่แข่งขัน ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานระดับโลก

ตั้งแต่เริ่มวางแผนที่จะแปรรูปองค์กรเป็นบริษัทมหาชน ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายที่จะกระชับขนาดขององค์กรให้มีความคล่องแคล่วขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

การกระชับขนาดขององค์กร มิได้หมายถึงการปลดบุคลากร แต่เป็นการตัดขั้นตอน การทำงานบางอย่างที่ต้องใช้คน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทน ส่วนคนที่เหลือจะถูกจัดสรรลงไปในจุดที่มีความจำเป็น

"ที่ผ่านมา เราพยายามลด size ขององค์กรลง ยกตัวอย่าง ว่าปีนี้มีคนเกษียณ 100 คน แทนที่จะรับเข้ามาเพิ่มทั้ง 100 ตำแหน่ง เรารับแค่ 50 ส่วนไหนที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ได้ เราจะเอาเข้าไปใช้" วิเศษ จูภิบาล อธิบาย

การแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจ มาสู่รูปแบบธุรกิจเอกชนนั้น สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ก่อน คือคน ในปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่ใกล้ถึงกำหนดเวลาแปรรูป ปตท.ได้มีโครงการ "HR 2000" เป็น การระดมสมองพนักงานทุกคน ในทุกระดับเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ วัฒนธรรมขององค์กรขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับกับการแปรรูป

วัฒนธรรมใหม่ของ ปตท.เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากนัก

"ปตท.นั้นโชคดีอยู่ 2 อย่าง คือ 1-เราเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี ซึ่งมีผลต่อระบบการให้ผลตอบแทนพนักงานที่ไม่ต้องติดยึดกับระบบเดิม ทำให้เราสามารถให้ผลตอบแทนกับพนักงานได้มากกว่ารัฐวิสาหกิจอื่น และ 2-คือเราเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานกับเราตั้งแต่ต้น และต้องทำงานแข่งกับเอกชน ดังนั้นเราจึงได้เห็นระบบการทำงานแบบเอกชนมาตลอด" ปรัชญาให้เหตุผล

วัฒนธรรมองค์กรในรูปแบบบริษัทมหาชนของ ปตท.ได้ถูกแปลงเป็นแนวทัศนคติ 5 ประการ ที่พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติ

ทัศนคติทั้ง 5 ประการประกอบด้วย 1-ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ 2-ยึดผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก 3-ลูกค้าต้องเป็นใหญ่ 4-เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม และ 5-มีจิตสำนึกในการทำงานเป็นทีม

จากแนวทัศนคติดังกล่าว ได้ถูกขยายขึ้นไปเป็นแนวทางปฏิบัติ รูปธรรมที่สุดคือการจัดทำงบประมาณที่ถูกปรับเปลี่ยนจากรูปแบบของหน่วยราชการ มาเป็นรูปแบบเอกชน ที่มองถึงเป้าหมายทางธุรกิจในแต่ละปีเป็นเกณฑ์

ปตท.ได้นำหลัก Key performance Indicators : KPI เข้ามาใช้ในการวางแผนธุรกิจ และในการประเมินผลการทำงานของแต่ละหน่วยงานในแต่ละปี ก็จะยึดจาก KPI นี้ โดยนำหลัก Balance Scorecard มาเป็นตัวกำหนด

"ทั้ง KPI และ Balance Scorecard เราทำมาแล้วหลายปี แต่คนภายนอกไม่รู้" วิเศษบอก

การให้ความสำคัญกับเรื่องของคน นอกจากการนำระบบการตั้งเป้าหมาย และประเมินผลแบบเอกชนเข้ามาใช้แล้ว ปตท.ยังสนับสนุนในเรื่องการให้การศึกษา ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ปตท.มีโครงการให้ทุนการศึกษากับพนักงานไปเรียนต่อในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลจากการให้ทุนการศึกษาดังกล่าว ทุกวันนี้ มีนักเรียนทุนระดับปริญญาโทจาก ปตท.แล้วถึง 28 คน และระดับปริญญาเอก อีก 5 คน

ไม่รวมโปรแกรมฝึกอบรมในระดับผู้บริหาร ที่มีการส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสแตนด์ฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา อีกปีละ 2-3 คน

ทางด้านเทคโนโลยี ซึ่ง ปตท.ได้มีการพัฒนามาตลอด แต่ที่ผ่านมาเทคโนโลยีของ ปตท.มีลักษณะกระจัดกระจาย แต่ละหน่วยธุรกิจ ต่างมีระบบเป็นของตัวเอง

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปตท.จึงมีดำริที่จะนำระบบ Enterprise Resource Planning : ERP เข้ามาใช้เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และระบบของแต่ละหน่วยธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ซึ่งโครงการนี้ ปตท.ใช้เงินลงทุนไปแล้วประมาณ 200 ล้านบาท

"ที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่ ปตท.ใช้ เปรียบไปก็เหมือนเกาะแก่งต่างๆ ไม่มีแผ่นดินที่จะเชื่อมกัน การนำ ERP เข้ามาใช้ ก็เป็นเหมือนกับเชื่อมโยงให้เกาะทั้งหลายเหล่านั้น มารวมอยู่เป็นแผ่นดินผืนเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดขั้นตอนการทำงานลงไปแล้ว ยังมีผลต่อการตัดสินใจวางกลยุทธ์ ทางธุรกิจในอนาคต" อนนท์อธิบาย

ในเดือนกรกฎาคมนี้ ระบบงานในส่วนของสำนักงานใหญ่ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะถูกนำขึ้นมาไว้ในระบบกลางของ ERP หลังจากนั้นไม่นาน ก็จะเป็นธุรกิจ น้ำมัน และประมาณปลายปี ระบบ ERP ของ ปตท.ก็สามารถใช้ได้กับทุกหน่วยงานโดยสมบูรณ์

การรวมศูนย์ข้อมูลของหน่วยธุรกิจ มาไว้ที่เดียวกันและทำงานภายใต้เทคโนโลยี เดียวกัน จะมีผลต่อเนื่องไปถึงการนำเทคโน โลยีเข้าไปใช้ในการวางแผนธุรกิจประเภทอื่น เช่น การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ Supply Chain และ Custumer Relationship Management : CRM ซึ่ง ปตท.กำลังพัฒนาควบคู่ไปกับ ERP

อนนต์คาดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งระบบของ ปตท.จะเริ่มเห็นผลได้ในอีกไม่นานนี้

การก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศของ ปตท.ไม่น่าเป็นเรื่องยาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.