NON-OIL BUSINESS รายได้หลักของธุรกิจน้ำมัน

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

น้ำมันเป็นธุรกิจที่ ปตท.ยังต้องคงไว้ เพราะเกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ แม้จะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ไม่มากนัก การจัดการกับธุรกิจน้ำมันจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน

ภาพของ ปตท.ซึ่งเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาของสาธารณชน มักเป็นภาพที่เชื่อมโยงกับธุรกิจน้ำมัน เพราะเป็นธุรกิจที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคในวงกว้าง และเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขัน ทำให้ ปตท.ต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้มากที่สุด

แต่ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ปตท.ต้องทุ่มเททรัพยากรลงไปอย่างมาก ในจำนวน พนักงานที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 3,100 คนของ ปตท.เป็นพนักงานที่อยู่ในธุรกิจน้ำมันถึง 1,467 คน และยังเป็นธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อน เพราะต้องถูกโยงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวพัน กับเรื่องการเมือง

กลับเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรให้กับ ปตท.ได้เพียง 10% ในแต่ละปี

หากมองความเป็นจริงในเชิงธุรกิจ ธุรกิจน้ำมันคือตัวถ่วงผลกำไร

แต่หากมองในเชิงนโยบาย ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ ปตท.จำเป็นต้องแบกรับไว้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ

ปตท. เริ่มต้นทำธุรกิจน้ำมัน พร้อมๆ กับก๊าซธรรมชาติ โดยในพระราชบัญญัติ ปตท. ปี 2521 ได้กำหนดให้รับโอนกิจการขององค์การเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม (ปั๊มสามทหาร) เข้ามารวมอยู่กับปตท.

ในช่วง 2 ปีแรกของการจัดตั้ง ปตท.พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็กำหนดไว้เลยว่า ปตท.ต้องสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหมก่อน จึงค่อยย้ายมาสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมในภายหลัง

ความครบวงจรในธุรกิจน้ำมันของปตท. ก็มิได้เกิดขึ้นโดย ปตท.เอง เพราะในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในเรื่องพลังงาน ระหว่างที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันไปทั่วโลก นอกจากการถือหุ้น 49% อยู่ในบริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย (ไทยออยล์) แล้ว ในปี 2524 ปตท. ต้องเข้าไปรับโอนกิจการโรงกลั่นน้ำมันทหาร (โรงกลั่นน้ำมันบางจาก) ซึ่งบริษัทซัมมิท อินดัสเตรียล (ปานามา) เช่าอยู่ มา ดำเนินการด้วยตัวเอง

เมื่อประเทศไทยเริ่มใช้นโยบายราคาน้ำมันลอยตัว ปตท.ได้ถูกใช้เป็นกลไก ของรัฐในการควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งบ่อยครั้งที่ ปตท.ต้องประสบกับปัญหาการขาดทุนจากนโยบายนี้

ธุรกิจน้ำมัน เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันมากที่สุดของ ปตท. และคู่แข่งแต่ละราย ก็เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีความเพรียบพร้อมทั้งเทคโนโลยี และฐานเงินทุนสนับสนุน

การจัดการกับอนาคตของธุรกิจน้ำมันของ ปตท. ในยุคที่ถูกแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

"ก่อนหน้านี้ธุรกิจน้ำมัน เป็นธุรกิจที่เราลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของสถานีบริการ หรือคลังน้ำมันตามภูมิภาคต่างๆ ดังนั้นนโยบายหลังจากนี้จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้ลงทุนไปแล้ว มากกว่าการลงทุนเพิ่ม" วิเศษ จูภิบาล บอกนโยบาย

สิ่งซึ่งได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของ ปตท.คือเครือข่ายปั๊มน้ำมัน

ณ สิ้นปี 2545 ปตท.มีเครือข่ายปั๊มน้ำมันกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยถึง 1,403 แห่ง และ 25% ในจำนวนนี้เป็นปั๊มน้ำมันของ ปตท.เอง

Non-Oil Business จึงถูกกำหนดให้เป็นกลยุทธ์หลักในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจน้ำมัน นอกเหนือจากยอดขายปลีก

"เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าในอนาคต รายได้จาก non-oil จะต้องมีสัดส่วนเป็น 50% ของรายได้รวมในธุรกิจนี้"

Non-Oil Business คือการบริหาร จัดการพื้นที่ภายในปั๊มน้ำมันให้มีประสิทธิ ภาพ และสามารถสร้างรายได้ขึ้นมาจากพื้นที่ดังกล่าว

ปตท.ได้วางนโยบายไว้ว่าหลังจากนี้ ปั๊มน้ำมันของ ปตท.ทุกแห่ง ไม่ใช่มีบทบาทแค่การขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีลักษณะ one stop service โดยรวมบริการทุกประเภทเท่าที่สามารถทำได้เข้ามาไว้ในที่นี้

ปัจจุบัน ปตท.กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบของปั๊มน้ำมันใหม่ ให้เป็นรูปแบบเฉพาะสำหรับใช้กับปั๊มทุกแห่งทั่วประเทศ

ตามรูปแบบใหม่นั้น ทุกปั๊มจะต้องมีร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง Pro-Check ร้านอาหารจานด่วน ร้านกาแฟ คาเฟ่ อะเมซอน และเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ปตท.ก็เพิ่งทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับพาวเวอร์ บาย ให้บริการ Film Drop Point โดยให้ผู้ใช้บริการสามารถนำฟิล์มที่ถ่ายภาพไว้หมดแล้ว ไปส่งเพื่อล้างอัด และรับภาพกลับไปได้ ในปั๊มน้ำมันของ ปตท.ทั่วประเทศ

นอกจากนี้หากยังมีบริการอื่นๆ ที่ปตท.เห็นว่าน่าจะเข้าไปใช้พื้นที่ภายในปั๊มน้ำมันเป็นจุดบริการได้ ปตท.ก็จะนำเข้าไปเสริมอีก

"เราคิดถึงขั้นว่าต่อไปอาจมีร้านซักแห้ง หรือบริการรับส่งพัสดุไปรษณีย์อยู่ในปั๊ม"

Non-Oil Business เป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเครือข่ายของ ปตท. ซึ่งเป็น การสอดประสานกันเป็นอย่างดี กับยุทธศาสตร์ของเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เข้าไปเสริมกับทุกธุรกิจที่มีอยู่ในเครือ

ความร่วมมือระหว่าง ปตท.กับซี.พี.ครั้งนี้ น่าจะได้ผลดีกว่าเมื่อครั้งที่ ปตท.ร่วมทุนกับ ซี.พี.ทำธุรกิจน้ำมันด้วยกันในนาม "ปิโตรเอเซีย" ในประเทศจีน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.