เราผูกขาดโดยธรรมชาติ

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผูกขาดโดยธรรมชาติ" เป็นนิยามที่วิเศษ จูภิบาล ให้ความหมาย เวลาพูดถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.

"ตอนแรกๆ ที่เราสร้างท่อก๊าซขึ้นมา ความต้องการสูงสุดมีเพียงแค่ 100-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แล้วแหล่งก๊าซก็มีที่แหล่งเอราวัณแห่งเดียว แต่เราต้องวางท่อยาวถึงกว่า 400 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนตั้ง 500 ล้านดอลลาร์ ฝรั่งมันยังไม่เอาเลย เพราะถ้าเกิดดีมานด์ไม่เพิ่มขึ้น ก็ขาดทุน ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าดีมานด์จะเป็นยังไง แต่เราก็ลงทุน เพราะถ้าฝรั่งไม่สร้าง เราก็สร้างเสียเอง แล้วพอเราลงทุนไปแล้ว คนอื่นจะมาลงอีก มันก็ลงไม่ได้แล้ว" เขาอธิบาย

ประเทศไทยเริ่มมีการให้สัมปทานสำรวจหาปิโตรเลียมในทะเล เมื่อปี 2514 ต่อมาได้มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ทำสัญญากับบริษัทยูเนียนออยล์แห่งประเทศไทย (UNOCAL) ให้ UNOCAL เป็นผู้ก่อสร้างแท่นผลิตก๊าซ และนำก๊าซขึ้นมายังปากหลุม ส่วนราชการจะเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างวางแนวท่อก๊าซใต้น้ำ และบนบกเพื่อนำก๊าซจากแหล่งผลิตไปหาผู้บริโภค แต่มีเงื่อนไขว่าในการจะให้บริษัทผลิตก๊าซขึ้นมาส่งให้ระบบท่อนั้น จะต้องมีผู้รับซื้อก๊าซอย่างน้อยวันละ 150 ล้านลูกบาศก์ฟุต จึงจะคุ้มค่ากับการลงทุน

ในการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ก่อตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย (อ.ก.ธ.) ขึ้นเพื่อรับภาระหน้าที่ดังกล่าว ในวันที่ 9 มีนาคม 2520 แต่ระหว่างการประกวดราคาเพื่อก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ วางท่อส่งก๊าซ ในเดือนธันวาคม 2521 ได้มีการตราพระราชบัญญัติ ปตท.ขึ้น อ.ก.ธ.จึงถูกยุบ และโอนการดำเนินงานทั้งหมดไปอยู่ที่ ปตท.

เมื่อรับโอนภาระทั้งหมดมาแล้ว ปตท.จึงเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซ โดยได้วางท่อใต้น้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 34 นิ้ว ในระยะทาง 425 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นท่อส่งปิโตรเลียมทางทะเลเส้นเดียวที่ยาวที่สุดในโลก จากแหล่งก๊าซในอ่าวไทย มาขึ้นบกที่จังหวัดระยอง และวางท่อบนบกต่อไปยังผู้ใช้คือ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ของ กฟผ.ระยะทาง 170 กิโลเมตร

ในการลงทุนครั้งนั้น ปตท.ในฐานะหน่วยงานของรัฐมองเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงานเป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นได้มีการขยายการลงทุนวางท่อเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงข่ายท่อก๊าซเหล่านี้ จึงเป็นทรัพย์สินที่สร้างมูลค่ามหาศาล และเป็นจุดแข็งทางธุรกิจของ ปตท.ในปัจจุบัน

ปัจจุบันก็ไม่มีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้คนอื่นเข้ามาลงทุนวางท่อ แต่ก็คงไม่มีใครกล้าเข้ามาลง เพราะเขาไม่สามารถแข่งขันได้ เรามีแหล่งก๊าซตั้งเยอะที่จะป้อนเข้าไป ถ้าผู้ลงทุนใหม่มีแหล่งก๊าซอยู่เพียงแหล่งเดียว ขืนลงทุนไปก็เจ๊ง"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.