Confidence of being a Regional Leader

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แต่ก่อนเราอาจคุ้นเคยกับวลีที่ว่า "บริษัทน้ำมันแห่งชาติ" เมื่อมีการกล่าวถึง ปตท. แต่คำนิยามนี้ ดูเหมือนจะเล็กลงไปทันที เมื่อมองเห็นเป้าหมายที่ ปตท.ได้ตั้งใจไว้ว่าจะก้าวไปให้ถึง

วิสัยทัศน์ของปตท.ถูกกำหนดใหม่ไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนแปรรูปเพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ว่าเป้าหมายของ ปตท.ต้องเป็น "บริษัทพลังงานของไทยที่ทำธุรกิจครบวงจร และเป็นผู้นำในภูมิภาค" และต้องเป็น "องค์กรแห่งความเป็นเลิศในด้านผลประกอบการ"

หมายความว่านับแต่นี้ไป จุดมุ่งหมายหลักในการดำเนินงานของ ปตท.นอกจากการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานในภูมิภาคนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างผลตอบแทน ในรูปของกำไร คืนกลับให้กับผู้ถือหุ้น

บทบาท "บริษัทน้ำมันแห่งชาติ” ที่เป็นกลไกของรัฐในการควบคุมการเปลี่ยนแปลง ของราคาน้ำมันภายในประเทศ ตลอดจนการเป็นบริษัทนำร่องลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้อนาคตเช่นในอดีต จะไม่เกิดขึ้นกับ ปตท.อีก

"ตอนที่เราไป roadshow ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจมาก และตอนนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า หนึ่ง-ในเรื่องราคานั้นรัฐบาลจะไม่เข้ามาแทรกแซง และ สอง-รัฐบาลไม่สามารถมากำหนดให้เราไปลงทุนอะไรที่มันไม่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติออกมาแล้วว่าในการลงทุนให้เป็นไปตามหลักของ ปตท.เอง แต่ถ้ามีโครงการไหนที่รัฐบาลอยากให้เราไปลงทุนเป็นพิเศษ รัฐต้องช่วยสนับสนุน" วิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ยืนยันกับ "ผู้จัดการ"

ซึ่งมีความหมายถึงการลงทุนใดๆ ก็ตาม หลังจากนี้หากมีการประเมินแล้วว่าไม่คุ้ม ปตท.จะไม่เข้าไปลงทุนเด็ดขาด

ผลการดำเนินงานในปี 2545 ปตท.มียอดรายได้รวม 409,334.63 ล้านบาท กำไร สุทธิ 24,506.79 ล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของ "ผู้จัดการ 100" ทิ้งห่างปูนซิเมนต์ไทย และการบินไทย ที่เคยสลับกันขึ้นเป็นอันดับ 1 อยู่หลายช่วงตัว

 

ธุรกิจหลักของ ปตท.คือ กิจการก๊าซ ธรรมชาติ น้ำมัน และปิโตรเคมี

"ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันนั้น เราทำได้ครบวงจรแล้ว ส่วนปิโตรเคมีจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุน โดย ปตท.จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมนี้ทั้งระยะต้น ระยะกลาง แต่ก็มีข้อกำหนดชัดเจนว่าบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุนนั้น จะต้องเป็นกิจการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติของเราเองเป็นวัตถุดิบ" วิเศษอธิบาย

โครงสร้างรายได้และกำไรของ ปตท. มีความแตกต่างกัน โดยรายได้ส่วนใหญ่ 58.2% มาจากธุรกิจน้ำมัน รองลงไป 34.8% มาจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และอีก 7% เป็นรายได้จากธุรกิจปิโตรเคมี

"รายได้จากปิโตรเคมี ก็คือ เงิน ปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่เราเข้าไปถือหุ้น"

แต่ในส่วนของกำไร หากวัดจาก EBITDA ในปี 2545 พบว่า 84.7% เป็นกำไรจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ส่วนธุรกิจน้ำมันทำกำไรได้เพียง 11.7% ส่วนที่เหลืออีก 3.6% เป็นกำไรจากธุรกิจปิโตรเคมี

ซึ่งโครงสร้างนี้มีสัดส่วนคงที่ในลักษณะใกล้เคียงกันมาตลอด

(ดูรายละเอียดจากตารางโครงสร้าง รายได้ของ ปตท.)

จากโครงสร้างกำไรที่แสดงออกมาดังกล่าว ได้เป็นตัวกำหนดทิศทางการทำธุรกิจในอนาคตของ ปตท.

เป้าหมายของ ปตท.หลังจากนี้ จะมุ่งเน้นทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ส่วน ธุรกิจน้ำมัน จะเป็นการบริหารสินทรัพย์ที่ได้มีการลงทุนไปแล้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมมากนัก

"น้ำมันเป็นธุรกิจที่ได้กำไรน้อย แต่มีการแข่งขันสูง"

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงที่ทำให้มีการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อปลายปี 2521 ก่อนที่จะแปรสภาพมาเป็นบริษัท ปตท.ในปัจจุบัน

"ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานที่สะอาด และได้เปรียบพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรือแม้แต่น้ำมันด้วยซ้ำ เพราะมันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก และเป็นเชื้อเพลิง ธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถนำไปเป็นประโยชน์อื่นได้อีก เช่น ก๊าซหุงต้ม หรือปิโตรเคมี" วิเศษให้เหตุผล

ตลอดเวลากว่า 25 ปี ปตท.เป็นผู้ผูกขาดทำธุรกิจนี้เพียงรายเดียวในประเทศไทย

วิเศษได้นิยามความหมายของคำว่า "ผูกขาด" ในที่นี้ว่าเป็นการ "ผูกขาดโดยธรรมชาติ"

แต่การเป็นผู้ผูกขาดนั้น มิได้หมายความว่าก๊าซธรรมชาติไม่มีคู่แข่ง "เราต้องแข่งขันกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น"

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ปัจจุบันทำได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การสำรวจหา การผลิต การขนส่งผ่านท่อมาถึงโรงแยกก๊าซ การนำก๊าซที่แยกแล้วส่งต่อไปยังกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานผลิตวัตถุดิบขั้นต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

จุดขายของก๊าซธรรมชาติอยู่ที่การกำหนดราคาให้ต่ำกว่าน้ำมันเตา "เราจะต้องทำ อย่างไรให้ต้นทุนต่ำ เพราะต้องขายให้ได้ในราคาต่ำกว่าน้ำมันเตา ซึ่งถือเป็นคู่แข่ง และหากน้ำมันเตาลดลง เราก็จะต้องทำราคาก๊าซลดลงตามไปด้วย"

ปตท.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอัตราการขยายตัวของผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ระดับ 6% ต่อปี

ตามเป้าหมายนี้ ปตท.จะต้องลงทุนวางโครงข่ายท่อส่งก๊าซให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม ผู้ใช้หลักทุกกลุ่ม และโครงข่ายเหล่านี้ จะต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เผื่อว่าหากท่อใดมีปัญหา ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ท่ออื่นทดแทนได้ทันที

"ท่อก๊าซจึงเป็นเหมือนทางด่วน เพราะไม่ว่าเราจะสำรวจเจอก๊าซ มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีท่อ เราก็ไม่สามารถนำก๊าซนั้นขึ้นมาใช้ได้"

ปัจจุบันโครงข่ายท่อส่งก๊าซของ ปตท.ทั้งบนบก และในทะเล มีความยาวรวม 2,600 กิโลเมตร มีการส่งก๊าซผ่านท่อ 2,500 ลูกบาศก์ ฟุตต่อวัน ตามเป้าหมายในอีก 5 ปี จะมีการขยายโครงข่ายของท่อให้สามารถส่งก๊าซได้ 3,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

การขยายโครงข่ายท่อก๊าซของปตท.จึงถือเป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในช่วงนับแต่นี้ โดยโครงข่ายที่อยู่ในแผนแม่บทที่จะขยายใหม่ ประกอบด้วยท่อส่งก๊าซจากไทรน้อยมายังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โครงการท่อประธานเส้นที่ 3 และโครงการท่อส่งก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ ต้องใช้เงินลงทุนอีกนับหมื่นล้านบาท

(ดูโครงข่ายท่อก๊าซของ ปตท.)

นอกจากการวางท่อก๊าซแล้ว การขยายตลาดผู้ใช้ก๊าซก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาก๊าซธรรมชาติของ ปตท.กว่า 50% ขายให้กับกฟผ. ส่วนที่เหลือขายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ และโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันเตามาใช้เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีประมาณ 80 แห่ง ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี้เป็นตลาดเป้าหมายต่อไปที่ ปตท. จะต้องขยายครอบคลุมไปให้ทั่วถึง

"เราเป็นผู้จัดหาก๊าซ แม้ว่าอาจไม่มีคู่แข่ง แต่เราก็แข่งกับตัวเอง เราคงไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมชาติของดีมานด์ ซัปพลาย แต่เราต้อง พยายามที่จะสร้างตลาดขึ้นมาเองด้วย ต้องวิ่งเข้าหาตลาด ไปในที่มีความต้องการใช้ อย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเขาอาจอยากเปลี่ยนเชื้อเพลิง แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนหรือยัง เราก็ให้บริการพวกนี้"

วิเศษมองว่า จากกระแสการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม จะทำโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ซึ่งกำลังจะมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ต้องหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก

"ถ่านหินนั้นผู้ต่อต้าน เขาต่อต้านตัวเชื้อเพลิง แต่ของ ปตท.เจอต่อต้านในเรื่องท่อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของขั้นตอนเรื่องของการศึกษาสิ่งแวดล้อม คือถ้าเรารู้ปัญหา เราก็ทำแต่เนิ่นๆ แล้วเราก็อาจวางแนวท่อให้ไม่ต้องไปเจอแหล่งชุมชนมากนัก ผมก็ว่ามันเสี่ยงน้อยกว่า นอกจากนี้เรายังต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนที่แนวท่อก๊าซผ่านได้เกิดประโยชน์ อาจเป็นเรื่องของภาษี หรือเงินชดเชยที่จะให้กับชุมชน ซึ่งถ้าทำเรื่องนี้ได้ ต่อไปชุมชนอาจจะอยากให้ท่อก๊าซผ่าน และที่ผ่านมาก็พิสูจน์มาแล้วว่ามันไม่ได้อันตรายอย่างที่ว่ากัน เราใช้ก๊าซมา 20 กว่าปีแล้ว ถนนที่จะไปชลบุรี ระยอง มีท่อผ่านมาตั้ง 10-20 ปีแล้ว ก๊าซธรรมชาติ นี่มันอันตรายน้อยกว่าแก๊สหุงต้มเสียอีก แต่คนกลัวกันไปเอง"

การสนับสนุนให้รถยนต์เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมัน มาใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ ปตท. กำลังนำมาใช้ในการขยายตลาดก๊าซธรรมชาติ แต่โครงการนี้ จะต้องเดินหน้าสัมพันธ์กับการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซ ดังนั้นจึงถือเป็นโครงการระยะยาว

"มันเหมือนไก่กับไข่ เราต้องสร้างสถานีก๊าซก่อน คนถึงจะสะดวกในการใช้ แม้ว่า เราจะมีสถานีน้ำมันและแก๊สอยู่ด้วยกัน แต่การลงทุนสถานีแก๊สต้นทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าขนส่ง ซึ่งหากจะทำให้ถูกคือต้องมีท่อผ่าน แต่ตอนนี้ท่อยังไม่ได้ผ่านชุมชนเท่าไรนัก"

ปลายปีนี้ วิเศษ จูภิบาล จะเกษียณอายุการทำงานใน ปตท.เขาก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ ปตท.กำลังมีการปรับเปลี่ยน โครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อเตรียมการแปรรูปเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

วิเศษทำงานอยู่กับปตท.มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ตลอดเวลากว่า 25 ปี เขาได้เห็นความ เปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นใน ปตท.มากมาย แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่มีผลต่อก้าวย่างในอนาคตของ ปตท.นั้นเกิดขึ้น 2 ครั้ง

ครั้งแรก คือเมื่อ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการ (operator) เต็มรูปแบบในโครงการบงกช ในอ่าวไทย เมื่อกลางปี 2541 และครั้งที่ 2 เมื่อ ปตท.ได้เข้าไประดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ ในปลายปี 2544

การเป็น operator แหล่งปิโตรเลียมด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทต่างชาติ ทำให้กระบวนการทำธุรกิจพลังงานของ ปตท.มีความครบวงจรสมบูรณ์ ส่วนการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ฐานเงินทุนของ ปตท.มีความแข็งแกร่ง

"เราสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน จากเดิม 3 เท่า ลงมาเหลือเพียง 1 เท่าเท่านั้นในตอนนี้"

ดังนั้นเมื่อเป้าหมายของ ปตท.อยู่ที่การมุ่งเน้นทำแต่ธุรกิจหลักที่มีความชำนาญ จะยิ่งเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับ ปตท.มากยิ่งขึ้น

ในวันนี้ วิเศษโล่งใจแล้วว่า ปตท.กำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องที่สุด

เขาเชื่อมั่นว่า ปตท.จะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นในธุรกิจพลังงาน ที่มีความสามารถทัดเทียมกับบริษัทใหญ่ๆ ในระดับโลกได้ในอีกไม่นานนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.