Ford อ่วม เจอข่าวลือใกล้ล้มละลาย


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจรถหรูขาดทุน ผู้บริหารมีปัญหาเกาเหลา สารพัดมรสุมข่าวลือยังรุมกระหน่ำ Ford ถึงเวลาพิสูจน์ฝีมือ CEO Bill Ford ทายาทรุ่นหลังของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อเมริกัน

Ford ภายใต้การนำของ Bill Ford ทายาทรุ่นหลังของบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในวันนี้ ดูเหมือนจะแล่นโขยกเขยกไปบนถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ Ford เจอปัญหาใหญ่ในเรื่องความล่าช้าในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และการควบคุมค่าใช้จ่ายที่อ่อนแอ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องหัวปั่นกับการตามแก้ข่าวลือ สารพัดที่รุมกระหน่ำ ตั้งแต่ความเชื่องช้าในแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ จนถึงที่หนักที่สุดคือข่าวลือว่า Ford ใกล้จะล้มละลาย แต่ความจริง Ford ก็เช่นเดียวกับบริษัทคู่แข่งอย่าง GM และ Chrysler ซึ่งต่างก็แบกภาระต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญ และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับพนักงานเกษียณอายุจนหลังแอ่น และต่างก็เผชิญกับส่วนครองตลาดที่หดแคบลง รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่งที่มาจากต่างประเทศ ปัญหาที่ Ford เผชิญทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นแล้วในราคาหุ้นของ Ford ซึ่งขณะนี้ซื้อขายกันอยู่ที่ระดับสูงกว่า 9 ดอลลาร์ เพียงเล็กน้อย อันเป็นราคาที่ตกต่ำลงถึง 40% จากช่วงเวลาที่ Bill Ford ก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง CEO เมื่อ 18 เดือนก่อน

ความท้าทายที่ Bill เผชิญ ไม่ได้มีเพียงแค่การแก้ปัญหาที่น่าปวดหัวต่างๆ ข้างต้นเท่านั้น แต่เป็นการที่ต้องพยายามแก้ปัญหา เหล่านั้นร่วมกับทีมผู้บริหารที่ไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไรต่างหาก Bill ถึงกับต้องจัดให้มี executive coaches สอนมารยาททางธุรกิจ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัททั้ง 3 คน ได้แก่ Nick Scheele ผู้เป็น president และ COO และ EVP ทั้ง 2 คนคือ Jim Padilla และ David Thursfield เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างพวกเขา แม้แต่ตัว Bill เอง ก็มีหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทเป็น executive coach ส่วนตัวด้วยเช่นกัน Bill พบกับผู้บริหารทั้งสามของเขาหลายครั้ง เพื่อขอให้พวกเขาพยายามขจัดความแตกต่างไม่ลงรอยกันเพื่อเห็นแก่บริษัท

ทั้งสภาพธุรกิจที่กำลังย่ำแย่ ภาระหนี้กองทุนบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาลก้อนโต บวกกับอาการเกาเหลาของทีมผู้บริหารนี้เอง ทำให้ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมหลายคนถึงกับเริ่มตั้งคำถามว่า "Ford จะไปรอดหรือไม่?" คำตอบคือตอนนี้ยังไปรอด แต่ช่วงเวลาที่เหลือต่อจากนี้จนถึงสิ้นปีคือช่วงเวลาสำคัญที่จะทดสอบ ทั้งบริษัทและพิสูจน์ทั้งฝีมือของ CEO Bill ว่าจะสามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในเดือนมกราคมปีนี้ ที่ว่าจะเพิ่มส่วนครองตลาดในปี 2003 และจะฉุดดึงธุรกิจรถยนต์ที่กำลังขาดทุนให้กลับมาสู่จุดคุ้มทุน (ก่อนหักภาษี) อีกครั้งภายในปีนี้ได้หรือไม่ บรรดาสำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างก็กำลังจ้องเขม็งมาที่ Ford Standard & Poors (S&P) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดัง ซึ่งให้เครดิตแก่ Ford ในแดนลบอยู่แล้วในขณะนี้ชี้ว่า หาก S&P เชื่อว่า Ford ไม่สามารถจะทำตามที่สัญญาไว้ได้ อันดับความน่าเชื่อถือในการจ่ายคืนหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวของ Ford จะต้องถูกประเมินใหม่ เมื่อถึงเวลานั้น Ford ต้องกระทบแน่นอน เพราะขณะนี้ Ford ก็ถูกจัดอันดับอยู่ที่ระดับ BBB ซึ่งอยู่เหนือจากระดับ junk เพียง 2 ขั้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม Ford ทำเซอร์ไพรส์ เมื่อรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ว่ากำไร (ก่อนหักภาษี) ในธุรกิจรถยนต์ และมีกระแสเงินสดเป็นบวก อันเป็นผลมาจากการเร่งตัดรายจ่าย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในต่างประเทศและในกลุ่มรถยนต์หรูยังคงขาดทุน นักวิเคราะห์ยังชี้ด้วยว่า ภาพรวมธุรกิจของ Ford ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ก็ไม่ใคร่สดใสนัก

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 Ford ทำกำไรได้เกินหน้าใครๆ ในอุตสาหกรรม จากรถกระบะ (pickup truck) และรถสปอร์ตอเนกประสงค์ (sport utility) ด้วยผลกำไรที่ปรับแล้วของ Ford ในปี 2000 ซึ่งสูงถึง 2,032 ดอลลาร์ต่อคันในตลาดอเมริกาเหนือ ทำให้ Ford ฝันหวานถึงอนาคตที่สดใสรออยู่ตรงหน้า ผู้บริหารของ Ford ถึงกับพูดว่า Ford ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของ 3 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ Big Three แห่ง Detroit อีกต่อไป เพราะ Ford รู้สึกว่าตนมีภาษีดีกว่านั้น โดยสามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นและเยอรมนีอันยอดเยี่ยมได้ มีการพูดกันถึงขนาดว่า Ford จะสามารถทำยอดขายแซงหน้า GM ในตลาดสหรัฐฯ ได้ และจะผงาดขึ้นครองตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งในอเมริกา

แต่แล้วความตกต่ำของ Ford ที่ตามมาหลังจากนั้นหนักหนา ถึงขนาดเทียบได้กับความล่มสลายของธุรกิจดอทคอม CFO Allan Gilmour ของ Ford กล่าวว่าเป็นเพราะ Ford มัวแต่สนใจผลประกอบ การในระดับหน่วยธุรกิจมากเกินไป จนละเลยความได้เปรียบของตน ในด้านปริมาณและขนาดการผลิต ในขณะที่คู่แข่งอย่าง GM เพิ่งค้น พบความได้เปรียบในแง่ดังกล่าวอีกครั้ง สงครามแย่งลูกค้าด้วยสิ่งจูงใจ ต่างๆ ที่เปิดฉากโดย GM บวกกับสภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดรถบรรทุก และความด้อยประสิทธิภาพลงในด้านวิศวกรรมและการผลิตของ Ford เอง ส่งผลให้ Ford ถึงกับขาดทุนมหาศาลในตลาดอเมริกาเหนือถึง 2.15 พันล้านดอลลาร์ในปี 2001 Ford ต้องละความพยายามที่จะกระจายความเสี่ยงอันไร้ผลของตนลง ทิ้งธุรกิจค้าปลีกและ Internet และพยายามเพิ่มคุณภาพ และลดค่าใช้จ่าย Ford สามารถลดการขาดทุนลงเหลือ 559 ล้านดอลลาร์เมื่อปีกลาย แต่ก็ต้องแลกด้วยการสูญเสียส่วนครองตลาดจากระดับ 25% ในปี 1998 เหลือ 21% ในปัจจุบัน

ความล้มเหลวของธุรกิจรถหรูของ Ford คือตัวแทนที่อาจอธิบายความล้มเหลวของ Ford ได้ดีที่สุด หลังจากซื้อ Volvo ในปี 1999 และ Land Rover ใน ปี 2000 Ford ดึง Lincoln กับ Jaguar มารวมด้วยแล้วตั้งเป็น "กลุ่มรถระดับหรูเลิศ" (Premier Automotive Group: PAG) ตั้งแต่เริ่มต้นมาแล้วที่ PAG ส่ออาการของปัญหา เมื่อส่วนงานวิศวกรรมกระจายอยู่ในสวีเดน อังกฤษ และมิชิแกน ในขณะนี้ส่วนการตลาดกลับอยู่ใน แคลิฟอร์เนีย และในระหว่างที่เหล่าผู้บริหาร Ford กำลังพยายามวางแผนธุรกิจอันยิ่งใหญ่ให้แก่แบรนด์รถหรูแต่ละแบรนด์ข้างต้นอยู่นั้นเอง ธุรกิจรถหรูของ Ford ก็พังทลายลง Lincoln ขาดทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2001 Jaguar ขาดทุน 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2002 และ Land Rover เพิ่งจะเริ่มทำกำไรครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้เอง Lincoln ถูกส่งกลับไปดำเนินการในอเมริกาเหนือ และแผนการขยายตัวก็ต้องพับเก็บขึ้น PAG ยังคงขาดทุน 88 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้

เพื่อทำให้บริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้ง Bill Ford ตั้งใจจะลดค่าโสหุ้ยของบริษัทลง 6 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2005 จากจำนวน 30 พันล้านดอลลาร์ โดยลดค่าใช้จ่ายประจำทุกอย่างตั้งแต่ค่าโฆษณาจนถึงค่าตัดหญ้าในสนามหญ้า ขณะเดียวกันเขาก็กำลังยกเครื่องส่วนงานหลักทุกส่วน รื้อปรับระบบการจัดซื้อเพื่อประหยัดให้มากขึ้น ปรับสายการผลิตในโรงงานผลิตให้เหมาะสมเพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และลดขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถออกรถรุ่นใหม่ๆ ได้มากขึ้น ผลของการยกเครื่องครั้งใหญ่นี้ ทำให้ Ford มีค่าใช้จ่ายในสินทรัพย์ ประเภททุนเพิ่มมากขึ้นเป็น 8 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าปีกลายถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ ผู้บริหาร Ford บอกว่า พวกเขาจะใช้เงินในการพัฒนา Jaguar, Volvo และ Land Rover และปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัย

เป็นอันว่าขณะนี้ Ford สามารถประคองตัวไม่ให้ล้มและกลับ มายืนตัวตรงได้อีกครั้งหนึ่ง แต่นักวิเคราะห์ก็ยังสงสัยว่า Ford จะก้าวเดินต่อไปได้คล่องแคล่วเพียงใด ทั้งนี้ Ford คาดว่าในปีนี้จะสามารถเพิ่มส่วนครองตลาดในตลาดอเมริกาเหนือได้ แต่ J.D.Power & Associates คาดการณ์ในทางตรงข้าม Ford ลั่นปากว่า จะไม่ลด ราคาแต่อาจต้องกลืนน้ำลายในสภาพที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงตกต่ำ และ GM เปิดสงครามแย่งชิงลูกค้าด้วยสิ่งจูงใจต่างๆ

ความหวังทั้งมวลของ Ford ในปี 2003 ฝากไว้ที่ปิกอัพ F-Series รุ่นปรับโฉมใหม่ ซึ่งจะเริ่มออกตัวจากโรงงาน 4 แห่งในเดือนตุลาคมนี้ Ford คาดว่าจะขายได้ 9 แสนคันต่อปี เมื่อโรงงานทุกแห่งเดินเครื่องได้พร้อมกันหมด F-Series เป็นตัวทำกำไรให้ Ford มาตลอด โดย F-Series สามารถทำกำไรได้มากกว่าสายผลิตภัณฑ์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งสายรวมกันเสียอีก อย่างไรก็ตาม F-Series รุ่นปรับโฉมซึ่งมีทั้งหมด 5 แบบตั้งแต่ utilitarian ถึง ultra-luxe มีต้นทุนการผลิตแพงขึ้น 2,000 ดอลลาร์จาก F-Series รุ่นเก่า แต่นี่คงไม่เป็นปัญหา หาก Ford สามารถบวกราคาเพิ่มได้ อย่างไรก็ตาม Ford ต้องเจอกับคู่แข่งอย่าง Chrysler, Toyota, Nissan และ GM ซึ่งต่างก็พึ่งพายอดขายปิกอัพเป็นหลักเช่นเดียวกัน แม้ว่าขณะนี้ Ford ได้สั่งให้วิศวกรหลายร้อยคนช่วยกันคิดวิธีผลิต F-Series รุ่นใหม่ ให้มีต้นทุนถูกลง แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่ายังไงส่วนต่างกำไร (margin) ของ Ford ก็คงจะหดแคบลงกว่าเดิม

ปัญหาทั้งหมดข้างต้นของ Ford ตกอยู่บนบ่าของ Bill Ford วัย 46 ผู้มีประสบการณ์น้อยนิดในการบริหารธุรกิจไม่ว่าขนาดใด โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนอย่างบริษัทที่เขากำลังบริหารอยู่นี้ Bill เก่งในเรื่องการประสานสัมพันธ์ระหว่าง ลูกจ้าง ตัวแทนขาย เจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงาน และ supplier ด้วยความเป็นนักสื่อสารชั้นยอดของเขา และ เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและความรัก จากทุกๆ ฝ่าย แต่บางทีอาจเป็นเพราะ ความอ่อนประสบการณ์ในทุกๆ ด้านของ Bill ทั้งด้านการผลิต การเงิน หรือ วิศวกรรมนี้เอง "ซึ่งต่างจาก CEO คนก่อนๆ ของ Ford ทุกคน" ทำให้เวลาที่ Bill กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ของบริษัทและกำหนดเป้าการลดรายจ่าย เขาจึงปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถ ทำทุกอย่างที่เห็นว่าจำเป็นได้อย่างเต็มที่ แต่กลยุทธ์นี้ของ Bill จะได้ผลแค่ไหนอย่างไรยังไม่มีใครบอกได้ในตอนนี้

เนื่องจาก Ford ปรับองค์กรบ่อยครั้ง ทำให้ขาดแคลนผู้จัดการที่มีประสบการณ์ต่อเนื่องยาวนาน Bill จึงต้องจัดตั้งทีมปฏิบัติงานใหม่ ซึ่งนอกจาก มี CEO Scheele วัย 59 แล้ว ก็ยังมี EVP Padilla วัย 56 ซึ่งรับผิดชอบตลาด อเมริกาเหนือ EVP Thursfield วัย 57 รับผิดชอบตลาดยุโรป และยังประกอบด้วยโครงการรวมกลุ่มรถหรู PAG กับงานจัดซื้อด้วย 3 ผู้บริหารนี้ไต่เต้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และไม่มีใครใน 3 คนนี้เคยทำงานร่วมกับ Bill มาก่อน

หลังจากรับตำแหน่ง CEO Bill แสดงให้ผู้บริหารทั้งสามของเขาเห็นอย่างชัดเจนว่า เขาจะไม่ยอมให้ความขัดแย้งของทั้งสามมาทำลายแผนฟื้นฟูบริษัทของเขาเป็นอันขาด Ford กล่าวว่า เขาไม่มีวันจะยอมให้มีการพูดว่ากันลับหลังเกิดขึ้น หลายเดือนต่อมา Ford พบกับ Thursfield เป็นการส่วนตัวก่อนจะแต่งตั้งเขาเป็นผู้รับผิดชอบงานจัดซื้อทั่วโลก Thursfield ซึ่งเติบโตมาในสายงานผลิตและเป็นที่รู้กันดีถึงความเป็นนักตัดรายจ่ายตัวยง มีบุคลิกที่โผงผางและปากร้าย Ford ต้องเตือนเขาว่าให้ระวังท่าทีที่แสดงออกต่อคนอื่นๆ ที่อาจจะสร้างความแตกแยกร้าวฉานได้

ในการประชุมช่วงฤดูร้อนปี 2002 Ford กล่าวเตือน Thursfield และ Padilla ให้ระมัดระวังการวิจารณ์การทำงานของอีกฝ่าย และจัดให้ทั้งสองมี executive coach ส่วนตัว เป้าหมายเพื่อสอนให้ Thursfield ทำตัวให้ "น่ากอดมากขึ้น" และทำให้ Padilla ซึ่งเป็นคนเงียบๆ เก็บปากเก็บคำรู้จัก "แสดงออกมากขึ้น" วิธีนี้ดูเหมือนจะได้ผลในการลดความแตกต่างของผู้บริหารทั้งสอง

ปัญหาเกาเหลาในหมู่ผู้บริหารของ Ford น่าจะยุติลงแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งใน Detroit เกิดไปได้ข่าวว่า Ford กำลังสอบสวน COO Scheele เกี่ยวกับการที่เขาเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทโฆษณาที่ลูกชายของเขาทำงานอยู่ และลือกันสนั่นว่าผู้อยู่เบื้องหลังการสอบสวนคือ Thursfield แต่ภายหลัง Thursfield ได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ในขณะที่ Scheele เองก็เขียนบันทึกช่วยจำปฏิเสธว่าเรื่องทั้งหมดไม่เป็นความจริง ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือเท็จอย่างไร แต่ Scheele นับวันดูเหมือนจะด้อยความสำคัญลงไปทุกที การออกมาให้ความเห็นอย่างโจ่งแจ้งของเขาเรื่องการขาดทุนของ Jaguar และต้นทุนที่สูงของ F-Series ดูจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ Bill เป็นอย่างมาก และเมื่อ Ford นับวันมีแต่จะเชื่อมั่นในฝีมือของ Bill มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ บทบาทของ Scheele ก็คงจะต้องลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เช่นกัน

เวลาที่บริษัทประสบปัญหา ก็มักจะมีแต่ข่าวร้ายๆ กระหน่ำซ้ำเติมอยู่เสมอ ล่าสุด Ford ต้องต่อสู้กับข่าวลือที่ว่าบริษัทใกล้จะล้มละลาย เรื่องของเรื่องมาจากวารสารชื่อ Grant's Interest Rate Observer อ้างคำพูดของ Sean Egan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Egan-Jones บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเล็กๆ ใน Pennsylvania ที่พูดว่า "ถ้าไม่ใช่เพราะชื่อ Ford ป่านนี้ Ford คงจะล้มละลายไปแล้ว" Egan ติดตามความเป็นไปของ Ford อย่างใกล้ชิดมาตลอด และได้ลดอันดับความ น่าเชื่อถือของ Ford ลงสู่ระดับ junk ไป แล้วตั้งแต่ 1 ปีก่อน โดยเขาอ้างว่า Ford มีปัญหาค้างชำระเงินกองทุนบำนาญก้อนโตและสินค้าคงคลัง SUV เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม Scott Sprinzen นักวิเคราะห์จาก S&P เห็นแย้งว่า Ford ยัง อยู่ห่างไกลจากภาวะหมดความสามารถ ในการชำระหนี้อีกหลายปี เพราะมีเงินสดสูงถึง 26.6 พันล้านดอลลาร์

ดูเหมือนความผิดพลาดจะไม่ยอมปล่อยมือจาก Ford ไปง่ายๆ ในช่วงที่กำลังเตรียมนำเสนอรายงานทาง การเงินแก่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เกิดมีสไลด์ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์บางส่วนหลุดเข้าไปใน website ของ Ford ซึ่งข้อมูลในนั้นแสดงว่า Ford กำลังแอบวิตกว่าธุรกิจในตลาดอเมริกาเหนือของตนจะมีผลประกอบการที่ต่ำกว่าที่ตนเคยคาดไว้ (ขาดทุนก่อนหักภาษี 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2003) และแอบคาดการณ์ ผลประกอบการจากตลาดยุโรปไว้ดีมากเกินไป (กำไรก่อนหักภาษี 2.2 พัน ล้านดอลลาร์) สไลด์อีกแผ่นหนึ่งพยากรณ์ยอดขายรถยนต์ของ Ford ไว้สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทำนายไว้ สไลด์ที่ผิดพลาดเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน website เพียงชั่วไม่กี่นาทีก็ถูกถอดออกไป Ford ชี้แจงแก้เกี้ยวว่า สไลด์ดังกล่าวเป็นเพียงฉบับร่างซึ่งยังมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอยู่

อีกไม่นาน Ford จะเริ่มเจรจากับสหภาพแรงงาน United Auto Workers เกี่ยวกับสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ แม้ว่า Ford จะต้อง การลดภาระค่าจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล ลง (คนงานในสายการผลิตในโรงงานมีรายได้ 55,000 ดอลลาร์ต่อปี และ Ford รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเกือบ 100%) แต่ Ford ก็คง ไม่แตะต้องเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการรักษาพยาบาล ถ้าหากสหภาพฯ ตกลงยอมให้ Ford ปิดโรงงานที่ไม่จำเป็นลง

ในวาระที่ Ford ฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งบริษัท ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 1903 นี้ Bill อาจจะยังไม่มีเรื่องให้สุขสมหวังมากนัก แต่อย่างน้อยยังมีบทเรียนดี ๆ บางบทจากอดีตที่อาจเหมาะกับสถานการณ์ของเขาในเวลานี้อย่างยิ่ง เมื่อครั้งที่ Henry Ford II ลุงของ Bill ต้องสืบทอดตำแหน่งจากปู่ผู้ชราภาพของเขาในปี 1946 นั้น เขามีอายุเพียง 28 ปีเท่านั้น เขาว่าจ้างกลุ่มคนหนุ่มไฟแรงประเภทที่เรียกว่า Whiz Kids ซึ่งรวมถึง Robert McNamara และรับ Ernie Breech อดีตผู้บริหาร GM ให้มาช่วยบริหารและสร้างเสถียรภาพให้แก่บริษัท Breech บริหาร Ford ถึง 14 ปี จนกระทั่ง Henry มั่นใจว่าเขาเรียนรู้มากพอที่จะฉายเดี่ยวได้แล้ว Bill อาจไม่ต้องการใช้เวลานานขนาดนั้น แต่เขาอาจเรียนรู้จากบทเรียนของลุงและค้นพบ Ernie Breech คนที่สองที่เหมาะกับเขาได้

แปลและเรียบเรียงจาก FORTUNE May 12, 2003
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ linpeishan@excite.com



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.