เกาะเล็กๆ รูปหยดน้ำปลายชมพูทวีปแห่งนี้ เป็นบ้านเกิดแห่งที่สองของ Arthur
C. Clarke ผู้เขียนเรื่อง "2001 : A Space Odyssey" ซึ่งพาผู้อ่านเดินทางข้ามจักรวาล
ไปทำความรู้จักมนุษย์คนแรก และวิวัฒนาการอันยาวนานจนถึงชีวิตในห้วงอวกาศกับคอมพิวเตอร์อัจฉริยะอย่าง
HAL รวมทั้งโลกในปี 3001 ก็ปรากฏใน "The Final Odyssey"
การที่ Arthur กล่าวว่าเขาไม่สามารถตอบคำถามว่า ทำไมจึงชอบประเทศศรีลังกาด้วยประโยคเพียงสองสามประโยค
แต่บอกให้ไปหาอ่านเอาจากหนังสือของเขาเรื่อง "The View from Serendip" เพียงเท่านี้ก็ทำให้ศรีลังกาดึงดูดใจเป็นที่น่าค้นหาของคนจำนวนไม่น้อย
ศรีลังกาเคยมีชื่อเรียกจำนวนมาก "Serendib" เป็นชื่อที่ชาวอาหรับใช้เรียกดินแดนของชาวสิงหล
แล้วค่อยๆ ถูกแปลง ไปเป็น "Ceylon" ในยุคอาณานิคม เกาะซีลอนกลายเป็นเกาะมหาสมบัติที่เต็มไปด้วยอัญมณีและเครื่องเทศสูงค่า
ในขณะที่ชาวสิงหลก็ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ นักล่าอาณานิคมผลัดเปลี่ยนกันเข้ายึดครอง
โดยเริ่มจากโปรตุเกส ในศตวรรษที่ 16 ดัตช์ในศตวรรษที่ 17 และอังกฤษในศตวรรษที่
18
การตกเป็นอาณานิคม ทำให้ศรีลังกาเป็นที่รวมและปะทะกันของบริบทที่แปลกแยกแตกต่าง
ความเก่าแก่ที่มีมิติความลึกในแง่ประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณของผู้คน ไม่สามารถผสมผสานกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกอย่างเป็นเนื้อเดียวกันได้
ยกเว้นสิ่งเดียวคือ "Ceylon Tea"
Nuwara Eliya เป็นเขตไร่ชาที่มี ชื่อเสียงอยู่ตอนกลางของประเทศ ชาจากโรงงานผลิตชาเก่าแก่
Karagastalawa ที่เราได้ลิ้มลองมีกลิ่นหอมและรสชาติพิเศษที่ดูดซับกลิ่นไม้ป่าของสนไซปรัส
ยูคาลิปตัส และมินต์จากเทือกเขาสูงที่ล้อมรอบ
ใบชาจากเขตนี้เป็นหนึ่งในใบชาคุณภาพดีที่สุดจนได้ชื่อว่า "แชมเปญแห่งซีลอน"
พื้นที่ปลูกชาที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ Ruhuna, Uda Pussellawa, Dimbula, Kandy,
Uva ต่างก็ปลูกต้นชาที่ให้กลิ่น รสเฉพาะตัวที่แตกต่างกันอย่างแท้จริง กระบวนการเติบโตของชาที่ดูดซึมรับจากดินฟ้าอากาศ
แล้วบันทึกเก็บไว้ เพื่อรอเวลาส่งผ่านจากถ้วยชาให้คนดื่มได้สัมผัส เป็นเสน่ห์ที่แตกต่างของชาที่ไวต่อสิ่งเร้า
ในปี 1824 ต้นชาจากประเทศจีนถูกนำมาปลูกที่ Royal Botanic Garden อีก 40
ปีต่อมา James Taylor ได้เริ่มเพาะปลูกชาบนพื้นที่ 19 เอเคอร์ ใกล้เมือง
Kandy และส่งออกใบชา 23 ปอนด์ไปยังลอนดอนในนามกิจการของอังกฤษ ต่อมารัฐบาลศรีลังกาออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน
ทำให้รัฐสามารถควบคุมพื้นที่เพาะปลูกได้ถึงสองในสาม แล้วค่อยๆ ปรับโครงสร้างให้สิทธิ์ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการเอง
หรือร่วมบริหารจัดการ โดยรัฐยังถือครองกรรมสิทธิ์อยู่
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมใบชาของศรีลังกาใหญ่เป็นลำดับสามของโลก มีแรงงาน ราว
1 ล้านคน พื้นที่ปลูกชากว่า 1.8 แสน เฮกตาร์ มีส่วนแบ่งในตลาดโลก 19% หรือ
ประมาณ 300,000 ตันต่อปี โดยเปิด Tea Museum ขึ้นที่เมือง Kandy และ Sri
Lanka Tea Board ก็มีบทบาทอย่างสำคัญในการควบคุมตลาดกลางประมูลชาซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ทุกๆ สัปดาห์ใบชา 3-7 ล้านกิโลกรัม จะมาซื้อขายกันที่นี่ สินค้าที่เป็นชาซีลอน
100% ทำการผลิต บรรจุ และหีบห่อภายในประเทศศรีลังกาเท่านั้นจึงจะได้รับสัญลักษณ์
CEYLON TEA กำกับ รูปสิงห์ถือดาบเป็นตรารับรองคุณภาพ
ชาซีลอนทั้งหมดต้องระบุเกรดตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเฉพาะ ซึ่งมีมากกว่า
10 เกรด เช่น B.O.P.F (Broken Orange Pekoe Fannings) ซึ่งมีราคาสูง และเป็นที่ต้องการมากที่สุดในประเทศอังกฤษ
D (Dust) ใช้ในการทำชาซอง หรือ F.O.P (Flowery Orange Pekon) ใบชาเกรดดีและมีราคาแพงที่สุด
ซึ่งจะเก็บเพียงยอดอ่อน 3 ใบด้วยมือเท่านั้น
ทุกวันนี้การดื่มชาประมาณ 1.5 พันล้านถ้วยต่อวัน ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคไปนิยมชาซอง
สำหรับตลาดของคนส่วนใหญ่ ราคาของความสะดวกรวดเร็วย่อมสูงกว่าอรรถรสของชาซีลอน
ซึ่งนับว่าเป็น Orthodox Tea ที่ดีที่สุดในโลก
กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกกระทบวิถีเดิมของการผลิต การค้า และวิธีคิดของคน
อุตสาหกรรมใบชาของศรีลังกา ซึ่งสืบต่อมายาวนานกว่าศตวรรษ ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมือง
ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมถึงปัญหาการส่งออกใบชาของศรีลังกาเคยตกจากลำดับที่หนึ่งของโลก
มาอยู่ลำดับแปดในปี 1993 อังกฤษไม่ใช่ผู้ซื้อรายใหญ่อีกต่อไป ผลผลิตมากกว่าร้อยละ
70 ส่งออกไปยังรัสเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
ที่จริงเกาะเล็กๆ แห่งนี้เพิ่งก้าวล่วงจากฝันร้ายของความขัดแย้ง และการทำลายล้างที่เข้มข้นยาวนานถึง
2 ทศวรรษ กลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ (LTTE - The Liberation Tiger of Tamil Eelam)
ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ทำการสู้รบอย่างดุเดือดรุนแรงกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นชาวสิงหลและนับถือพุทธ
ผลจากสงครามทำลายกระบวนการพัฒนาประเทศ รายได้ของประเทศมากกว่าร้อยละ 40
ถูกใช้ไปเพื่อการทหาร มีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่า เหตุใดประเทศที่พุทธศาสนาหยั่งรากลึก
ยึดถือในความสงบสันติ จึงพาประเทศของตนเข้าสู่การทำลายล้างที่รุนแรงเช่นนี้
บางเหตุผลอาจเห็นว่ามาจากอิทธิพลของประเทศเจ้าอาณานิคม หรือบางทีวงจรแห่งอำนาจกับประชาชนส่วนใหญ่ได้ตัดขาดกันแล้ว
ใบหน้าของประชาชนส่วนใหญ่จึงเป็นใบหน้าที่ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีก
รุ่งอรุณของวันวิสาขบูชา ท้องถนนเมือง Kandy ละลานตาไปด้วยธงทิวและผู้คนที่เดินประคองถาดดอกไม้หอมพื้นถิ่น
เช่น บัว ลั่นทม มะลิ และพุด มุ่งหน้ามายัง Dallada Malligawan
รอบบริเวณวัดกระจ่างไปด้วยสีขาวของเครื่องนุ่งห่ม สีขาวที่ทำให้บุปผามาลีหลากสีสันที่หลั่งไหลมาเป็นเครื่องบูชาพระธาตุเขี้ยวแก้ว
ดูสวยสดงดงามมากยิ่งขึ้น ตัดกับใบหน้าของผู้คนที่ดูนิ่งเฉยและยังห่างไกลจากคำว่าอิ่มเอิบผ่องใส
เมื่อคืนที่ผ่านมา Suriya กัปตันห้องอาหารในโรงแรมที่พัก Hill Top ที่เมืองแคนดี้
เล่าว่า เมื่อจบสิ้นจากการงานราวเที่ยงคืน เขาก็จะกลับบ้านเก็บเสื้อผ้าแล้วไปแต่งชุดขาวอยู่วัดตลอดทั้งวันทั้งคืน
เขานั่งสมาธิทุกคืน เชื่อในการเวียนว่าย และรู้ว่าตนเองกำลังเดินทางสายที่ยาวไกลซึ่งจุดหมายปลายทางไม่สามารถไปถึงได้ในชีวิตนี้
นี่คือวัตรปฏิบัติโดยทั่วไปของศาสนิกชนชาวศรีลังกาที่เห็น
แต่อีกด้านของความจริงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเราได้พบคือ ชายกลางคนหน้าตาซื่อๆ
ผู้อาสาพาเราซอกแซกเดินในบริเวณวัดพระเขี้ยวแก้วอย่างมีน้ำใจ แต่ก่อนแยกจากกันก็ขอค่าทิปอย่างตรงไปตรงมา
หรือรถตุ๊กตุ๊กในโคลัมโบเรียนรู้การหาเงิน 200 รูปี ที่จะขับอ้อมไปอ้อมมาเพื่อพาเราไปยังจุดหมายที่ห่างไปเพียงสองช่วงตึก
และรอยยิ้มของเด็กหญิงก็มีเป็นพิเศษ เมื่อเห็นกล้องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
คามินี ไกด์ของเราไม่สบายใจเลย หากพวกเราแตกแถวออกไปซอกแซกตามที่ต่างๆ นอกเหนือโปรแกรม
แต่นี่คือวิถีของการเดินทางที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เรายินดีต้อนรับภาพจริงลวงต่างๆ
เห็นส่วนผสมที่แตกต่าง ทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ที่นำมาถักทอรวมกันเกิดเป็นลวดลายพิเศษของชีวิตที่นี่
ความเป็นศรีลังกา มีความหลากหลายที่ประกอบขึ้นจากความน่ามหัศจรรย์ใจของสิคีริยา
จากธรรมชาติที่ยังใหม่สด ป่าดิบ ชายหาด และท้องทะเล องค์ความรู้ทางอายุรเวท
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ถูกนำมาตอบสนองกระแสนิยมของโลกสมัยใหม่ ทำให้เกิด
Spices Garden และ Spa แปลกใหม่จำนวนมาก
นอกจากนั้น ศักยภาพท่องเที่ยวจากความเก่าแก่ของโบราณสถาน สถูปเจดีย์ที่เกลื่อนกล่นนับพันแห่ง
และความเลื่อมใสศรัทธาลึกซึ้งในพุทธศาสนาที่สืบทอดยาวนานนับพันปี ล้วนสร้างรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจของศาสนิกชนต่างถิ่น
รวมทั้งนักลงทุนชาวฝรั่งเศสและเยอรมันที่ทำโรงแรมและธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ
ทั้งหมดนี้ทำให้การเดินทางในศรีลังกาเต็มไปด้วยจินตนาการ
เราเดินอยู่ในนครอนุราธปุระด้วยเท้าเปล่าที่สัมผัสพื้นดิน เพื่อเป็นเครื่องแสดงคารวะ
เดินอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังและเสาหิน ดูว่างเปล่าหากมองด้วยสายตา แต่เต็มไปด้วยจินตนาการที่ย้อนกลับไปเมื่อสองพันปีก่อน
เสาหิน 1,500 ต้น ที่เห็นเคยเป็นปราสาท 9 ชั้นสร้างด้วยโลหะ ทองคำ และเงิน
ครั้งหนึ่งอนุราธปุระเคยมีการปลูกมะลิเป็นแนวยาวนับ 10 กิโลเมตร ดอกมะลิถูกนำมาเป็นเครื่องบูชาและตกแต่งพระสถูปรุวันเวลิ
(Ruanweli Dagaba) โดยปูลาดจากยอดจนถึงลานรอบพระสถูป ความวิจิตรและกลิ่นกำจายครั้งนั้น
เป็นที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน
ใจกลางนครอนุราธปุระคือ พระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระนางสังฆมิตตาเถรี ธิดาพระเจ้าอโศกมหาราช
นำหน่อมาจากพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระศรีมหาโพธิ์นับเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวเก่าแก่ที่สุดในโลก
และลานพระศรีมหาโพธิ์คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในดินแดนแห่งนี้ ในวันนี้ดอกไม้และเครื่องสักการะอันประณีตยังปูลาดเต็มเปี่ยมบริบูรณ์
เป็นเครื่องหมายแห่งความเลื่อมใสศรัทธาที่หยั่งลึก และไม่เคยเสื่อมคลายตลอดหลายช่วงชีวิตคนนับเป็นเวลากว่า
2,000 ปี
เราต้องไม่ลืมว่า อนุราธปุระคือต้นกำเนิดของพุทธศาสนาสายเถรวาทและคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับแรก
ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าของมนุษยชาติ รอบเมืองโบราณหลายแห่งทั่วศรีลังกา
คืออ่างเก็บน้ำจำนวนมหาศาล และเครือข่ายชลประทานที่สร้างโดยแรงงานคนสมัยโบราณ
ยังคงหล่อเลี้ยงระบบการผลิตของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวในประวัติศาสตร์และประจักษ์พยานเหล่านี้
มีพลังของความยิ่งใหญ่ส่งผ่านมาถึงคนรุ่นหลัง ในรูปของจินตนาการและแรงบันดาลใจ
ศรีลังกากำลังเดินทางมาสู่ยุคแห่งการฟื้นฟูบูรณะประเทศอีกครั้ง เพื่อหาที่ยืนอันเหมาะสมของตนเอง
ภายใต้กระแสเชี่ยวของโลกาภิวัตน์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับความสนใจจากรัฐอย่างจริงจัง
เนื่องจากเห็นว่าเป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบันการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นลำดับที่
5 รองจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องจักร ใบชา และการส่งออกแรงงาน
World Tourism Organisation เข้ามาช่วยรัฐบาลศรีลังกา จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวระยะ
10 ปี (ค.ศ. 2004-2014) ซึ่งรัฐบาลย่อมมองเห็นว่ายังมีศักยภาพและคุณค่านานัปการที่จะนำมาสร้างชาติได้ในอนาคต
เพียงแต่ยังมีสิ่งจำเป็นต้องดำเนินการอีกหลายประการ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การบริหารจัดการสมัยใหม่ และที่สำคัญคือการรักษาดุลยภาพในระหว่างการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจสังคม
ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายภูมิปัญญาและความชาญฉลาดของคนศรีลังกาทั้งประเทศ ว่าจะตื่นตัวเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาประเทศอย่างไร
เป็นสิ่งที่ยากประเมิน
สิ่งเหล่านี้อาจทำให้คนธรรมดามองเห็นความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง สัจธรรมของพุทธศาสนาจึงหยั่งรากลึก
ทำให้ผู้คนวางเฉยกับการเปลี่ยนแปลง ทิ้งโลกแห่งความขัดแย้งมาอยู่กับความสงบภายใน
เมื่อถึงคราวที่ผู้นำต้องการพลังในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เพื่อความอยู่รอดและการแข่งขันกับผู้อื่นในเวทีโลก
ก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่า กำแพงของการวางเฉยเหล่านี้ จะถูกพังทลายลงเพื่อนำเอาศักยภาพ
ความมุ่งมั่น และความทะยานอยาก มาแปลงเป็นการกระทำได้มากน้อยเพียงใด
หากมีผู้กล่าวว่าชาวศรีลังกาไม่มีความใฝ่ฝันแล้ว ศรัทธาในศาสนากับซากโบราณสถานในอดีต
อาจสะท้อนอีกด้านหนึ่งของพลังความมุ่งมั่นและความฝันที่ซ่อนอยู่ เพียงแต่ความฝันนั้นไปอยู่ที่มิติอื่นของเวลาและจักรวาลเสียแล้ว
บางทีอาจตระการตาจนชีวิตในปัจจุบันจืดชืดเกินไป และบางทีอาจอลังการเกินจินตนาการของนักสร้างฝันแห่งฮอลลีวู้ดจะสร้างให้ปรากฏก็เป็นได้