จากแมกเนติกสู่เพาเวอร์ซัปพลายครบวงจร


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

บมจ.เดลต้า อเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 ซึ่งเป็นช่วงเวลา ที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยกำลังเบ่งบานท่ามกลางความปีติของภาครัฐ ภายใต้ความรู้สึกเข้าใจว่าอุตสาหกรรมนี้ เป็นการผลิต ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ที่ภาครัฐควรส่งเสริมอย่างแข็งขันในทุกทาง

หากย้อนเวลากลับไปในปี 2531 ดังกล่าว ชื่อเสียงของ Semiconductor Venture International : SVI ของปีเตอร ์ เดวิด ยูดอล วิศวกร ชาวอังกฤษกำลังโด่งดัง และได้รับการส่งเสริมด้านการลงทุน รวมถึงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ชาญ อัศวโชคกำลังเริ่มลง แรง เพื่อสร้างตำนานบมจ.อัลฟาเทค อีเล็คโทรนิคส์ (ATEC ) ด้วย

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในฐานะ ที่เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง หรือภาคการผลิต ที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูง แท้ ที่จริงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแบ่งงานกันทำ (division of labour industry) ที่บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อรับประโยชน์จากแรงงานราคาต่ำ ที่มีอยู่อย่างดาษดื่น และการส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์จากกลไกของภาครัฐ ที่มองหาการลงทุนจากต่างประเทศมาโดยตลอด

ผู้ประกอบการจำนวนมาก ที่เข้ามาลงทุนในไทย ล้วนได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐไทยเป็นอย่างดี โดยมี BOI เป็นหัวหอกในการเอื้อสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยความวาดหวังว่าบริษัทเหล่านี้จะถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่แรงงานไทย

การเกิดขึ้นของ DELTA ก็อยู่ในบริบท ที่ไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ มากนัก เพราะในห้วงเวลาดังกล่าว เดลตรอน โฮลดิ้ง (Deltron Holding) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ อิงค์ (Delta Electronics Inc.) บริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไต้หวัน ด้วยเทคโนโลยีขั้นต้นถึงระดับกลาง เริ่มปรับตัวไปสู่การผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับสูง และจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต ขั้นต้น และระดับกลางไปสู่แหล่ง ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

ประกอบกับเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ อิงค์ ประสบกับปัญหาการขาดแคลน แรงงานในไต้หวัน DELTA ในระยะเริ่มแรกจึงอยู่ในฐานะ ที่เป็นยุทธศาสตร์ การผลิตสินค้า เพื่อป้อนตลาดส่งออกให้กับกลุ่มเดลต้า โดยสินค้า ที่ผลิตได้ จาก DELTA ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้ามาตรฐาน ที่ต้องใช้แรงงานมาก ขณะที่ เดลต้าในไต้หวันได้ปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ผลิตต้องใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

ก่อนหน้าที่จะเข้ามาลงทุนในไทย กลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวกรจากไต้หวันติดต่อขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ต่อมาในปี 2530 BOI ได้อนุมัติให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสำหรับการผลิตแมกเนติก, อีเอ็มไอ, SPS และ Adaptor

ปี 2533 DELTA เริ่มผลิตแมกเนติก และอีเอ็มไอในโรงงาน ที่ 1 ต่อมา ในปลายปีเดียวกันการผลิต SPS และ Adaptorก็เริ่มขึ้น

ปี 2535 ผลิตจอมอนิเตอร์เพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งหากพิจารณาจากสายการผลิต ที่มีอยู่ จอมอนิเตอร์ ก็คือ การนำผลิตภัณฑ์ SPS, อีเอ็มไอ และแมกเนติก ที่ผลิตได้มาผนวกกับความเชี่ยวชาญในวงจรอนาล็อก มาเป็นพื้นฐานในการผลิตมอนิเตอร์นั่นเอง

กล่าวได้ว่าการเติบโตของ DELTA ตั้งอยู่บน พื้นฐานของผลิตภัณฑ์พื้นฐานอย่างชิ้นส่วนแมกเนติก ซึ่งมีความสำคัญ และเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกประเภท โดยแมกเนติก ที่ผลิตได้ในปัจจุบันเป็นไป เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของบริษัทเอง

ในปี 2536 DELTA ต้องปรับตัวออกจากการผลิตสินค้ามาตรฐาน และ เทคโนโลยีขั้นต่ำไปสู่การผลิต ที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง พร้อมกับการพัฒนา ให้สามารถแข่งขัน และมีหลักประกันในสายการผลิต ที่ยาวนานกว่าเดิมได้ หลังจากเกิดวิกฤติการณ์ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ช่วงปี 25 35 ส่งผลให้ บริษัทอย่าง SVI ประสบปัญหาความอยู่รอดมาก่อนหน้านั้น

สิ่งที่ DELTA ดำเนินการในห้วงเวลาดังกล่าวคือ การจัดตั้งแผนกออกแบบ และพัฒนาสินค้าประเภทจอ มอนิเตอร์ และ SPS เพื่อเข้าสู่ตลาด ODM ซึ่งจะเป็นหลักประกันในความเสี่ยงของสายการผลิต เพราะลูกค้า ไม่สามารถเปลี่ยนผู้ผลิตสินค้าได้ง่ายหากเปรียบเทียบกับสินค้ามาตรฐาน ที่มีผู้ผลิตจำนวนมาก

การรุกครั้งนั้น ส่งผลให้ SPS และจอมอนิเตอร์กลายเป็นสินค้าหลักของ บริษัทโดยในปี 2541 และ 2542 รายได้จากการขายสินค้าทั้งสองมีมูลค่า รวมคิดเป็น 94% ของรายได้ทั้งหมด และ DELTA นับเป็นผู้ผลิต SPS รายใหญ่รายหนึ่งของโลก โดยสามารถถือครองส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณ 26-30%

สิ่งที่ DELTA แตกต่างจาก SVI และ ATEC คือ ทั้งสองบริษัทเป็นผู้รับจ้างผลิต เซมิคอนดัคเตอร์, แผงวงจรไอซี และเวเฟอร์แฟบฯ ซึ่งต้องใช้ เทคโนโลยีระดับสูง ขณะที่ DELTA อยู่ในกลุ่ม Medium-End นอกจากนี้ ยังมีความสามารถสร้างพันธมิตรกับคู่ค้าได้หลากหลายกว่า และมีเครือข่ายระบบการผลิตกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งก็คือ เครือข่ายของการแบ่งงานกันทำ ที่ส่งผลให้ DELTA ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเทคโนโลยี อย่างที่ชาญ อัศวโชคเคย ทำ

เพราะการวิจัย และการพัฒนารวมถึงการผลิต ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับ ที่สูงเกินกว่าจะผลิตได้ในไทยจะเป็นหน้าที่ของโรงงานในไต้หวันทั้งสิ้น DELTA เพียงแต่คอยรับโอนการผลิตสินค้า ที่ไม่เหมาะจะผลิตในไต้หวันอีกต่อไป มาทำ โดยอาศัยเพียงทักษะขั้นทั่วไปของคนงานไทยมาประกอบส่วนเท่านั้น มิได้เกี่ยวเนื่องกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีแต่อย่างใด ขณะที่การผลิตด้วยเทคโนโลยี ขั้นต่ำบางส่วนจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่แหล่งอื่นต่อไป

เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ อิงค์จึงอยู่ในฐานะ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเดลต้าทั้งหมด โดยมีโรงงานในประเทศจีน เม็กซิโก และ DELTA ไทย เป็นผู้ใช้ แรงงานในการผลิต เพื่อป้อนให้แก่ตลาดสินค้าของกลุ่ม

แม้จะมีจุดเริ่มต้นอยู่ในบริบท ที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ในวันนี้ SVI และ ATEC คงเหลือทิ้งไว้เพียงตำนาน ขณะที่ DELTA กำลังก้าวเดินไปแต่จะไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใด เวลาเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.