ในกรณีของแบงก์กรุงไทย คือ ไม่ได้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลหรือสาธารณะหรือสภาผู้แทนราษฎร
นานพอสมควร ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีความสนใจต่อสถาบันการเงินนี้ มันมีเหตุการณ์จากราชาเงินทุนเข้ามา
และเหตุการณ์ไฟแนนซ์ในปี 2527 เข้ามา พวกนี้มันสกัดกั้นความสนใจที่จะมีต่อแบงก์กรุงไทย
ทีนี้พอกลุ่มที่มีปัญหาเริ่มจะมีการเคลียร์ความสนใจจึงเริ่มจะเข้ามาสู่ที่นี่
เพราะฉะนั้นในเมื่อไม่มีคนสนใจ โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีคนสนใจเกี่ยวกับแบงก์กรุงไทย
การตรวจเช็คทางด้านการเงินเกี่ยวกับทางด้านเอฟฟิเชี่ยนซี่ก็ไม่เกิดขึ้น การดำเนินงานจึงอยู่ในมือของคนที่อยู่ในวงที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ประธานกรรมการ
มาจนถึงผู้บริหารชั้นสูงของแบงก์ ผมว่ามันก็ตรงตัวตามหลักเศรษฐศาสตร์การเมือง
คนที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจก็ต้องดำเนินงานให้อยู่ในเซลล์ของฝ่ายตัวเอง อาจจะเซลล์ว่าเป็นผลประโยชน์หรือในแง่ของสเตตัส
หมายถึงว่า รักษาสถานะของตนเองให้อยู่ต่อไป เช่น บริหารต่อไป หรือเป็นกรรมการต่อไป
เป็นประธานต่อไป มันเป็นเหมือนว่าไม่มีคนสนใจ ก็ทำงานกันเอง มันก็เข้าล็อกของสถาบันการเงินที่เป็นไฟแนนซ์
หรือสถาบันการเงินที่เป็นแบงก์ที่เกิดปัญหามาเมื่อปี 23 ก็ตาม 27 ก็ตาม คือ
การเข้าสู่การเป็นประโยชน์ของตนเอง มีการปล่อยกู้ส่วนหนึ่งที่ตนเองมีความสัมพันธ์
หรือปล่อยกู้ในกลุ่มที่ตัวเองมีหุ้นมีผลประโยชน์โดยตรง อันนี้ผมไม่มีหลักฐานมายืนยันได้
แต่ก็สามารถสันนิษฐานได้ ในเมื่อการดำเนินงานมันมีการปล่อยกู้ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์จะในทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
มันก็เกิดมีปัญหาในด้านคุณภาพของสินทรัพย์ มีหนี้สูญหรือเป็นหนี้ที่ไม่แอคทีฟ
คือ เป็นหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือค้างจ่ายมาเป็นเวลาเกิน 6 เดือนขึ้นไป
เมื่อคุณภาพสินทรัพย์มีปัญหา มันก็ส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหรือ
ROE เพราะรายได้จากดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อมันไม่เข้าก็ต้องตั้งเป็นสำรอง
ซึ่งมันเป็นภาระรายจ่ายกับแบงก์
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มันสะท้อนให้เห็นถึงระบบการบริหารของกรุงไทยมันบกพร่อง
จุดที่ผมมองเห็น มันน่าจะมาจากโครงสร้างอำนาจในแบงก์ มันไม่มีการคานอำนาจกัน
จึงเป็นช่องโหว่ให้ผู้บริหารระดับสูงบางคนใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีรากฐานจากผลประโยชน์ใช้ธุรกิจของแบงก์เป็นเครื่องมือ
จุดนี้การแก้ไขดูจากบอร์ดของกรุงไทย เห็นว่าจะกระจายหุ้นแบงก์สู่สาธารณะโดยผ่านตลาดหุ้น
อันนี้มันช่วยเสริมช่องโหว่ตรงนั้นได้ เพราะคนที่จะลงทุนซื้อหุ้นกรุงไทยหรือไม่ว่าหุ้นตัวไหน
เรามักจะเข้าใจกันได้ว่า นักเล่นหุ้นมักจะเป็นคนที่ชอบการขุดคุ้ยข้อมูลเพื่อการตัดสินใจลงทุน
การขุดคุ้ยมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริหารหรือกรรมการแบงก์ต้องระมัดระวังมากขึ้น
และอีกประการหนึ่ง การเข้าตลาดหุ้นก็ช่วยทางกระทรวงการคลังไม่ต้องมาแบกรับภาระเงินกองทุนมาก
เพราะกระจายไปให้สาธารณะรับไปส่วนหนึ่ง
มองในแง่นี้ มันก็เหมือนกับการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ ด้านหนึ่งผู้บริหารและกรรมการแบงก์ถูกตรวจสอบจากประชาชนมากขึ้น
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลแบกภาระน้อยลงในการระดมทุนมาทำธุรกิจ ซึ่งผมว่ามันดีต่อตัวแบงก์เอง
จุดที่ผมว่าน่าสนใจอีกจุดหนึ่ง คือ ผมว่าสถานะ (STATUS) ของแบงก์กรุงไทยมันไม่ชัดเจน
ด้านหนึ่งทำธุรกิจแข่งขันกับแบงก์เอกชน โดยมีเป้าหมายประสิทธิภาพในผลตอบแทนจากการลงทุน
แต่อีกด้าหนนึ่งก็ต้องเป็นมือเป็นเท้าให้กระทรวงการคลังในการตอบสนองนโยบายเฉพาะกิจบางอย่างที่ต้องการ
สถานะอย่างนี้มันขัดแย้งกัน เป้าหมายมันไม่มีทางบรรลุได้หรอก ตัวอย่างจากกรณีกรุงไทยเข้าไปอุ้มกลุ่มทรัสต์
4 เมษา ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง หรือการรวมเข้าไปสยามแบงก์
จริงอยู่ในกรณีสยามแบงก์ กรุงไทยได้สินทรัพย์ชั้นดีจากแบงก์สยามมาหลายพันล้านบาท
แต่คุณต้องมองด้วยว่า มันเป็นภาระกับคุณด้วยหรือเปล่า เพราะเท่าที่ผมทราบ
คนจากแบงก์สยามก็เทเข้ามาในกรุงไทยด้วย ขณะที่กรุงไทยเองก็ใหญ่อุ้ยอ้าย ระบบระเบียบก็ไม่คล่องตัวเพราะต้องอิงอยู่กับระเบียบรัฐวิสาหกิจ
มันเป็นภาระของแบงก์แน่นอน นอกจากนี้ ยังมีหนี้สินส่วนที่เป็นเงินฝากจากแบงก์สยามที่โอนเข้ามาด้วย
พวกนี้มันเป็นต้นทุนเงินฝากทั้งนั้น
หรือกรณีพวกทรัสต์ 4 เมษา กรุงไทยก็เข้าไปอุ้มจนทุกวันนี้ มันเป็นภาระกับแบงก์มาก
อย่างน้อยก็ด้าน OPERATION ที่คนของกรุงไทยต้องถูกดึงออกไป
ผมว่า 2 กรณีตัวอย่างนี้ กรุงไทยอึดอัดพอสมควร แต่ทำยังไงได้ในเมื่อนายเป็นกระทรวงการคลังและถือหุ้นใหญ่ด้วย
จุดเหล่านี้แหละ ผมว่ากระทรวงการคลังยังไม่อยากปล่อยแบงก์กรุงไทยสู่เอกชนเหมือนกับที่
DEVELOPMENT BANK OF SINGAPORE ที่รัฐบาลลีกวนยูได้ PRIVATIZE สู่เอกชนเรียบร้อยแล้ว
เพราะอย่างนี้มีไว้อยู่ข้างตัวก็ไม่เสียหายอะไรมากนัก เผื่อฉุกเฉินจะได้หยิบมาได้ทันทีอย่างกรณี
4 เมษา และรวมแบงก์สยามนั่นไง
มองในแง่ความจำเป็นที่กระทรวงการคลัง ต้องมีแบงก์กรุงไทยไว้ในฐานะเป็นมือเท้าหรือไม่
? ผมเองวิเคราะห์ดูแล้ว ไม่ว่าจะจำเป็น เพราะด้านที่อยู่อาศัย เกษตรกร พัฒนา
อุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง มี STATE BANK อยู่แล้ว ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นแบงก์อาคารสงเคราะห์
ธ.ก.ส. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม หรือแม้แต่แบงก์ออมสิน ที่พร้อมที่จะเป็นเครื่องมือตอบสนองนโยบายรัฐ
ยิ่งเมื่อมองกว้างออกไปถึงกลไกทางเศรษฐกิจของระบบ เช่น อัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ
ผมว่าแบงก์กรุงไทย ไม่อยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือตอบสนองนโยบายรัฐได้ เพราะไม่มีพลังพอ
แบงก์ชาติน่าจะทำได้ดีกว่า มีพลังมากกว่า ทั้งในฐานะเป็น THE LENDER OF LAST
RESORT และนายธนาคารกลางที่ถือดาบอยู่ในมือ
โดยสรุปแล้ว ผมว่าสถานะของแบงก์กรุงไทย ควรจะแปรเปลี่ยนเป็นเอกชนได้แล้ว
จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ ซึ่งผมว่าทิศทางนี้ รัฐจะได้ประโยชน์ด้วย แม้จะถูกมองว่ารัฐเป็นพ่อค้าจากการขายหุ้นของตัวเองออกไปก็ตามที