อวสานวัฒนธรรมฝรั่งเศส

โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

มีภาพยนตร์ฝรั่งเศสเพียงไม่กี่เรื่องที่อยากดู ไม่ทราบว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ในอดีต จับพลัดจับผลูได้ชมภาพยนตร์ฝรั่งเศสหลายเรื่อง และพบว่าเป็นภาพยนตร์ดีและดีมากๆ เช่น Z หรือ Le Sauvage และ Vivre pour vivre มีตั้งแต่เรื่องอิงการเมืองจนถึงโรแมนติก ที่แปลกคือ ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องนี้นำแสดงโดยอีฟส์ มงต็องด์ (Yves Montand) พระเอกที่ไม่หล่อแต่นัยน์ตาซึ้งที่แสดงความรู้สึกได้เยี่ยม "พระเอก" อีกคนที่ชอบคือ หลุยส์ เดอ ฟูแนส (Louis de Funes) นักแสดงตลกที่เพียงโผล่หน้าออกมาก็ขำแล้ว

ช่วงที่อแลง เดอลง (Alain Delon) และฌอง-ปอล เบลมงโด (Jean-Paul Belmondo) กำลังดัง ไม่เคยนึกปลื้มเลย ไม่ขวนขวายที่จะไปชม ในทางตรงข้าม นักแสดงฝรั่งเศสที่ได้ชมอยู่เนืองๆ คือหลุยส์ จูร์ดอง (Louis Jourdan) หนุ่มหล่อผู้แสดงเป็นครูของนางเอกในภาพยนตร์อมตะเรื่อง The Swan บทบาทเจ้าหญิงของเกรซ เคลลี ที่ต่อมาได้กลายเป็นเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก

โมริซ เชอวาลีเอร์ (Maurice Chevalier) ชาร์ลส์ บัวเยร์ (Charles Boyer) และหลุยส์ จูร์ดอง (Louis Jourdan) อีฟส์ มงต็องด์ (Yves Montand) ซีโมน ซีญอเรต์ (Simone Signoret) เป็นนักแสดงฝรั่งเศสที่ไปดังในฮอลลีวูดในอดีต ส่วนยุคปัจจุบัน ชาวอเมริกันชื่นชอบเจรารด์ เดอปาร์ดิเออ (Gerard Depardieu) ในภาพยนตร์เรื่อง Green card หากเมื่อมีการขุดคุ้ยภูมิหลังของนักแสดงฝรั่งเศสผู้นี้ในวัยเยาว์ เจรารด์ เดอปาร์ดิเออจึงไม่คิดไปขุดทองในอเมริกาอีกเลย ที่เห็นมีการแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดอยู่คือฌอง เรอโน (Jean Reno) และแวงซองต์ กาสเซล (Vincent Cassel) ส่วนนักแสดงหญิงมีจูเลียต บิโนช (Juliette Binoche) และโอเดรย์ โตตู (Audrey Tautou)

ผู้สร้างภาพยนตร์อย่างฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ (Francois Truffaut) และฌอง-ลุค โกดารด์ (Jean-Luc Godard) เป็นผู้ทำให้โลกหันมามองวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสด้วยความทึ่ง และไม่มีผู้สร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสคนไหนสามารถสร้างกระแสได้อีกเลย มีแต่ภาพยนตร์บางเรื่องที่ขายได้ ฮอลลีวูดจึงนำไปสร้างใหม่ ดังเช่น Trois hommes et un couffin ซึ่งกลายเป็น Three men and a baby เป็นต้น

นักแสดงฝรั่งเศสที่กำลังดังน่าจะเป็นมาริอง โกตียารด์ (Marion Cotillard) ผู้แสดงเป็นเอดิธ เปียฟ (Edith Piaf) นักร้องที่เป็นเจ้าของเพลง La vie en rose อันเลื่องชื่อในภาพยนตร์เรื่อง La Mome ซึ่งมีภาษาอังกฤษว่า La vie en rose ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ นักแสดงยอดเยี่ยมประเภท comedy และ musical comedy และหากเธอจะได้รับรางวัลออสการ์ ก็สมควรอยู่ เพราะเธอแสดงได้ยอดเยี่ยมจริงๆ ในทุกขั้นตอนชีวิตของเอดิธ เปียฟ

เอดิธ เปียฟ เป็นนักร้องดังที่กลายเป็นตำนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำนานรักระหว่างเธอและมาร์เซล แซร์ดอง (Marcel Cerdan) นักมวยแชมป์โลกชาวฝรั่งเศสที่เสียชีวิตเพราะเครื่องบินตก ขณะนั้นเอดิธ เปียฟแสดงคอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา เธอเริ่มการแสดงด้วยการร้องเพลง L'Hymne a l'amour-บทเพลงแห่งรัก ซึ่งได้รับการแปลงเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า If you love me เอดิธ เปียฟดังมากในสหรัฐ อเมริกา เธอเคยแสดงคอนเสิร์ตที่คาร์เนกี้ฮอล (Carnegie Hall) เพลงของเธอหลายเพลงกลายเป็นเพลงดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง La vie en rose และ Les trois cloches ซึ่งแปลงเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The three bells หรือแม้แต่เพลง Milord

ชาร์ลส์ เทรเนต์ (Charles Trenet) ก็เคยไปแสดงคอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา La mer หรืออีกนัยหนึ่ง Beyond the sea เป็นเพลงที่ดังไปทั่วโลก ชาร์ลส์ อัซนาวูร์ (Charles Aznavour) เป็นนักร้องร่วมสมัยที่ไปทำมาหากินในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน เพลงที่สร้างชื่อให้เขาคือ She ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์นำไปประกอบภาพยนตร์เรื่อง Notting Hill

จิลแบรต์ เบโกด์ (Gilbert Becaud) เป็นทั้งนักร้องนักแต่งเพลง Et maintenant เป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อว่า What now my love อีกทั้ง Je tappartiens ที่กลายเป็นเพลงยอดฮิต Let it be me โคล้ด ฟรองซัวส์ (Claude Francois) เป็นนักร้องที่สร้างกระแสได้อีกคนหนึ่ง เจ้าของเพลง Comme d'habitude อันเป็นที่มาของ My way

โชแปง (Chopin) เดอบุสซี (Debussy) และราเวล (Ravel) เป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกที่ดังไปทั่วโลก ปัจจุบันนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการยอมรับคือ มิเชล เลอกรองด์ (Michel Legrand) ผู้แต่งเพลงในภาพยนตร์เพลงเรื่อง Les parapluies de Cherbourg ซึ่งมีเพลงไพเราะที่กลายเป็น I will wait for you นั่นเอง นอกจากนั้นยังแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง The windmills of your mind วรรณกรรมฝรั่งเศสที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่เนืองๆ คือ Les trois mousquetaires ของอเล็กซองดร์ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) ซึ่งคือ The three musketeers นั่นเอง เรื่องราวของสามทหารเสือแตกหน่อไปหลายเรื่อง ล้วนแต่สนุกสนานน่าติดตามทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังมีการผจญภัยของเคาต์แห่งมงเต คริสโต วิคตอร์ อูโก (Victor Hugo) เป็นนักเขียนยุคเดียวกับอเล็กซองดร์ ดูมาส์ หากเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิต ได้รับการยกย่องตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน Les Miserables ได้รับการนำไปสร้างภาพยนตร์และละครเพลง กาสต็ง เลอรูซ์ (Gaston Leroux) เป็นนักเขียนที่แทบไม่รู้จักหนังสือของเขาชื่อ Le Fantome de l'Opera สร้างเป็นภาพยนตร์ หากมาโด่งดังเมื่อแอนดรูว์ ลอยด์ เวเบอร์ (Andrew Lloyd Weber) นำไปสร้างเป็นละครเพลง The Phantom of the Opera และต่อมาเป็นภาพยนตร์เพลงที่แสนซึ้งตรึงใจ โวลแตร์ (Voltaire) โมลีแอร์ (Moliere) อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) อองดร มัลโรซ์ (Andre Malraux) ฌอง-ปอล ซาร์ทร์ (Jean-Paul Sartre) ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ล้วนเป็นนักเขียนฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถือเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของชนร่วมสมัยและแม้ในภายหลัง ฝรั่งเศสผลิตนักคิดที่เสนอทฤษฎีใหม่ๆอยู่เนืองๆ ในวงการศิลป์ ภาพเขียนแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (impressionist) และเซอเรียลิสต์ (surrealist) ถือกำเนิดในฝรั่งเศส อาร์ติสต์จากทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่จิตรกรเท่านั้น แต่ยังมีนักคิดนักเขียน ต่างมุ่งมากรุงปารีสและมาแจ้งเกิดที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) โมดิกลีอานี (Modigliani) ฟูจิตะ (Fujita) อองรี มาติส (Henri Matisse) โฆอัน มิโร (Joan Miro) เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ฌอง ก็อกโต (Jean Cocteau) มาร์ก ชากาล (Marc Chagall) เป็นต้น

ฝรั่งเศสเป็นเจ้าตำรับของวัฒนธรรมการกิน ใครๆ ก็อยากลิ้มอาหารฝรั่งเศส แกล้มด้วยไวน์รสละมุน หรือแชมเปญรสเลิศ

นิตยสาร Time ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2007 พิมพ์หน้าปกเป็นรูปมาร์เซล มาร์โซ (Marcel Marceau) นักแสดงละครใบ้ที่เรียกว่า pantomime ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปลายปี 2007 พร้อมกับหัวข่าวว่า วัฒนธรรมฝรั่งเศสถึงกาลอวสาน ด้วยเห็นว่าความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสกลายเป็นอดีตเสียแล้ว ด้วยว่าฝรั่งเศสไม่สามารถผลิตนักคิดนักเขียนหรืออาร์ติสต์ใหม่ๆ ที่สามารถนำกระแส ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพยนตร์ ดนตรีหรือศิลปะ ทั้งๆ ที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้เงินสนับสนุนด้านวัฒนธรรมมาก

ปัญหาของฝรั่งเศสอยู่ที่ภาษา ด้วยว่าในปัจจุบัน ภาษาฝรั่งเศสอยู่อันดับ 12 ในขณะที่จำนวนผู้พูดภาษาจีนมากที่สุด รองลงมาคือภาษาฝรั่งเศส นับแต่สงคราม โลกครั้งที่สอง ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลาย รัฐบาลตระหนักถึงความจริงข้อนี้ จึงออกกฎว่า ในการติดต่อเป็นทางการระหว่างรัฐ จะใช้ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น ด้วยว่าฝรั่งเศสเป็นภาษาการทูตที่ควรภาคภูมิใจ นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังตั้งหน่วยงาน francophonie ดูแลกิจการที่เกี่ยวกับประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ในแต่ละปีจะมีการประชุมขั้นสุดยอดของ francophonie เป็นความพยายามที่จะคงอิทธิพลด้านภาษา หากชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่หันมาศึกษาภาษาอังกฤษและใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลาย หน่วยงานรัฐที่เคยใช้ฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ ต่างหันมาใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อสะดวกในการติดต่อ เช่นเดียวกับเอกชน คำภาษาอังกฤษแทรกซึมในภาษาฝรั่งเศส จนเรียกกันว่า franglais อันมาจาก francais (ภาษาฝรั่งเศส) + anglais (ภาษาอังกฤษ)

แม้ภาษาจะเป็นอุปสรรค หากการแปลเป็นภาษาอื่นๆ สามารถช่วยให้ผู้คนเข้าถึงวัฒนธรรมฝรั่งเศสได้ นิตยสาร Time เห็นว่าฝรั่งเศสไม่มีนักปราชญ์ นักคิดนักเขียนที่โดดเด่นจนสำนักพิมพ์ต่างชาติจะนำไปแปล ต่างจากในอดีต ผู้นำทางความคิดในปัจจุบันไม่ใช่ฝรั่งเศสอีกแล้ว ทิ้งช่วงไปหนึ่งเดือน สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติของฝรั่งเศส (Cultures France) จึงมีหนังสือตอบโต้ โดยบ่งว่าชาวฝรั่งเศส 9 ใน 10 คนรู้จักมาร์เซล มาร์โซ หากชาวอเมริกันเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่รู้จักนอร์แมน เมเลอร์ (Norman Mailer) นักเขียนชาวอเมริกัน ฝรั่งเศสไม่ได้มุ่งแต่ผลิตนักคิดนักเขียนหรืออาร์ติสต์เพียงอย่างเดียว หากเปิดประตูต้อนรับชนทุกชาติที่มุ่งมาผลิตงานวัฒนธรรม อีกทั้งฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นพบ "อาร์ติสต์" ดังอย่าง วู้ดดี้ แอลเลน (Woody Allen) วิลเลียม ไคลน์ (William Klein) ฟิลิป รอธ (Philip Roth) บ็อบ วิลสัน (Bob Wilson) ก่อนที่ชาวอเมริกันจะรู้จักเสียอีก สถาปนิกฝรั่งเศสออกแบบอาคารในต่างประเทศ อาทิ ปอล อองเดรอ (Paul Andreu) ผู้สร้างโรงโอเปราของปักกิ่ง ฌอง นูแวล (Jean Nouvel) ได้โครงการในบราซิล ฌอง-มิเชล วิลมอต (Jean-Michel Wilmotte) ในประเทศอาหรับ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีอาร์ติสต์อย่างฟิลิป สตาร์ค (Philippe Starck) ยาน อาร์ทุส-แบร์ทรองด์ (Yann Arthus-Bertrand) ดาเนียล บูเรน (Daniel Buren) คริสติอองโบลตองสกี (Christian Boltanski) หนังสือของแบร์นารด์-อองรี เลวี (Bernard-Henri Levy) ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ หากต้องยอมรับว่า ภาษาเป็นอุปสรรค ด้วยเหตุนี้ยอดส่งออกหนังสือฝรั่งเศสจึงลดน้อยลง

ผู้กำกับการแสดงอย่างอารีอาน มนุชกีน (Ariane Mnouchkine) และปิแอร์ บูเลซ์ (Pierre Boulez) ต่างได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

หากอาร์ติสต์อเมริกันมุ่งมาฝรั่งเศส ก็เพราะรู้ว่าชาวฝรั่งเศสมีความลึกซึ้งในศิลปวัฒนธรรมมากกว่า (ชาวอเมริกัน)

สรุปแล้ว ฝรั่งเศสยังคงผลิตผู้นำทางความคิดอย่างสม่ำเสมอ และฝรั่งเศสยังเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรม ที่ชนทุกชาติต่างมุ่งมาเพื่อแจ้งเกิด ทางด้านแฟชั่น มีดีไซเนอร์ดังอย่างคริสติออง ลาครัวซ์ (Christian Lacroix) ฌอง-ปอล โกลทีเอร์ (Jean-Paul Gaulthier) อัซซาดีน อลาเอีย (Azzedine AlaIa) วัฒนธรรมมิใช่อุตสาหกรรมที่ผลิตงานโหล แต่มุ่งผลิตศิลปะสาขาใหม่ๆ ซึ่งฝรั่งเศสมีส่วนในการ "สร้าง" ศิลปะการเต้นรำร่วมสมัย วัฒนธรรมมิได้แข่งด้วยตัวเลขการค้า แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม บทความของนิตยสาร Time ทำให้ฝรั่งเศสหันมาพิจารณาว่า "วัฒนธรรม" ของตนกำลังตายจากหรือไม่ มิใช่มัวแต่หลงระเริงกับอดีตอันรุ่งเรือง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.